ในฐานะที่ “ธรธรร” มีอาชีพเป็นนักกฎหมาย การที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้เป็นเรื่องที่เขาพอใจมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายกรณีที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย กฎหมายไทยสั่งห้ามไม่ให้คนอาศัยในเขตป่าอุทยาน ศาลพิพากษาโดยใช้เพียงกรอบทางกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านทำได้มีเพียงการแสดงเอกสารบางอย่างที่เป็นหลักฐานว่าพวกเขาอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอุทยาน แต่โชคร้ายที่ชาวบ้านไม่รู้วิธีการแสดงหลักฐานดังกล่าว ทำให้หลายครั้งชาวบ้านต้องเลือกที่จะจำนนต่อข้อกล่าวหาและยอมสารภาพผิดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกจับเข้าคุกหรือเพื่อให้ศาลสั่งปล่อยตัว แต่ในทางกลับกันหากชาวบ้านเลือกที่จะสู้พวกเขาจะต้องถูกจับเข้าคุก เขาเล่าว่า “การที่ศาลตัดสินว่าชาวบ้านผิด ทั้งๆ ที่ผมก็รู้อยู่เต็มอกว่าชาวบ้านไม่ผิด ผมกลับทำอะไรไม่ได้เลย เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้มันทำให้ผมรู้สึกเศร้ามากๆ”
ความสำเร็จหนึ่งที่เขากล่าวถึงคือ กรณีการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อยืนยันสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ของชนเผ่าม้ง เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน โดยทั่วไปแล้วจะพบว่ามีหลายชุมชนที่เป็นชนเผ่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านไว้กับหน่วยงานรัฐ แต่กรณีที่เป็นปัญหาก็คือ มีหมู่บ้านม้งแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้อยู่อาศัยกว่า 400 ชีวิต ได้ทำการขึ้นทะเบียนหมู่บ้านไว้กับหน่วยงานรัฐเมื่อราวๆ 40 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐกลับปฏิเสธการมีอยู่ของหมู่บ้านแห่งนี้ อีกทั้งได้เสนอทางเลือกให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ แม้ชาวบ้านได้พยายามที่จะทำการต่อรองเพื่อให้ได้อยู่อาศัยต่อไปแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อมองหาหนทางแก้ไขปัญหาไม่ได้ จึงได้เข้ามาปรึกษากันเพื่อหาทางออก เขาเล่าว่า “ชาวบ้านได้เข้ามาขอความช่วยเหลือ ในขณะที่ผมกำลังจัดเวทีฝึกอบรมให้กับอีกหนึ่งหมู่บ้านพอดี ผมนั่งคุยกับพวกเขาจนได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านจะยื่นฟ้องรัฐ และหลังจากการดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ศาลก็ได้ตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดี ผมรู้สึกได้ว่าชาวบ้านมีความสุขอย่างมากจากการชนะคดีในครั้งนี้”
ธรธรรมีข้อเสนอต่อโครงการ อส. นักสิทธิ์ว่า มอส. ควรเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์โครงการ ให้นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยได้เข้าถึงข่าวสารของทางโครงการฯ มากขึ้น เขาบอกว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคมเลย ไม่เคยรู้เลยว่ามีโครงการ อส.นักสิทธิ์ ทั้งที่โครงการนี้เป็นโครงการที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เขาบอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปได้ไวมาก คือ เขาเรียนจบกฎหมายตอนอายุ 23 ปี และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาก่อนที่อายุจะขึ้นเลขสาม ซึ่งสามารถตัดสินชีวิตมนุษย์ได้แล้ว ดังนั้น ธรธรรจึงคิดว่าโครงการ อส.นักสิทธิ์ จำเป็นอย่างมากในการหนุนเสริมประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจปัญหาสังคมก่อนการออกไปเผชิญกับชีวิตการงานที่แท้จริง
เขาบอกว่า คนรุ่นเราถือว่าโชคดีที่คนรุ่นก่อนได้สร้างฐาน สร้างทางไว้ให้แล้ว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในการช่วยเหลือคนอื่นเราจึงควรทำ เขาพยายามผลักดันให้เพื่อนหลายคนทำงานด้านการช่วยเหลือสังคม ซึ่งบางคนก็เข้าใจในสิ่งที่เขาสื่อสาร บางคนก็อ้างเรื่องภาระหน้าที่ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนเป็นลำดับแรก แต่เท่าที่สังเกตเขาพบว่า หลังจากที่เขาเหล่านั้นมีฐานะที่ดีพอ เขาก็ยังคงไม่สนใจที่จะทำงานด้านสังคมเช่นเดิม เขามองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เช่นเดียวกับที่เขาลาออกจากงานธนาคารซึ่งได้เงินเดือนค่อนข้างสูง เพื่อมาเป็น อส.นักสิทธิ์ ขณะที่เพื่อนของเขาได้ลาออกจากการทำงานเพื่อสังคม เพื่อเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนด้วยเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและครอบครัว
เขาฝากประเด็นไปถึงคนรุ่นใหม่และเน้นย้ำกับตัวเองเสมอว่า “การหลีกหนีจากความรับผิดชอบต่อครอบครัว มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คุณต้องมีศรัทธาในตัวเอง ต้องศรัทธาในความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในตัวของคุณเอง”
(ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ ของอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนได้ทุกวันจันทร์–ที่นี่)
—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง