เยาวชน เป็นกลุ่มวัยที่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในฐานะที่เป็นอนาคตของสังคม หน่วยงานรัฐจึงมีการจัดทำและดำเนินนโยบายเพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในหลากหลายรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกัน ได้แก่ การที่เยาวชนต่างพากันถอยห่างจากกิจกรรมโครงการ ตลอดจนกลไกที่รัฐจัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นทางการ และหันไปให้ความสนใจกิจกรรมนอกระบบ ซึ่งมีให้เลือกเข้าร่วมอย่างหลากหลายเพิ่มขึ้น 

“นวัตกรรมทางสังคม” จึงเป็นสิ่งที่สาธารณชนมีการเรียกร้องจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนวัตกรรมที่จะสร้างการมีส่วนร่วมแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงน่าสนใจว่า รูปแบบ “นวัตกรรม” ใดที่จะมีบทบาทในบริบทของการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้านการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

เยาวชนกับการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการ ในระดับสากล รัฐบาลและภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับนโยบายด้านเยาวชน เห็นได้จากการมีประเทศที่จัดทำนโยบายเยาวชนเพิ่มขึ้น นโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยการจัดให้มีโครงสร้าง องค์กร หรือกลุ่ม และสมาคม ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น สภาเด็กและเยาวชน นายกเทศมนตรีเยาวชน คณะที่ปรึกษาเยาวชน เวทีเยาวชนและเครือข่ายเยาวชน รวมทั้งมีกิจกรรมและการประชุมเยาวชนในระดับนานาชาติมากขึ้นด้วย 

ในบ้านเรา นโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2550  ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างที่เป็นทางการ แต่การมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มักเป็นประเด็นที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ เช่น เยาวชนจิตอาสาร่วมพัฒนาชุมชนสังคม หรือการรวมกลุ่มของเยาวชนจัดกิจกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาที่ถูกกำหนดวาระโดยภาครัฐหรือองค์กรผู้ใหญ่ เช่น การต่อต้านปัญหายาเสพติดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ฯลฯ

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอีก 9 เรื่อง และดาวน์โหลดเนื้อหา/Pocketbook ทั้งเล่ม คลิกที่นี่

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai