เขียน–กิตติพงศ์ พงษ์คะเชนทร์
อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 / เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เวที “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 จัดขึ้น ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เป็นกิจกรรมที่มีขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการและประชาชน เพื่อเรียกร้องให้เกิดกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่โปร่งใสและชอบธรรม โดยเรียกร้องให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน สามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติได้อย่างเสรี และได้รับรู้ถึงการดำเนินการของรัฐบาลต่อไปหากประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นี้ ความน่าสนใจของการจัดงานครั้งนี้มีหลายส่วน ซึ่งจะไล่เรียงตามลำดับ
พื้นที่ในงานถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่หนึ่ง เป็นโซนภายในห้องประชุม ที่จัดไว้สำหรับการแสดงความคิดเห็นและการอ่านแถลงการณ์ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การแถลงการณ์แบ่งเป็น 2 รอบ คือรอบสื่อมวลชน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. จัดขึ้น ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ และรอบบ่าย เวลาประมาณ 13.00 น. จัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) ซึ่งเป็นรอบที่เปิดให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับฟังการแสดงความเห็นและการอ่านแถลงการณ์ และ ส่วนที่สอง เป็นโซนภายนอกห้องประชุมที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญกินได้” ซึ่งถูกจัดไว้บริเวณรอบหอประชุม เป็นโซนที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานแต่ละเครือข่ายได้มีการออกร้านเพื่อแสดงพลังร่วมกัน
กิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมจุดยืนประเด็นต่างๆของเครือข่ายนั้นๆ ให้ได้แสดงออก เช่น กิจกรรม “กำแพงรัฐธรรมนูญ” ของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw) ที่ได้นำเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาจัดแสดงบนแผ่นป้ายขนาดใหญ่เรียงต่อกันยาวเกือบหนึ่งร้อยเมตร เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นผ่านกระดาษโน้ตและสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก กิจกรรม “การเมืองครั้งแรก” ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ที่มีสิทธิลงประชามติเป็นครั้งแรก กิจกรรม “ตลาดสีเขียว” ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นการออกร้านขายผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางธรรมชาติและความมั่นคงทางของฐานทรัพยากรอาหารในประเทศไทย เป็นต้น
ส่วนของเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีหลายประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการนำมาวิเคราะห์และตีความให้ชัดเจนก่อนการลงประชามติ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “สิทธิของประชาชน” ซึ่งหนึ่งในสิทธิเหล่านั้น คือ “สิทธิชุมชนและสิทธิของเกษตรกร” ซึ่งประเด็นนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้ทำตารางเปรียบเทียบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้เห็นความเหมือนหรือความแตกต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง “สิทธิชุมชน” ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในส่วนที่ 12 ของหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ได้กำหนดว่า กิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะทำไม่ได้นอกจาก 1) จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 2) รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และ 3) ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ตัดการให้ความเห็นขององค์การอิสระตามข้อ 3) ออก และกำหนดให้การดำเนินการดังกล่าวอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ การยับยั้งกิจกรรมที่กระทบต่อชุมชนจึงขึ้นอยู่กับรัฐที่จะเล็งเห็นถึงความเสียหายและจัดการ
ในประเด็นของ “สิทธิเกษตรกร” นั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินี้ ไม่ได้มีการบัญญัติสิทธิส่วนนี้ไว้ ทั้งที่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในไทยมีจำนวนมากและเกษตรกรรมเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่เกษตรกรยังคงไม่มีการรับรองคุ้มครองสิทธิต่างๆที่จำเป็นในการทำเกษตรกรรมเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น มาตรา 72 (3) “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” หรือ มาตรา 73 “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกิน โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” จากเนื้อหาบทบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐพึงกระทำซึ่งไม่ได้กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพียงพอในการดำเนินนโยบายตามหลักการดังกล่าว นี่คือตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนเท่านั้น ที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ถกเถียง หรือเคราะห์ให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
—————————————————
(ติดตามอ่านตอนจบ พรุ่งนี้)