ผมอาสาขอติดตามการกู้ลอบปูของพี่หนูในคลองประทุน แต่เหมือนผมจะถูกปฏิเสธ เขาวางเงื่อนไขให้ผมติดตามไปคลองได้แต่ไม่อนุญาตให้ผมลงเรือไปด้วย ผมจึงลงอยู่บนเรืออีกลำซึ่งเป็นของพี่ชายเขา

เหตุผลในการไม่อนุญาตให้ผมติดตามไปด้วย เหตุผลแรกผมเดาว่าอาจเป็นเพราะน้ำหนักที่อาจทำให้เรือนั้นแล่นไปได้อืดอาด บวกกับที่จำนวนลอบปูที่ต้องกู้มีมากถึงจำนวน 40 ลูก นั้นคงเป็นปัญหาสำหรับพี่หนูเพราะขนาดเรือไม่กี่ตันกรอส(เรือเล็กมาก)และผมคนเดียวนอนตามยาวได้ รวมทั้งชาวประมงคลองประทุนอีกหลายคนไม่อยากให้ใครไปเป็นภาระเรือเช่นกัน ส่วนอีกเหตุผลคือ จุดต่างๆที่วางลอบปูและหาปลาในคลองถือว่าเป็นความลับที่ไม่ต้องการจะเปิดเผยให้ใครรับรู้ นั่นหมายถึงฐานที่มั่นของการทำมาหากินหากเปรียบเป็นเกษตรกรบนแผ่นดิน

“ข้อมูลห้ามขอนะ ห้ามถ่ายรูปด้วย” เป็นคำพูดของพี่หนูที่ย้ำเตือนครั้งที่สาม “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ” ผมยิงคำถามอีกเป็นที่สามเช่นกัน หลังจากคำตอบสองครั้งแรกเหมือนจะกลืนหายลงคอ แต่ครั้งที่สามนี้ผมได้คำตอบ “เฮ้ย มันเป็นความลับหากข้อมูลไปถึงรัฐบาลนี่ ชาวบ้านจะจนลงไปอีก ไม่มีงบประมาณมาช่วยเหลือ และเพิ่มภาษีอีก” แล้วผมก็ถึงบางอ้อ ………ส่วนพวกคุณคนอ่าน ผมขอตั้งไว้เป็นโจทย์ไปคิดต่อครับ

พี่หนูแล่นเรือหายไปจากโค้งคลองท่ามกลางแสงแดดระอุสะท้อนผิวน้ำ ผมเอนกายลงนอนในเรือของพี่ชายเขาโดยใช้เป้หนุนหัวนอนใต้ร่มโกงกางครึ้มซึ่งเป็นทั้งที่จอดเทียบท่าผูกเรือมุงด้วยสังกะสีสนิมเกาะ ฟังสำเนียงความเงียบที่ต้องกันกับสายลมโชย

ระยะเวลาผ่านไปสักชั่วโมง ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เข้ามาใกล้ ใช่แล้วเป็นเรือของพี่หนู ผมชะโงกหน้าขึ้นดู พอเห็นรอยยิ้มเห็นฟันบนใบหน้า เขาไม่บอกผมก็รู้ว่า วันนี้ได้คุ้มค่าน้ำมันเรือไปโขแล้ว แน่นอนว่าข้อมูลนี้เป็นความลับและไม่อาจเปิดเผยด้วยรับปากไว้

“หลังจากที่มีบ้านปลาเป็นไงพี่” ผมเริ่มบทสนทนา “ก็ตอบกันหลายครั้งแล้วว่า มันดีขึ้น เรือรุนก็ไม่มี ทุกอย่างก็อยู่ในคลองได้ อย่างปูดำนี่จะขุดรูลึกอยู่กลางคลอง ถ้ามีรุนมันก็อยู่ไม่ได้” ตอนหลังเขาก็สาธยายต่าง ๆ นา นา เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ที่สั่งสมด้วยประสบการณ์แบบฉบับชาวประมงพื้นบ้านคลองประทุน และไม่ลืมที่จะย้ำเป็นครั้งที่สี่ “ห้ามขอข้อมูลไง”

ผมพูดถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และข้อมูลที่จำเป็นต้องชัดเจนเป็นตัวเลข เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำการอนุรักษ์และฟื้นฟู กุ้ง หอย ปู ปลา ในอนาคต และแล้วพี่หนูก็โต้แย้ง “อนุรักษ์อีกแล้ว ชาวบ้านเขาจะอยู่กันยังไง อย่างตาถี่(ความถี่ของตา)อวนอ่ะ กำหนดให้ใช้ 2.5 นิ้ว แล้วมันจะไปเหลืออะไรในลอบ ชาวบ้านเขาพิสูจน์กันมาแล้ว และได้ข้อสรุปว่าใช้ขนาดตาอวนตอนนี้เหมาะที่สุดไม่เล็กไป” สีหน้าเขาจริงจัง

แสงแดดยามเย็นอ่อนแรงเป็นสีส้ม พี่หนูให้ปลา ปู แก่ผมไว้ทาน ก่อนแยกย้ายจาก และส่งรอยยิ้มให้กัน มันคือมิตรภาพและเพื่อน

…………………

เกี่ยวกับผู้เขียน
ลี-มะรอซาลี คาร์เดร์ เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 14 ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDF) หลังจากจบวาระอาสาสมัคร 1 ปี ลียังทำงานอยู่ที่องค์กรเดิม เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่ อ.แหลมกลัด จ.ตราด

บทความที่เกี่ยวข้อง
@ คลองประทุนมีเรื่องเล่า https://www.thaivolunteer.org/https:/คลองประทุนมีเรื่องเล่า/
@ คลองประทุนมีใบจาก”https://www.thaivolunteer.org/คลองประทุนมีใบจาก/
@ มากกว่าแหล่งอาหาร”https://www.thaivolunteer.org/คลองที่มากกว่าแหล่งอาห/
@ ราตรีที่อับโชค https://www.thaivolunteer.org/unlucky/

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai