อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 15 วันนี้ แอดมินนำเรื่องราวของนักสิทธิรุ่นใหม่ไฟแรงอีกคนหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จากจังหวัดปัตตานี ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงมากเป็นพิเศษ

TVS: ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยค่ะ ว่าเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน
เป็ง: ชื่ออารีเพ็น ดือรามัง ชื่อเล่นชื่อเป็ง เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 15
ทำงานอยู่ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี
มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายจากผู้ที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายแก่ผู้ที่มาร้องเรียน
โดยหลักๆ ก็จะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คืองานในออฟฟิศ เป็นพวกงานรับเรื่อง กับงานลงพื้นที่
อบรมเพื่อสร้างสัมพันธ์กับคนในชุมชน

TVS: ที่เราบอกว่าลงพื้นที่อบรม ส่วนมากเป็นเรื่องอะไรบ้างคะ
เป็ง: คนในพื้นที่ที่เค้าเจอปัญหาจริงๆ ส่วนมากก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี่แหละ พวกเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จริงๆ เพราะว่าเราทำงานด้านกฎหมายเวลาอบรมก็เลยไปคุยเรื่องนี้กันกับชาวบ้าน

TVS: ตัวอย่างคดีส่วนมากที่ชาวบ้านมาร้องเรียนกัน มักจะมาด้วยเรื่องอะไรคะ
เป็ง: เป็นคดีความมั่นคงซะส่วนใหญ่ พวกคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษทั้งหลาย
แถมคนที่โดนส่วนมากนี่ก็ยังเป็นเยาวชนอยู่

เป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตกอยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับด้านความมั่นคงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่แย่ไปกว่านั้น คือกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงนี่เองที่เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้เจ้าหน้าที่รัฐอาจทำการใดๆ ได้แม้ว่าจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ

TVS: ปัจจุบันศูนย์ทนายความมุสลิมมีเรื่องอะไรที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นพิเศษบ้าง
เป็ง: ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ มีการปิดล้อม วิสามัญ ช่วงนี้ก็เลยต้องติดตามคดีหลังจากที่มีการควบคุมตัวหลังจากเจ้าหน้าที่วิสามัญไปแล้ว ส่วนมากคนที่โดนควบคุมตัวมักจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ยังมีโอกาสประมาณ 50% ที่จะแค่ถูกตั้งว่าเป็นผู้ต้องสงสัยเฉยๆ ซึ่งตามกฎหมายพิเศษส่วนมากผู้ต้องสงสัยก็มักจะดำเนินคดีอยู่ดี

ประเด็นใหญ่ๆ นอกจากนี้ คือ การปิดล้อมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผมมองว่ามันยังไม่เหมาะสมที่จะไปควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ทั้งๆ ที่บอกให้ชาวบ้านอยู่แต่ในบ้าน แต่ตัวเจ้าหน้าที่เองไปรวมตัวกันหลายคนเพื่อปิดล้อมผู้ต้องสงสัยแค่คนเดียว ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกับการพยายามบอกให้ประชาชนอยู่นิ่งๆ ทาง UN เองก็มีการประกาศขอให้เจ้าหน้าที่ลดการดำเนินการทางทหารลงก่อน แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ฟัง

TVS: จากปัญหาที่เล่ามาศูนย์ทนายความมุสลิมมีการช่วยเหลือหรือแก้ไขสถานการณ์นั้นยังไงบ้างคะ
เป็ง: ก็นอกจากจะให้คำปรึกษา คอยช่วยเหลือด้านคดีความซึ่งเป็นการทำงานในเชิงรับ เราก็มีการรณรงค์ในพื้นที่ให้คนในชุมชนเค้าเกิดความตระหนักในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการไลฟ์สดเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจบ้าง ประมาณนั้น

TVS: ทราบกันดีว่าเราเพิ่งมีเหตุการณ์สะเทือนใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังจนทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต ที่เรียกว่าเป็นการซ้อมทรมาน เป็งมีมุมมองต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง
เป็ง: เวลาซ้อมทรมานเรารู้กันดีว่าเรื่องแบบนี้มีอยู่จริง แต่เราไม่มีหลักฐานอะไรไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนมากผู้ต้องหาโดนจับก็เอาไปอยู่ที่ค่ายทหารแค่คนเดียว เราก็ได้ยินแค่ประโยคบอกเล่าจากญาติของเค้าที่มาร้องเรียน บางเคสก็ถูกทำร้าย ถูกบังคับให้ยืนทั้งคืน เรียกตัวไปสอบปากคำตอนตี 2 – 3 บังคับให้อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ

เกือบทุกเคสที่ได้รับเรื่องแต่เราก็ต้องขอให้ญาติไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งแต่รับเรื่องมาผมก็ยังไม่เห็นที่คณะกรรมการฯ ยอมรับเลยว่าผู้ต้องหาถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่จริง ถ้าจำได้ในอดีตมีเคสที่ผู้ต้องหาถูกจับไปอยู่ในค่าย ทางการบอกว่าลื่นล้มหัวฟาดฟื้นในห้องน้ำ ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล กล้องวงจรปิดก็เสียตามสเต็ป
โดยที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร สิ่งที่ยากคือ พอทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของทหาร
ทางศูนย์ทนายฯ ก็ไม่มีอำนาจจะไปตรวจสอบตรงนี้

TVS: เราอยากบอกอะไรกับคนที่ชาชินกับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่
เป็ง: ชาวบ้านอยู่กับกฎหมายพิเศษมา 7 ปี ความเคยชินคงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ย่อมมีความอึดอัดใจ เพราะคนในพื้นที่ตื่นมาแต่ละวันแล้วก็ยังต้องเจอกับการบังคับใช้กฎหมายแบบเดิมๆ แต่เยาวชนรุ่นหลังก็เริ่มมีความตระหนักขึ้นมามากแล้ว

TVS: สุดท้ายนี้ เรามีอะไรอยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ใช้อำนาจไม่ชอบเสียเองไหม
เป็ง: ผมก็อยากฝากไว้ว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจ ควรตระหนักถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ด้วย
อย่าใช้อำนาจเพื่อหาแต่ผลประโยชน์ หรือใช้อำนาจแค่เพื่อความสะใจ
แล้วก็ควรยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แล้ว
เพราะประชาชนในพื้นที่ที่นี่แทบจะไม่เคยได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตตามปกติเลย เราเจอแต่การอยู่กับกฎหมายความมั่นคงมาตลอดแม้รัฐบาลเองจะยังไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่าปัตตานีเป็นพื้นที่สงคราม แล้วมีความจำเป็นอะไรที่ยังคงต้องบังคับใช้อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ?

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai