เรื่อง-ภาพ : มะรอซาลี คาร์เด​ร์​ –  อาสาสมัครนักสิทธิ์ รุ่น 14 / SDF

ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19​ กำลังระบาด ​ในพื้นที่ห่างไกลชายขอบดชนชายแดนกัมพูชาอย่างจังหวัดตราดตอนนี้แม้ไม่ถือว่าอยู่ในขั้นความรุนแรงมาก แต่ในพื้นที่บ้านสองห้องและระแวกตำบลแหลมกลัด (อำเภอเมือง จังหวัดตราด) ผู้คนดูเงียบลงกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ​ ถนนโล่งให้ความรู้สึกวังเวงอย่างบอกไม่ถูก​ หาดลานทรายถูกปิดตัวลงชั่วคราว​ แต่วิถีชีวิตของคนหาปลากับลำน้ำ กับทะเล​แหลมกลัดก็ยังคงดำเนินต่อไป

วิถีของชาวประมงพื้นบ้านที่แม้จะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก ทำประมงแบบอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งไปด้วยเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกครัวเรือนจะต้องไม่ขาดอาหารบริโภคและทุกครอบครัวต้องมีความมั่นคงทางอาหารทั้งในวันนี้และอนาคต

การเกิดขึ้นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลเกิดขึ้นเพราะว่า คนซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหลักด้วยซ้ำทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลไป และกลุ่มหลักหลักที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลไปก็คือกลุ่มคนที่ทำมาหากินด้วยเรือรุน ซึ่งเป็นเรือประเภทที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร การทำลายล้างเริ่มจากการเริ่มนำเรือเข้ามารุนในคลองประทุนในช่วงเวลาพลบค่ำติดต่อกันหลายวันแล้ว เป็นไปได้ว่าคนจับปลาด้วยเรือรุนเหล่านี้เขาอาจไม่สนใจว่าการทำประมงด้วยวิธีการนี้มันคือการทำลายล้างอย่างไร หลายชีวิตที่ต้องดิ้นรนท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดและถูกทำลายลงไปพร้อมๆกัน​ นั่นหมายถึงมีแนวโน้มว่าอีกหลายครัวเรือนจะขาดอาหารและรายได้ในอนาคตเมื่อทรัพยากรไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธี สัตว์น้ำที่เคยจับได้จำพวก กุ้ง​ หอย​ ปู​ ปลา​  และพืชบางชนิด​ที่สามารถนำมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าสร้างรายได้เข้าครัว เช่น ต้นจาก​ จะต้องไม่หลงเหลือให้นำมาทำประโยชน์ได้อีกต่อไป

ป้าสำราญ อายุ​ 60​ กว่าปี​ ผมหงอกขาวออกแดง​กำลังคัดเลือก​ ตัดและมัดใบจากอ่อน​ เพื่อคลี่ใบออกแล้วตากแดด​ให้แห้งอีก​ 1-2​ วัน​ เข้ากระบวนการลอกและตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ​ บรรจุถุงขายถุงละ​ 5​ บาท​ เป็น​งาน​หารายได้ที่​ทำมานานกว่า​ 10​ ปี​ หลังจากแก่ตัวลง​แกมีรายได้จากอาชีพตัดแต่งใบจากขายวันละ​ 200​ บาท​ ทุกครั้งที่พบเจอ มือป้าสำราญไม่เคยว่างจากใบจากเลย

ผลิตภัณฑ์​ที่ป้าสำราญได้จากใบจากมีสองชนิด​ คือ​ ใบจากสำหรับม้วนกับยาเส้นสูบของนักเลงควัน​ กับหมวกสานแฮนด์เมดปีกกว้างสำห​รับ​คนทำมาหากินกลางแดด​ หมวกนี้เป็นที่ยอมรับ​กันของชาวประมง​ ชาวไร่ชาวสวน เพราะใช้ดีและใช้ทนกันมาแต่อดีต ป้าสำราญแกขายใบละ​ 120 บาท​

ป้าสำราญเล่าว่า​ เมื่อในอดีตนั้นใบจากนั้นจะมีเจ้าของ​ แต่พอมีการประกาศเป็นป่าเศรฐกิจชุมชน​จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ​ทุกคนสามารถ​ใช้ประโยชน์​ได้​ เมื่อผู้คนเริ่มใช้ประโยชน์จากใบจากสูงขึ้น ใบจากที่เคยหาได้ง่ายๆ ก็เริ่มหายาก ส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการเปิดพื้นที่ให้คนต่างถิ่น เช่น จากย่านคลองใหญ่​ เข้ามาตัดไปทำผลิตภัณฑ์​ขายเช่นกัน​

ป้าสำราญคือบุคคลหนึ่งที่ได้ประโยชน์​จากทรัพยากรในคลองประทุน​ แม้แกจะบอกว่าแกไม่ได้ย่ำเดินไปที่คลองประทุน​มา​ 10​ กว่า​ปี​แล้ว​ก็ตาม​ แต่รุ่นลูก(ลูกเขย)ของป้าสำราญก็เป็นรุ่นที่เข้ามาต่อยอดการใช้ประโยชน์และทำมาหากินในพื้นที่ และลูกเขยแกจะเป็นผู้ทำหน้า​ที่​ไปตัดยอดต้นจากมาให้แกแปรรูปเฉลี่ย 5-7 วันตัดครั้งหนึ่ง​ ตัดมาครั้ง​ละ​ 50-70 ยอด​ แปรรูปวันละ​ 10​ ยอด​ ตามแต่ขนาดเล็กหรือใหญ่อีกที

การเข้าถึงทรัพยากรเป็นสิทธิของทุกคน​ทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียม และการดูแลการจัดการทรัพยากร​อย่างยั่งยืน​นั้น​เพื่อใช้ประโยชน์​ได้ตลอดไปก็เป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกคนเช่นกัน​ ทุกชีวิตต้องอาศัยฐาน​ทรัพยากร​ ดังนั้นอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการควรเป็นของชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มที่
……

ท่ามกลางสถานการณ์​ที่ร้อนอย่างร้ายกาจ ผู้คนและชุมชนก็ยังคงต้องดิ้นรนกันต่อไป

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai