“ทุกอย่างมันเชื่อมโยงมาจากประวัติศาสตร์หมดเลย คนในปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์”
คนหนุ่มสาวกว่า 30 ชีวิต ใช้เวลา 4-5 วันลงพื้นที่กัมพูชา ทั้งดูงานองค์กรภาคประชาสังคม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ขอมในยุครุ่งเรือง(ปราสาทหิน) และเขมรในยุคตกต่ำ(เขมรแดง) และลงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรของกัมพูชา อย่างชุมชนบึงก๊อก ชุมชนกัมปงพรึกที่โตนเลสาป จนพอจะกล่าวได้ว่า “ห้าวันในกัมพูชา” สามารถเปลี่ยนทัศคติและชีวิตของใครหลายคนในทางบวก พวกเขาเข้าใจบริบทประเทศอื่น เข้าใจความเป็นคนผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข แม้จะอยู่คนละฝั่งเส้นเขตแดน และเข้าใจบทบาทของตนเองในนามคนหนุ่มสาวที่ต้องทลายกำแพงอคติ และสร้างสันติภาพขึ้นมาจากภายใน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมภายนอก กระทั่งข้ามพรมแดนไปสู่การสร้างชุมชนอาเซียนร่วมกัน
อ่านบทสัมภาษณ์ น้องเก้า ธรรมนิจ ศุภกิจเจริญ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่น 2 บอกเล่าประสบการณ์ร่วมทริปเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน [กัมพูชา] ระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม หลักสูตร 5 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
Q: จากการไปดูงานที่กัมพูชา มีประเด็นไหนที่สะกิดใจเราบ้าง?
สนใจการต่อสู้ของชุมชนบึงก๊อก เพราะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านของตัวเองไม่ให้ถูกไล่รื้อ พวกเขาหาเงินมาซื้อบ้านมาเกือบครึ่งชีวิต เขาก็ไม่อยากเสียบ้านของเขาไป เพราะรัฐจะใช้ที่ดินไปทำธุรกิจ เราประทับใจที่ว่า เขามีจุดยืนที่เข้มแข็ง เขารู้ว่าตัวเองมีความชอบธรรมในสิทธิที่จะครอบครองที่ดินตรงนั้น และเขาก็ใช้สันติวิธีในการต่อสู้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะถูกตำรวจทำร้าย เขามีรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลาย มีกลวิธีการต่อสู้เป็นพันอย่าง ไม่ซ้ำเลย เพื่อให้มีคนสนใจมากขึ้น ก่อนที่จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ช่วยเหลือ ให้ความรู้ทางกฎหมาย และเขาก็สามารถส่งเสียงของเขาเล็กๆ จากชุมชนสลัมไปถึงระดับโลกได้ มันเจ๋งดี
Q: ปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรในกัมพูชาเป็นอย่างไรบ้าง?
ก็คล้ายกับประเทศไทย คือแม้ว่าจะเป็นบ้านของเราเอง เราก็ไม่สามารถยืนยันสิทธิได้ว่าเรา ต้องการจะอยู่ที่นี่ เราไม่อยากย้าย อย่ามายุ่ง ก็จะมีนายทุนหรือรัฐเข้าไปแทรกแซง อย่างเรื่องนครวัด-นครธมเองก็มีปัญหาเหมือนกัน คือ มีชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่เดิมในบริเวณนั้น ถ้าจะต่อเติมบ้านเพิ่มก็ต้องขออนุญาตก่อน เขาก็เล่าให้ฟังว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งต่อเติมคือทำห้องน้ำเพิ่ม โดยที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไปเจอแล้วเขาก็ทุบทิ้งเลยอะไรแบบนี้
อีกที่ที่เราไปดูงานมาคือ ชุมชนกัมปงพรึก ชุมชนลอยน้ำที่โตนเลสาป ระหว่างทางที่เราลงชุมชน ตลอดทางเราเห็นเสาไฟฟ้ากับสายไฟหน้าบ้านชาวบ้าน แต่ไม่เห็นต่อไฟเข้าไปในบ้าน เราถามเพื่อนกัมพูชาเขาก็บอกว่า มันก็เป็นแบบนั้นแหละ คนที่มีอำนาจจัดการเรื่องไฟฟ้าที่จะจัดสรรว่าจะแบ่งให้ใคร เป็นนายทุน คนชนบท คนเล็กคนน้อยก็ไม่มีสิทธิ์มีเสียง และไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ เมื่อนายทุนหรือรัฐบาลอยากได้ทรัพยากรเขาก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะมีปัญหาอะไร
Q: การไปครั้งนี้ทำให้ความเข้าใจเรื่องอาเซียนมากกว่าเดิมไหม?
ก่อนไปเราไม่รู้เรื่องอะไรของกัมพูชาเลย คิดว่าโดยรวมต้องทุรกันดารอะไรทำนองนั้น พอไปถึงก็มันคล้ายกับบ้านเรามาก อย่างที่ไปพนมเปญเราจะเห็นร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของ ถนนคนเดิน ผับบาร์ก็คล้ายกับบ้านเรามาก หรืออย่างร้านอาหารข้างทาง ถ้าถ่ายรูปไปให้เพื่อนดูเพื่อนอาจคิดว่านี่เป็นเมืองไทย พอได้ไปกัมพูชาก็รู้เรื่องกัมพูชามากขึ้น
Q: เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองอย่างไรบ้าง?
มุมมองก็เปลี่ยน คือตอนแรกเราแทบจะไม่ได้สนใจกัมพูชาเลย พอเขาให้เลือกก็ระหว่างพม่ากับกัมพูชา อย่างพม่าเราพอจะได้ข้อมูลอยู่บ้าง แต่กัมพูชาเราเลือกไปเพราะไม่รู้อะไรเลย พอไปเจอชาวบ้านก็รู้สึกประทับใจ เขาเป็นมิตรและมีน้ำใจกับเรามาก รู้สึกคล้ายๆ กับไปค่ายอาสา มันมีความคล้ายบ้านเราอยู่ ปัญหาก็มีความคล้ายมาก พอไปดูงาน ก็เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่เขาสามารถสื่อสารไปถึงรัฐบาล สื่อสารไปถึงระดับโลกให้เขามาให้ความช่วยเหลือได้ รู้สึกว่าเราน่าจะศึกษาไว้เยอะๆ
Q: ได้ข้อคิดอย่างไรกับการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์จากเขมร?
ส่วนตัวไม่ค่อยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ รู้สึกเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว พอมากัมพูชาแล้วได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ คือ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน อย่างชุมชนบึงก๊อกนี่เขาศึกษาเรื่องเขมรแดง และเขาก็คิดว่าการใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์ เขาเลยใช้สันติวิธี ทุกอย่างมันเชื่อมโยงมาจากประวัติศาสตร์หมดเลย คนในปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์ อย่างคนเขมรบางคนก็เกลียดคนเวียดนาม เพราะว่าเมื่อก่อนเวียดนามไปร่วมทำสงครามเข่นฆ่าคนบ้านเขา ส่วนตัวก็เลยคิดว่าอยากไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เขมรและของไทยด้วย
Q: เราคิดเห็นอย่างไรกับคนรุ่นใหม่ที่กัมพูชา?
คนรุ่นใหม่ที่กัมพูชาเขาพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เก่งกว่าเราด้วย และเขาก็ค่อนข้างคิดวิเคราะห์เป็นและรู้ข้อมูลหลายอย่าง เขาพอรู้คร่าวๆ ว่าไทยเป็นอย่างไร ในขณะที่เราไม่รู้เรื่องของเขาเลย การได้ไปเรียนรู้ที่นั่นก็ดีมาก มันมีข้อดีหลายอย่าง และเราเอามาเปรียบเทียบกันได้ พอเราไปเรียนรู้จากประเทศเขา เราก็เอามาเป็นบทเรียนให้ประเทศเราว่า เราควรปรับปรุงตรงไหน เพราะการเปิดอาเซียนเราควรรู้จักเพื่อนบ้านเยอะขึ้น และมีทัศนคติและมุมมองอะไรที่ดีขึ้น จากการได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
Q: ได้แรงบันดาลใจอะไรเพิ่มเติม?
อย่างเรื่องการต่อสู้ของภาคประชาสังคมนี่แหละ รู้สึกว่าเรื่องที่เขาเล่าให้เราฟังมีพลังมาก อย่างชาวบ้านจากชุมชนบึงก๊อก และบ็องยุค ชาง จาก DC-Cam “ศูนย์รวบรวมเอกสารแห่งกัมพูชา” เขาเป็นผู้ประสบภัยในช่วงเขมรแดง และกลับกลายเป็นผู้มาทำงานรวบรวมเอกสาร เผยแพร่ข้อมูล และทำงานเยียวยาทั้งตัวเองไปด้วย เยียวยาผู้อื่นไปด้วย ทำให้เขาดูมีพลังมาก โดยรวมที่เราไปดูงานมาก็คือการใช้ “สันติวิธี” นั่นแหละที่จะสามารถเป็นทางออกของปัญหาได้ แก้ปัญหาได้ โดยเกิดผลเสียน้อยที่สุด
Q: ช่วยอธิบายสันติวิธีในกัมพูชาให้คนไทยเห็นภาพด้วยได้ไหม?
อย่างที่บึงก๊อก บางทีอาจมีการแต่งตัวแบบเอาเปลือกไข่เอาไว้บนหัว แต่งเป็นธรรมชาติ และไปแสดงอะไรนิดหน่อย เป็นต้น โดยรวมมันเป็นการแสดงออกเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเรามีปัญหาอะไร แต่ใช้วิธีนุ่มนวลไม่มีแม้กระทั่งการตะโกน แต่เขาก็มีหลายวิธี อย่างเดินธรรมยาตรา แบบที่อุดม ซี วอน ทำจนเป็นสัญลักษณ์ก่อนที่จะแพร่หลายในไทย เขาพาเด็กปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการยึดที่ดินจากรัฐจากนายทุน พร้อมกับการเผยแพร่ความรู้ทางศีลธรรมไปด้วย คือหากใช้วิธีการที่นุ่มนวลและน่าสนใจ คนทั่วไปก็จะให้ความสนใจเยอะกว่า
Q: พอเรากลับมาเมืองไทย เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง?
อยากศึกษาประวัติศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นแนวทาง เราลงพื้นที่เกี่ยวกับการไล่รื้อที่ดินในภาคเหนือของไทย อยู่แล้ว เราก็รู้สึกว่าเราอาจจะไปเสริมแนวทางให้เขาได้ เราต้องไปศึกษาเพิ่มเติมอีก ทำอย่างไรจะไปถึงสังคมระดับใหญ่หรือไปถึงระดับโลกได้ บทเรียนจากกัมพูชาเราก็ต้องเอามาปรับใช้ในไทย ส่วนหนึ่งอยากเขียนถ่ายทอดเรื่องราวที่เราพบที่กัมพูชาออกมาเป็นงานเขียนเชิงสารคดีด้วย ก็ลุ้นให้เสร็จภายในหนึ่งเดือนนี้