เรื่อง : มะรอซาลี คาร์เด​ร์​ –  อาสาสมัครนักสิทธิ์ รุ่น 14 / SDF
ภาพประกอบ : ลีเม

กว่า 12 กิโลเมตรคือความยาวของ “คลองประทุน” ที่ไหลคดเคี้ยวมาจากเทือกเขาบรรทัด ลดระดับลงสู่ปากอ่าวแหลมกลัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.แหลมกลัด กับ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของผู้คนในพื้นที่มาแต่อดีต ผลผลิตของคลองประทุนมักเป็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆ กัน

เมื่อในอดีตนั้นสัตว์น้ำหาง่าย การทำประมงไม่ต้องลงทุนมากมาย ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ว่าราคาสินค้าประเภทสัตว์น้ำนั้นมีราคาถูก ระยะเวลาผ่านไปหลายสิบปี เมื่อการทำสัมปทานป่าไม้ชายเลนเพื่ออุตสาหกรรมการทำถ่านเริ่มเข้ามา พื้นที่ป่าชายเลนถูกแผ้วถางราบเรียบไปหลายร้อยไร่ ส่งผลให้แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำลดลง แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ลดลง สัตว์น้ำหลายชนิดหายไป และหลายชนิดก็หายากมากขึ้น

เมื่ออุตสาหกรรมเผาถ่านลดลงเนื่องจากพื้นที่ป่าซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญหมดไป พื้นที่อุตสาหกรรมเดิมเริ่มถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นนากุ้งบนพื้นที่ว่างเปล่านั้นแทน นากุ้งขยายบานปานดอกเห็ด การทำนากุ้งส่งผลกระทบต่อน้ำให้เป็นพิษหรือน้ำเสีย ด้วยการถ่ายเทระบายน้ำจากบ่อกุ้งลงสู่ลำคลอง น้ำเน่าเสีย สัตว์หลายชนิดแม้จะยังหาได้บ้าง แต่ก็มีอีกหลายชนิดได้หายไปจากลำคลองอย่างสิ้นเชิง

หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี การทำนากุ้งเริ่มประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก พื้นที่นากุ้งจึงเริ่มลดลง เหลือเพียงบ่อนากุ้งร้างที่ทิ้งไว้เรียงรายเป็นพื้นที่กว้างขวางหลายร้อยไร่

ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับคลองประทุน นอกเหนือเหตุปัจจัยของอุตสาหกรรมป่าและนากุ้งแล้ว ยังมีปัจจัยที่เกิดจากการทำประมงแบบทำลายล้าง มีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงที่จับสัตว์น้ำแบบไม่มีการคัดขนาด สัตว์น้ำทุกขนาดจะถูกจับไปพร้อมๆกัน นั่นหมายความว่าสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปู ลูกปลา จะถูกจับไปทั้งหมด ภาษาท้องถิ่นเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า “เรือรุน” ซึ่งจะทำหน้าที่เข้ามารุนสัตว์น้ำในคลองประทุน แน่นอนว่าเรือรุนได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องมือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ทรัพยากรถูกทำลาย กลายเป็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่

ความเสื่อมโทรมของป่าและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่แตกต่างกัน เป็นเงื่อนไขสำคัญให้คนในพื้นที่หรือชาวประมงพื้นบ้านผู้อาศัยคลองประทุนแห่งนี้เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตจากการออกเรือหาปลาเรื่อยมา รวมตัวกันผลักดันให้เกิดการจัดทำเขตป่าเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมา พวกเขาเข้ายึดบ่อนากุ้งร้าง แล้วสร้างพื้นที่ป่าไม้เข้าทดแทน มีการขยายเขตการปลูกพันธุ์ไม้ชายเลนออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างข้อตกลงร่วมของการใช้ประโยชน์จากคลองประทุน รวมถึงการทำแผนอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งขึ้นมา เช่น การทำบ้านปลาจำนวน 10 หลัง ในพื้นที่บริเวณปากอ่าวแหลมกลัด ด้วยเป้าหมายคือการฟื้นฟูสัตว์น้ำวัยอ่อนและสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ร่วมกัน

ทั้งหมดที่เล่ามาคือภาพรวมๆ ของการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เรียกว่า “คลองประทุน” ซึ่งต่อไปผู้เขียนจะนำเรื่องราวที่ผู้เขียนได้เก็บรวมรวมจากประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอระหว่างการทำหน้าที่หนุนเสริมการจัดการทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่คลองประทุน ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ในรอบระยะเวลา 1 ปี ภายใต้โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 14 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ประจำองค์กรชื่อ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : SDF ” มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ รอติดตามเรื่องราวตอนต่อไปได้ทุกวันจันทร์ เริ่มวันจันทร์หน้า ทางเว็บไซต์ www.thaivolunteer.org Fanpage : มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และ Twitter : มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai