เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองให้เลือกอยู่ 2 ขั้วเท่านั้น หนึ่งคือพรรคการเมืองขั้วที่ยืนข้างทหารด้วยการเอาคนที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี (นายกคนนอก) ซึ่งคนนั้นคงจะเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ได้อำนาจมาจากรัฐประหาร หรืออาจจะเป็นคนอื่นที่เป็นทหารหรือไม่เป็นทหารก็ได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้วคือพรรคที่ยืนข้างอำนาจนอกระบบที่ได้มาจากรัฐประหารของคณะทหาร คสช.

อีกหนึ่งคือพรรคการเมืองที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่เอานายกคนนอกและพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจของ คสช.

ระบบและกติกาการเลือกตั้งของบ้านเราสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้[[1]]ได้ซ่อนกลลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ 3 รายชื่อของแต่ละพรรคให้ประชาชนทราบนั้นคือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้เลยว่า 3 รายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมานั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ดังนั้น จึงเป็นใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อน ตรงนี้อาจจะเรียกว่า “นายกคนนอกนอกบทเฉพาะกาล”

ส่วน “นายกคนนอกในบทเฉพาะกาล” เกิดจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฯในมาตรา 272 วรรคสองที่กำหนดให้วุฒิสภาหรือ ส.ว. 250 คน มีอำนาจและหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ด้วย โดยระบุว่าในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกหรือทั้งสองสภาเริ่มทำงานร่วมกัน หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากคนใดคนหนึ่งของบัญชีรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม สมาชิกของท้ังสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ถ้านับสมาชิกเต็มจำนวนของทั้งสองสภาคือ 750 คน มาจาก ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน, กึ่งหนึ่งจึงเท่ากับ 375 คน) สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภาจัดประชุมโดยเร็วเพื่อมีมติยกเว้นไม่ใช้บัญชีรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามท่ีพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 โดยรัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของท้ังสองสภา (ถ้านับสมาชิกเต็มจำนวนของทั้งสองสภาคือ 750 คน มาจาก ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน, สองในสามจึงเท่ากับ 500 คน) ให้ยกเว้นได้ ต่อจากนั้นก็ให้มีมติเห็นชอบการแต่งต้ังบุคคลใดที่ไม่อยู่/หรืออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ถ้านับสมาชิกเต็มจำนวนของทั้งสองสภาคือ 750 คน มาจาก ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน, มากกว่ากึ่งหนึ่งจึงเท่ากับ 376 คน)

จากกระแสข่าวสังคมและการเมืองไทยที่เป็นอยู่ตลอดช่วงหลายปีหลังรัฐประหารที่ผ่านมาจน ณ เวลานี้ (ถ้าไม่นับข่าวเลขาธิการ กกต. ไม่รับประกันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562, ข่าวอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเตรียมถวายฎีกายุติการเลือกตั้งเพราะเป็นต้นเหตุความแตกแยก, ข่าวสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติบุก กกต. ไม่ให้ประกาศวันเลือกตั้ง ต้องเลื่อนออกไปก่อน, ข่าวนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่ออกในวันนี้-2 มกราคม 2562-ตามกำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ ตามที่กล่าวไว้แล้วในอ้างอิง [1]) จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการวางหมากไว้หลายช่องทางเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกคนนอก ไม่ว่าจะเป็นนายกคนนอกในหรือนอกบทเฉพาะกาลล้วนแต่เป็นชื่อของพลเอกประยุทธ์ปรากฎอยู่ในลำดับแรกทั้งสิ้น ลำดับต่อมาอาจจะเป็นทหาร คสช. รายอื่น หรือพลเรือนที่รับใช้ คสช. ก็ตาม แต่รายชื่อทั้งหมดแน่ใจได้อย่างหนึ่งว่าคือผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างแน่นอน

หลักการตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญตรงที่ผู้ปกครองโดยเฉพาะตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรีต้องสร้างพันธสัญญาการนำอำนาจไปใช้โดยยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงโดยตรงผ่านระบบเลือกตั้ง ดังนั้น คุณสมบัติสำคัญข้อแรกของนายกรัฐมนตรีควรต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อนเท่านั้น นอกเหนือไปจากนี้ควรเรียกว่า “นายกคนนอก”

ทั้งหมดนี้คือนิยามของนายกคนนอกผู้กินแรงคนอื่น และลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและความผิดทั้งปวงที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไม่ยึดโยงผูกพันใด ๆ กับสมาชิกพรรคการเมืองที่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกคนนอกทั้งสิ้น ไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกันใด ๆ ในบรรดามติ กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรคและในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฯ

ในขณะที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ กฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับของพรรคการเมือง และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ผู้เป็นนายกคนนอกไม่มีอะไรต้องยึดโยงกับสมาชิกพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคและความรับผิดชอบทางจริยธรรมใด ๆ ของพรรคเลย

ดังเช่นหลังรัฐประหารปี 2557 บ้านเมืองเราก็อยู่กับสภาวะนายกคนนอกมาเกือบห้าปีแล้ว นี่คือช่วงเวลาของนายกคนนอกก่อนเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยคณะรัฐประหาร คสช. ที่มีนายกคนนอกผู้ไม่ยี่หระว่าจะใช้อำนาจที่ไม่สัมพันธ์หรือยึดโยงกับผลประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจสนับสนุนหรือเอื้อต่อผลประโยชน์ของนายทุนอย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำลงอย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจทวงคืนผืนป่าส่งผลให้คนยากคนจนและคนเล็กคนน้อยที่ไร้อำนาจต่อรองต้องไร้ที่ดินทำกินอย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจในการพยามยามยกเลิกบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคเพื่อบังคับให้ประชาชนทั่วไปต้องหากู้หนี้ยืมสินยามเจ็บไข้ได้ป่วยเพื่อจ่ายค่ารักษาและค่ายาเมื่อไปโรงพยาบาลอย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเปิดทางให้โรงงานขยะมีพิษมาตั้งบนพื้นที่ที่ควรสงวนไว้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเกษตรกรรม หรือพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ อย่างไรก็ได้

จะใช้อำนาจขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ศาล องค์กรอิสระให้ร่ำรวยขึ้นโดยไม่แยแสค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนว่าจะสามารถเลี้ยงดูลูกเมียพ่อแม่และครอบครัวให้พออยู่พอกินไม่เป็นหนี้สินอย่างไรก็ได้

ฯลฯ

นี่คือผลงานของนายกคนนอกก่อนเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และพวกเขาเหล่านั้นได้วางแผนการสืบทอดอำนาจโดยกำกับการร่างรัฐธรรมนูญให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้มีนายกคนนอกหลังเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

สภาวะของนายกคนนอกเช่นนี้คือลักษณะของผู้มีอิทธิพลสร้างการครอบงําหรือชี้นําพรรคการเมืองโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองน้ันตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฯ และมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 46 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งสมควรมีความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม, มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม, มาตรา 46 ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ และห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

โทษเหล่านั้นมีตั้งแต่ยุบพรรค, ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น, ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบถึงยี่สิบปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

ความตลกขบขันที่มาพร้อมกับโทษที่กล่าวถึงก็คือ คณะรัฐประหาร คสช. ได้กำกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งเพื่อสร้างระบบและกติกาของการเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุดด้วยการบัญญัติให้มีนายกคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และทำทุกวิถีทางในการสกัดกั้นอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศไม่ให้มีอิทธิพลชี้นำและครอบงำพรรคการเมืองในเครือข่ายของทักษิณ แต่สิ่งที่คณะรัฐประหาร คสช. กระทำในเรื่องเขียนบทบัญญัติ “นายกคนนอก” ไว้ในรัฐธรรมนูญฯซึ่งมีเนื้อหาเป็นไปในทางที่สามารถทำให้คณะรัฐประหาร คสช. ที่กุมอำนาจบริหารประเทศเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอยู่ในเวลานี้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจและหน้าที่ชี้นำและครอบงำพรรคการเมืองที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้ แทนที่ผลของการเขียนรัฐธรรมนูญฯและกฎหมายจะสกัดหยุดยั้งอิทธิพลของทักษิณในการชี้นำและครอบงำเครือข่ายพรรคการเมืองของทักษิณ แต่กลับกลายเป็นว่าเขียนรัฐธรรมนูญฯและกฎหมายประจานความเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองของคณะรัฐประหาร คสช. เสียเองมากกว่า.

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai