เรื่องโดย : จี้ วิฬารัก

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้จัดกิจกรรม Rights on Film ฉายหนังเชื่อมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หลังจากได้ลองจัดฉายในงาน Light of Rights ‘แสง – สร้าง – สิทธิ’ และงาน Mekong-ASEAN Environmental Week (MAEW2023) สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน

โดยในครั้งนี้ Rights on Film มีชื่อตอนว่า ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ จัดขึ้นที่ร้าน Lorem Ipsum อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดยหนังที่ได้เลือกมาฉายในครั้งนี้คือเรื่อง ‘หมายเลขคดีแดง’ สารคดีที่ว่าด้วยการรอคอยการกลับมาของแม่ที่ถูกดำเนินคดี เป็นภาพสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง

หลังจากหนังเรื่องหมายเลขคดีแดงจบแล้ว ได้มีการจัดเวทีเสวนา ‘นิรโทษกรรม is the new butterfly effect’ ที่มีการพูดคุยกับ นายฮากิม พงตีกอ จาก The Patani, นายอับดุลเลาะ จาก Jasad,  และ นายชยพล ดโนทัย จาก iLaw  เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของผู้ที่ถูกโดนคดีทางการเมือง และ บุคคลรอบข้างอันเป็นที่รักของบุคคลที่ถูกดำเนินคดี โดยที่แต่ละท่าน ได้มีการนำเสนอข้อมูลและหัวข้อที่แตกต่างกันไป และนี่คือบทสรุปจากเวทีเสวนาที่ผ่านมา

กิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง หมายเลขคดีแดง

ฮากิม : ตนเองโดนคดีมาตรา 116 และได้เห็นบุคคลรอบตัวที่ทำงานด้วย อย่างเช่นนักศึกษาและครอบครัวของนักศึกษามีสภาวะซึมเศร้า และจำเป็นต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อที่จะต่อสู้คดีทางการเมืองและมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อให้หลุดพ้นจากคดีทางการเมือง ทั้งนี้ยังมีเรื่องของการบังคับขู่นักศึกษาถึงเรื่องของสิทธิในการศึกษา อย่างการขู่ว่าจะไม่ให้กู้กยศ.เพื่อการศึกษาอีกต่อไปหากนักศึกษานั้น เคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้ตัวของฮากิมเองก็ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี แม้เป็นเพียงแค่คดีเดียวก็ทำให้ตัวของฮากิมจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยเพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการต่าง ๆ เสียทั้งเวลา เงิน สุขภาพจิตและโอกาสในการศึกษาต่อในปริญญาโท ทำให้ฮากิมเสียโอกาสมากมายในชีวิต

ต้องขึ้นไปกรุงเทพ คนที่มีบ้านก็ต้องจำนำบ้าน คนที่มีที่ดิน มีฟาร์มแพะก็ต้องขาย ตอนนั้นเราเรียนจุฬาปอโทนะ แล้วก็ผ่านไป 3 ปีก็เห็นพ่อแม่เด็กๆ กลุ่มนั้น นะหน้าซูบเลย ดวงตาไม่มีน้ำตา

ฮากิม พงตีกอ

อับดุลเลาะ : เคยถูกคุมขังในห้องสี่เหลี่ยมจากกฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวลา 37 วัน ส่งผลให้ ไม่มีใครอยากจ้างงานเพราะว่าไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาชนไม่มีใครยอมรับ ราวกับว่าเป็นคนมีคดี แม้ว่าในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวออกมาโดยไม่ได้ดำเนินคดีใด ๆ แต่ก็ยังมีเรื่องของการทำธุรกิจที่ต้องล้มละลายเพราะว่าเจ้าของธุรกิจถูกควบคุมตัว ทำให้ธุรกิจเกิดภาวะเป็นอัมพาต แต่ก็ยังไม่เท่าแผลในใจที่ เมื่อมีเสียงดังทุกครั้ง ทำให้นึกถึงการซ้อมทรมานในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ตัดขาดจากผู้คน ไม่สามารถนอนหลับสนิทในบ้านของตนเองทั้งที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างสนิทใจได้ หากเห็นรถตำรวจหรือรถทหารผ่านหน้าบ้าน แผลในใจเหล่านี้ก็คงอยู่ติดตัวไปและไม่มีวันรักษาหายได้  และเป็นที่น่าเสียดายว่าจากเหตุการณ์นี้ยังไม่มีใครมาชดเชย ชดใช้ หรือคืนความยุติธรรมให้ จึงทำให้อับดุลเลาะอยากให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพิ่มมาตรา 209 และมาตรา 210 เพิ่มในพรบ.นิรโทษกรรม หรืออย่างน้อย ๆ คือ การมีการพูดถึงเรื่องราวสุดจะกล้ำกลืนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในสังคมไทยมากขึ้น

ตอนนั้นลงทุนกับธุรกิจไปเยอะ กู้แบงค์มาแล้วทีนี้ทุกอย่างมันพัง แล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบด้วยกับชีวิตที่พัง  มันไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมาย มันเป็นการทำลายชีวิต แล้วก็ชีวิตเราที่โดนทำร้าย ที่โดนแบบนี้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ น่าจะถึงวันตายแหละที่สูญเสียไป คือใครจะมาชดเชยเยียวยาตรงนี้ได้ไหมก็ไม่มี นี่คือความเลวร้ายของการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผิดวัตถุประสงค์และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาและผิดหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

อับดุลเลาะ

ชยพล : เรื่องประสบการณ์ของคนรอบตัว อย่างเพื่อนที่ต้องเผชิญหลังมีการจับกุม หรือควบคุมตัวจากหน่วยเล็กที่สุดอย่างปัจเจก ที่ต้องเสียเวลาในการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย การสอบ ฯลฯ หน่วยของครอบครัว ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคุกคามครอบครัวของนักศึกษาทำให้เกิดความขัดแย้งแตกหักในครอบครัวเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคนในสังคมที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันระดมเงินเพื่อเป็นค่าประกันตัวในระยะเวลาอันสั้น และไม่ได้เงินคืน ทั้งนี้ยังมีกลของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวและพาเพื่อนไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นและทนายอีกด้วย ดังนั้นการพูดถึงเรื่องพรบ.นิรโทษกรรม ณ ตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง

นายชยพล ดโนทัย จาก iLaw, นายอับดุลเลาะ จาก Jasad และ นายฮากิม พงตีกอ จาก The Patani

เรียกได้ว่าการถูกดำเนินคดีทางการเมืองนั้นไม่ได้กระทบแค่บุคคลที่โดนคดีเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบเป็นวงกว้าง “โดนคดีทางการเมืองคนเดียวแต่กลับกระทบไปยังครอบครัวและประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรไทย”

ในงานนี้ได้มีเข้าลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม และมีการลงชื่อในร่างพรบ.นิรโทษกรรมเพิ่มเป็นจำนวนหลายสิบคน นับว่าการนิรโทษกรรมนั้นเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง และถือว่าเป็นเครื่องมือวัดความตื่นตัวทางการเมือง (rule-making activities) ของประชาชนทั่วไปได้อย่างดีเยี่ยม


มุมเขียนการ์ดส่งกำลังใจให้ถึงเพื่อนข้างในเรือนจำ

เรื่องความคิดเห็นทางการเมืองต่าง ๆ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีมากมายหลากหลายประเด็น ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่สามารถสรุปทุกคดีที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก หรือแม้แต่แค่คดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ แล้วนำมาพูดคุย เปรียบเทียบวิเคราะห์ คดีแต่ละคดีได้ 

แต่หัวใจสำคัญในการดำเนินคดีทางการเมืองที่เหมือนกันทุกคดีทั่วโลก คือ การทำให้ประชาชนสิ้นหวัง ไร้ศรัทธาต่อเสรีภาพทางความคิด ก่อให้เกิดความกลัวได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องหมดความหวัง หมดศรัทธาในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในความคิดของตนเอง 

มีกลไกมากมายที่จะทำให้เรากลัวและสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ที่อาจคิดไม่ถึง หรือบางครั้งอาจเป็นการใช้อำนาจในการสั่งการให้ประชาชนนั้นต้องใช้ความรุนแรงต่อกันเอง หรือแม้แต่บางครั้งอำนาจรัฐก็แนบเนียนเสียจนคนในสังคมแยกไม่ออก ดูไม่ได้ ซึ่งพวกเราก็คงจะรู้ได้ไม่หมดทุกก้าว ว่าอำนาจเหล่านี้จะดำเนินไปในทิศทางใด

อาจเป็นการดีกว่า ถ้าอย่างน้อยที่สุด พวกเราทุกคนช่วยกันจับประเด็นนี้แล้วค่อย ๆ พลิกมันดูทีละมิติไปด้วยกัน เพราะเป็นอันเข้าใจได้ว่าทุกคนไม่ได้มีต้นทุนมากพอที่จะลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ถึงที่สุดที่ทุกคนพอจะทำได้ ณ เวลานี้ คือ การลงชื่อใน พรบ.นิรโทษกรรมประชาชน

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai