“สานศรัทธาอาสาสมัคร สร้างสังคมดีงาม” ปรัชญาการทำงานเสริมสร้างคนหนุ่มสาวที่มอส.มีมาตลอด 35 ปี แม้ว่าการทำงานอาสาสมัครจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่จุดยืนเรื่องการสร้างคนหนุ่มสาวที่มีจิตสำนึกรับใช้สังคมไม่เคยเปลี่ยน
ตลอด 10 ปีของการทำโครงการอาสานักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างนักสิทธิ์รุ่นใหม่ไปทำงานสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ ของสังคม ถึงวันนี้ มอส.มีความพยายามสรุปบทเรียนการทำงาน เพื่อส่งต่อบทเรียนนั้นไปให้ผู้ที่สนใจแนวคิดและอยากจะนำแนวคิดไปขยายผล โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนในปัจจุบันไปพ้นเขตแดนของความเป็นรัฐชาติ เราและประเทศเพื่อนบ้านจึงตกอยู่ในชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก
โปรดติดตามอีก 2 ตอนจนจบ!”
โดย กรรณิกา ควรขจร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
บทที่ ๔ กระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา
กระบวนการเรียนรู้ของอาสาสมัครในระยะเวลา ๑ ปี นั้น มอส.เรียกว่า “การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน” ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้จากปฏิบัติงานจริง กับปัญหาจริง ในพื้นที่จริง และมีการเสริมการเรียนรู้ให้กับอาสาสมัคร บทบาทของการจัดการเรียนรู้อยู่ที่ ๒ ฝ่าย คือ
๑) องค์กรที่รับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญของอาสาสมัคร ซึ่งองค์กรเป็นผู้ดูแล มอบหมายงาน ติดตามผลการทำงาน รวมทั้งเรื่องทุกข์ สุข จัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง
๒) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มอส.จัดการเรียนรู้ร่วมกันของอาสาสมัครทุกคนในรุ่นโดยการจัดการจัดการฝึกอบรม สัมมนา หลักๆ จำนวน ๔ ครั้งใน ๑ ปี เพื่อเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในด้านความรู้ การวิเคราะห์-สังเคราะห์ การสรุปบทเรียน การสร้างความสัมพันธ์ สร้างกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้น
เป้าหมายการเติบโตของอาสาสมัคร มอส. มุ่งหวังให้อาสาสมัครเติบโตใน ๓ ด้านคือ ด้านความคิด การวิเคราะห์ สังเคราะห์(Head) ด้านทักษะการปฏิบัติงาน (Hand) ด้านอุดมคติ อุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสังคม (Heart) อีกประเด็นที่สำคัญคือการสร้างมิตรภาพ ระหว่างอาสาสมัคร (Friendship) ให้เป็นพลังหนุนกำลังใจ หนุนการสร้างเครือข่าย (Network) ต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้เขาสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ได้ในอนาคต ดังนั้นในการพัฒนาอาสาสมัครทั้ง มอส. และองค์กร ต้องเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน และเมื่อมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมกระบวนการแล้ว อาสาสมัครก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในคิด เสนอแนะและจัดการเรียนรู้ได้เองด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนาที่ มอส.จัดขึ้น เพราะในส่วนขององค์กรนั้นมีความหลากหลายในรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับอาสาสมัคร ซึ่ง มอส.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะไปติดตาม เยี่ยมเยียน และแลกเปลี่ยนกับองค์กรเป็นระยะๆ ในช่วงการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร
มอส.ได้จัดกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา ให้กับอาสาสมัครในตลอดระยะเวลา ๑ ปี รวม ๔ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๕ วัน ได้แก่
๑. การปฐมนิเทศ ก่อนออกปฏิบัติงาน
๒. การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน ๔ เดือน
๓. การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน ๘ เดือน
๔. การนำเสนอรายงานการศึกษา บทเรียน และการสัมมนาสิ้นสุดวาระ ๑ ปี
มอส.ได้กำหนดให้เมื่อสิ้นสุดวาระการทำงาน ๑ ปี อาสาสมัครจะต้องเขียน รายงานการศึกษา สรุปบทเรียนการทำงานนำเสนอในการสัมนาครบระยะการปฏิบัติงาน ๑ ปี นอกจากนี้อาสาสมัครจะต้องส่งรายงานก่อนมาร่วมสัมมนา ๔ เดือน และ ๘ เดือน ในประเด็นที่กำหนดไว้ในคู่มืออาสาสมัคร ซึ่งจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับงานและการวิเคราะห์ในประเด็นสิทธิ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงานที่อาสาสมัครปฏิบัติงานอยู่
บทบาทของทีมเจ้าหน้าที่ มอส. จะมีบทบาทในการออกแบบ และ จัดการประเมินผลการฝึกอบรม-สัมมนาทุกครั้ง และในระหว่างการสัมมนา ทีมเจ้าหน้าที่จะอยู่ตลอด เป็นวิทยากร หรือจัดกิจกรรมในบางเรื่อง เช่นการสร้างกลุ่มสัมพันธ์ มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับวิทยากรให้นำเสนอได้อย่างตรงประเด็น เป็นผู้ดำเนินรายการ เชื่อมโยงกับประเด็นของอาสาสมัคร สร้างการมีส่วนร่วมกับอาสาสมัครในการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆที่นอกเหนือจากตารางที่กำหนดไว้เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี หรือเกิดกลุ่มเรียนรู้ ถกเถียงในประเด็นที่สนใจ หลังจากที่อาสาสมัครแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานแล้ว เจ้าหน้าที่ มอส.จะมีการติดตาม เยี่ยมเยียน อาสาสมัคร และองค์กร แล้วจะรวบรวมประเด็นข้อเสนอในการฝึกอบรมทั้งจากอาสาสมัคร และองค์กร เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบครั้งต่อไปด้วย
การปฐมนิเทศ ก่อนออกปฏิบัติงาน
เป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการสิทธิมนุษยชน ความพร้อมในการปรับตัว หรือแก้ปัญหา ในการปฏิบัติงานร่วมกับองค์กร และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอาสาสมัครกันเองและกับเจ้าหน้าที่
เนื้อหา กระบวนการ มอส.จะออกแบบตามเป้าหมายของแต่ละครั้ง โดยมีเนื้อหา และ ใช้รูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่
- การสร้างความสัมพันธ์ ให้รู้จักกันแบบลึก โดย การจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ดำเนินการโดยทีมเจ้าหน้าที่ เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น สร้างความคุ้นเคย สร้างสัมพันธ์ สร้างความเป็นทีม และพลังกลุ่ม ตัวอย่างกิจกรรมเช่น “สายธารชีวิต” ให้แต่ละคนวาดภาพชีวิตของตนเองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน สิ่งที่คาดหวังในอนาคต แล้วนำภาพนั้นมาเล่ากันในกลุ่มย่อย เกมส์นี้จะช่วยให้รู้จักและเข้าใจกันมาก เป็นต้น
- แนวคิด หลักการสิทธิมนุษยชน โดยเชิญวิทยากรที่ทำงานด้านสิทธิ และมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เข้าใจใน นิยาม หลักการสากล ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน วิธีการที่ใช้ได้แก่ ให้คิดเขียนเป็นบุคคล เล่นเกมส์ บทบาทสมมติ ตั้งโจทย์ให้วิเคราะห์ การดูภาพยนตร์ แล้วนำไปสู่ความเข้าใจในหลักการสำคัญ กระบวนการนี้ใช้เวลา ๒ วัน ๑ คืน
- กฎหมายกับสังคม กลไกการปกป้องสิทธิ งานพัฒนากับงานสิทธิมนุษยชน ใน ๓ เรื่องนี้จะเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ หรือจัดเป็นวงเสวนาเชิญวิทยากร มากกว่า ๑ คน มาร่วมให้ข้อมูล แลกเปลี่ยน โดยเน้นให้อาสาสมัครมีส่วนร่วมในการถามและแลกเปลี่ยน หัวข้อในการเรียนรู้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในสอดคล้องกับสถานการณ์หรือสภาพการทำงานของอาสาสมัคร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทีมในการออกแบบแต่ละครั้ง
- ความพร้อมในการเริ่มต้นในการปฏิบัติงานกับองค์กร เรื่องนี้จะเชิญอดีตอาสาสมัครซึ่งอาจจะเชิญมาเป็นกลุ่มจากหลายๆรุ่น มาแลกเปลี่ยนกับอาสาสมัคร เล่าประสบการณ์ที่เคยเจอ ต้องปรับตัว วิธีการแก้ปัญหา อีกทั้งก็เป็นการให้แง่คิด กำลังใจมิให้ท้อถอยหากเจอปัญหาที่ไม่คาดคิด และยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครรุ่นต่างๆ
- ภารกิจ และ บทบาทของอาสาสมัคร เรื่องนี้ดำเนินการโดยทีมเจ้าหน้าที่เป็นทบทวน ภารกิจ ที่อาสาสมัครจะต้องทำ การทำรายงาน ๔ เดือน ๘ เดือน รายงานการศึกษา ๑ ปี การเข้าร่วมในการสัมมนาทุกครั้ง บทบาทความสัมพันธ์ ๓ ฝ่าย ระหว่าง องค์กร อาสาสมัคร และ มอส. ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน ซึ่งบทบาทและภารกิจเหล่านี้ จะถูกบรรจุไว้ในข้อตกลง ๓ ฝ่าย และมีการลงนามร่วมกัน
- การกำหนดเป้าหมาย ของตนเอง ๑ ปี เป็นการให้อาสาสมัครตั้งเป้าหมายสำหรับตัวเอง ที่ต้องการไปให้ถึงใน ๑ ปี และบันทึกในกระดาษรูปหัวใจ และทีมเจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ ซึ่งจะนำมาเปิดอ่านอีกที เมื่อครบวาระแล้ว
หัวใจสำคัญของการปฐมนิเทศ คือ การสร้างความเป็นเพื่อนระหว่างอาสาสมัคร ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกัน มีความเข้าใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงาน และเขาจะให้กำลังใจ แก่กัน หลังจากที่แยกย้ายไปทำงานกันในแต่ละองค์กร
การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน ๔ เดือน
เป้าหมาย เพื่อให้อาสาสมัครสรุปบทเรียนการทำงาน ๔ เดือน / เสริมการเรียนรู้ การวิเคราะห์ในสถานการณ์ด้านสิทธิ สังคมเชื่อมโยงในระดับอาเซียน หรือระดับโลก / การเรียนรู้ประเด็นสังคมในพื้นที่จริง / การเตรียมความเข้าใจในเรื่องการทำรายงานการศึกษา
เนื้อหา / กระบวนการ
ในช่วง ๔ เดือนแรกของการทำงาน อาสาสมัครอยู่ในช่วงของการปรับตัว ทำความเข้าใจกับองค์กร เป้าหมาย ภารกิจขององค์กร และบทบาทของตัวเอง อีกทั้งการมีเพื่อนร่วมงานใหม่ ที่มีทั้งเข้ากันได้ เข้ากันไม่ได้ บางคนเจอสภาพการทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลา หรือ ยังทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ก็จะรู้สึกหวั่นไหว ซึ่งมอส.จะแนะนำให้อดทน เมื่อไม่เข้าใจ ไม่พอใจอะไรก็ให้พูดคุยองค์กร บางคนก็ใช้เวลาในการปรับตัวไม่นาน บางคนก็ยังปรับตัวไม่ได้ ขึ้นกับหลายปัจจัย การมาสัมมนาช่วง ๔ เดือนเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ให้อาสาสมัครทั้งกลุ่มมาพบกัน บรรยากาศของช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการมาระบาย มาทบทวน มาคิด วิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง มาเรียนรู้ให้กว้างและลึก และสร้างแรงบันดาลใจ
- การสรุปบทเรียน และแลกเปลี่ยนสนทนาในประเด็น “ งาน ความคิด ชีวิต จิตใจ” หัวข้อนี้จะเป็นการเล่าสุข ทุกข์ การแก้ปัญหาต่างๆ บทเรียนในการทำงาน ซึ่งก็จะมีมากมาย บางคนมีความอัดอัด คับข้องใจ ก็เหมือนได้ระบายให้กลุ่มฟัง บางคนได้เล่าถึงความทุกข์ของกลุ่มเป้าหมายที่ตนไปพบ การเล่าในวงแบบนี้ก็ช่วยให้ เพื่อนเข้าใจกัน ได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาของเพื่อนๆ บางคนก็คลี่คลายปัญหาที่มีอยู่เมื่อพบว่าเพื่อนมีปัญหาหนักกว่า หรือทำให้เห็นทางแก้ปัญหาของตนเองที่จะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง
- การวิเคราะห์สถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยให้อาสาสมัครเป็นวิทยากรแก่กันและกัน เล่าประเด็นปัญหาที่ตนเกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้เห็นประเด็นปัญหาที่หลากหลาย จะมีการเชิญวิทยากรมาให้ภาพเชื่อมโยง หรือให้ข้อมูลในสถานการณ์ โดยรวมเพิ่มด้วย รูปแบบกิจกรรมก็อาจจะมีเรื่องของการใช้เกมส์ มาเป็นเงื่อนไขให้คิด และตัวเชื่อมโยงให้เกิดการวิเคราะห์
- การวิเคราะห์สถานการณ์ ในระดับอาเซียน หรือระดับ โลก โดยเชิญวิทยากรที่หลากหลายมาร่วมให้ข้อมูล วิเคราะห์ ให้เห็นในภาพกว้าง
- การลงศึกษาปัญหาในพื้นที่จริง เพื่อให้อาสาสมัครได้สัมผัสกับปัญหาสังคมจริงในประเด็นต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือไม่ไกล เช่น เรื่องคนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน ๑ คืน มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยแยกกันไปเรียนรู้ สรุปวิเคราะห์ภายในกลุ่มแล้วกลับมานำเสนอในกลุ่มใหญ่ การลงพื้นที่พบปะพูดคุย กับกลุ่มเป้าหมายที่ยากจน รายได้น้อย ทำงานหนัก ไม่มีสวัสดิการ ถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับอาสาสมัครอีกทางหนึ่งเช่นกัน เพราะเขาได้ตระหนักถึงสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็นเปรียบเทียบกับ ปัญหาความทุกข์ยากของคนกลุ่มนี้
- การสร้างแรงบันดาลใจ โดยการไปพบ และ แลกเปลี่ยนกับ บุคคลผู้อุทิศตนในการทำงาน เพื่อให้เห็นประสบการณ์การทำงานที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจและระยะเวลา ถึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างแรงบันดาลใจของอาสาสมัคร
- การเตรียมความพร้อมในเรื่องการทำรายงานการศึกษา จะเป็นทั้งการสร้างความเข้าใจในเป้าหมาย การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา รูปแบบการเขียนรายงานการศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอดีตอาสาสมัครที่มีการวางแผนที่ดี จนทำรายงานการศึกษาออกมาได้ดี
การอบรม-สัมมนาครบระยะการปฏิบัติงาน ๘ เดือน
เป้าหมาย เพื่อให้อาสาสมัครสรุปบทเรียนการทำงาน ๘ เดือน / เสริมการเรียนรู้ โดยการศึกษาดูงาน / การทดลองนำเสนอร่างหัวข้อ เค้าโครงการศึกษา เนื้อหาเบื้องต้นของรายงานการศึกษา
เนื้อหา กระบวนการ
เมื่ออาสาสมัครทำงานมาถึงช่วงเดือนที่ ๘ หมายถึงอาสาสมัครได้ก้าวพ้นการปรับตัว และ รับผิดชอบงานอย่างเต็มที่ มีมุมมองและความเข้าใจงานที่ลึกมากขึ้น ดังนั้น การสัมมนา ๘ เดือน จึงเป็นการสรุปบทเรียน ต่อยอดการเรียนรู้ให้ละเอียด ตอกย้ำ ความมุ่งมั่น เป้าหมายที่จะไปให้ถึง ๑ ปี และที่สำคัญคือการดำเนินตามเป้าและแผนที่จะทำรายงานการศึกษาให้สำเร็จ สมบูรณ์
- การทดลองนำเสนอหัวข้อ เค้าโครงการ เนื้อหาในรายงานการศึกษา จะแบ่งกลุ่มอาสาสมัครตามประเด็น หัวข้อ ที่อาสาสมัครจะทำรายงานการศึกษา เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เพื่อให้อาสาสมัครทดลองนำเสนอในกลุ่มย่อยตามประเด็นของตนเอง มอส.จะเชิญผู้ที่ประสบการณ์ในประเด็นนั้นๆมาฟัง วิจารณ์ ให้มุมมอง และให้ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงการทำรายงานให้สมบูรณ์ ยิ่งขึ้น
- การศึกษาดูงานในพื้นที่ในต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรตัวอย่างในการทำงาน หรือ ไปเรียนรู้การทำงานปกป้องสิทธิของชาวบ้านในชุมชน ไปนอนในชุมชน โดยไปเรียนรู้แบบละเอียด ให้เห็น แนวคิด ความเป็นมา กระบวนการทำงาน ขององค์กร หรือชุมชน ใช้เวลาประมาณ ๓ วัน ๒ คืน การเลือกพื้นที่จะมีการปรึกษาหารือ และ กำหนดร่วมกับอาสาสมัคร การไปศึกษาดูงาน เช่นนี้ เป็นทั้งการเรียนรู้ เห็นตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจ
- การสรุปบทเรียนและการสนทนาในประเด็น งาน ความคิด ชีวิต จิตใจ หัวข้อนี้จะเป็นหัวข้อในการพูดคุย ในวงที่อาจจะไม่เป็นทางการ ช่วงกลางคืนของวันใด วันหนึ่ง อาสาสมัครสรุปบทเรียนของตัวเอง และมองไปถึงอนาคตข้างหน้า หลังครบวาระแล้ว บางคนจะทำงานต่อในองค์กร บางคนมีแผนไปทำอย่างอื่น ภายในรุ่นจะมีการเกาะเกี่ยวประสานงานกันอย่างไรต่อไป
การนำเสนอรายงานการศึกษา บทเรียน และการสัมมนาสิ้นสุดวาระ ๑ ปี
เป้าหมาย ให้อาสาสมัครนำเสนอรายงานการศึกษาในเวทีสัมมนาโดยมีผู้วิจารณ์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นๆ และ การสรุป บทเรียนการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงตนเองในช่วง ๑ ปีของการเป็นอาสาสมัคร
เนื้อหา กระบวนการ
การสัมมนาครั้งนี้ อาสาสมัครจะค่อนข้างตื่นเต้นกับการนำเสนอรายงานการศึกษา เพราะจะต้องนำเสนอให้กระชับ มีผู้วิจารณ์ และองค์กรก็มาร่วมฟัง และให้ความเห็นด้วย บางครั้งจะเชิญผู้ที่สนใจมาร่วมฟังด้วย การนำเสนอรายงานจะใช้ห้องประชุมที่เป็นทางการ หลังจากการเสนอรายงานเสร็จแล้ว จะเป็นการสัมมนาสรุปบทเรียน ชีวิต ๑ ปี โดยไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ประมาณ ๓ วัน
- การนำเสนอรายงานการศึกษา อาสาสมัครจะนำเสนอรายงานที่ตนเองเขียนมา โดย ใช้ power point หรือวิธีอื่นๆ ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที จากนั้นผู้วิจารณ์แสดงความเห็น องค์กรแสดงความเห็น แล้วเปิดเวทีให้ถามและให้ความเห็น ก่อนการนำเสนอ อาสาสมัครจะต้องส่งรายงานให้ มอส.ก่อนประมาณ ๑ เดือน และให้อาสาสมัครเสนอผู้วิจารณ์ได้ จากนั้นจะส่งรายงานให้ผู้วิจารณ์ล่วงหน้าก่อน ผู้วิจารณ์จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่อาสาสมัครทำรายงานสามารถให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่ออาสาสมัคร และผู้เข้าร่วม ในบางรุ่นที่อาสาสมัครมีจำนวนมาก มอส.อาจจะจัดเวทีนำเสนอในภาค หรือ เวทีย่อยเฉพาะประเด็นนั้นก่อน เพื่อไม่ให้การนำเสนอใช้เวลาหลายวัน
- การสัมมนาสรุปบทเรียน ๑ ปี อาสาสมัครจะได้แลกเปลี่ยน “งาน ความคิด ชีวิต จิตใจ” ช่วงสุดท้าย เป็นการสรุปการเปลี่ยนแปลงของตนเอง โดยทบทวนจากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ ๑ ปี(เปิดหัวใจ ที่อาสาสมัครเขียนไว้ในช่วงปฐมนิเทศ) อนาคต และ การสานสัมพันธ์ ช่วยเหลือกันในงานสิทธิมนุษยชนต่อไป
จะเห็นได้ว่าในการการออกแบบเสริมการเรียนรู้ให้อาสาสมัคร มอส.จะพยายามให้มีความผสมผสานกันในเรื่อง สมอง หัวใจ การปฏิบัติ Head Heart Hand โดยเฉพาะในเรื่อง สมอง และ หัวใจ เพราะการลงมือปฏิบัติจริงๆคือ การกลับไปปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งในองค์กรซึ่งจะทำให้เกิดทักษะในการทำงานเฉพาะขึ้น เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการสัมมนาทุกครั้ง คือการสร้างมิตรภาพ การสร้างกัลยาณมิตร ซึ่งจะต้องสร้างให้ได้ในช่วงของการปฐมนิเทศ จากนั้นมิตรภาพจะดำเนินไปเองโดยอาสาสมัคร ทั้งในช่วงการสัมมนาครบการปฏิบัติงาน ๔ เดือน ๘ เดือน ๑ ปี รวมทั้งในช่วงการทำงาน โดยตลอดวาระอาสาสมัคร หลังวาระ และเป็นเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์ ไปตลอดชีวิต
ทุกการเรียนรู้จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ และ พลังในการทำงาน เพื่อคุ้มกันให้อาสาสมัครทำงานอย่างมีสติ มุ่งมั่น อดทน สู้งานหนัก เพราะการทำงานแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิฯ มักมีความกดดันสูงจากงานที่มากมาย จากกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วย หากจิตใจไม่มั่นคง โอกาสที่จะท้อถอยหมดกำลังใจจะเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเมื่ออาสาสมัครมีความเข้มแข็งทางจิตใจแล้วการทำงานย่อมเกิดผลที่ดีตามมาแน่นอน เมื่อครบวาระการทำงาน ๑ ปี อาสาสมัครจำนวนประมาณ หรือ มากกว่า ครึ่งหนึ่งทำงานต่อเนื่องเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้น เพราะองค์กรก็ต้องการคนทำงานที่มุ่งมั่น เข้าใจงาน ทำงานต่อเนื่องทั้งสิ้น อดีตอาสาสมัครหลายคนก็เป็นกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับองค์กรในระยะต่อมา