เรื่อง : มิชฉิลี (นักศึกษาฝึกงาน)
ภาพ : แทนและมิชฉิลี
‘เราเกิดมาทำไม’ คำถามนี้เกิดขึ้นและวนเวียนอยู่ในความคิดได้ทุกครั้ง เมื่อเราอยู่ในช่วงเวลาที่สับสนและไม่รู้จะทำอะไรต่อดีกับชีวิต ช่วงเวลาที่เคว้งคว้างและยังไม่แน่ใจกับการตัดสินใจเลือกทางเดินในชีวิต แต่ก็จำเป็นที่จะต้องไปต่อ แม้ไม่รู้ว่าปลายทางของตนกำลังจะไปในทิศทางไหน ความกังวลนี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นวัยผู้ใหญ่เต็มตัว ช่วงรอยต่อของการเติบโตในอีกขั้นของชีวิต ที่คนเราเลือกเส้นทางของตนเองได้หลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางแบบไหน ด้วยสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ ‘เด็กจบใหม่’ ยังติดกับดักการว่างงาน ที่อาจจะเกิดจากการขาดประสบการณ์การทำงาน พบเจอกับการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูง ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่การเจอสภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องทักษะของแรงงานเอง หรือปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่สภาวะความรู้สึกอ้างว้างและสิ้นหวัง กระทั่งทำให้เกิดคำถามกับตนเองว่า ‘เรากำลังทำอะไรอยู่’ ‘เรากำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร’ หรือ ‘คุณค่าของตัวเราคืออะไร’
การตั้งคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคม ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘Existential Crisis’ ที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากแนวคิดทางปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยม ที่เกิดในยุคสมัยใหม่ (1890-1945) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เออร์วิน ดี. ยาลอม นิยามสาเหตุของสภาวะดังกล่าวว่า ผู้ที่เผชิญกับสภาวะจะเกิดการตั้งข้อสงสัยกับคุณค่าและความหมายของชีวิตที่เรามีอยู่ การที่มนุษย์เกิดความสับสนกับการมีอยู่ของตนเอง ก็ล้วนเป็นผลมาจากสภาพทางเศรษฐกิจ หรือการเมืองที่ย่ำแย่ และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในปัจจัยพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของคนหนึ่งคนได้ ในสภาวะทางสังคมที่ทั้งภาครัฐและประชาสังคม ไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่เปิดพื้นที่ถกเถียงหรือให้ความสนใจในประเด็นปัญหาทางสังคมที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน หรือแม้อย่างกฎหมายที่ควรจะแสดงถึงเจตจำนงและ ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือที่กดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐเสียเอง หากเป็นเช่นนั้น ก็เหมือนฝันร้ายของสังคมที่จะทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจะได้ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เกิดความรู้สึกในทางลบ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่าง ๆ นานาของการมีอยู่กับตนเอง กระทั่งนำไปสู่ภาวะทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกสิ้นหวังละหดหู่กับชีวิตได้
อย่างไรก็ดี ในทุก ๆ ปี มักจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะตอบคำถามข้างต้น ผ่านการเป็น ‘อาสาสมัคร’ ในโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน หรือชื่อเดิมคือ โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ภายใต้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน’ เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แก่ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่อยากจะทดลองทำงานและเรียนรู้เพื่อสังคมในระยะเวลาหนึ่งปี กับองค์กรเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการทำงานหรือทักษะทางความคิด ให้มีความรู้ ความสามารถและมุมมองที่กว้างขึ้น กระทั่งสามารถนำทักษะ ที่สั่งสมตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ไปต่อยอดกับตนเองและสังคมในอนาคตได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า
“แล้วทำอาสาสมัครไปจะได้อะไร” หรือ “ทำแล้วช่วยแก้ปัญหาสังคมได้จริงเหรอ”
แล้วการทำอาสาสมัครนักสิทธิฯจะไขข้อสงสัยที่ว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ ได้หรือ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าสู่กระบวนการของโครงการ ก็คงไม่แปลกที่จะตั้งข้อสงสัยกับการทำงานของอาสาสมัครนักสิทธิฯ คำตอบของทั้งสองคำถาม ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และทัศนะของอาสาสมัครนักสิทธิฯ แต่ละคน แต่สำหรับเหล่าอาสาสมัครที่ได้เริ่มต้นในกระบวนการของโครงการ หรือได้ผ่านการทำอาสาสมัครมาแล้ว อ้างอิงมาจากหนังสือ ‘การเติบโตของหัวใจนักสิทธิ’ และบทสัมภาษณ์ของอาสาสมัครรุ่นปัจจุบัน ต่างก็คงมีคำตอบหนึ่งที่คล้ายกันคือ โครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ “เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้” การทำไปด้วยและเรียนรู้ไปด้วย (Learning by doing) ทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้การทำงาน อย่างค่อยเป็นค่อยไปในประเด็นสิทธิต่างๆ ที่อาสาสมัครสนใจ การได้รับโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ได้ใช้พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทดลองทำงาน หรือแม้แต่ตอบข้อสงสัย และความสับสนต่าง ๆ ที่อยู่ในหัว
ทั้งนี้อาจจะต้องเตือนใจไว้เสมอว่า การตามหาความหมายว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ ถ้าอยากที่จะรู้คำตอบของชีวิตนี้ มนุษย์ก็จำเป็นที่จะต้องตามหา หรือกำหนดขึ้นมาเองเพราะ “มนุษย์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำ ไม่ใช่ทำสิ่งที่มนุษย์เป็น” ตามคำกล่าวของ ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม ชาวฝรั่งเศส ผู้เชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกแนวทางของชีวิตตามที่ใจตนเองต้องการ โดยไม่มีใครมาสร้างหรือกำหนดให้ ทว่าก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก เช่นนั้นเองการที่คนรุ่นใหม่ ‘เลือก’ ที่จะเข้าสู่กระบวนการอาสาสมัครนักสิทธิฯ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตน ได้เลือกเส้นทางในการใช้ชีวิตในแบบที่ตนต้องการ ได้ใช้เวลาเรียนรู้กับประสบการณ์ที่ตนคาดหวังที่จะได้รับ แม้จะเป็นไปตามที่ตนตั้งใจหรือไม่ ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เลือก
เหตุนี้เองแม้ว่าการทำอาสาสมัครนักสิทธิฯ จะไม่ได้วางตัวว่าทำหน้าที่แทนรัฐบาลที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยการทำอาสาสมัคร ก็จะทำให้เหล่าอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ที่ไม่ว่าจะทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ตั้งใจทำเพื่อสังคม หรือแม้จะไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อใครก็ตาม ให้ได้ใช้ลู่ทางกับ มอส. ในการ ‘ค้นพบ’ หรือ ‘ค้นหา’ คำตอบของคำถามว่าที่ว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ ได้ อย่างหนึ่งในตัวอย่างจากบทสัมภาษณ์อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่นปัจจุบัน ได้กล่าวว่า “อย่างน้อย ๆ (การทำอาสาสมัครนักสิทธิฯ) ก็ได้เป็นแรงขับเคลื่อนสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน” หรือแม้แต่องค์กรเครือข่ายก็เคยได้กล่าวว่า “อย่างน้อยชาวบ้านจะได้ต่อสู้ไม่โดดเดี่ยว” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างความคิดที่สะท้อนถึงความปรารถนา ที่จะเห็นสังคมประชาธิปไตยให้ได้ไปข้างหน้า และไม่ต้องการให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ที่เหล่าอาสาสมัครตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ หนึ่งสิ่งที่สำคัญในระยะเวลาหนึ่งปีที่เหล่าอาสาสมัครจะได้รับ นอกจากประสบการณ์ในการเรียนรู้และการทำงานแล้ว โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถบ่มเพาะสำนึกด้านสิทธิมนุษยชน และการเรียนรู้ประเด็นสิทธิพลเมือง ที่จะเป็นสำนึกที่สำคัญต่อการสร้างสังคมของรุ่นใหม่ต่อไปได้
ฉะนั้นแล้วในวัยที่ยังมีแรงกายและแรงใจ การทำอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน นอกจากจะเป็นโอกาสสำหรับช่วงวัยที่กำลังสับสนกับทางเดินต่อของชีวิต การได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งปีไปกับการทำกิจกรรมกับองค์กรเครือข่ายของโครงการ มอส. ยังเป็นช่องทางที่ดี ในการค้นหาคุณค่าและความหมายบางอย่าง ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่ง จากหลากหลายวิธี ที่จะทำให้ตนได้เริ่มรู้จักกับคำตอบของคำถามที่ว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ โดยคำตอบที่จะได้รับก็ย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เหล่าอาสาสมัครจะพบเจอ ในเวลาเดียวกัน โอกาสส่วนนี้ก็จะทำให้ตนได้พบเจอกับหลากหลายภาคส่วน ที่ความคิดอาจจะคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากเรา การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การได้ทำงานกับพี่น้องชาวบ้านและสังคม สถานการณ์เหล่านี้ ก็จะนำพาเหล่าอาสาสมัครให้ได้ใช้และต่อยอดองค์ความรู้ของตนเอง กระทั่งได้พอช่วยให้ตระหนักถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และค้นพบคุณค่าบางอย่างในชีวิต ผ่านประสบการณ์ทำงานกับประเด็นทางสังคม ในรูปแบบของ ‘อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน’
- กรรณิกา ควรขจร และคณะ. 2559. การเติบโตของหัวใจนักสิทธิ. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม. กรุงเทพมหานคร.
- เทพพิทักษ์ มณีพงษ์. 2564. Existential crisis : เมื่อความอ้างว้างนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชีวิต. The 101 World. จากเว็ปไซต์: https://www.the101.world/existential-crisis/?favorit
- ศักดา ปรางค์ประทานพร. ปรัชญาสองลัทธิ – ปรัชญาและวิสัยทัศน์วิทยาศาสตร์. จากเว็ปไซต์: https://sites.google.com/site/punyasophy/prachya-sx-ngb-laththi
- อมรินทร์ทีวี. 2567. คนไทยว่างงานแตะ 4.1 แสนคน เด็กจบใหม่ที่ยังคงเผชิญกับอัตราการว่างงานสูง. AMARIN TV HD. จากเว็ปไซต์: https://www.amarintv.com/spotlight/insight/detail/64954