โครงการอาสาคืนถิ่นช่วยคลายความลังเลในตัวของเรา ทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น รู้ว่าทำอะไรเพื่อใคร

อาสาเล่าเรื่องครั้งนี้ แอดมินพร้อมที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจากกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) “ปลา-ปาริฉัตร ดอกแก้ว” อาสาคืนถิ่นรุ่น 4
ผู้ที่ต้องทำงานอยู่ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของ “โคก-หนอง-นา โมเดล” ในโลกโซเชียลมีเดีย

ปลาเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันในชุมชนของเธอได้มีการเริ่มต้นทำธุรกิจแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงทดลองทำกับเพื่อนๆ และมีแผนจะทดลองขายทางออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากจำนวนน้อยๆ ราว 150 กิโลกรัมก่อน ถือเป็นงานเสริมที่ฟังดูน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

และเมื่อพูดถึงภารกิจหลักที่ปลากำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เธอเริ่มค่อยๆ อธิบายเรื่อง “โคก-หนอง-นา โมเดล” ให้แอดมินฟัง ด้วยความใจเย็น

“โคก-หนอง-นา โมเดล เนี่ยมันก็เป็นโครงการหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับการจัดสรร และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ที่มีทั้งน้ำ นา ป่า พูดง่ายๆ ว่าเป็นการจัดการพื้นที่หนึ่งให้มีน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่พช.ได้ดึงเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงโควิด”

“ที่ปลาอยากมาทำโคก-หนอง-นา โมเดลนี่เพราะว่าเรารู้สึกว่าอยากสร้างเครือข่ายในพื้นที่ในระดับอำเภอ จริงๆ ตอนเรากลับมาอยู่บ้านเรายังไม่รู้จักใครในองค์กรรัฐเลย” ปลาบอกเล่าความเป็นมาของการได้เข้าไปเป็นลูกจ้างพช.ให้แอดมินฟังแบบที่เข้าใจได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากในโลกโซเชียลมีเดียถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณในการขุดบ่อ รวมไปถึงการจัดสรรเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ ปลาเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ทั้งในสองแง่มุม..

“ถ้าให้พูดถึงความสำเร็จของโครงการนี้ เจ้าของที่ดินที่เค้ารู้สึกสนใจในโครงการและอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยจัดสรรพื้นที่ของเค้า ปลาว่าเอาจริงๆ เค้าก็ได้รับประโยชน์ในแง่งบประมาณสนับสนุนเป็นค่าขุดบ่อน้ำ ตอนนี้ที่โครงการของปลามีโมเดลแค่ 1 ไร่ แต่ก็เริ่มมีการปรับไป 3 ไร่ งบประมาณในส่วนที่ 2 จึงจะเป็นงบประมาณในการซื้อพันธุ์ไม้ กล้าไม้ ที่พช.จะช่วยสนับสนุนตามที่ครัวเรือนขอได้ แค่มีที่ดินและมีเอกสารสิทธิ์”

“แต่พูดตรงๆ ก็มีบางมุมที่รู้สึกขัดความรู้สึกเราบ้าง เช่น เจ้าของพื้นที่เค้าควรได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้สอยได้มากกว่านี้ตามบริบทของพื้นที่นั้น ซึ่งบางทีการขุดตามแบบมาตรฐานจากหน่วยงานมันก็อาจจะใช้งานไม่ได้จริงกับในบางพื้นที่”

“ไหนจะปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมเพราะอำเภอโขงเจียมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ติดเขตอุทยานและเขตป่าสงวน ตัวเราเองก็อยากเข้าร่วมโครงการนี้แต่บ้านเราไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะดันอยู่เขตป่าสงวน เราก็เลยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพช.ด้วยการเป็นลูกจ้างแทน(ฮา) แต่ก็รู้สึกว่าคนในท้องที่เองก็น่าจะมีโอกาสได้มากกว่านี้”

ชวนติดตามเรื่องราวของ “ปลา-ปาริฉัตร ดอกแก้ว” ครั้งเมื่อเป็นอาสาคืนถิ่น รุ่น 4 กันค่ะ

__________________________________________________

บันดาลใจ บันดาลเรา

อยากกลับบ้านเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่เรามี ถ้าเราได้สร้างอะไรให้กับครอบครัวและทำมันสำเร็จ เมื่อพี่ ๆ กลับมาที่บ้าน สิ่งที่เราทำนี่ล่ะ จะเป็นรากฐานให้เขาได้เดินต่อไปไม่ต้องกลับมาเริ่มทุกอย่างใหม่ด้วยตัวเอง

ปลาเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจในการกลับบ้านของเธอ เพราะสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ก็เพื่อรอคอยให้ทุกคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

โครงการอาสาคืนถิ่นช่วยคลายความลังเลในตัวของเรา ทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น รู้ว่าทำอะไรเพื่อใคร 

ความรักในการเดินทาง ได้สร้างความสุขให้กับปลา  จากการทำความรู้จักเรื่องราวระหว่างทาง เธอเป็นนักสำรวจที่ชอบเสาะแสวงหาคุณค่าของทุกที่ทุกถิ่นที่เธอมีโอกาสได้ไปเยือน การมองเห็นคุณค่าของชุมชนจึงเป็นการจุดประกายให้เธอได้ค้นพบตัวตนของตัวเอง

ความเป็นไปของชีวิตและโครงสร้างทางสังคมที่ปลาต้องเผชิญไม่ต่างอะไรจากใครหลายๆ คน เพราะเธอต้องออกจากบ้านเพื่อไปเรียนและไปทำงานด้วยความคาดหวังของครัวครัวเช่นเดียวกัน

การกลับบ้าน คือ โอกาส

“กลับบ้านได้หรือยัง” เป็นคำถามที่ปลาเฝ้าเอ่ยถามแม่ของเธอมาตลอด 9 ปี หลังจากที่เธอได้จากบ้านไปทำงานเป็นวิศวกรรับประกันคุณภาพ อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่ระยอง คำถามสั้น ๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และอบอวลไปด้วยความคิดถึงบ้านเกิด

“ตอนที่เราลาออก เราคิดว่าเราได้กลับบ้านมาอยู่บ้านเร็ว แต่พอมองย้อนกลับไปเราถึงได้รู้ว่าเรากล้าตัดสินใจช้า” ปลาทบทวนถึงอดีตของเธอให้ฟัง ความจริงแล้วปลาก็เป็นเหมือนกับใครหลาย ๆ คนที่รู้จักและเข้าใจตัวตนของตัวเองตั้งแต่เรียนจบ ความฝันของเธอ คือ การนำเอาสิ่งที่เรียกมาใช้ประโยชน์พัฒนาต้นทุนชีวิตที่เธอมีอยู่ให้ดีขึ้น นั้นคือครอบครัวและชุมชนของเธอ ในขณะที่ความคิดของครอบครัวและคนในชุมชนกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง

ปลาได้กลับมาบ้านในปี 2561 ตอนนั้นเธออายุได้ 32 ปี กลับมาพร้อมกับความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม ค่อย ๆ ทำตามความฝัน พัฒนาและต่อยอดพื้นที่ของครอบครัวด้วยตัวของเธอเอง 

“ในช่วงแรก ๆ ที่กลับมาเรารู้สึกว่าคำสบประมาทจากคนในครอบครัวเป็นความท้ายที่ปะปนไปด้วยความห่วงใย” เธอเลาด้วยน้ำเสียงปนยิ้ม ราวกับว่าอุปสรรคคือความงดงามสำหรับเธอ

เห็นคุณค่าของตัวเอง = เห็นคุณค่าของผู้อื่น

การกลับบ้านของปลาไม่ได้มีความหมายแค่ต่อตัวเธอเองและครอบครัว แต่เธอยังได้เติมเต็มความหมายของการกลับบ้านให้กับคนในชุมชนของเธออีกด้วย

“จริง ๆ แล้วชุมชนต้องการคนรุ่นใหม่มาก ๆ ” ปลาย้ำชัดต่อประเด็นนี้ บทบาทของปลาต่อชุมชนนั้น เธอคืออาสา

ผู้เสียสละเวลาว่างเธอจะคลุกคลีกับเด็ก ๆ และผู้สูงอายุคอยให้ความช่วยเหลือในเรื่องเล็กน้อย “เดี๋ยวนี้การเข้าถึงสวัสดิการและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล หลายโครงการต้องดำเนินการผ่านอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เรื่องแค่นี้อาจจะดูเล็กน้อยแต่คนรุ่นใหม่แบบเราสามารถช่วยพวกเขาได้มาก” เธอบอกสำหรับปลาการมองเห็นคุณค่าของตัวเองสำคัญพอๆกับการทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรใกล้ตัว เธอเป็นหัวแรงหลักในการพาผู้สูงอายุในชุมชนร่วมกันเปลี่ยนเม็ดกระบกธรรมดาขยายฐานการแปรรูปกลายเป็นสินค้าของชุมชน หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ สามารถสร้างรายได้และสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุในชุมชนของเธอได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ตัวเอง ครอบครัวและชุมชน การกลับบ้านของปลายังอบอุ่นไปด้วยน้ำใจไมตรีที่เธอได้มอบให้กับคนรอบตัว

เธอรับฟังและสนับสนุนเพื่อน พี่ น้อง ที่มีความฝันด้วยการช่วยเหลือ และมอบโอกาสแม้เพียงเล็กน้อยให้

“ตอนที่เราเริ่มพาคนในชุมชนทำสินค้าเม็ดกระบกขึ้นมาตอนนั้นเราต้องการใครสักคนมาช่วยดูเรื่องการแปรรูปและได้รู้ว่าเพื่อนของเราสนใจเรื่องนี้มาก การได้ชวนเขามาทำในสิ่งที่เขาอยากทำมันรู้สึกดี” ปลาเล่าให้ฟังถึงความสุขเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงคุณค่าของเธอ

ก่อนจะนำคนอื่นได้เราต้องถูกพัฒนาแล้ว

คนเราทุกคนมีความฝัน เช่นเดียวกับปลาที่อยากสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับครอบครัว มีธุรกิจขายสินค้าเป็นของตัวเองในขณะเดียวกันก็สามารถเอื้อประโยชน์ต่อคนในชุมชนได้

“แต่ก่อนที่เราจะนำคนอื่นได้เราต้องถูกพัฒนาแล้ว” ปลาเกริ่นนำถึงประเด็นความรู้ส่วนลึกข้างในใจเห็นตัวเองเป็นอุปสรรค เคยคิดว่าตัวเองเป็นจุดอ่อน ไม่มีความมั่นใจอะไรเลย แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนไปมาก เรากล้าทำกล้าลองทุกอย่างด้วยตัวเองยิ่งได้ทำทุกอย่างที่คิดก็ยิ่งทำให้เราไม่กลัวอะไรแล้ว” เธอเอ่ยถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเธอหลังจากที่เข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น และยังสะท้อนถึงความภาคภูมิใจที่เธอได้ใช้คำว่า ‘อาสาคืนถิ่น’ กับตัวเอง

“โครงการอาสาคืนถิ่นช่วยคลายความลังเลในตัวตนของเรา ทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น รู้ว่าทำอะไรเพื่อใคร” ในฐานะคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ที่ทำงานร่วมกับชุมชนทำให้เธออยากพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจ

“เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการกลับบ้านของเรามันทำให้เราได้เรียนรู้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งใดเป็นเรื่องเลวร้าย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนดีเสมอ” เธอเล่าถึงบทเรียนของการกลับบ้าน

การกลับบ้านของปลาไม่ได้หอมหวานแต่งดงามจากตัวตนที่เธอเป็น เรื่องราวของปลาอาจทำให้ใครหลายคนต้องย้อนกลับมาคิดว่า

จริง ๆ แล้วชุมชนอาจจะไม่ได้ปฏิเสธคนรุ่นใหม่ แต่เพราะโครงสร้างทางสังคมบางอย่างที่ไม่รองรับและไม่เอื้อประโยชน์ในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีให้

นี่จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ชุมชนเลือกที่จะผลักคนรุ่นใหม่ออกไปจากบ้านด้วยความหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปลาเล่าว่าเรอมองว่าตัวเองเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนอะไรหลายอย่าง เรอทั้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่คิดถึงการกลับบ้านว่าถ้าหากตัดสินใจจะกลับแล้วก็ต้องยอมรับกับปัจจุบันให้ได้ “ถามตัวเองให้ได้คำตอบ สร้างเป้าหมายในการกลับมาให้กับตัวเอง”

ปลา-ปาริฉัตร ดอกแก้ว 
อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai