เรื่อง : วัชรพล นาคเกษม
—————————————

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีเวลามากน้อยขนาดไหน คุณก็เป็นอาสาสมัคร(เพื่อสังคม)ได้”

กว่า 38 ปีบนเส้นทางสร้างสรรค์สังคมของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือที่ใครต่อใครเรียกกันติดปากว่า “มอส.” ได้ส่งเสริมและให้โอกาสแก่คนหนุ่มสาวที่ประสงค์จะเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม และสร้างอาสาสมัครและนักพัฒนาสังคมในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2523-ปัจจุบัน  ออกคืนสู่สังคมเป็นจำนวนกว่า 1,000 คน และเกินกว่าครึ่งยังคงทำงานทางสังคมในรูปแบบต่างๆ อยู่ทุกซอกมุมเมืองของสังคมไทย

ภารกิจ ”สานศรัทธา สร้างสังคม” ของ มอส. ได้สร้างอาสาสมัครเพื่อสังคมอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยอุทิศชีวิตกับเวลาให้สังคมเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่ในความเป็น”อาสาสมัคร” นั้นไม่จำเป็นต้องลงแรงกายและเวลามากมายมหาศาลก็ได้ และไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีสถานะทางสังคมแบบไหน ประกอบอาชีพอะไร ขอแค่มีจิตใจอาสาเพื่อส่วนรวมและมีเวลาน้อยนิดในแต่ละวันเพียงพอให้ได้ลงมือหยิบจับการเป็นอาสาสมัครในวันหยุดสุดสัปดาห์สักหนึ่งวันต่อสัปดาห์ คุณก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจิตอาสาที่มีชื่อเรียกว่า”พลเมืองอาสา”

“โครงการพลเมืองอาสา มอส.” เปิดพื้นที่และโอกาสให้บุคคลทั่วไปในสังคมที่มีจิตใจต้องการทำงานเพื่อสังคม ให้ได้ใช้เวลาช่วงสั้นๆ อาจจะ 1 อาทิตย์  5 วัน 3 วัน 1 วัน หรือจะแค่เพียงครึ่งวัน สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ของโครงการพลเมืองอาสาได้ โดย มอส. จะมีบทบาทในการประสานพื้นที่ จัดเตรียมกิจกรรม เพื่อให้อาสาสมัครที่มี “จิตอาสา” สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ แบ่งปัน และช่วยเหลือสังคมได้อย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเมื่ออาสาสมัครเดินทางมาถึงสถานที่จัดกิจกรรมก็สามารถทำกิจกรรมได้เลยทันที

กิจกรรมหลากหลายแบบที่โครงการพลเมืองอาสาจัดขึ้นสลับสับเปลี่ยนกันในทุกๆวันเสาร์-อาทิตย์ เช่น กิจกรรมอาสาสร้างสื่อการเรียนรู้บนผืนผ้า อาสาผลิตดินกระดาษรีไซเคิล อาสาทำเข็มกลัดแบ่งปันเพื่อเด็กและสตรี อาสาแต่งโอ่งจิ๋วน้ำใจช่วยภัยพิบัติ อาสาเขียนศิลป์บนเสื้อเพื่อผู้ป่วยเรื้อรัง หมอนหนุนอุ่นรัก อาสาลงลายกระเป๋าผ้าเพื่องานพัฒนาเด็ก ฯลฯ

หากมองอย่างตัดสินในทันทีอาจดูเหมือนว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมประดิษฐ์ประดอยที่ใช้เพียงฝีมือเท่านั้น แต่หากมองให้ลึกแล้วจะเห็นว่าทุกกิจกรรมล้วนมี ”นัยทางสังคมแอบแฝงซ่อนอยู่” เช่น “สื่อการเรียนรู้จากผืนผ้า” สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนการสอนของเด็กได้จริงเช่น หมวดหมู่คำศัพท์ภาษาอังกฤษ สามารถเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนให้เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น เข้าถึงกลุ่มเด็กเล็ก โดยจะส่งต่อให้พื้นที่ชุมชนด้อยโอกาสในกรุงเทพฯและในพื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัด “ดินกระดาษรีไซเคิล”  ที่ได้จากการนำกระดาษที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นดินกระดาษ เพื่อพัฒนาทักษะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ และประดิษฐ์ชิ้นงานเพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพได้ต่อไป อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “แต่งโอ่งจิ๋วน้ำใจช่วยภัยพิบัติ” ที่เป็นการเรียนรู้เรื่องการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ และหนุนเสริมการทำงานของอาสาสมัครภาคประชาชนในการช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน การแบ่งปันการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงผ่านการทำเข็มกลัด การทำหมอนหนุนสำหรับเด็กเพื่อส่งมอบให้กับศูนย์เด็กเล็กที่ขาดแคลน   นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม อาสาน้ำใจระดมเหล่าพลเมืองอาสามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่าน “กิจกรรมอาสาแยกยาบริจาค” เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล นี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ ”พลเมืองอาสา” สามารถช่วยกันทำได้อย่างเต็มที่เต็มความสามารถ ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งวัน ที่สามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างทางสังคมได้อย่างต่อเนื่องเหมือนอาสาสมัครเต็มเวลา

อารีย์ อาภารณ์ ผู้ประสานงานฝ่ายพลเมืองอาสา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เล่าว่า ”กิจกรรมของพลเมืองอาสาเป็นเหมือนกับกิจกรรมจิตอาสาที่ใช้เวลาไม่มาก แต่สามารถทำได้เรื่อยๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นส่งผลทั้งจิตใจเพื่อสังคม ฝึกทั้งความอดทน ฝึกฝนทักษะชีวิต พัฒนาตัวเองไปพร้อมกับการพัฒนาสังคม ทุกกิจกรรมมีนัยแทบทั้งหมดนอกจากจะได้ลงแรงอาสาแล้ว ยังได้เรียนรู้ไปกับสิ่งที่ทำให้กับสังคมอีกด้วย”

“กิจกรรมพลเมืองอาสามีผู้ที่สนใจเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ถึงวัน ใครมีเวลาว่างแล้วอยากมอบสิ่งดีๆ ให้สังคมก็มาเข้าร่วม ที่นี่มีคนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมทุกเพศทุกวัย บ้างก็มาเป็นกลุ่มเพื่อน มาเป็นคู่รัก มาเป็นครอบครัว เป็นกิจกรรมเชิงกว้าง เป็นกระแส เปิดรับทุกคนที่สนใจ แต่ละปีกิจกรรมของพลเมืองอาสาได้เปิดพื้นที่ให้กับคนที่สนใจมากถึง 4,000-5,000 คนต่อปี”

นอกจากกิจกรรมที่สามารถทำได้ภายในเวลาสั้นๆ แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดรับอาสาสมัครที่อยากมีโอกาสลองไปเปิดประสบการณ์ ใหม่ ไปเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล ไปใช้ชีวิตในแบบที่ไม่เคยได้สัมผัสจากในเมืองใหญ่ ผ่านการเป็น “ครูอาสาสอนเด็กๆ ปาเกอญอ”  ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจนถึงระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เน้นการสอนแบบตัวต่อตัวและแบบกลุ่ม เพื่อให้เด็กชนเผ่าอ่านออก เขียนได้ มีความรู้พื้นฐาน

การสมัครเข้าร่วมโครงการ ”ครูอาสา” นั้นทำได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นคนที่อยู่ง่ายกินง่าย พักกับชาวบ้านในชุมชนได้และมีมนุษยสัมพันธ์ดีมีความอดทน  ถ้าคุณผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ได้ คุณก็สามารถไปเป็นครูอาสาได้แล้ว  โดยสามารถเลือกเข้าร่วมได้อย่างเสรีตามความพร้อมของระยะและจังหวะเวลา เช่น หนึ่งหรือสองสัปดาห์ หนึ่งเดือนหรืออย่างมากหกเดือน

“มีคนสนใจเข้าร่วมไปเป็นครูอาสาอยู่ต่อเนื่องตลอด ทั้งปี  ใครมีความพร้อมหรือมีความรู้ด้านไหนก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หลังจากจบกิจกรรมครูอาสาไปแล้ว ยังได้มีการจัดกิจกรรมระดมทุนซื้อข้าวของและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อส่งต่อไปให้ชุมชนอีกด้วย นี่คือเป็นความสัมพันธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการครูอาสา”

“พื้นที่ที่เปิดรับครูอาสา ณ ตอนนี้มี  2 พื้นที่ด้วยกัน คือชุมชนปากาเกอญอ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ใครสนใจก็สามารถส่งอีเมล์เพื่อขอรับใบสมัครได้ที www.thaivolunteer.org   หรือ inbox มาที่เฟสบุ๊คเพจ Facebook  volunteerservice@gmail.com  โดยระบุว่าสนใจพื้นที่ไหน สะเมิง หรือเวียงป่าเป้า”

*ตัวอย่างโปสเตอร์รับสมัครครูอาสา

จะเห็นได้ว่าคนที่มีใจอยากทำงานเพื่อสังคมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องอุทิศกายและใจเต็มเวลา ชีวิตแบบคนทำงานสังคมก็ได้ แต่เพียงแค่เวลาอันน้อยที่ทุกคนมี ไม่ว่าจะครึ่งวัน หนึ่งวัน หนึ่งอาทิตย์ หนึ่งเดือนหรือหกเดือน ก็สามารถทำงาน”อาสาสมัคร”ได้เหมือนกัน และไม่ว่าอาชีพไหน สถานะใด วัยใด เราก็มีส่วนร่วมในการ “สานศรัทธาสร้างสังคม” ได้ ทั้งนี้เพื่อยกระดับทั้งความคิดความอ่าน เข้าใจสังคม เชื่อมร้อยตัวเองเข้าสู่งานอาสาสมัครเพื่อสังคมได้ตามสมควร 

“คิดถึงงานอาสาสมัคร นึกถึง มอส.

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai