มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 13 ที่กระตือรือร้นและสนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านสังคม และอยากเห็นยุติธรรม ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในสังคม โดยคุณจะเข้าร่วมกระบวนการเรียนในโครงการฯ เต็มเวลา 1 ปี ภายใต้การดูแลของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เรามีกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นมืออาชีพ และใช้วิธีการมีส่วนร่วม เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Learning by  Doing) จะมีค่าเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 8,000- 9,000 บาท/เดือน ตลอดวาระการปฏิบัติงาน 1 ปี

คุณสมบัติ
1. จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ
2. อายุระหว่าง 20-30 ปี
3. สามารถเป็นอาสาสมัครเต็มเวลาจนครบวาระ 1 ปี
4. รักความเป็นธรรม และมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคม
5. รับสมัครเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
เลขที่ 409 ชั้น 2 ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ
แขวง/เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
โทร : 02-6910437-9 หรือ 089-4880463 และ 086-9943322
Line ID : moonoimimikoko
E-mail : admin@thaivolunteer.org

คลิ๊ก—> ดาวน์โหลดใบสมัคร

ส่งใบสมัคร(พร้อมหลักฐานการสมัครงานทั่วไป)มาที่ admin@thaivolunteer.org และ tvsthaivolunteer@gmail.com

—————————
ภารกิจสำคัญของฝ่ายอาสาสมัคร  คือ ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตนเองทั้งด้านความคิด มุมมอง ทัศนคติทางสังคม พัฒนาความสามารถในการทำงาน ภายใต้โครงการ โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติงานกับองค์กรที่ทำงานเชื่อมประสานกับผู้ที่ถูกละเมิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไปเติบโตอยู่ ณ ที่ใด ในแต่ละปี มอส. จะดำเนินการคัดเลือก ฝึกอบรมและจัดส่งอาสาสมัครได้เข้าไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนรายเดือนที่เพียงพอแก่การยังชีพ ในระหว่างวาระการเป็นอาสาสมัครนั้น ฝ่ายอาสาสมัครจะมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้กับอาสาสมัครทั้งงานทางด้าน ความคิด ทางด้านชีวิต ทางด้านจิตใจ โดยใช้กระบวนการนำบทเรียนหรือประสบการณ์ที่ได้จากการลงไปทำงานของอาสาสมัครเอง หรือให้ความรู้เฉพาะทางที่อาสาสมัครจะสามารถนำไปใช้ในการทำงาน ประเด็นที่อาสาสมัครได้เข้าไปทำงาน เช่น ประเด็นคนไร้รัฐ ไร้สถานะ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นแรงงานทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ประเด็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ประเด็นผู้หญิง ประเด็นที่ดิน ฯลฯ โดยในปัจจุบัน มีอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมด 12 รุ่น จำนวนประมาณ  300 คน อดีตอาสาสมัคร ได้ก่อเกิดการจัดตั้ง เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขึ้นมาและปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลของการที่อดีตอาสาสมัครได้รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่ให้กับอดีตอาสาสมัครและคนที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน พูดคุยและทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เสริมสร้างนักกฎหมายและคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจปัญหาสังคม ปัญหาประชาชนผู้เสียเปรียบ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตระหนักในบทบาทที่จะใช้วิชาชีพและความรู้ให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมและมีอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคม
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีบุคลากรทางกฎหมายและผู้สนใจ ได้เข้ามาหนุนช่วยการแก้ปัญหาของผู้ด้อยโอกาส องค์กรชุมชน และหนุนช่วยการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน
3. ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ที่เอื้อให้นักศึกษาด้านนิติศาสตร์ และสาชาอื่นๆได้เข้าใจปัญหาและมีการฝึกปฏิบัติกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
4. ส่งเสริมเวทีการแลกเปลี่ยนของอาสาสมัครทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่จะหนุนช่วยกันทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิในอนาค

การเป็นอาสาสมัครคือ การพาตนมาเดินอยู่บานเส้นทางแห่งการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครจึงไม่จำกัดอยู่ที่ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แท้จริงอาสาสมัครเป็นงานที่เราควรทำไปตลอดชีวิต
— พระไพศาล วิสาโล —

————————————-

โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งและดำเนินโครงการรับอาสาสมัครมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงรุ่นที่ 13 หรือรุ่นปัจจุบัน โดยมีที่มาจากการประชุม ร่วมกันของนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ นักพัฒนา นักสิทธิมนุษยชน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งมีบทบาทในการสร้างอาสาสมัครเต็มเวลาให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์หลักๆ คือ

1. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ การประกาศป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ การอพยพคนออกจากป่า  ปัญหาการค้ามนุษย์  แรงงาน ผู้หญิง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ นายทุน และชาวบ้านในการใช้พื้นที่สร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือทำเหมืองแร่ ฯลฯ    ซึ่งต้องการบุคลากรด้านกฎหมายที่เข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนเข้าไปคลี่คลายปัญหาให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

2. ปัญหาความความขาดแคลนนักกฎหมายที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ไม่เกิน ๒๕ คน ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อเข้าไปช่วยคดีที่ชาวบ้านถูกจับ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และบ่อยครั้ง เช่น การถูกฟ้องว่าเข้าไปอยู่ในเขตอนุรักษ์  หรือเข้าทำกินในที่ดินที่มีเจ้าของ ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าผิด แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มานาน ก่อนออกกฎหมาย หรือโดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์   รวมทั้งคดีละเมิดสิทธิในประเด็นอื่นๆ

3. การเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยังขาดคุณภาพในการสร้างนักกฎหมายให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง    กระบวนการเรียน การสอน ยังเน้นการเรียนรู้ที่ตัวบทกฎหมาย ขาดการวิเคราะห์จากปัญหาจริง    วิชาสิทธิมนุษยชนยังเป็นวิชาเลือกมากกว่าวิชาบังคับ  อาจารย์ที่สอนได้ยังมีน้อยและเป็นการสอนในห้องมากกว่าการให้นักศึกษาลงไปศึกษาในพื้นที่จริง มีความเห็นร่วมว่านักกฎหมายเป็นวิชาชีพที่สำคัญสามารถตัดสินชีวิตคนได้  ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายควรได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจสังคม และปัญหาของผู้ขาดโอกาสอย่างแท้จริง

แนวคิด เป้าหมาย : สร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในระยะยาว สร้างความเป็นธรรมในสังคม
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาดังกล่าว   นำไปสู่การริเริ่มและพัฒนาโครงการที่มีเป้าหมายเสริมสร้างบัณฑิตด้านกฎหมายให้เรียนรู้และปฏิบัติงานแก้ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ ขณะเดียวกันก็สามารถสนับสนุนการทำงานขององค์กร ที่ต้องการบุคลากรด้านกฎหมาย  และการเสริมสร้างนี้จะช่วยสร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่จะเข้าไปร่วมขบวนการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ และ สร้างความเป็นธรรมในสังคมในระยะยาว

ลักษณะโครงการฯ กลไกในการขับเคลื่อน
โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงถูกออกแบบให้ มีการรับสมัครผู้ที่จบด้านกฎหมายที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจไปปฏิบัติงาน ในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิฯในประเด็นต่างๆ เป็นระยะเวลา 1 ปี ในฐานะอาสาสมัครเต็มเวลา   โดยถือว่าการเรียนรู้ในองค์กรเป็น “การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน” และยังมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นระยะๆระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อเสริมความรู้ การวิเคราะห์สถานการณ์ การสรุปบทเรียน การเสริมสร้างพลังใจ อุดมการณ์ในการทำงาน และการสร้างเครือข่ายระหว่างอาสาสมัคร อาสาสมัครจะมีค่ายังชีพรายเดือนจนครบ 1 ปี และมีเงินสมทบให้เมื่อครบวาระ ค่ายังชีพอาสาสมัครจะเป็นแบ่งจ่ายระหว่างองค์กรที่รับอาสาสมัคร และ มอส.โดยปกติ จะอยู่ในอัตรา 80:20 คือองค์กรจ่าย  80%  มอส. 20%   หรือให้องค์กรจ่าย 100% เลยถ้าเป็นไปได้เพื่อให้มีการแบ่งสัดส่วนไปให้บางองค์กรที่มีงบประมาณจำกัด กลไกขับเคลื่อนงานคือ คณะกรรมการโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้ก่อตั้งและผู้ที่เชิญมาประมาณ 8-10 คน เพื่อช่วยกำกับทิศทาง ออกแบบหลักสูตร ประเมินผล มอส.เป็นองค์กรเลขา และองค์กรหลักในการพัฒนาโครงการฯหาทุนจากแหล่งต่างๆ และดำเนินงานในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์เรื่องการเสริมสร้างคนหนุ่มสาวให้ทำงานเพื่อสังคม กระบวนการทำงาน มอส.ได้ดำเนินการโครงการฯ มาถึงรุ่นที่ 12 (ปี พ.ศ. 2561) โดยในรุ่นที่ 8-12 มอส.เปิดโอกาสให้คนที่ไม่จบกฎหมายเข้ามาร่วมกับกระบวนการด้วยจึงได้ปรับชื่อเป็น “โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน” ในแต่ละปี จะมีกระบวนการทำงาน ดังนี้

1. การประสานงานกับองค์กรภาคี ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้และปฏิบัติงานของอาสาสมัคร
2. กระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร โดยมีการประชาสัมพันธ์ และขั้นตอนการคัดเลือก
3. กระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา จำนวน ๔ ครั้ง เป็นการฝึกอบรม-สัมมนาก่อนเริ่มปฏิบัติงาน  ระหว่างการปฏิบัติงาน 2 ครั้ง และ ครบวาระการปฏิบัติงาน 1 ปี
4. กระบวนการติดตาม องค์กร และอาสาสมัครระหว่างการปฏิบัติงาน โดยกระบวนการในรายละเอียดจะกล่าวในบทต่อไป

รายละเอียดของโครงการต่างๆ ที่ขอรับอาสาสมัคร 
ผู้แทนองค์กรที่รับอาสาสมัครทุกองค์กรจะต้องมาชี้แจงโครงการซึ่งจะใช้การบรรยาย ประกอบสื่อ  ตอบข้อซักถาม  เพื่อให้ผู้สมัครเข้าใจโครงการอย่างชัดเจนที่สุดทั้งเป้าหมาย โครงการ พื้นที่ทำงาน ลักษณะงานที่จะให้อาสาสมัครทำ ฯลฯ  ใช้เวลาโครงการละประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง  โดยทั่วไปการชี้แจงโครงการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ  2-3 วัน เป้าหมายของการชี้แจงโครงการ  เพื่อให้ผู้สมัครเข้าใจโครงการอย่างชัดเจนในการตัดสินใจเลือกโครงการที่เหมาะสมกับตัวเอง  และเพื่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ของผู้สมัครด้วยกันเอง  การสร้างความรู้สึกเป็นเพื่อน ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกแข่งขันกันเอง    การชี้แจงโครงการต่างๆ ยังทำให้เห็นภาพรวมของปัญหาสังคม ปัญหาการละเมิดสิทธิ  และเห็นบทบาทขององค์กพัฒนาเอกชน เป้าหมายและวิธีการทำงานที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นห้องเรียนด้านสังคม ที่ มอส.จัดให้ผู้สมัครทุกคน แม้ว่าเขาจะได้รับเลือกให้เป็นอาสาสมัครหรือไม่ก็ตาม

หลังจากที่ผู้สมัครฟังการชี้แจงโครงการ ทั้งหมดแล้ว  แต่ละคนต้องตัดสินใจที่จะเลือกโครงการที่ตนเองคิดแล้วว่าเหมาะสมกับตนเอง  2 โครงการโดยเรียงลำดับ 1 2 3…   เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์กับองค์กรนั้นๆ ทั้ง 2 องค์กร ในวันถัดไป

การสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นการสัมภาษณ์ร่วมระหว่าง มอส. และ องค์กรที่รับอาสาสมัคร  ในบางครั้งอาจจะมีกรรมการที่ มอส.เชิญมาเป็นกรรมการกลาง ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักงานของ มอส. และเกี่ยวข้องในประเด็นสิทธิมนุษยชน มาสัมภาษณ์ด้วย  เพื่อช่วยพิจารณาผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร  โดยรวมแล้วกรรมการในแต่ละห้องไม่ควรเกิน 5 คน ผู้สมัครจะเข้ารับการสัมภาษณ์กับองค์กรที่ตนเองเลือกเป็นรายบุคคล ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที

การเตรียมการสัมภาษณ์
ทีม มอส.จะเตรียมใบสมัครของผู้สมัครในโครงการนั้นตามจำนวนของผู้สมัคร ให้กับกรรมการสัมภาษณ์ ได้อ่านก่อน    และ มอส.จะมีการประชุมร่วมองค์กร และ กรรมการสัมภาษณ์ทุกคน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเกณฑ์การสัมภาษณ์ แนวทางในการสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม  การแบ่งบทบาทการถาม โดย มอส.จะมีใบคะแนนให้กับกรรมการทุกคน

เกณฑ์การพิจารณาในการสัมภาษณ์
มอส.จะมีประเด็นในการพิจารณา  4 เรื่องคือ 1) ความมุ่งมั่น  2) บุคลิกภาพ (วุฒิภาวะ  มนุษยสัมพันธ์  ความเป็นผู้นำ)  3) พื้นฐานความเข้าใจปัญหาสังคม และสิทธิมนุษยชน 4) ทักษะ (การสื่อสาร  ปฏิภาณไหวพริบ  ความคิดสร้างสรรค์) เมื่อสัมภาษณ์เสร็จในแต่ละคน กรรมการจะให้คะแนนของแต่ละคนตามแบบประเมินที่ มอส.จัดไว้ให้  แล้วมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันซึ่งจะทำให้เข้าใจว่ากรรมการแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร   กรรมการบางคนให้คะแนนในบางเรื่องน้อย แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนแล้วเห็นคล้อยตาม  ก็สามารถปรับคะแนนของตนให้ลดหรือเพิ่มได้   ซึ่งเป็นการปรับฐานการให้คะแนนให้สอดคล้องกันในกลุ่มกรรมการของห้องนั้น  การตัดสินใจว่าผู้สมัครคนใดมีความเหมาะสมที่สุดจะพิจารณาหลังจากที่สัมภาษณ์ครบทุกคนแล้ว   ทำความเห็นสรุปผู้ที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมดและให้จัดอันดับด้วย   ซึ่งตรงนี้จะสอดคล้องกับการเลือกอันดับของผู้สมัคร คือ ถ้าผู้สมัครคนใดเลือกไว้เป็นอันดับ 1 และ กรรมการก็พิจารณาผู้สมัครคนนั้นผ่านเป็นอันดับ 1 เช่นกัน องค์กรนั้นก็จะรู้ได้ทันทีว่าได้คนที่เลือกไว้เป็นอันดับ 1 แต่ถ้าผู้สมัครนั้นเลือกองค์กรอื่นเป็นอันดับแรก และผ่านการสัมภาษณ์เป็นอาสาสมัครขององค์กรที่เขาเลือกแล้ว  องค์กรนั้นก็จะได้อาสาสมัครที่ผ่านการพิจารณาเป็นอันดับถัดไปเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอาจจะเห็นว่าไม่มีผู้ใดเหมาะสมกับการเป็นอาสาสมัคร และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไมได้เป็นอาสาสมัครขององค์กรใดเข้ารับการสัมภาษณ์อีก การสัมภาษณ์ครบทุกองค์กรจะให้เวลาประมาณ 2 วัน เมื่อสัมภาษณ์ครบแล้ว มอส.ก็จะประกาศผลทางเว็บไซด์  หรือถ้าผู้สมัครยังรออยู่ก็จะแจ้งกับผู้สมัครทันที โดยการประชุมแจ้งพร้อมกัน  และให้กำลังใจแก่กันสำหรับผู้ที่พลาดโอกาส  รวมทั้งแจ้งว่าองค์กรใดที่ยังไม่ได้อาสาสมัคร และประสงค์ที่จะสัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้สมัครที่พลาดโอกาส   หากมีผู้สนใจ  การสัมภาษณ์เพิ่มเติมจะเกิดขึ้นในวันถัดไป หรือ อาจจะนัดหมายสัมภาษณ์กับองค์กรนั้นเลย สานศรัทธาอาสาสมัคร สร้างสังคมดีงาม” ปรัชญาการทำงานเสริมสร้างคนหนุ่มสาวที่มอส.มีมาตลอด 37 ปี แม้ว่าการทำงานอาสาสมัครจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่จุดยืนเรื่องการสร้างคนหนุ่มสาวที่มีจิตสำนึกรับใช้สังคมไม่เคยเปลี่ยน ตลอด 12 ปีของการทำโครงการอาสานักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างนักสิทธิ์รุ่นใหม่ไปทำงานสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ ของสังคม ถึงวันนี้ มอส.มีความพยายามสรุปบทเรียนการทำงาน เพื่อส่งต่อบทเรียนนั้นไปให้ผู้ที่สนใจแนวคิดและอยากจะนำแนวคิดไปขยายผล โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนในปัจจุบันไปพ้นเขตแดนของความเป็นรัฐชาติ เราและประเทศเพื่อนบ้านจึงตกอยู่ในชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก

กระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา
กระบวนการเรียนรู้ของอาสาสมัครในระยะเวลา  1 ปี นั้น มอส.เรียกว่า “การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน”   ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้จากปฏิบัติงานจริง กับปัญหาจริง ในพื้นที่จริง และมีการเสริมการเรียนรู้ให้กับอาสาสมัคร   บทบาทของการจัดการเรียนรู้อยู่ที่ 2 ฝ่าย คือ

1. องค์กรที่รับอาสาสมัคร  ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญของอาสาสมัคร  ซึ่งองค์กรเป็นผู้ดูแล มอบหมายงาน  ติดตามผลการทำงาน รวมทั้งเรื่องทุกข์ สุข จัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง
2. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มอส.จัดการเรียนรู้ร่วมกันของอาสาสมัครทุกคนในรุ่นโดยการจัดการจัดการฝึกอบรม สัมมนา หลักๆ จำนวน 4 ครั้งใน 1 ปี เพื่อเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในด้านความรู้  การวิเคราะห์-สังเคราะห์ การสรุปบทเรียน การสร้างความสัมพันธ์ สร้างกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้น เป้าหมายการเติบโตของอาสาสมัคร มอส. มุ่งหวังให้อาสาสมัครเติบโตใน 3 ด้านคือ ด้านความคิด การวิเคราะห์ สังเคราะห์(Head) ด้านทักษะการปฏิบัติงาน (Hand) ด้านอุดมคติ อุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสังคม (Heart) อีกประเด็นที่สำคัญคือการสร้างมิตรภาพ ระหว่างอาสาสมัคร (Friendship) ให้เป็นพลังหนุนกำลังใจ หนุนการสร้างเครือข่าย (Network) ต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้เขาสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ได้ในอนาคต ดังนั้นในการพัฒนาอาสาสมัครทั้ง มอส. และองค์กร ต้องเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน  และเมื่อมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมกระบวนการแล้ว  อาสาสมัครก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในคิด เสนอแนะและจัดการเรียนรู้ได้เองด้วย ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนาที่ มอส.จัดขึ้น  เพราะในส่วนขององค์กรนั้นมีความหลากหลายในรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับอาสาสมัคร  ซึ่ง มอส.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง  แต่จะไปติดตาม เยี่ยมเยียน และแลกเปลี่ยนกับองค์กรเป็นระยะๆ ในช่วงการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร มอส.ได้จัดกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา ให้กับอาสาสมัครในตลอดระยะเวลา 1 ปี รวม 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ  5 วัน ได้แก่ 1.การปฐมนิเทศ  ก่อนออกปฏิบัติงาน 2.การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน 4 เดือน 3.การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน 8 เดือน 4.การนำเสนอรายงานการศึกษา บทเรียน และการสัมมนาสิ้นสุดวาระ 1 ปี มอส.ได้กำหนดให้เมื่อสิ้นสุดวาระการทำงาน 1 ปี อาสาสมัครจะต้องเขียน  รายงานการศึกษา สรุปบทเรียนการทำงานนำเสนอในการสัมนาครบระยะการปฏิบัติงาน 1 ปี   นอกจากนี้อาสาสมัครจะต้องส่งรายงานก่อนมาร่วมสัมมนา 4 เดือน และ 8 เดือน ในประเด็นที่กำหนดไว้ในคู่มืออาสาสมัคร ซึ่งจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับงานและการวิเคราะห์ในประเด็นสิทธิ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงานที่อาสาสมัครปฏิบัติงานอยู่ บทบาทของทีมเจ้าหน้าที่ มอส. จะมีบทบาทในการออกแบบ  และ จัดการประเมินผลการฝึกอบรม-สัมมนาทุกครั้ง และในระหว่างการสัมมนา  ทีมเจ้าหน้าที่จะอยู่ตลอด  เป็นวิทยากร หรือจัดกิจกรรมในบางเรื่อง เช่นการสร้างกลุ่มสัมพันธ์ มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับวิทยากรให้นำเสนอได้อย่างตรงประเด็น  เป็นผู้ดำเนินรายการ  เชื่อมโยงกับประเด็นของอาสาสมัคร สร้างการมีส่วนร่วมกับอาสาสมัครในการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆที่นอกเหนือจากตารางที่กำหนดไว้เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี หรือเกิดกลุ่มเรียนรู้ ถกเถียงในประเด็นที่สนใจ   หลังจากที่อาสาสมัครแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานแล้ว เจ้าหน้าที่ มอส.จะมีการติดตาม เยี่ยมเยียน อาสาสมัคร และองค์กร  แล้วจะรวบรวมประเด็นข้อเสนอในการฝึกอบรมทั้งจากอาสาสมัคร และองค์กร เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบครั้งต่อไปด้วย

การปฐมนิเทศ  ก่อนออกปฏิบัติงาน
เป้าหมาย  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการสิทธิมนุษยชน  ความพร้อมในการปรับตัว หรือแก้ปัญหา ในการปฏิบัติงานร่วมกับองค์กร  และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอาสาสมัครกันเองและกับเจ้าหน้าที่ เนื้อหา กระบวนการ   มอส.จะออกแบบตามเป้าหมายของแต่ละครั้ง โดยมีเนื้อหา และใช้รูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่

หัวใจสำคัญของการปฐมนิเทศ คือ การสร้างความเป็นเพื่อนระหว่างอาสาสมัคร ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกัน  มีความเข้าใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน  ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงาน และเขาจะให้กำลังใจ แก่กัน หลังจากที่แยกย้ายไปทำงานกันในแต่ละองค์กร

การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน 4 เดือน
เป้าหมาย  เพื่อให้อาสาสมัครสรุปบทเรียนการทำงาน  4 เดือน /เสริมการเรียนรู้  การวิเคราะห์ในสถานการณ์ด้านสิทธิ  สังคมเชื่อมโยงในระดับอาเซียน หรือระดับโลก / การเรียนรู้ประเด็นสังคมในพื้นที่จริง / การเตรียมความเข้าใจในเรื่องการทำรายงานการศึกษา เนื้อหา / กระบวนการ ในช่วง 4 เดือนแรกของการทำงาน อาสาสมัครอยู่ในช่วงของการปรับตัว ทำความเข้าใจกับองค์กร เป้าหมาย ภารกิจขององค์กร และบทบาทของตัวเอง อีกทั้งการมีเพื่อนร่วมงานใหม่ ที่มีทั้งเข้ากันได้ เข้ากันไม่ได้   บางคนเจอสภาพการทำงานหนัก  ไม่ค่อยมีเวลา หรือ ยังทำงานไม่เป็น ไม่ได้  ก็จะรู้สึกหวั่นไหว ซึ่งมอส.จะแนะนำให้อดทน  เมื่อไม่เข้าใจ ไม่พอใจอะไรก็ให้พูดคุยองค์กร  บางคนก็ใช้เวลาในการปรับตัวไม่นาน  บางคนก็ยังปรับตัวไม่ได้ ขึ้นกับหลายปัจจัย  การมาสัมมนาช่วง 4 เดือนเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ให้อาสาสมัครทั้งกลุ่มมาพบกัน บรรยากาศของช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการมาระบาย  มาทบทวน  มาคิด วิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง   มาเรียนรู้ให้กว้างและลึก  และสร้างแรงบันดาลใจ

การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน 8 เดือน
เป้าหมาย   เพื่อให้อาสาสมัครสรุปบทเรียนการทำงาน 8 เดือน / เสริมการเรียนรู้ โดยการศึกษาดูงาน   / การทดลองนำเสนอร่างหัวข้อ เค้าโครงการศึกษา  เนื้อหาเบื้องต้นของรายงานการศึกษา เนื้อหา กระบวนการ เมื่ออาสาสมัครทำงานมาถึงช่วงเดือนที่ 8 หมายถึงอาสาสมัครได้ก้าวพ้นการปรับตัว  และ รับผิดชอบงานอย่างเต็มที่  มีมุมมองและความเข้าใจงานที่ลึกมากขึ้น ดังนั้น การสัมมนา 8 เดือน จึงเป็นการสรุปบทเรียน ต่อยอดการเรียนรู้ให้ละเอียด ตอกย้ำ ความมุ่งมั่น เป้าหมายที่จะไปให้ถึง 1 ปี   และที่สำคัญคือการดำเนินตามเป้าและแผนที่จะทำรายงานการศึกษาให้สำเร็จ สมบูรณ์

การนำเสนอรายงานการศึกษา บทเรียน และการสัมมนาสิ้นสุดวาระ 1 ปี เป้าหมาย   ให้อาสาสมัครนำเสนอรายงานการศึกษาในเวทีสัมมนาโดยมีผู้วิจารณ์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นๆ   และ การสรุป บทเรียนการเรียนรู้  การเปลี่ยนแปลงตนเองในช่วง 1 ปีของการเป็นอาสาสมัคร เนื้อหา กระบวนการการสัมมนาครั้งนี้ อาสาสมัครจะค่อนข้างตื่นเต้นกับการนำเสนอรายงานการศึกษา เพราะจะต้องนำเสนอให้กระชับ  มีผู้วิจารณ์  และองค์กรก็มาร่วมฟัง และให้ความเห็นด้วย    บางครั้งจะเชิญผู้ที่สนใจมาร่วมฟังด้วย   การนำเสนอรายงานจะใช้ห้องประชุมที่เป็นทางการ  หลังจากการเสนอรายงานเสร็จแล้ว จะเป็นการสัมมนาสรุปบทเรียน ชีวิต 1 ปี โดยไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ประมาณ 3 วัน

จะเห็นได้ว่าในการการออกแบบเสริมการเรียนรู้ให้อาสาสมัคร มอส.จะพยายามให้มีความผสมผสานกันในเรื่อง  สมอง หัวใจ  การปฏิบัติ  Head Heart Hand   โดยเฉพาะในเรื่อง สมอง และ หัวใจ  เพราะการลงมือปฏิบัติจริงๆคือ การกลับไปปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งในองค์กรซึ่งจะทำให้เกิดทักษะในการทำงานเฉพาะขึ้น เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการสัมมนาทุกครั้ง คือการสร้างมิตรภาพ การสร้างกัลยาณมิตร  ซึ่งจะต้องสร้างให้ได้ในช่วงของการปฐมนิเทศ   จากนั้นมิตรภาพจะดำเนินไปเองโดยอาสาสมัคร  ทั้งในช่วงการสัมมนาครบการปฏิบัติงาน  4 เดือน  8 เดือน  1 ปี  รวมทั้งในช่วงการทำงาน โดยตลอดวาระอาสาสมัคร   หลังวาระ   และเป็นเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์ ไปตลอดชีวิต ทุกการเรียนรู้จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ และ พลังในการทำงาน เพื่อคุ้มกันให้อาสาสมัครทำงานอย่างมีสติ  มุ่งมั่น  อดทน  สู้งานหนัก  เพราะการทำงานแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิฯ  มักมีความกดดันสูงจากงานที่มากมาย จากกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วย  หากจิตใจไม่มั่นคง โอกาสที่จะท้อถอยหมดกำลังใจจะเกิดขึ้นได้ง่าย   ดังนั้นเมื่ออาสาสมัครมีความเข้มแข็งทางจิตใจแล้วการทำงานย่อมเกิดผลที่ดีตามมาแน่นอน เมื่อครบวาระการทำงาน 1 ปี อาสาสมัครจำนวนประมาณ หรือ มากกว่า ครึ่งหนึ่งทำงานต่อเนื่องเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้น เพราะองค์กรก็ต้องการคนทำงานที่มุ่งมั่น เข้าใจงาน  ทำงานต่อเนื่องทั้งสิ้น อดีตอาสาสมัครหลายคนก็เป็นกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับองค์กรในระยะต่อมา

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai