beige-wall-frame-backgrounds-powerpoint

การแสดงออกเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร และการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนนับวันยิ่งจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดทางความรู้ ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาล รวมทั้งได้สะท้อนให้เห็นว่าคำสั่งของท่านผู้นำ “คิดได้ แต่ห้ามแสดงออก” ประชาชนไม่สามารถปฏิบัติตามได้

ในภาวะที่บ้านเมืองติดอยู่ในกับดักการปฏิรูปประเทศ สิ่งที่พบคือ รัฐบาล กลุ่มทุน นักธุรกิจ กลับอาศัยสถานการณ์การปฏิรูป “ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจกลุ่มทุน และชนชั้นนำ” แต่ในส่วนของภาคประชาชนที่ถูกชี้นำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ องค์กรอิสระ หรือปัญญาชนอิสระ ได้เข้าไปสนับสนุนการรัฐประหารโดยมองว่านี่คือสภาวการณ์ที่เป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” แทนที่จะสร้างขบวนประชาชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นพลังตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจของชนชั้นนำ แต่กลับเลือกใช้วิธีสยบยอมด้วยการกวาดต้อนประชาชนบางส่วน เข้าร่วมเวทีปฏิรูป เพื่อผลิตข้อเสนอและส่งข้อเสนอต่อองค์กรตามกลไกปฏิรูปของรัฐบาล

ถ้าเราได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ จะเข้าใจได้ว่าไม่มีกลไกใดๆ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวรองรับและเป็นหลักประกันได้ว่าความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคประชาชนจะถูกนำไปสู่การปฏิรูป และแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น การปฏิรูปจึงเป็นประเพณีตามเทศกาลของ “นักทำข้อเสนอ” บนวาทกรรม “ปัญหาชาวบ้านรอไม่ได้”

การล้มระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อหวังว่าอำนาจพิเศษและมือที่มองไม่เห็นจะสามารถมาสร้างกลไก กติกา และรูปแบบการปกครองที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย แต่เราต้องสูญเสียประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งและ “ขบวนการประชาชนถูกทำลายจนย่อยยับ” รวมทั้งยังทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระดับส่วนบุคคล เพราะห้ามการแสดงออกใด ๆ ที่ขัดต่อคำสั่ง ประกาศ ของท่านผู้นำ เช่น ห้ามการชุมนุม ห้ามประชุม ห้ามสัมมนาทางวิชาการ แม้กระทั่งปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา ข้าว ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ห้ามมีการชุมนุมเรียกร้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น

การปฏิรูปและการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกลไกที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกบังคับให้ประชาชนต้อง “เงียบและห้ามคิดต่าง” ไปจากแนวทางที่ผู้มีอำนาจวางเอาไว้ พวกเราเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่ประชาชนจะยอมรับได้ เราเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศ ประชาชนทุกกลุ่มต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และต้องมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย

การปฏิรูประเทศในครั้งนี้ ประชาชนต้องไม่เป็นเพียงเบี้ยบนเกมส์แห่งอำนาจของชนชั้นนำและกลุ่มทุน โดยผู้มีอำนาจเป็นผู้ควบคุมการเล่นเกมส์และพร้อมที่จะล้มกระดานถ้าไม่พอใจ เราเชื่อว่าความขัดแย้งจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าแนวทางการปฏิรูปยังไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น เราจึงมีข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจดังนี้

๑. ให้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ภายใน ๓ เดือน โดยในระหว่างนี้ให้นำรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ ขึ้นมาใช้เป็นการชั่วคราว

๒. ให้ยุบกลไกจากการรัฐประหาร ให้รัฐบาลรักษาการจากคนนอกที่ไม่เป็นทั้งนักการเมือง
ไม่เป็นข้าราชการประจำ โดยให้เลือกมาจากตัวแทนประชาชนมาทำหน้าที่

๓. รัฐบาลรักษาการมีหน้าที่เพียงดูแลและจัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ยุติไว้ก่อน

๔. หลังจากได้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาที่ได้จากการเลือกตั้งแล้ว ให้ตั้งกลไกในการปฏิรูป และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี

๕. หลังจากได้รัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ทันที

ทั้งนี้ ด้วยข้อเสนอตามแนวทางนี้ถึงจะเป็นหลักประกันที่ชัดเจนว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กฎอัยการศึกที่กดหัวเราเอาไว้

ด้วยความเคารพ
๑๒ องค์กรภาคประชาชนอีสาน
๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai