โดย Mekong Nomad : จารุวรรณ สุพลไร่

…หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องห่วนๆ
เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน…

นักศึกษาจำนวนกว่ายี่สิบชีวิตกำลังสนุกสนานกับการฝึกเต้นบัดสลบ ด้วยบทเพลงและดนตรีอีสานข้างต้น ร่วมกับพี่น้องชาวภูไท ณ บ้านภู อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ทั้งผู้เฒ่า วัยกลางคน และเด็กเล็ก ร่วมกันฟ้อนด้วยจังหวะดนตรีที่สอดประสาน และท่าเต้นที่ชวนเริงร่าและเพลิดเพลินใจ หลังจากที่นั่งกินข้าวล้อมวงพาแลงข้าวเหนียวอาหารพื้นถิ่นอีสาน นี่คือหนึ่งในบรรยากาศการเรียนรู้ของค่ายเปิดโลกทัศน์อาเซียนฯ

“สิ่งที่รู้และเห็น สู่สิ่งที่อยากให้เป็น เน้นอาเซียน”  คือหัวใจของค่ายเยาวชนเปิดโลกทัศน์และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) ดำเนินการโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วัตถุประสงค์หลักของการจัดค่ายนี้ เนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและประชาคมโลก รวมไปถึงการมีทัศนคติที่พร้อมสำหรับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างเยาวชนไทยให้เป็นบัณฑิตที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานวิชาชีพในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (AEC) และนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ในการสร้างสรรค์สังคมไทยที่เข้มแข็งมีคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กัน

ค่ายนี้จัดขึ้น ๒ ครั้ง สำหรับนักศึกษา ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกในระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน – ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มีนักศึกษาจำนวน ๒๓ คน และกลุ่มที่สอง ในระหว่างวันที่ ๑๓ กรกฎาคม – ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มีน้องนักศึกษาจำนวน ๑๙ คน ซึ่งล้วนเป็นผู้รับทุนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุนการศึกษา (One District One Scholarship: ODOS) ซึ่งเป็นทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทย น้องๆ ทั้งหมดมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จากชั้นปีที่ ๑ – ๓ จากหลากหลายสาขา อาทิ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตกรรมศาสตร์ สัตวแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น ในขณะที่นักศึกษาทุน ODOS กลุ่มอื่นๆ ก็ลงพื้นที่เข้าร่วมค่ายในรูปแบบเดียวกันนี้ในอีก ๒ จังหวัดที่ติดกับพรมแดนเพื่อนบ้านอาเซียน นั่นคือจังหวัดกาญจนบุรีที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ และจังหวัดจันทบุรีที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา

“อีสาน” ห้องเรียนแห่งความหลากหลาย

“อีสาน” หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตั้งอยู่ในที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่เป็นแอ่งกว้างใหญ่ไพศาล อันเป็นแหล่งหลอมรวมความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ความเชื่อของผู้คนจากหลากชาติพันธุ์ รวมถึงวัฒนธรรมผสมจากเขมร ลาว และเวียดนาม และทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ตลอดสายแม่น้ำชี แม่น้ำมูน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ค่ายเปิดโลกทัศน์อาเซียนครั้งนี้พานักศึกษาออกเดินทางเรียนรู้สู่ ๓ จังหวัดชายแดนอีสาน อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม ลงพื้นที่ภาคสนามเรียนรู้จากของจริง ในจังหวัดอุบลฯ นักศึกษาเรียนรู้ มิติศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม ผ่านประเพณีงานแห่งเทียนพรรษา และเรียนรู้หมอลำดนตรีพื้นบ้านกับอาจารย์นพดล ดวงพร ดูงานที่บริษัทห้างร้านเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดอุบล และเรียนรู้ประเด็นปัญหาการค้าชายแดนไทย-ลาว ณ ด่านช่องเม็ก ในจังหวัดมุกดาหารเรียนรู้โมเดลธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน (โฮมสเตย์) พร้อมซึมซับวัฒนธรรมภูไท ศึกษาบริบทการค้าขายที่ตลาดอินโดจีน และสุดท้ายในจังหวัดนครพนม นักศึกษาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของผู้คนสองฝั่งโขงลาว-ไทย ไหว้พระธาตุพนมสัมผัสความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา และเยี่ยมชมหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม บ้านนาหนองจอก (บ้านลุงโฮจิมินห์) เพื่อศึกษาความลื่นไหลของเขตแดนทางเชื้อชาติวัฒนธรรมอาเซียน

ดร.เฉลิมชัย วงศ์รักษ์  (ผู้ดำเนินการค่าย) ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าถึงความตั้งใจของค่ายนี้ว่า “เราต้องการที่จะเสริมสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกของนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา ให้ได้เรียนรู้บริบทความหลากหลายที่อยู่ในประเทศไทยผ่านบริบทต่างๆ ในภาคต่างๆ ที่มีความหลายหลากทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง โดยการปลูกจิตสำนึก ความหลากหลายและบริบทอันหลากหลาย มีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดแผนในการพัฒนาตนเองที่ยั่นยืนและเหมาะสม ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้นำของประเทศไทยต่อไป”

น้องอีฟ นางสาวพัชรา แก้วแกมทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงความประทับใจในการมาเรียนรู้อาเซียนในบริบทอีสานว่า “การลงพื้นที่เขตอีสานครั้งนี้ดีมากค่ะ เพราะว่าสถานที่มีความเป็นหนึ่งท่ามกลางความหลากหลาย เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างทั้งจากวัฒนธรรม อาหาร แหล่งท่องเที่ยว จะมองไปทางไหนก็มีมูลค่าไปหมด แล้วค่ายนี้พยายามให้เรามองและตีปัญหาให้แตกว่า ทำไม อย่างไร ปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่สามารถเรียนในห้องเรียน พร้อมกับวิธีคิดต่อยอดแนวความคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่คะ และชอบตรงที่ค่ายนี้ให้เรียนรู้จากชีวิตจริง ไม่ใช่รู้ที่รู้จากทฤษฏี แต่ปฏิบัติไม่ได้ คิดไม่เป็น”

รู้รากเหง้าตนเอง นำมาสู่การเข้าใจผู้อื่น

การรู้รากเหง้า เข้าใจและหยั่งรากถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่กำลังเตรียมความพร้อมทะยานสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปลายนี้ ๒๕๕๘ นี้

คุณอิงอร  จีราระรื่นศักดิ์ (หนึ่งในผู้ดำเนินการค่ายจากส่วนกลาง) เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ  สำนักเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN)  เล่าว่า “เด็ก(ค่าย)ที่มาส่วนใหญ่เป็นแปดอาชีพที่ต้องเข้าอาเซียน หมอ ทันตะ วิศวะ สำคัญมากที่เขาจะต้องทั้งเข้าใจเขาเข้าใจเรา ไม่ดูถูกคนอื่น และเรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับถึงความแตกต่าง เพราะทุกที่มันมีความแตกต่าง เล็กๆ น้อยๆ แต่มันสามารถอยู่ด้วยกันได้ และทำอย่างไรเมื่อเปิดอาเซียนเด็กจะได้เข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่คนในประเทศแล้วตอนนี้ แต่เป็นคนในภูมิภาค ที่ไม่ใช่แค่มุมมองการแข่งขันเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่เข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละที่ด้วย เพราะถ้าเกิดเขาจะได้ไปทำงานที่อื่นเขาจะต้องเข้าใจ(คนอื่นด้วย) ”

น้องเกาหลี หนุ่มภูไทแห่งเมืองกาฬสินธุ์  พุฒิพงษ์ ศิลาแยง นักศึกษาปี ๔ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “ค่ายนี้เป็นการฝึกให้เราสามารถที่จะอยู่กับคนที่เรายังไม่รู้จัก หรืออาจจะเป็นคนที่เคยรู้จักแต่ว่านิดหนึ่ง ก็คือฝึก เป็นการฝึกการอยู่ร่วมกันผู้อื่นในสังคมที่มีความแตกต่างในแต่ละบุคคล  ฝึกทำงานร่วมกันซึ่งอันนี้ก็เป็นจุดเล็กๆ เพื่อที่จะก้าวไปสู่จุดที่ใหญ่ขึ้น ก็คือการเป็น(ประชาคม)อาเซียน..” นอกจากนั้นเกาหลีมีความภูมิใจในความเป็นภูไทอย่างเห็นได้ชัดจากความตื่นเต้นและสนุกสนานในช่วงที่เข้าพักในหมู่บ้านโฮมสเตย์ภูไท ที่บ้านภู จังหวัดมุกดาหาร ช่วงกิจกรรมงานลานวัฒนธรรม เกาหลีกลายเป็นนักร้องลูกทุ่งอีสานเสียงดี สร้างความประทับใจให้กับทุกคนในค่ายนี้

น้องก้อย ธิดาพร ชมภูแสง นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาวสกลนครคนนี้พูดถึงความเป็นรากเหง้าและความเป็นชุมชนได้อย่างน่าสนใจ เธอเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “…ไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่เล็กหรือใหญ่ คำว่ารากเหง้าก็สำคัญเสมอ เพราะคำว่ารากเหง้ามันมีความหมายในแง่ของคนที่เป็นคนวงใน ถ้าเข้าใจรากเหง้า มันก็จะทำให้รากเหง้ามั่นคง หรือว่าเป็นคนข้างนอก คนนอกที่มองเข้ามา ถ้าคุณเข้าใจคำว่ารากเหง้าของคนกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตรงนั้น เหมือนห้างแห่งหนึ่งที่เราไปดูงาน คือเขาเข้าใจวิถีชีวิตของคนอุบล ณ จุดจุดนั้น คุณก็สามารถที่จะหาผลกำไรในเชิงการค้าได้  ได้ดีกว่าห้างร้านอื่นซึ่งเป็นธุรกิจของต่างชาติ ซึ่งเขาจะแตกต่างกับธุรกิจท้องถิ่น ตรงที่เขาไม่เข้าใจในธรรมชาติของคนในท้องถิ่น มันทำให้ขาดความรักความอบอุ่นไป”

“เข้าใจตนเอง เปิดใจเพื่อเข้าใจผู้อื่น และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทีละก้าวๆ” คงดูไม่เป็นการเพ้อฝันเกินไปที่จะใช้วลีนี้ เป็นคาถาที่ต้องพกติดตัวสำหรับทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก่อนข้ามชายแดนหรือบินลัดฟ้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในภาคส่วนไหนๆ ของสังคมก็ตาม เพราะความเข้าใจคือใบเบิกทางไปสู่ความร่วมมือที่ดีในอนาคต

พัฒนาตน พัฒนาสังคม สู่ประชาคมอาเซียน

นอกจากเนื้อหาในค่ายที่ ๗ วันเต็ม ที่มีความเข้มข้นและหลากหลายของกิจกรรมแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญและน่าสนใจ คือกระบวนการเรียนรู้ของค่ายนี้ นั่นคือ กระบวนการกลุ่ม ที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาได้ร่วมกันตั้งคำถามสังเกต คิดวิเคราะห์ และวิพากย์ กับสิ่งที่เกิดและเรียนรู้ตลอดทริป ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากพื้นที่จริงจากทั้งชุมชนเมืองและชนบท

“หนูชอบกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มในค่ายนี้ เพราะว่ามีการแยกเป็นกลุ่มเล็ก แล้วจะได้ฟังกระบวนการความคิดเห็นของหลายคน พออยู่ในกลุ่มใหญ่เพื่อนบางคนอาจจะไม่พูด แต่พออยู่ในกลุ่มเล็กเขาจะฉายแสงขึ้นมาทันที เช่น เพื่อนเขาบอกว่าเขาแต่งกลอนได้ แต่เวลาอยู่ในกลุ่มใหญ่เขาจะนั่งเงียบ” สาวเมืองชัยภูมิ น้องนิวเยียร์ วรัญญา บุญตา น้องใหม่ ปี ๑ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าสะท้อนให้เราฟัง

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมค่ายเป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมากในค่ายนี้ อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าเป็นการจำลองการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของผู้คนที่หลากหลายในประชาคมอาเซียน

น้องก้อย ธิดาพร ยังเล่าเสริมว่า “นอกจากจะประทับใจมิตรภาพระหว่างเพื่อนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ชนบท สำหรับหนูในการเข้าค่ายครั้งนี้ คือความเป็นชาวบ้าน ก็คือความสามัคคี เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับหมอลำ การเรียนรู้ธุรกิจท้องถิ่น เขาทำให้เราเห็นถึงความเป็นชุมชน ทำให้เราเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเล็กหรือใหญ่ จะเป็นธุรกิจหรือวัฒนธรรม ก็ต้องมีความร่วมมือกันของคนในชุมชน เหมือนบริษัทห้างร้านที่เราไปศึกษาดูงาน เขาให้ความสำคัญของคนในชุมชน”

การมีหัวใจต่อชุมชนคือปัจจัยใจการพัฒนาตนเองและสังคม และได้กลายมาเป็นโจทย์ในวันสุดท้ายของค่าย ที่ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มได้ร่วมระดมความคิดพร้อมออกแบบนำเสนอ โครงการพัฒนาสังคมเล็กๆ ต่อยอดจากพื้นที่และกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมมาตลอด ๗ วันที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละกลุ่มได้นำเสนอแผนพัฒนาได้อย่างน่าสนใจ และน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาสาสมัครอาเซียนสอนภาษาอังกฤษ โครงการเทศกาลหมอลำนานาชาติ โครงการพัฒนาหวายเป็นสินค้าส่งออก และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในอาเซียน เป็นต้น

“การพัฒนาต้องมาจากตัวตนของนักศึกษาเอง การพัฒนาตนเองสู่การพัฒนาสังคม เปิดใจวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง พอมาศึกษาข้อเท็จในสังคม สมมุติเราจะแก้ไขปัญหาทางสังคม เราช่วยส่งเสริมผลักดันให้นักศึกษาคิดรอบด้านมากขึ้น ให้คิดถึงความเป็นไปได้และระดับของความเป็นไปได้ เมื่อกระบวนการกลั่นความคิดร่วม มีเพื่อน(ในค่าย)ช่วยวิพากษ์วิจารณ์ การยอมรับฟังซึ่งกันและกัน เมื่อเปิดใจกว้างนักศึกษาสามารถพัฒนาขึ้นไปอย่างโดดเด่นได้ สามารถเสนอแผนการอย่างซับซ้อน คิดเงื่อนไขแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านลบและด้านบวก แม้กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ตนเองไปด้วย เพราะฉะนั้นในการนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นการเปิดใจและเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น คิดว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองและสังคม” ดร.เฉลิมชัย วงศ์รักษ์ กล่าวเน้นย้ำในการพัฒนาตนสู่การพัฒนาสังคม อันเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของค่ายเยาวชนเปิดโลกทัศน์และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ครั้งนี้


“หลังจากจบค่าย ทำให้อีฟมองภาพกว้างขึ้น ไม่ได้มองแค่ในชุมชน ในจังหวัด หรือในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังเอาภาพเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างเช่นตอนนี้ เรามองว่าอะไรๆ ก็เหมือนกันหมดจนไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง กระแสอะไรมาอะไรดีคนก็เริ่มทำตามกัน พอมันเหมือนๆ กันมันก็จะไม่แปลกใหม่ กลายเป็นว่าเที่ยวไหนก็ได้ กินที่ไหนก็ได้ พอเปิดประเทศแรกๆ ทุกอย่างก็จะใหม่สำหรับคนใหม่ๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ อีกสักพักทุกอย่างก็จะเหมือนกันหมด ซึ่งมันไม่ใช่การพัฒนาแบบยั่งยืน

ดังนั้นค่ายนี้พยายามแฝงให้เราคิดว่า แล้วทำไมไม่คิดอะไรที่มันใหม่ๆ ที่มันไม่ใช่แบบเดิม ให้คิดนอกกรอบไปเลย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา ให้รู้ว่า ต้องมากินที่นี่ ต้องมาเที่ยวที่นี่ ถ้าคนรุ่นใหม่มีความคิดพวกนี้แล้วใช้พัฒนาเขตพื้นที่ที่เราอยู่ สร้างสรรค์จากพื้นที่ จากทรัพยากรที่เรามีอยู่ แล้วค่อยๆ พัฒนาไปประเทศของเราจะพัฒนามากขึ้น อีฟคิดว่าอีฟได้แนวคิดมากว่าที่เราได้จากค่าย เช่น เวลาเราไปทำอะไร กินอะไร เที่ยวที่ไหน หรือแม้กระทั่งตอนเรียน ทำโปรเจค คำถาม ทำไม อะไร อย่างไร ถ้าทำแบบนั้น หรือแบบนี้จะดีกว่าไหม คำถามพวกนี้มันจะเข้ามาเสมอ ให้เรามองรอบด้านมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่การปล่อยผ่านเลยคะ” น้องอีฟ นางสาวพัชรา แก้วแกมทอง กล่าวทิ้งท้ายบอกกับเราว่าค่ายนี้ช่วยเปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ของเธออย่างไร

มากกว่าธงชาติอาเซียนที่เราต้องรู้ คือการเปิดใจ  มากกว่าเงินตรา คือการปรับตัวและปรับทัศนคติเข้าหากัน  มากกว่าผลประโยชน์คือ ความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจที่มีให้กัน และมิตรภาพที่ต้องช่วยกันถักทอและแต่งแต้มด้วยสีสันที่หลากหลาย เพื่อความอยู่รอด และการอยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืนของคนทุกคนในภูมิภาคอาเซียน

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai