ในช่วงเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ภารกิจหนึ่งที่พวกเราทำคือการลงพื้นที่เยี่ยมเยือนและนำข้าวของเครื่องใช้จำเป็นไปมอบเป็นกำลังใจให้กับชุมชนต่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันนี้เรามีโอกาสลงพื้นที่ไปเยี่ยมพี่น้องชุมชนพูนทรัพย์ ย่านสายไหม จึงอยากนำเรื่องราวความประทับใจที่ได้จากการพูดคุยกับพี่น้องในพื้นที่มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง

ภาพที่เราเห็นตอนเข้าไปถึงพื้นที่เลยก็คือภาพของการมอบของบริจาคก่อนเข้าไปสำรวจพื้นที่ด้านในตัวชุมชนแห่งนี้ ต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิของคนเข้าออกเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน และพวกเราก็คือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการตรวจวัดอุณภูมิก่อนเข้าชุมชนเช่นกัน

หลังการตรวจวัดอุณภูมิเสร็จเรียบร้อยจนมั่นใจว่าพวกเราคือกลุ่มที่ปลอดภัยจากโควิด การต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเองจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการชวนพวกเราไปนั่งพูดคุยกันต่อ เรานั่งคุยกันสักพักจึงพอจับต้นชนปลายได้ได้ว่า แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมี “ชุมชนพูนทรัพย์” คนในชุมชนเคยมีที่พักอาศัยอยู่ตามใต้สะพานกระจายทั่วเขตกรุงเทพฯ เรียกชื่อรวมๆว่า “ชุมชนใต้สะพาน” ต่อมาช่วงปี 2544 รัฐมีโครงการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพานทั่วกรุงเทพฯ 74 แห่ง 365 ครอบครัว จึงเป็นเหตุให้คนใต้สะพานตั้งคำถามว่า “หลังจากไล่รื้อแล้วคนใต้สะพานจะไปอยู่ที่ไหน”  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐให้หามาตรการรองรับ

8 ปีหลังการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยไม่สูญเปล่า รัฐได้สนับสนุนงบประมาณเยียวยาสำหรับการรื้อย้ายครอบครัวละ 10,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับอยู่อาศัยให้ชาวบ้านซึ่งก็คือที่ดินแปลงของ “ชุมชนพูนทรัพย์” ในปัจจุบัน รวมระยะเวลาที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนี้แล้วประมาณ 19 ปี

ที่ดินแปลงนี้ถูกบริหารจัดการโดยการเคหะแห่งชาติ ซึ่งทำการจัดสรรพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ชาวบ้านมีข้อตกลงกับการเคหะฯ ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละ 50 บาท ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้า ชุมชนต้องดำเนินการจัดหามาติดตั้งเอง

เมื่อถามถึงการประกอบอาชีพของคนในชุมชนพบว่า คนที่นี่ประกอบอาชีพหลากหลายทีเดียว เช่น ขายของเก่า ก่อสร้าง ทำสวน ร้อยมาลัย/ทำดอกไม้ แปรรูปปลาทู น้ำฟังข้าว น้ำพริกเห็ด ส่งออกขายนอกชุมชน มาถึงตรงนี้ถึงกับอึ้งเลยทีเดียวเพราะไม่คิดเลยว่าคนในชุมชนจะทำงานหลากหลายอาชีพขนาดนี้

ความประทับใจหนึ่งที่เราเห็นคือเราพบว่านอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว “ชุมชนพูนทรัพย์” แห่งนี้ยังมีสวนผักปลอดสารเคมีอีกด้วย ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่าพวกเขาเริ่มทำแปลงและปลูกผักกันตั้งแต่ช่วงแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ มีการเรียนรู้และบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมาเรื่อยๆ จนเข้าที่เข้าทาง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ต่างคนต่างปลูก ใครอยากปลูกอะไรก็ปลูก ใครอยากเก็บอะไรในแปลงก็เก็บ ไม่มีการวางแผนการจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบว่า พื้นที่ส่วนไหนควรปลูกพืชชนิดไหน ไม่มีการแบ่งหน้าที่ดูแลแปลงผักอย่างสม่ำเสมอ

แต่การจัดการแปลงเกษตรได้เริ่มเป็นระบบขึ้นในช่วงปี 2554 หลังวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ พืชที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหายจนหมด หลังน้ำลดชุมชนพยายามนำเมล็ดพันธุ์ผักหลากหลายชนิดเข้าไปเพาะปลูก แต่ผลปรากฏว่าพืชไม่งอก หรืองอกแต่ก็ไม่งาม ไม่ได้ผลผลติดตามที่คาดหวังเอาไว้ ชาวบ้านพยายามค้นหาสาเหตุ แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกริก ในการนำดินไปตรวจหาค่าความเป็นกรด-ด่างของดินจึงพบว่าดินบริเวณนี้เป็นกรด ชุมชนจึงพยายามหาวิธีแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การส่งตัวแทนชุมชนไปศึกษาวิธีแก้ปัญหาดินเป็นกรดจากปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชแนวเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถแก้ไขปัญหาดินเป็นกรดลงได้

ปัจจุบันนอกจากที่ดินแปลงนี้จะฟื้นตัวจนสามารถใช้เป็นที่ปลูกพืชผักบริโภคสำหรับคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นที่ที่สามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้ยังถือเป็นพื้นที่กลางของการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ใครอยากกินอะไรก็นำมาปลูก ใครสนใจอะไร อยากทำกิจกรรมอะไรก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมได้เลย  ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่พื้นที่ทั้งหมดถูกบริหารจัดการร่วมกันทั้งชุมชน

ทั้งหมดเป็นความประทับใจจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ที่เรารู้สึกและสัมผัสได้ เรารับรู้ได้ถึงความสุขของคนในชุมชนจากแววตา รอยยิ้ม หรือเสียงหัวเราะ พวกเขาทำให้เราเชื่อได้จริงๆว่า การให้ความร่วมมือ การช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน มันสามารถทำให้อุปสรรคหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไปได้ เช่นเดียวกับวิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ เราเชื่อว่าพวกเขาสามารถผ่านมันไปได้อย่างไม่ยากนัก เราขอเป็นกำลังใจให้

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai