เรื่องของแฮ็คส์

“แค่คิดว่าจะได้กลับบ้าน ก็สุขใจแล้ว”

แฮ็คส์ หรือ เยาวลักษณ์ บุญตา เคยคิดว่า ความสุขใจที่ได้กลับบ้านเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แรงงานหลายคนอยากกลับบ้าน แต่เมื่อเธอตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดของเธอแล้ว เธอกลับพบว่าการกลับบ้านไม่ได้นำมาซึ่งความสุขใจเสมอไป

แม้ว่าแฮ็คส์จะเรียนจบวิศวกรรมอุตสาหการ และทำงานทางด้านผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มาเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่เมื่อเธอกลับบ้าน เธอตัดสินใจใช้ทักษะการทำขนมที่เธอมีกลับมาเปิดร้านขนมที่ไม่มีหน้าร้านแต่ขายผ่านทาง Facebook ภายใต้ชื่อ “บ้านนอกBakery” ร้านขนมของเธอมีความพิเศษตรงที่เธอนำวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาแปรรูปทำเป็นขนมไทยและเทศ

การทำขนมของแฮ็คส์ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการก้าวสำคัญในการต่อสู้เพื่อฟื้นคืนชีวิตในชุมชนและแสวงหาพื้นที่ทางสังคมให้แก่ตัวของแฮ็คส์เอง และยังมีส่วนเชื่อมร้อยคนที่อยู่ในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแฮ็คส์หวังว่า การกระทำของเธอจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง

การต่อสู้เพื่อฟื้นคืนชีวิตในบ้านเกิดของแรงงานคืนถิ่น

ส่วนใหญ่ของแรงงานที่ออกจากบ้านเกิดไปทำงาน จะเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว ดังนั้นแรงงานที่ต้องการกลับบ้านโดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในวัยแรงงาน (18 – 60 ปี) จะต้องประสบกับอุปสรรคมากมาย ซึ่งด่านแรกที่แรงงานคืนถิ่นเหล่านี้ต้องเผชิญเมื่อตัดสินใจจะกลับบ้านคือความคาดหวังของครอบครัว

อย่างเช่น “อำคา” ในวัย 47 ปี เล่าว่า เธอจากบ้านไปทำงานในโรงงานเย็บผ้าที่ต่างจังหวัด มากกว่า 20 ปี ด้วยเหตุผลที่เธอมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าคนอื่นในบ้าน อำคาจึงกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวไปโดยอัตโนมัติ เพราะเธอจะต้องส่งเงินมาให้พี่สาวที่พิการ ดูแลพ่อและแม่ที่แก่ชรา และสร้างบ้านให้ครอบครัว ดังนั้นการตัดสินใจกลับบ้านจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ

เช่นเดียวกันกับ “อาร์ต” ในวัย 36 ปีเป็นลูกสาวคนเล็กในจำนวนพี่ห้อง 5 คน สาเหตุที่เธอตัดสินใจออกจากบ้านเกิดไปนั้นก็เพราะต้องการเงินส่งกลับมาให้พ่อกับแม่ที่อยู่ทางบ้าน และเมื่อพ่อเสียชีวิตลง อาร์ตจึงต้องกลับมาดูแลแม่ที่บ้านเพราะในตอนนั้นพี่สาวและพี่ชายต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวของตัวเอง อาร์ตบอกว่าเธอกลับมาอยู่บ้านเพราะรู้สึกว่าตัวเอง “ทิ้งแม่ไม่ได้หรอก”

“นก” ในวัย 39 ปี หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอและสามีตัดสินใจไปทำงานอยู่จังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะวิศวกรเกี่ยวกับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นกจะแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ว่า เธอและสามีวางแผนไว้ตั้งแต่แรกว่าจะออกไปทำงานต่างถิ่นเพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเนื่องจากภาระหนี้สินครัวเรือน (ธกส และ กยศ ) ประกอบกับยังไม่สามารถเก็บเงินได้มากนัก จึงทำให้เธอต้องทำงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครถึง 12 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น นกทำงานเพื่อเก็บเงินและส่งเงินให้ที่บ้าน โดยแม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูกให้ระหว่างที่ตนออกไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งในตอนนี้แม่ของเธอเสียชีวิตแล้ว

“ยิ่งทำงานยิ่งจน” คำพูดของ “แฮ็คส์” ในวัย 35 ปี แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดบางอย่างในการใช้ชีวิตด้านการเงิน เธอเล่าว่า เวลาที่ครอบครัวของเธอขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทุกคนจะนึกถึงเธอเป็นอันดับแรก เพราะเธอทำงานเป็นวิศวกรและมีเครดิตที่ดีกว่าใครในบ้าน จึงทำให้เธอสามารถกดเงินสดและใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ง่ายกว่าใคร แต่เพราะความขาดวินัยและความรู้ทางด้านการจัดการทางการเงิน ขาดความรอบคอบในการใช้บัตรเครดิต ทำให้กว่าเธอจะรู้ตัว เธอก็กลายเป็นหนี้จำนวนมาก และที่สำคัญคือ เธอไม่กล้าบอกครอบครัว ว่าเธอมีหนี้ ด้วยกลัวว่าทุกคนจะเป็นห่วง

แต่เมื่อสถานการณ์หนี้ของเธอรุนแรงขึ้น แฮ็คส์จึงรวบรวมความกล้าที่จะเอ่ยปากคุย ปรึกษา กับครอบครัว และเล่าถึงสถานการณ์การเงินของเธอในปัจจุบันให้ครอบครัวฟัง พร้อมกับขอกลับมาทำเกษตรและทำขนมอยู่ที่บ้านตามสิ่งที่เธอฝัน ในช่วงแรกหลังจากที่ได้พูดคุยกันกับครอบครัว ทุกคนยังเป็นห่วง พยายามพูดโน้มน้าวให้แฮ็คส์ยังทำงานประจำ

แฮ็คส์ใช้เวลามากกว่า 5 ปี ในการพยายามเรียนรู้และลงมือทำขนมระหว่างทำงานประจำ เพื่อให้ครอบครัวได้เห็นถึงความตั้งใจจริง ทั้งฝึกอบรมด้านเกษตรและฝึกทำขนมเป็นงานอดิเรก รวมถึงฝึกทักษะต่างๆ ที่เธอคิดว่าจำเป็น หากกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านในชนบท

“ถ้าบ่ไหว กะกลับบ้านเฮาเด้อลูก” นี่เป็นประโยคที่พ่อพูดกับแฮ็คส์ ทำให้เธอรู้ว่า ครอบครัวเริ่มเปิดใจยอมรับ ให้โอกาส และเคารพในการตัดสินใจของเธอ เธอจึงกล้าตัดสินใจกลับบ้านได้อย่างไม่ลังเล ด้วยว่า อย่างน้อยการกลับบ้านของเธอ ก็มีหลักประกันในเรื่องของพื้นที่ทำกินที่สามารถผลิตอาหารเองได้นั่นเอง

ด่านต่อไปที่แรงงานคืนถิ่นต้องเผชิญคือแรงกดดันของชุมชน

ทั้งนี้เพราะในสังคมชนบทนั้น มักจะมีความคาดหวังและความเชื่อที่ว่า ยิ่งเรียนสูง ยิ่งต้องเป็นเจ้าคนนายคน ต้องมีหน้าที่การงานที่ดี มีรายได้สูง มีบ้าน มีรถ และแต่งงานมีครอบครัว ดังนั้น หากแรงงานคืนถิ่นกลับมายังบ้านเกิดแบบ “ไม่มีอะไร” หรือกลับมาบ้านเกิดโดยยังมีภาระหนี้สิน หรือไม่ได้มีการสร้างงานหรือแหล่งรายได้ที่ชัดเจนรองรับไว้ที่บ้าน ก็มักจะกลายมาเป็นคนที่ไม่มีหน้ามีตาในชุมชน ซึ่งนั่นทำให้คนในครอบครัวและญาติพี่น้องเกิดความอับอายได้ นอกจากนั้น แรงกดดันของชุมชนก็มักปรากฏในรูปแบบของคำพูดที่แสดงความห่วงใยซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำพูดเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลด้านบวกต่อความรู้สึกของแรงงานและครอบครัว ในทางตรงกันข้าม คำพูดเหล่านี้ทำให้แรงงานคืนถิ่นยิ่งรู้สึกว่ากำลังถูกบั่นทอนจิตใจและยิ่งรู้สึกกดดันจากสังคมรอบข้างที่เขาอาศัยอยู่

ด้วยความที่อำคา เป็นคนเรียบง่าย เธอจึงไม่ค่อยได้สนใจว่าจะมีใครพูดถึงเธอว่าอย่างไร ส่วนแฮ็คส์ แม้ว่าเธอจะไม่ได้สนใจคำพูดของคนอื่น เช่นเดียวกับอำคา รวมถึงแฮ็คส์เตรียมใจไว้แล้วว่าเมื่อกลับบ้านเธอต้องเจอกับคำพูดในลักษณะนี้อยู่แล้ว คำพูดของคนอื่นจึงไม่ค่อยมีผลกดดันต่อตัวเธอโดยตรง แต่นั่นก็ยังทำให้เธอได้รับแรงกดดันเล็กน้อยจากการที่คนในครอบครัวของเธอ ต้องพบเจอกับคำพูดจากคนอื่น ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลด้านบวกต่อความรู้สึกของคนในครอบครัวของเธอเท่าใดนัก

ส่วน นก แม้ว่าเธอจะมีการเตรียมความพร้อมในการกลับบ้านสักเพียงใด การมีทั้งบ้าน ที่ดิน และเงินเก็บ อาจเป็นเพียงด่านแรกที่จะทำให้คนพูดถึงเธอในทางลบน้อยลง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ว่าเธอจะไม่ได้รับแรงกดดันจากชุมชนเลย คำถามที่มักพบเจอบ่อย เช่น “เรียนจบปริญญาตรี กลับมาอยู่บ้านเลี้ยงลูกเหรอ” “กลับมาอยู่บ้านจะทำอะไรล่ะ” “เสียดายวุฒิการศึกษาจัง”เป็นต้น ประโยคที่ฟัง เหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อรวมกับน้ำเสียงของคนพูด ทำให้แรงงานเมื่อฟังแล้วรู้สึกว่ากำลังถูกวิจารณ์ในทางลบ

สำหรับ วิธีการต่อสู้ต่อแรงกดดันของชุมชน ที่ทั้ง แฮ็คส์ นก อำคา และอาร์ต เลือกใช้คือ การอยู่เฉย ไม่สนใจกับสิ่งที่คนอื่นพูด และทำในแบบที่เป็นตัวเองต่อไป ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลดี เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เสียงคำพูดของคนอื่นจะเริ่มลดน้อยลงในที่สุด

นอกจากแรงงานคืนถิ่นจะได้รับแรงกดดันจากการกลับบ้านในช่วงแรกแล้ว วิถีชีวิตที่เลือก หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวก็ยังเป็นเรื่องที่คนในชุมชนสนใจ “อาร์ต” ต้องต่อสู้กับแรงกดดันรอบข้าง จากการที่เธอมีสามีที่มีอายุห่างกันเกือบ 30 ปี การบูลลี่หรือคำพูดที่ห่วงใยทั้งจากคนในครอบครัวและคนอื่น ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในด้านลบของเธอไม่น้อย แต่อาร์ตและสามีก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ด้วยความเข้าใจ และการพยายามทำให้คนอื่นเห็นว่าทั้งคู่อยู่ด้วยกันเพราะรักและมีความสนใจในด้านเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน

ด่านสุดท้ายที่แรงงานคืนถิ่นต้องฝ่าฟันคือการทำมาหากินให้อยู่รอดในชุมชน

การเตรียมความพร้อมของ “นก” ก่อนที่เธอจะกลับมาอยู่บ้าน โดยที่นกและสามีวางแผนในการกลับบ้านร่วมกันเนื่องจากมีความตั้งใจกลับบ้านอยู่แล้ว และแม่ของนกเสียชีวิต ทั้งคู่ช่วยกันทำงาน เก็บเงิน ซื้อรถ ซื้อที่ดิน และสร้างบ้าน และเมื่อเหลือหนี้สินจำนวนหนึ่ง จึงตัดสินใจให้นกเป็นคนลาออกเพื่อกลับมาเลี้ยงลูก และสามียังทำงานอยู่ที่เดิม โดยรูปแบบการย้ายถิ่นฐานกลับมาคนเดียว เนื่องจากสามีมีเงินเดือนที่สูงกว่า นกกลับมาอยู่บ้านพร้อมกับเงินทุนสำรองจำนวนหนึ่งเอาไว้ให้ลูกเรียน “วางแผนไว้ว่ากลับมาบ้านจะทำนาและปลูกผักกินเอง และเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก” นก เล่าถึงแผนที่นกจะทำเมื่อกลับมาอยู่บ้าน

ทั้งนี้ หลักประกันความอยู่รอดของนกอยู่ที่สามี เพราะสามีหาเงินเป็นหลักในครอบครัว และนกยังมีที่ที่ดิน 20 กว่าไร่ มีบ้านเป็นชื่อตนเอง และมีสวนเป็นในชื่อของแม่ที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์มา นอกจากนี้นกยังทำประกันสังคมไว้ด้วย ส่วนสามีก็มีการวางแผนไว้ว่าเคลียร์หนี้บ้านเสร็จจึงจะกลับมาอยู่บ้าน ในระยะเวลาก่อนที่สามีนกจะกลับมาบ้าน มาทำเกษตร นกตั้งใจจะต้องปูทางไว้ก่อน เช่น พยายามลดค่าใช้จ่ายจนสามีสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ และหาคำตอบไว้ให้สามีได้ว่า กลับมาบ้านแล้วสามีต้องทำอะไร

ส่วน “แฮ็คส์” ที่แม้จะเตรียมพร้อมแล้วแต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านพร้อมกับหนี้สิน การกลับมาอยู่บ้านทั้งที่ยังไม่มีรายได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ เพื่อการดิ้นรนให้อยู่รอดของแฮ็คส์และครอบครัว แฮ็คส์จึงเลือกทำการเกษตรควบคู่กับการการทำขนมขาย แต่รายได้ก็ไม่เป็นก้อน ขาดทุนบ้าง ได้กำไรบ้างตามสถานการณ์ นอกจากนี้แฮ็คส์ยังพยายามดึงเอาทักษะที่เธอพอมี เอามาสร้างรายได้ เช่น รับตกแต่งภาพ ตัดต่อคลิปวิดีโอ ถอดเทปเสียง เป็นต้น พอให้มีรายได้เล็กน้อยมาจุนเจือครอบครัว แต่นั่นก็ยังไม่พอใช้หนี้สินทั้งของเธอเองและของครอบครัว

อาจจะกล่าวได้ว่า ข้อกังวลของแฮ็คส์ในตอนนี้คือ รายได้และเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือน เป็นต้น สิ่งที่เธอตั้งใจอยากจะทำให้ได้เป็นอันดับแรก คือ การพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยเฉพาะด้านอาหาร เริ่มจากการปลูกผักกินเองในพื้นที่ ส่วนกิจกรรมที่เธอพยายามทำ คือ สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชน และพยายามทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น

“อำคา” ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจจะกลับมาบ้าน แต่เธอต้องกลับมาเพื่อดูแลพ่อกับแม่ที่แก่ชรา และพี่สาวที่พิการ (ก่อนที่พ่อของเธอจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา) การกลับบ้านโดยที่ยังไม่ทันได้วางแผนเตรียมตัว ทำให้เมื่อกลับมาแล้ว เธอก็ตั้งต้นไม่เป็นเพราะไม่รู้จะตั้งต้นจากจุดใด เธอมีเงินทุนกลับมาด้วยจำนวนหนึ่ง และมีหลักประกัน เนื่องจากมีที่ดินและอยู่บ้านไม่ต้องซื้อข้าว และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งมีบัตรผู้สูงอายุของแม่และของพี่สาวจึงพอได้ซื้อกับข้าวบ้าง ปัจจุบันอำคาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังไม่ริเริ่มทำอย่างอื่น แต่เธอยังอยากทำงานเพราะตอนนี้เธอยังมีแรงทำงานอยู่ ข้อกังวลที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีรายได้ และครอบครัวมีผู้พิการ ส่วนทักษะการเย็บผ้าที่เธอมี ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอรัก

บทสรุปการเดินทางเพื่อการฟื้นคืนพื้นที่ชีวิตในชุมชนของแรงงานคืนถิ่น

เรื่องเล่าข้างต้นเป็นเสี้ยวหนึ่งของการต่อสู้เพื่อฟื้นคืนพื้นที่ชีวิตในชุมชนของแรงงานคืนถิ่น จะเห็นได้ว่าพวกเขาต้องต่อสู้ในหลายมิติและหลากระดับ ตั้งแต่การต่อสู้เชิงกายภาพในการปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึงความพยายามดิ้นรนเพื่อหาทางอยู่รอดในพื้นที่ของตนเองและครอบครัว ไปจนถึงการต่อสู้ทางจิตใจ เช่น ความกดดันหรือคาดหวังทางสังคม

ดังนั้นรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสังคมจึงควรผลักดัน และสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะทางอาชีพ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้แรงงานคืนถิ่น ซึ่งเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีอาชีพที่มั่นคง และสามารถอยู่รอดได้ในบ้านเกิด

สุดท้าย เมื่อแรงงานคืนถิ่นสามารถฟื้นคืนพื้นที่ชีวิตของตัวเองในสังคมได้ พวกเขาก็จะกลายเป็นพลังสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้ในที่สุด

เยาวลักษณ์ บุญตา

มาลี สุปันตี

จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai