วงเสวนาภาคประชาชน ชงรัฐจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวรักษาในชุมชน ดึงพลังชุมชนร่วมแก้วิกฤต ประสานความร่วมมือเครือข่าย เสริมงานควบคุมป้องกันโควิด แนะรัฐสนับสนุน อย่าปิดกั้นออกหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค พร้อมตั้งข้อสังเกต ผู้ติดเชื้อบางส่วนยังเข้าระบบดูแลตัวเองไม่ได้ ขาดการติดต่อ ได้รับอาหาร1วันหายจ้อย หวั่นทุจริต ตกหล่นกลางทาง
เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน มีการจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน กับการรับมือโควิด-19 ในชุมชนเมือง” โดย ดร.สุธาทิพย์ เกตุแก้ว นักวิชาการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างการแก้ปัญหาโควิด-19 ของเครือข่ายบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน 4 เครือข่าย มีข้อค้นพบ 4 เรื่องหลัก
1. การสื่อสารรับมือกับสถานการณ์โควิด สร้างการรับรู้เรื่องโรค สิทธิ และการสื่อสารเพื่อการวางแผน ชุมชนทำฐานข้อมูลชุมชน นำสู่การกำหนดนโยบายการจัดสรรทรัพยากร และการเยียวยา
2. การเปิดพื้นที่กลางเพื่อรองรับการช่วยเหลือ ตามบริบทพื้นที่ อาทิ เปิดรับศูนย์บริจาคและกระจายสิ่งของ มีพื้นที่รับฟังเพื่อเยียวยาจิตใจ สร้างครัวกลาง ร้านอาหารในชุมชน มีศูนย์อบรมพัฒนาทักษะทางอาชีพ และพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
3. การปลุกหรือกระตุ้นสำนึกความเป็นพลเมืองตื่นรู้ เปิดโอกาสให้สัมผัสความเป็นผู้ให้ การสร้างสำนึกทางสังคม การปฏิบัติงานในพื้นที่
4. ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยการตั้งรับเพื่อแก้ปัญหา การฟื้นตัวและการก้าวต่อไป แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐเองต้องมีส่วนร่วมสนับสนุน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้เอื้อต่อการทำงาน เป็นไปอย่างทันท่วงที และโปร่งใส
น.ส.เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า เนื่องจากเรารู้ว่าหากมีสมาชิกในครอบครัวหนึ่งคนติดโควิด ไม่นานที่เหลือจะติดไปด้วย จึงร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ตั้งศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน ปัจจุบันพัฒนาเป็นสถานที่กึ่งรักษาสำหรับคนที่เริ่มมีอาการด้วย โดยการทำงานจะให้การช่วยเหลือเรื่องถุงยังชีพ การจัดหางบจ้างคนในชุมชนทำอาหารกล่องแจกจ่าย ติดตามกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการตรวจ หากติดเชื้อต้องติดตามต่อว่าได้รับการดูแลตามระบบหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องการทำ communication isolation เพิ่มเติมแต่อยู่ระหว่างการคุยกันว่าอาจจะพัฒนาเป็นรพ.สนามเลยหรือไม่ และตอนนี้เมื่อเจอคนติดเชื้อ เราพยายามผลักดันให้เข้าสู่ระบบการดูแลให้เร็วจ่ายยาเร็ว ผ่าน Home Isolation จ่ายยาให้เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้อาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น หากพื้นที่มีความเข้มแข็งภาครัฐก็คอยสนับสนุน หากพื้นที่ไม่สามารถทำได้เองรัฐก็ต้องให้การช่วยเหลือเต็มที่อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือระบบภาครัฐจะต้องเปิดกว้าง อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน
“อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังมีเคสเล่าให้ฟังว่ามีคนติดต่อไปครั้งเดียว ไม่ได้รับทั้งปรอทวัดไข้ ไม่ได้รับเครื่องวัดออกซิเจน บางคนได้รับอาหารมื้อเดียวก็หายไปเลย ดังนั้นตรงนี้มีการตั้งข้อสังเกตกันอยู่ ว่ามีการทุจริตอะไรหรือไม่ หรือเป็นความล่าช้าของระบบ หรืออะไร เพราะจนหายแล้วบางคนไม่ได้รับการดูแลเลย เพราะมันมีการเบิกจ่ายได้ แต่ไม่รู้ว่าสถานพยาบาลใดที่ดูแล เรื่องนี้ก็ขอให้มีการตรวจสอบด้วย” นางเพ็ญวดี กล่าว
น.ส.นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า เราทำงานร่วมกับภาคประชาชน เครือข่ายสลัมสี่ภาค หาแนวทางดูแลผู้ติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาดในชุมชน พยายามจัดหาพื้นที่ตั้งศูนย์พักคอย ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการแยกกักตัวของคนในบ้านเดียวกันด้วย ติดตามช่วยเหลือด้านอาหาร ยา การตรวจหาเชื้อและเข้าระบบการักษา โดยใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานมาลงขันกันเอง ทั้งนี้ในวันที่ 19 ส.ค. นี้ จะมีการหารือร่วมกันเพื่อลงพื้นที่ชุมชนเก็บตกคนที่ยังตกหล่นเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป อยากขอให้รัฐสนับสนุนการทำงานของชุมชนด้วย ส่วนชุมชนยังไม่เข้มแข็งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือให้เร็ว เพื่อเข้าระบบการรักษา จ่ายยา ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ เข้าถึงชุดตรวจราคาถูก มีมาตรฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจกับเรื่องโควิด ควรมีการคลายล็อคให้กิจการบางประเภทสามารถเดินหน้าทำมาหากินได้ ไม่อย่างนั้นจะตายกันหมด
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) กล่าวว่า จากเวทีเสวนาสรุปเป็นจุดยืนและข้อเสนอแนะ 5 ข้อ คือ
1. ในชุมชน กทม.และชุมชนในพื้นที่สีแดง ต้องจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ หรือ Community isolation (CI) ในพื้นที่ โดยเฉพาะในชุมชนแออัดที่ยากต่อการรักษาตัวเองที่บ้าน มีทีมอาสาสมัครช่วยทำงานหรือ หนึ่งชุมชนหนึ่ง CI หนึ่งทีมอาสา โดยให้มีกลไกการรับส่งผู้ป่วย มีการตรวจ ATK ให้ผู้ป่วยที่มีอาการ ให้ออกซิเจนผู้ป่วยตามบ้านตามอาการ มอบถุงยังชีพ ,ยาจำเป็นและฟ้าทะลายโจร, นมผง ,สิ่งของจำเป็น ให้บ้านผู้ติดเชื้อ,กลุ่มเสี่ยงประสานกักตัว การประสานให้ความช่วยเหลือต่างๆ ส่งต่อข้อมูลให้ชุมชน รวมถึงตรวจเชิงรุกของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้กลไกชุมชนต้องได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน ทั้งในด้านสถานที่จัดตั้ง การทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อลดความหวาดระแวง รวมถึงงบประมาณและการเชื่อมต่อระบบการดูแลรักษา
2. ประชาชนต้องเข้าถึง ATK ในราคาถูก ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ป้องกันการแพร่ระบาด สำหรับการรับบริจาค ชุดตรวจ ATK จากต่างประเทศ ควรเปิดช่องทางให้รวดเร็ว หรือมีช่องทางขอรับจากหน่วยงานรัฐที่ทั่วถึง เท่าเทียมไม่ใช่ระบบพวกพ้อง
3. จำเป็นต้องบริการเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่เร่งด่วน ทั้งตรวจ ATK และ RT-PCR การเปิดให้ผู้ติดเชื้อ รู้หน่วยบริการที่จับคู่ ว่าคือหน่วยใด (ลงทะเบียนเข้าระบบ HI สปสช แต่ยังมีช่องว่างที่ผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงการรักษาอยู่) เพื่อให้ติดต่อจริงและร้องเรียนได้
4. รัฐบาล/สบค.ต้องเร่งจัดหาวัคซีนและยาให้เพียงพอ จำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศ เพื่อนำมาใช้ในประเทศ อย่างเร่งด่วนภายในสองเดือนนี้ และ 5. ควรยกเว้นหรือยกเลิกระเบียบหรือข้อบังคับเป็นข้อจำกัดในการรับมือวิกฤตโควิด หรือปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ระบบคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมิติของการหนุนเสริมชุมชนให้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหา เช่นสนับสนุนให้มีจุดแยกกักตัวในชุมชน เชื่อมต่อการดูแลรักษา
ชอบคุณข้อมูล : https://www.hfocus.org/content/2021/08/22774
(ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564)