ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ International workers’ day (MayDay !) เราขอชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองความสำเร็จ และการมีส่วนร่วมของแรงงานทั่วโลก! ที่ผ่านการทุ่มเทเวลา ความพยายามในการทำงาน รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน เพื่อสร้างความยุติธรรม และความเท่าเทียม ที่นำมาซึ่งมาตรฐานในสถานที่ทำงานจนถึงปัจจุบัน

พบกับ ‘เสียงจากอาสาสมัคร – Volunteers’ Voice’ บทสัมภาษณ์ #อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ผ่านมุมมองและชุดประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับความท้าทาย และการเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน ได้ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมนี้ มาร่วมกันเปิดมุมมองที่หลากหลาย เพื่อขยายเสียงออกไปพร้อมกับพวกเรา
ในครั้งนี้ เราได้ชวน พล็อต อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 14 มาร่วมตอบคำถามกับเรา ติดตามอ่านได้ที่นี่ !

📍ประวัติศาสตร์และความสำคัญของวันแรงงานในมุมมองของคุณ ?

👉 จำได้ว่าตอนเด็กๆ รู้จักวันนี้ด้วยชื่อเรียกว่า ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ เป็นวันหยุดหนึ่งวันในปฏิทิน แต่พ่อแม่ของเรารับราชการ ก็เลยไม่ได้หยุด แต่มีพ่อของเพื่อนห้องพักข้างๆ ได้หยุดงาน เพราะทำงานในโรงงาน วันแรงงานสำหรับเราเมื่อก่อนจึงเป็นแค่วันหยุดวันหนึ่ง มารู้จักวันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตอนที่สนใจประเด็นเรื่องแรงงานอย่างจริงจัง เลยได้รู้ว่าจริงๆแล้ววันแรงงานมีที่มาจากคำว่า ‘วันแรงงานสากล’ เป็นวันสำคัญที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยกว่าปี ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่กรรมกรในอเมริกานัดหยุดงานประท้วงและปะทะกับรัฐอย่างรุนแรง ข้อเรียกร้องของกรรมกรในตอนนั้นคือการปรับลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่ว โมง ตามหลัก 888 ซึ่งหมายถึงการทำงาน 8 ชั่วโมง ใช้เวลาว่าง 8 ชั่วโมง และนอนหลับพักผ่อน 8 ชั่วโมง เป็นมาตรฐานการทำงานเบื้องต้นทั่วๆไปในปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่ามาตรฐานการทำงานเหล่านี้ มาจากการต่อสู้เรียกร้องของขบวนการแรงงาน ดังนั้น ความสำคัญของวันแรงงานสากล อาจจะหมายถึง การที่แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับการกล่าวถึง ไม่ได้ถูกกลืนหายไปในสังคมทุนนิยมที่มักจะยกย่องแต่คนรวยที่ประสบความสำเร็จ โดยลืมไปว่าความสำเร็จหรือความมั่งคั่งมหาศาลเหล่านั้น มาจากชนชั้นแรงงาน การหันกลับมาให้ความสำคัญกับวันแรงงานสากล หรือชนชั้นแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในฐานะที่เราเป็นแรงงานคนหนึ่งของสังคม

📍 คำว่า แรงงาน vs คนทำงาน ?

👉 เข้าใจว่าการใช้คำว่า ‘แรงงาน’ ในสังคมไทย พอพูดถึงปุ้ป คนมักจะนึกถึงภาพแรงงานที่กำลังก่อสร้างตึกหรือเป็นกรรมกรแบกหามฉาบปูน อาจจะให้ความรู้สึกถึงการเป็นชนชั้นระดับล่างที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งเป็นงานที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำ คำว่าแรงงานเลยดูเป็นคำที่คนไม่อยากพูดถึง เพราะเป็นคำที่แสดงออกถึงความต้อยต่ำ ยิ่งสังคมเรามักจะชอบปลูกฝังกันว่า “ถ้าไม่ขยันเรียน ไม่ขยันทำงาน จะเป็นได้แค่แรงงานนะ” การเป็นแรงงานเลยดูเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะเป็น หรืออยากจะยอมรับคำนี้ โดยเฉพาะเมื่อการเป็นผู้ประกอบการ การเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือแม้แต่การทำงานภาคประชาสังคม เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอะไรต่างๆ กลายเป็นคำที่ได้รับการยอมรับมากกว่าการจะถูกเรียกว่าเป็น แรงงาน ส่วนคำว่า ‘คนทำงาน’ เข้าใจว่าคำๆนี้ ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขความหมายเชิงลบของคำว่า ‘แรงงาน’ หรือ ‘กรรมกร’ ในเบื้องต้น คำๆนี้ถูกใช้ในการรณรงค์ให้แรงงานเข้าร่วมการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในนามของสหภาพแรงงาน คำว่าคนทำงานเลยใช้เรียกคนทุกคนที่ทำงาน หรือใช้แรงงาน เพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่ม ซึ่งเราจะเห็นว่า ‘สหภาพคนทำงาน’ เป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกการรวมกลุ่มของคนที่เป็นแรงงาน

แต่ถ้าหากจะถามถึงความคิดเห็นของเราต่อคำสองคำนี้ เรากลับชอบคำว่า ‘แรงงาน’ มากกว่า คือคำว่าแรงงานเนี่ย มันดูมีพลังดี แบบว่า ‘แรงงาน’ อ่ะ คำว่าคนทำงานมันดูแบบลดความรุนแรงของคำลง เราอาจจะชอบคำที่มันดูรุนแรง ฮ่าๆๆ แบบแรงงานแล้วไงวะ กูมันคนชั้นล่างของสังคม กูมันผู้ใช้แรงงาน ซึ่งคำว่าแรงงาน จริงๆแล้วมันก็เป็นคำกว้างๆ ที่หมายถึง การใช้แรงงาน การใช้แรงงานอาจไม่ได้ผูกติดอยู่กับการเป็นคนทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การทำงานบ้าน ที่ไม่ถูกนับว่าเป็นงาน แต่จริงๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน เป็นงานดูแลหรืองานแคร์ต่อแรงงาน เพื่อทำให้เราสามารถกลับมาทำงานได้ในวันต่อไป การใช้แรงงาน อาจมีส่วนที่ได้ทั้งค่าแรง หรือไม่ได้ค่าแรง แต่ก็สะท้อนถึงสภาวะรวมๆ ของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมา ดังนั้น แทนที่จะใช้คำว่า คนทำงาน เราอาจหันกลับมาช่วงชิงคำว่าแรงงานกลับมาเป็นของคนทุกคนอีกครั้ง หรือแม้แต่การเป็นแรงงานที่ต้อยต่ำ เป็นกรรมกร เป็นชนชั้นกรรมาชีพ เราก็จำเป็นที่จะต้องยึดคืนคำนี้กลับมา เพราะคนต้อยต่ำหรือชนชั้นแรงงานต่างหาก ที่เป็นคนที่สร้างสรรค์สังคมทั้งหมดนี้ร่วมกัน

📍ในความเห็นของคุณ ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจที่มา นิยาม ความหมาย ของคำว่า แรงงาน ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ?

👉 ก่อนอื่นเราอาจต้องแยกระหว่างการ ‘ใช้แรงงาน’ กับ ‘แรงงาน’ เหมือนที่พูดไปในเบื้องต้นว่า คำว่า ‘แรงงาน’ ในสังคมไทย อาจถูกนิยามว่าเป็นคนที่ทำงานในโรงงาน คนที่ทำงานก่อสร้าง หรือการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจแตกต่างไปจากพนักงานออฟฟิศ ศิลปิน NGO หรือบาริสต้า แต่การ ‘ใช้แรงงาน’ นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในสังคมมีร่วมกัน วัตถุดิบจะกลายมาเป็นสินค้าได้อย่างไร หากไร้การหยิบจับดัดแปลงด้วยกำลังแรงงาน เครื่องจักรจะขยับได้อย่างไรหากไม่มีมนุษย์ที่มีชีวิตเข้าไปใช้งาน เราจะทำอาหารได้อย่างไร เราจะขับรถได้อย่างไร เราจะคิดค้นงานศิลปะ หรือเล่นกีต้าร์ได้อย่างไร หากเราไม่ใช้กำลังแรงงาน ทั้งจากร่างกายและความคิด การใช้แรงงานอาจไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์วัตถุ แต่รวมไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น อารมณ์ความรู้สึก ก็ถือเป็นการใช้แรงงาน ศิลปินใช้แรงงานสร้างงานศิลปะ หรือคนที่ไม่ใช่ศิลปินก็สร้างงานศิลปะได้เหมือนกัน ดังนั้นใครที่ใช้แรงงานต่างก็เป็นแรงงาน

แต่ถ้าหากนายทุนใช้แรงงานล่ะ ถือว่าเป็นแรงงานไหม ?

อันนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่ตั้งคำถามกันบ่อยๆ ซึ่งเราอาจจะตอบว่า ไม่ เพราะนายทุนคือเจ้าของทุน เช่น เครื่องจักร สถานที่ทำงาน ที่ดิน จนถึงค่าแรง ที่เตรียมไว้ให้สำหรับแรงงานเข้ามาทำงาน ส่วนแรงงานก็คือคนที่ทำงานให้นายทุนตามเงื่อนไขต่างๆ ที่นายทุนกำหนดไว้ โดยที่ผลกำไรทั้งหมดจากการใช้แรงงานจะตกเป็นของนายทุน นี่เป็นเส้นแบ่งที่สำคัญว่าใครบ้างจะถูกนับว่าเป็นแรงงาน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แรงงานก็ยังเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ไม่ต้องยกสถิติอะไรมาทั้งนั้น แค่เรามองดูสังคมเราก็รู้อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็เป็นแรงงาน ทำงานแลกเงินกันหมด

ทีนี้มาพูดถึงบทบาทคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนในยุคที่เศรษฐกิจและอุดมการณ์แบบทุนนิยมทำงานอย่างเข้มข้นลงลึกอยู่ในทุกอณูของชีวิตและสังคม ในศตวรรษที่ 21 จนเราอาจจะเรียกว่าทุนนิยมกลายเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวของโลกนี้ กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาหลังสงครามเย็นที่อุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย ได้กลายเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับชุดคุณค่าบางอย่าง เช่น เราจะต้องรวย เราจะต้องประสบความสำเร็จ จะต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะการแข่งขันกับตัวเราเอง เพื่อให้ตัวเราเองไปอยู่บนจุดสูงสุด สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่อยู่ภายใต้สภาวะกดดันตนเองอย่างหนัก เราจะต้องตั้งใจเรียนให้ได้เกรดดีๆ จะต้องเพิ่มศักยภาพทะลุข้อจำกัดขีดความสามารถอยู่เรื่อยๆ จะต้องทำงานให้หนัก สะสมเงินให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่สักวัน เราจะประสบความสำเร็จ กลายเป็นคนร่ำรวย เพราะถ้าหากเราไม่ประสบความสำเร็จ เราจะกลายเป็นแค่คนไร้ค่า เป็นไอ้ขี้แพ้ สังคมจะดูถูกดูแคลน และผลักไสเราไปยังก้นบึ้งลึกสุดทางชนชั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นพวกที่หมกมุ่นอยู่แต่กับความสำเร็จและความพ่ายแพ้ของตนเอง ระบบเศรษฐกิจที่บีบคั้นเร่งรีบเช่นนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่พ่ายแพ้ไม่สามารถผลักดันขยับสถานะทางชนชั้นขึ้นมาได้ ต้องกลายเป็นคนที่เผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้า ที่มีตัวเลขสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ในขณะที่คนที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นคนที่จะต้องประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ โดยอาจจะไม่สนว่าความสำเร็จเหล่านั้นมาจากการละเมิดสิทธิแรงงานหรือขูดรีดกำลังแรงงานของคนอื่นๆ ไหม ดังนั้นคำว่า แรงงาน จึงหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ หรือผู้คนในสังคมทุนนิยม ที่หลงเหลือเพียงแต่การแข่งขันกับตนเองในตลาดเสรี ความรู้สึกที่ว่าเราต่างใช้แรงงานร่วมกันจึงหายไป คนรุ่นใหม่ไม่อยากจะยอมรับว่าตนเองเป็นแรงงาน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่หรือแรงงานยุคใหม่ ไม่คิดจะรวมตัวกัน เพราะไม่มีความรู้สึกร่วมว่าเราอยู่ในชนชั้นเดียวกัน ซึ่งก็คือชนชั้นแรงงาน กลายเป็นว่าแรงงานจะต้องแข่งขันกันเพื่อทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ หรือไม่ก็แค่อดทนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักวันมันจะดีเอง โดยไม่ได้คิดว่าเราจะต้องนำพาตนเองเข้าไปรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองร่วมกัน มีแต่ตัวเราหรือคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้แพ้ก็จะต้องหายไป เป็นเรื่องธรรมดา

ดังนั้นการกลับมาทบทวนคำว่า แรงงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไม่ถูกกลืนหายไปในเรือนร่างของระบบทุนนิยม ที่มุ่งแต่จะขยายความมั่งคั่งขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านการใช้แรงงานมนุษย์ คนแล้วคนเล่า ใช้แล้วก็ทิ้ง ราวกับมนุษย์เกิดมาเพื่อทำงานแล้วตาย นี่ยังไม่รวมถึงการใช้ธรรมชาติราวกับเป็นกรรมาชีพ เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มนายทุน ที่ร่ำรวยเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้

📍 คิดว่าคุณค่าในอดีตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน, วันแรงงาน เช่น สิทธิแรงงานและความยุติธรรมทางสังคม ยังคงเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไหม ?

👉 ไม่ว่าจะเป็นคำว่า แรงงาน วันแรงงาน สิทธิแรงงาน หรือความยุติธรรมทางสังคม ที่ผ่านมา ยังคงเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เพราะเราถือกำเนิดและเติบโตมาเพื่อเป็นแรงงานในสังคม (แต่ถ้าบ้านรวยหน่อย ก็ได้เป็นนายทุน โชคดีไป ฮ่าๆๆ) จริงๆ ก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าคนรุ่นๆ เรา เอาตัวรอดทางเศรษฐกิจอย่างไรกันบ้าง อย่างเช่นตัวเราเองก็รับงานฟรีแลนซ์ ไปสมัครพาร์ทไทม์บ้าง หาเงินมาจ่ายค่าเช่าหอ ค่ากิน ค่าต่างๆ ก็ไม่ค่อยจะมั่นคง อยู่ในระบบการจ้างงานชั่วคราว หรือ Gig Economy เดี๋ยวคิดว่าถ้าจบงานวันแรงงานสากล ก็คงจะไปหางานประจำทำ ก็แลกเวลาชีวิตไปเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ไม่ได้คิดถึงความสวยงามของอนาคต เอาแค่เดือนนี้อยู่รอดให้ได้ก็พอ อันนี้อาจจะเผลอระบายความทุกข์ของตัวเองหน่อย ฮ่าๆๆ

แต่เราก็มีเพื่อนที่เป็นทั้งแรงงานบริการอย่างบาริสต้า หรือเพื่อนแรงงานชาวไทใหญ่ที่กำลังเปิดร้านอาหาร เพื่อนสายแรงงานสร้างสรรค์ ทั้งนักดนตรี วาดภาพ เขียนหนังสือกวี ทำหนัง ทำข่าว หรือฟรีแลนซ์ บ้างก็ค้าขาย เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ขายหมูปลาร้า ขายกาแฟ ขายเครื่องประดับสร้อยข้อมือ เปิดร้านหนังสือ เป็น NGO หลากหลายรูปแบบ จนถึงเป็นนักวิชาการ แต่ส่วนมากเราก็จะลงมือใช้แรงงานกันทั้งหมด และก็ใช่ว่าจะรวยกัน หรือเพื่อนที่พอจะมีตังค์หน่อย ก็อยู่บนความไม่มั่นคงได้เช่นกัน เพื่อนสนิทเราคนนึงทำงานในโรงงานที่ต่างประเทศ ได้ค่าแรงเยอะมาก แต่ก็แลกมากับการต้องเข้าไปทำงานในโรงงานสุดโหด ดังนั้น ทุกๆคนก็พยายามเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจที่มันเปราะบางเช่นนี้ เพราะถ้าไม่ใช้แรงงานแลกเงินก็เท่ากับว่าเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรรองรับเรา ถ้าป่วยขึ้นมาก็ต้องหาเงินค่ารักษาเอง จะใช้สิทธิ 30 บาท ก็ใช่ว่าจะครอบคลุม ประกันสังคมก็ไม่มี ตกงานก็ต้องวุ่นหางาน เครียดๆๆ มีค่าใช้จ่ายที่รอคอยอยู่ในอากาศมากมาย คือตราบใดที่ยังมีระบบทุนนิยม ก็ยังมีต้องมีแรงงานเพราะทุนนิยมอาศัยแรงงานในการผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมา แล้วเมื่อเป็นแรงงาน เราก็มักจะต้องพบเจอปัญหาหลักๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะแม่งเป็นกันทั่วโลก เช่น ค่าแรงน้อย ชั่วโมงการทำงานสูง สวัสดิการไม่มี ยิ่งรูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนส่งผลให้เกิดแรงงานเปราะบางไม่มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ การจ้างงานยืดหยุ่นนอกระบบอะไรต่างๆ อำนาจการต่อรองของแรงงานก็ยิ่งลดน้อยลง โดยเฉพาะพวกฟรีแลนซ์ ที่ก็ต้องทั้งแข่งขันกันเอง เลยรวมตัวกันยาก และยังต่อรองกับนายจ้างยากขึ้นอีก เพราะความไม่มั่นคงของการจ้างงานแบบนี้ ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงยุคหลังอุตสาหกรรม ก็ยังคงจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

การพูดถึงแรงงานยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญที่เราไม่อาจจะหลบหนีมันไปได้ เพราะมันคือความจริงที่อยู่ตรงหน้า มันคือความจริงที่เราไม่พูดถึงมัน ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นสัจจะจริงแท้ที่สุด สัจจะของทุนนิยม ซึ่งจริงๆ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ ดังนั้นคนรุ่นใหม่หรือแรงงานสมัยใหม่ ยังคงข้องเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อยู่เสมอ เพียงแต่เราอาจไม่ได้คิดถึงมันมากนัก เพราะเรามัวแต่วุ่นอยู่กับการทำงานหาเงิน มาจ่ายค่า spotify ฮ่าๆๆ

📍 คิดว่าคนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมและมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและการเคลื่อนไหววันแรงงานในทางใดได้บ้าง ?

👉 ก่อนอื่นเลย เราต้องไปร่วมเดินขบวนวันแรงงานสากล หากที่ไหนมีการจัดงาน ก็ออกไปร่วมเลย ไม่ต้องลังเล ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน จะน้อยจะมากก็ไม่เป็นไร วันแรงงานสากลที่ไม่มีการเดินขบวน ก็คงไม่ใช่วันแรงงานสากล การเดินขบวนในวันแรงงานสากลเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลก การเดินขบวนเป็นการแสดงออกทางการเมืองขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการเดินขบวนของแรงงาน ที่อาจจะให้ภาพการรวมกลุ่มกันหรือการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity) ถ้าอย่างที่เชียงใหม่ สหภาพแรงงานบาริสต้า และเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ หลายๆองค์กร หรือกลุ่มก้อนอื่นๆ เช่น Food not Bomb CNX ก็จะร่วมจัดงาน May Day มีการเดินขบวนอย่างแน่นอน เรียกได้ว่า เบียวให้เต็มที่ ถ้าของกรุงเทพฯ ก็คงมีองค์กรหลักอย่างสหภาพคนทำงาน หรือสหภาพแรงงานต่างๆ หรือที่ชลบุรีก็มีกลุ่มแรงงานภาคตะวันออก จำได้ว่าปีที่แล้ว มีการจัดงานหลักๆ ใน 3 จังหวัดนี้ จริงๆ ก็อยากให้ปีนี้มีการจัดงานวันแรงงานสากลที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างกรุงเทพฯ ปีก่อน เข้าใจว่ามีการเดินขบวนและถูกดำเนินคดี ซึ่งอันนี้รัฐก็ไม่ควรจะควบคุมเสรีภาพขั้นพื้นฐานของขบวนการแรงงาน แต่ถ้าหากเราไม่ได้ไปร่วมเดินขบวน การแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับวันแรงงานก็คงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ จนไปถึงการบอกเล่าเรื่องราวการเป็นแรงงานของตนเอง การถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เราก็อาจจะหยิบยกมันมาพูดถึงในฐานะปัญหาสำคัญของชีวิตเรา การต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานในชีวิตประจำวันคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การบ่นเรื่องงานหนัก บ่นนายจ้าง บ่นเรื่องเงินเดือนค่าแรง ไม่ใช่ความอ่อนแอ หรือความเอาแต่ได้ แต่เป็นการสะท้อนสภาวะของการถูกขูดรีดจากการทำงาน ที่เราทุกคนจำเป็นต้องทำ เราสามารถทำงานอย่างมีคุณภาพขึ้นได้ และมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มากกว่าที่จะต้องทำแต่งานไปวันๆ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด อาจไม่ใช่แค่ในวันแรงงานสากล วันแรงงานสากลอาจเป็นเพียงหมุดหมายที่ประเด็นปัญหาเรื่องแรงงานจะถูกพูดถึงอย่างเข้มข้น แต่จริงๆแล้ว ทุกๆวัน ล้วนเป็นวันของแรงงาน เพราะแรงงานคือผู้ขับเคลื่อนสังคมนี้ในทุกๆวัน อาจไม่ใช่แค่เรา แต่เป็นเพื่อนร่วมงานเรา ครอบครัวเรา เพื่อนฝูงเรา หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมา การหันกลับมาทบทวนชีวิตทางสังคม ด้วยมุมมองจากการเป็นแรงงาน และการเรียกร้องสิทธิแรงงานตั้งแต่ระดับเล็กสุดในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระดับใหญ่สุดคือโครงสร้างทางการเมือง อาจเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด สำหรับวันแรงงานสากลนับต่อจากนี้

📍 เคยมีส่วนร่วมในงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานไหม? ประสบการณ์ของคุณเป็นอย่างไร?

👉 ถ้าปัจจุบันสุด คงเป็นการร่วมจัดตั้ง “สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่” ยอมรับก่อนเลยว่า ในเชิงจำนวนสมาชิก เรายังมีไม่มากพอจะสร้างอำนาจต่อรองได้ ถ้าจะแชร์ ก็อยากจะบอกว่า พอได้มาทำสหภาพแรงงาน ก็รู้เลยว่ามันเป็นงานที่ยากมาก เพราะในสังคมไทย การพูดถึงสิทธิแรงงานหายไปนาน มันถูกรัฐเผด็จการและทุนนิยมทำลายไป ยิ่งภายใต้สังคมที่สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น การสร้างสหภาพแรงงานคงจะเป็นสิ่งที่ใช้เวลายาวนานมากกว่าที่เราคิดไว้ สำนึกของการเป็นผู้ประกอบการหรือการเข้าข้างนายทุนที่ถูกเคลือบด้วยภาพแฟนตาซีว่า สักวันเราจะเป็นเหมือนชนชั้น 1% มันฝังรากลึกมากๆ ก็ต้องค่อยๆ บ่อนเซาะทำลายมันไปเรื่อยๆ อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อทำสิ่งนี้เลยก็ได้ พูดแล้วก็เหนื่อย แต่ถ้ากลับมาในเชิงไอเดียหรือหลักการขั้นพื้นฐานที่เรามีร่วมกัน สหภาพแรงงานบาริสต้า เป็นองค์กรแรงงานที่มีแรงงานหลายๆ รูปแบบ มารวมตัวกัน เพื่อยืนเคียงข้างแรงงานทุกๆคน สมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า ไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงานบาริสต้าก็ได้ จะเป็นแรงงานในภาคบริการอื่นๆ หรือแรงงานข้ามชาติ แรงงานฟรีแลนซ์ จนถึงนักศึกษา ก็สามารถมาร่วมสร้างองค์กรไปกับเราได้ เพียงแต่การใช้ชื่อแรงงานบาริสต้าเป็นหลัก เพราะเพื่อนของเราเริ่มต้นก่อตั้งจากชื่อนี้ รวมถึงเชียงใหม่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองกาแฟ แต่แรงงานบาริสต้า กลับได้ค่าแรงหรือสวัสดิการที่ย่ำแย่ แรงงานบาริสต้าจึงเป็นเป้าหมายหลักของเราในการชักชวนมาทำสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานบาริสต้าจึงเป็นเหมือนภาพแทนของแรงงานในเมืองเชียงใหม่ ที่เคลือบฉากหน้าด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันสวยงาม เทสดี ชิคคูล ดูมีสไตล์ จิบกาแฟ มองดูหมอกคลุ้งๆ บนดอยสุเทพ แต่ฉากหลังนั้นเต็มไปด้วยการขูดรีดแรงงานอย่างเข้มข้น ท่ามกลางฝุ่นควันจากอุตสาหกรรมข้ามแดน นี่ยังไม่รวมแรงงานภาคบริการอื่นๆ อีกมากมายในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จนไปถึงแรงงานฟรีแลนซ์ที่ตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง ทั้งๆที่เป็นแรงงานกลุ่มหลักที่ร่วมกันสร้างมูลค่าให้กับเมืองแห่งนี้เหมือนกัน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยสักอย่าง ทำงานไปวันๆ เพื่อหาเงินมาใช้จ่าย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการต่อสู้ของแรงงานเลย

ถ้าจะเล่าในเชิงประสบการณ์ของการทำสหภาพแรงงาน ก็มีเรื่องนึงที่อยากจะแชร์ ประมาณเดือนก่อน เราได้ไปพบกลุ่มแรงงาน ราวๆ 7-8 คน ที่จะลาออกจากร้านอาหารยกทีม เพราะนายจ้างจะเปลี่ยนสัญญาการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรม แถมอารมณ์ร้อนขี้โมโหอีก เขาเลยจะลาออกกันยกร้าน แต่เขาต้องการจะหาเครื่องมือสั่งสอน หรือจะเรียกว่าแก้แค้นก็ได้ ฮ่าๆๆ เลยมาปรึกษาสหภาพแรงงานบาริสต้า เพื่อนที่ถนัดเรื่องกฎหมายหรือกระบวนการตรวจสอบนายจ้าง ก็จะให้คำแนะนำ ให้เขาเตรียมตัวไป แต่เอาจริงๆ คือกลุ่มแรงงานกลุ่มนี้มีความพร้อมอยู่แล้ว อาจใช้คำว่า มีจิตสำนึกของชนชั้นแรงงาน ร่วมกันอยู่แล้ว และพวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ส่วนพวกเราก็ตั้งใจไปหาเขาเพื่อให้เห็นว่าเรายังพรรคมีพวกที่พร้อมจะยืนเคียงข้างกันจำนวนไม่น้อย เพราะอำนาจเดียวของแรงงาน ก็คือการรวมตัว เราไม่ใช่คนรวย หรือมียศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีทุน ไม่มีปืน หรืออำนาจรัฐ ดังนั้นการรวมตัวกันของแรงงานจึงเป็นขุมพลังที่เข้มแข็งที่สุด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างประสบการณ์ของสหภาพแรงงานบาริสต้า

เราอยากให้วันแรงงานสากลสามารถพูดเรื่องที่มันไปไกลกว่าประเด็นทางสังคมทั่วๆไปได้ ถ้าเขาเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 600 เราก็เรียกร้องไปเลย 1200 หรือ 2000 บาทต่อวัน ไม่ต้องไปสนใจกลไกตลาดเสรีห่าอะไร เรามีอำนาจที่จะกำหนดมันได้ ไม่ใช่แค่นายทุนที่มีอำนาจในการกำหนดตัวเลขพวกนี้ แล้วทำตัวเป็นผู้รู้ไปหมด ไม่ให้แรงงานได้มีโอกาสส่งเสียง แล้วบอกว่า พวกแรงงานมันโง่ ไม่รู้จักเศรษฐศาสตร์หรอก ก็คือ เราจะต้องพูดถึงจินตนาการของชีวิตไปให้ไกลที่สุด เพื่อสร้างข้อถกเถียงทางสังคมหรือเศรษฐกิจการเมือง และเราหลีกหนีความขัดแย้งทางชนชั้นไม่พ้น วันแรงงานสากลที่เราพยายามทำคือการเบียวให้เต็มที่ มันเป็นจิตวิญญาณของเราที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคน เรารู้ว่ามันยากแน่ๆ แม่งยากมากๆ ยากสัสๆ บางทีก็ซึมเศร้าจากความรู้สึกนี้เหมือนกัน ตังค์ก็ไม่ค่อยจะมี ยังจะมาทำเรื่องแรงงานอีก แต่จะให้ทำยังไงได้ ในเมื่อเรามองเห็นแนวทางนี้เป็นอีกแนวทางของการใช้ชีวิต ที่ไม่จำเป็นต้องทำตามๆกันในแบบที่ระบบทุนนิยมต้องการ ย้อนไปถึงวันแรงงานสากลในประวัติศาสตร์ แรงงานเคยทำงาน 14-15 ชั่วโมงต่อวัน ก็ต่อสู้จนลดลงมาเหลือแค่ 8 ชั่วโมง ตอนนั้นใครจะไปคิดว่าชั่วโมงการทำงานจะลดลงได้ ถ้าแรงงานไม่ออกมาต่อสู้

ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เกิดขึ้นมาเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก แต่มันมีพลวัตรทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด และขบวนการแรงงานก็คือขบวนการหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ ที่จะสื่อก็คือ วันแรงงานสากลมาถึงเมื่อไหร่ ก็ปลดปล่อยความปรารถนาอันคับแค้นของเราออกไปให้เต็มที่ไปเลย ก่อนที่วันต่อมา จะต้องกลับไปทำงานรับใช้ทุนนิยมเหมือนเดิม ฮ่าๆๆ เศร้า แต่แน่นอนว่าจิตวิญญาณนี้มันจะยังคงอยู่ สำนึกทางชนชั้นของเราจะยังคงอยู่ และมันจะปรากฎออกมาเป็นการต่อสู้ร่วมกันในสักวันข้างหน้า ปีนี้เราก็อยากจะให้วันแรงงานสากลของเราเข้มข้นมากขึ้น และหลังจากวันแรงงานสากล เราก็ยังจะรักษาจิตวิญญาณความเป็นแรงงานนี้ต่อไป และเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานต่อไป ก็คงจนกว่าจะตายล่ะมั้ง แต่ปีนี้ก็คงตั้งใจที่จะทำสหภาพแรงงานบาริสต้ามากขึ้น ซึ่งก็มีโครงการที่ตั้งใจจะทำเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก พร้อมๆกับการรักษาหลักการที่ว่าอำนาจจะต้องเป็นของชนชั้นแรงงานเอาไว้ให้มั่นคง แต่ May Day เชียงใหม่ก็เข้มข้นแน่นอน

📍 คิดว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับประเด็นแรงงาน หรือไม่ อย่างไร ?

👉 เอาจริงๆ ตั้งแต่เด็กไม่เคยรับรู้เรื่องแรงงานอะไรพวกนี้เลยนะ แต่ใครเขารู้กันบ้าง ก็ไม่น่ามี เพราะแม่งสอนเด็กๆ ให้โตไปเป็นเจ้าคนนายคน ให้ไปเหยียบหัวคนอื่น ไม่มีใครเคยบอกว่า เราจะต้องยืนเคียงข้างชนชั้นแรงงาน เอาความมั่งคั่งคืนมาจากคนรวย แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ ช่วงมัธยมต้นมั้ง เคยมีครูบอกว่า “ถ้าไม่ขยันเรียน โตไปจะต้องไปเป็นก่อสร้างนะ” เราแม่งก็คิดในใจว่า “เป็นก่อสร้างแล้วยังไงวะ” นึกไปนึกมา ความทรงจำนี้เรากลับจำได้ไม่ลืม มันอาจเป็นสำนึกของแรงงานหรือแนวคิดแบบสังคมนิยมห่าอะไรในหัวเราตั้งแต่ตอนนั้นก็ได้ ฮ่าๆๆ แล้วตอนนี้เราก็คิดว่าการเป็นแรงงานก่อสร้างแล้วมันยังไง ค่าแรงของแรงงานก่อสร้างต่างหากที่ควรจะได้รับเยอะๆ เพราะเป็นงานที่ใช้กำลังกายหนักแถมต้องใช้ทักษะพิเศษและเป็นงานที่ไม่มีใครอยากจะทำ แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง ต้องได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหน แรงงานก็ต้องมีอำนาจต่อรอง นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยถูกสั่งสอนมาเลย เพราะแน่นอนว่าถ้าแนวคิดนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนหรือรั้วสถาบันการศึกษา แม่งคงวุ่นวายน่าดู พวกครูบาอาจารย์คงกลัวนักเรียนจะนัดหยุดเรียน หรือกลัวนักศึกษาฝึกงานจะเรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น หรือกลัวการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอนาคตหลังเรียนจบ แต่อย่างในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส คือแม่งมีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยนัดหยุดเรียน ยึดมหาวิทยาลัยในฐานะที่มันเป็นโรงงาน แล้วให้สหภาพแรงงานเข้ามาทำกิจกรรม แต่ของสังคมเราก็คือถูกสอนให้เชื่องเชื่อตามระบบนั่นแหละ ขยันแข่งขันให้มาก จะได้ไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำงานที่มั่นคงมั่งคั่งร่ำรวย แล้วก็เหยียบหัวขูดรีดแรงงานวนๆไปตามระบบเป็นทอดๆ ใครแข่งขันแพ้ ก็ต้องเป็นแรงงาน ถูกขูดรีดไปจนตาย ไม่มีโอกาสได้มีชีวิตที่ดีอะไร สังคมเรามันเป็นแบบนี้ มันมีชนชั้น มันบ่มเพาะจิตสำนึกทางชนชั้นแบบทุนนิยม ลองมองย้อนกลับไปสิ่ ตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา มันหล่อหลอมให้เราเป็นคนไร้ปากเสียง ไม่ก็สอนแต่จะให้โตไปเป็นคนรวย โดยที่ไม่สนใจสิทธิแรงงานอะไรเลย เราต่างรู้ดีกับเรื่องนี้ แต่เราไม่เคยทบทวนมัน ซึ่งถ้าเราได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องแรงงาน สิทธิแรงงาน ขบวนการแรงงาน ประชาธิปไตยของแรงงาน ตั้งแต่เด็กๆ ก็คิดดูว่าอำนาจต่อรองของเราจะมีมากขนาดไหน นี่มันเป็นการควบคุมของรัฐและทุน ที่ลึกลงไปในระดับจิตไร้สำนึกเลยก็ว่าได้ เราปกป้องทุนนิยมตั้งแต่ก่อนที่เราจะมีสำนึกขึ้นมาเสียอีก มันอยู่ในจิตไร้สำนึกเลย มันคือการครอบงำทางความคิดที่พยายามจะไม่ทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิแรงงาน หรืออาจจะเรียกว่า สังคมนิยม ได้เกิดขึ้น เพราะคนชนชั้นผู้มีอำนาจต่างหวาดกลัวชนชั้นแรงงาน

สุดท้ายแล้วแน่นอน ในระดับของการศึกษา จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องแรงงาน 101 เบื้องต้น โดยเฉพาะเรียนรู้ในเรื่องการรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง แต่แน่นอน เขาจะบอกว่านี่มันเป็นหลักสูตรพวกคอมมิวนิสต์แน่ๆ ฮ่าๆๆ แล้วเขาจะบอกว่า ถ้าเราขยันหรือมี mindset ที่ดี เราก็จะไม่ต้องไปเป็นแรงงาน เราจะประสบความสำเร็จ ฟังแล้ว งงไหม งงนะ งงกับแม่งอ่ะ แทนที่จะรวมตัวกันทำสหภาพแรงงาน แม่งเสือกบอกให้เราไปขยันทำงานหาเงิน จะได้ไม่ต้องเป็นแรงงาน เออ งงสัส เราสามารถเป็นแรงงานที่มีชีวิตที่ดีไม่ได้เหรอ ถ้าเรามีการสอนเรื่องสิทธิแรงงานตั้งแต่เด็ก เราคงวาดภาพอนาคตอีกแบบ ซึ่งตอนนี้มองไปที่อนาคต มีแต่ความมืด มองเห็นแค่ว่าตัวเองจะต้องทำงานไปจนตาย ฮ่าๆๆ

📍 คิดว่าอะไรคือความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับแรงงาน, May Day ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ?

👉 อาจจะตอบซ้ำๆ กับที่พูดไปข้างต้นเยอะแล้ว ก็คือ เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า ‘แรงงาน’ ที่หมายถึง ‘คนที่ใช้แรงงานหนัก’ พอตั้งต้นแบบนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่า อ้าว เราไม่ใช่แรงงานนี่ เราเป็นนักพัฒนาสังคม เป็นนักศิลปิน เป็นอาชีพอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง แล้ววันแรงงานสากลมันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรวะ ในเมื่อเราไม่ใช่แรงงาน แล้วมันสำคัญยังไงวะ ช่างแม่ง กูจะรวย กูจะทำงานให้หนัก ซึ่งถ้าเป็นไปในรูปแบบนี้ ก็คงจะต้องย้อนกลับไปทบทวนคำๆนี้ใหม่ แรงงาน การใช้แรงงาน ไม่ว่าจะแรงงานที่ใช้ร่างกาย แรงงานที่ใช้ความคิด การใช้แรงงานที่ผลิตสร้างวัตถุ หรือการใช้แรงงานที่ผลิตสร้างสิ่งที่ไม่เป็นวัตถุ อย่างความคิด อารมณ์ ความรู้สึก คิดว่าถ้าเราเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเอง เข้ากับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง เราอาจจะพบว่าเราอยู่ส่วนไหนของการผลิตมูลค่าทางสังคม หรืออาจจะเรียกได้ว่าเรารู้ว่า เราอยู่ชนชั้นไหน เราอาจจะรู้ว่าเรามีสิ่งที่มีร่วมกันกับคนอื่นอีกมากมาย เช่น การถูกขูดรีดแรงงาน ถ้าใครบ้านจนหน่อย ก็คงจะรับรู้ได้ว่า เราอยู่เบื้องล่างของสังคมมากๆ เรามีไม่เท่าคนอื่น เราเจอแต่ภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีเงินหน่อย ก็คงจะรับรู้ว่า เราสุขสบายกว่าคนอื่นเยอะ มันก็คงจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกันนะ ที่เรารับรู้ถึงการมีชนชั้น ที่มันผูกโยงกับชีวิตเรา เราอาจจะรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นเสมอๆ หรือเราอาจจะเจ็บปวดที่เรามีเพื่อนที่ลำบากกว่าเรา และพ่อแม่เรา แม่งมีเงินมาจากการขูดรีดแรงงาน

แต่เราก็คิดว่าไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใด ก็สามารถพูดหรือต่อสู้เพื่อแรงงานได้หมด เพียงแต่ในท้ายที่สุด คนที่นำการต่อสู้นี้ก็คือแรงงาน เพราะแรงงานมีอำนาจในการเบรคระบบนี้ เช่น การนัดหยุดงาน เพื่อต่อรองกับนายทุน แรงงานสามารถหยุดระบบนี้ได้ คนมีเงินอาจจะต่อสู้เพื่อแรงงานได้ แต่อาจจะไม่สามารถเป็นกลุ่มชนชั้นที่นำการต่อสู้ได้ เพราะสุดท้ายคนรวยจะต้องเสียผลประโยชน์ในท้ายที่สุด ก็ต้องเลือกข้างว่าจะเป็นคนรวย หรือเป็นแรงงาน อันนี้คงจะเป็นความขัดแย้งทางชั้นที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ ทุกสิ่งในสังคมมันจะเคลื่อนไปหรือกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือการแตกหักเท่านั้น แต่อันนี้สไตล์แนวคิดเราอาจจะเชื่อแบบนี้ ก็ไปถกเถียงกันได้ว่าเราควรจะหาทางประนีประนอมอื่นๆ หรือแตกหัก แต่ถ้าเป็นเราก็จะมองว่าเราจะต้องแตกหักอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นความเปลี่ยนแปลงในระดับรากลึกที่สุดก็จะไม่เกิดขึ้น คนรวยจะต้องถูกชนชั้นแรงงานควบคุมความมั่งคั่งอย่างเด็ดขาด

ย้อนกลับมาที่คำถามว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็คงจะเป็นการเริ่มจากการบอกว่าตัวเราเองนั้นเป็นแรงงานที่อยู่ส่วนไหนของชนชั้นทางสังคม เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นแรงงาน เราก็อาจจะมารวมกลุ่มกันในวันแรงงานสากล หรือไม่ใช่แค่ในวันแรงงานสากล แต่รวมไปถึงในชีวิตประจำวันที่จะสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานให้มากขึ้น เราจะต้องคำนึงถึงคำว่า “ชนชั้น” อยู่เสมอ เราปฏิเสธการเมืองชนชั้นไม่ได้ เพราะเราดำรงอยู่กับมัน อยู่กับสังคมชนชั้น ดังนั้นเราจึงต้องกลับมาพูดถึงแรงงาน หรือวัน May Day อีกครั้ง ในฐานะที่มันเป็นวันสำคัญที่สุดของชีวิตพวกเรา

📍 ถ้ามองไปข้างหน้า คุณจินตนาการถึงบทบาทของวันแรงงาน May Day ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตอย่างไร ?

👉 สำหรับเรา วันแรงงานสากล หรือ May Day เป็นแค่จุดเริ่มต้นหรือหมุดหมายในการพูดถึงชนชั้นแรงงาน มันแทบจะเป็นวันเดียวในปฏิทินที่มีประวัติศาสตร์มาจากการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานหรือขบวนการสังคมนิยม อาจจะมีวันสตรีสากลด้วยที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิง ซึ่งชื่อเดิมของมัน คือวันแรงงานสตรีสากล แต่คำว่าแรงงานกลับถูกลดบทบาทลงไป ถ้ามองแบบนี้ อาจจะมีแค่สองวันหรือวันเดียวเท่านั้น ที่เราจะมีความชอบธรรมในการพูดถึงแรงงาน เพราะถ้าเป็นวันสงกรานต์เราก็คงจะสาดน้ำ หรือวันปีใหม่เราคงจะไปนับถอยหลัง Countdown ฉลองสนุกสนาน แต่ถ้าเป็นวันแรงงานสากล หรือ May Day เราก็คงจะออกมาเดินขบวน เพื่อตะโกนถึงความคับข้องใจจากสภาพการทำงานในสังคมทุนนิยม ออกมาก่นด่าหรือเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ชนชั้นแรงงานกลับมามีบทบาทหรืออำนาจนำทางสังคม ใช่ มันคงจะมีแค่วันเดียวจริงๆ ที่เราจะพูดถึงเรื่องแรงงานได้อย่างเต็มปาก มันเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับประวัติศาสตร์สากลของชนชั้นแรงงาน เชื่อมโยงกับแรงงานทั่วโลก

ถ้าจะจินตนาการถึงอนาคต ก่อนอื่นก็คิดว่าวันนี้จะต้องเป็นวันหยุด ให้แรงงานได้หยุดพัก ต่อมาคือเราอาจจะต้องสร้างวัฒนธรรมการรวมกลุ่มการเดินขบวนของแรงงาน ถ้าภาพเพ้อๆ ในหัวของเรา พอเช้าวัน May Day ปุ้ป ทุกคนออกมาเฉลิมฉลองกัน จะไม่มีการทำงานในวันนั้น หรือถ้าใครต้องทำ ก็จะต้องมีค่าแรงพิเศษให้มากขึ้น เราทุกคนจะขอบคุณกันและกัน ในฐานะแรงงาน ในฐานะผู้สร้างทุกสรรพสิ่งของสังคมนี้ขึ้นมา จะไม่มีการแบ่งแยกเพศ ชนชาติ สีผิว เพราะจุดร่วมในอัตลักษณ์ของการเป็นแรงงาน ก็คือการเป็นชนชั้นแรงงานร่วมกัน แต่เราจะต้องแบ่งแยกชนชั้นอย่างแน่นอน วันนั้น พวกคนรวย พวกไลฟ์โค้ช พวกทหาร พวกศักดินา จะต้องหุบปากเงียบ เลิกสั่งสอนคนจน เลิกสั่งสอนแรงงาน เพราะคนพวกนี้มีชีวิตอยู่ได้เพราะแรงงาน

วัน May Day จะเป็นวันที่เราภาคภูมิใจในความเป็นแรงงาน อาจจะมีการเสวนาพูดคุยปัญหาของแรงงาน เราคงจะคุยกันว่าอนาคตของแรงงานจะไปทางไหนต่อ เราจะได้ทำงาน 3-4 วันต่อสัปดาห์ไหม ทำงานแค่ 4-5 ชั่วโมงต่อวันไหม ค่าแรงเราควรจะได้เท่าไหร่ถึงจะมีชีวิตที่ดีได้ เราจะมี UBI (Universal Basic Income) รึเปล่า เราจะจำกัดความมั่งคั่งของนายทุนอย่างไร เราจะมีการจัดงานดนตรี ศิลปะ สนุกสนานรื่นเริง พร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อแรงงานทั้งโลก นี่อาจจะเป็นภาพสุดเพ้อฝัน แต่เราคิดว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ และจุดเริ่มต้นนี้ คงมาจากการเคลื่อนไหวในวันแรงงานสากล วันที่เราจะออกมาพูด ออกมาส่งเสียง ในฐานะแรงงาน ซึ่งเป็นชนชั้นหลักที่สำคัญที่สุดของสังคม เราในฐานะแรงงานจะออกมากำหนดชะตากรรมของเราเอง เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะไม่มีใครต้องนอนอยู่ข้างถนน อดตาย หนาวตาย ร้อนตาย จะไม่มีใครตกงานแล้วไปฆ่าตัวตาย จะไม่มีใครทำงานจนตาย จะไม่มีใครรู้สึกไร้ค่า เพราะชนชั้นแรงงานจะพาทุกคนกลับมาจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่ไปไกลกว่าระบบทุนนิยม ซึ่งถ้าพูดแบบนี้คนก็อาจจะบอกว่า มึงเป็นคอมมิวนิสต์เหรอ ซึ่งสำหรับเรา ก็คงจะบอกว่า คอมมิวนิสต์แล้วไงวะ กูเป็นแรงงาน และกูต้องการจะฝันไปให้ไกลกว่าระบบทุนนิยม เพื่อความเสมอภาคของคนทุกคน และเราทุกคนต้องมาคิดร่วมกันว่าเราจะออกแบบสังคมนี้เพื่อแรงงานทุกคนอย่างไร เหมือนคำแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์สุดคลาสสิค ในปี 1848 ที่ว่า “ชาวกรรมาชีพไม่มีอะไรจะต้องสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน พวกเขามีโลกทั้งใบที่จะได้ชัยมา” ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ขบวนการแรงงานสากลในศตวรรษที่ 21 ยังไม่ตาย และกำลังกลับมา ในขณะที่โลกเอียงขวามากยิ่งขึ้น มีทั้งผู้นำเผด็จการ สงคราม วิกฤตสิ่งแวดล้อม การเหยียดสีผิว ระบอบปิตาธิปไตย การค้ามนุษย์ ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นฝ่ายซ้าย จนถึงฝ่ายซ้ายจัด ในฐานะชนชั้นแรงงาน เพื่อที่สร้างโลกของเราขึ้นใหม่ในอีกรูปแบบ โลกที่อำนาจทั้งหมดจะเป็นของชนชั้นแรงงาน สุดท้าย อยากจะฝากว่า พบกันบนท้องถนนในวันแรงงานสากล ขอให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ต่อไป และขอให้ทุกคนภาคภูมิใจที่พวกเราทั้งหมดคือชนชั้นแรงงาน

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai