งานชิ้นนี้ มอส. จะชวนเพื่อนๆ ไปฟังมุมมอง ความคิดของอาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 15 ท่านหนึ่งที่ได้เข้าไปทำงานในองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

มอส. : เราเริ่มกันที่ให้อุ้มแนะนำตัวก่อนเลย
อุ้ม : ชื่ออุ้มค่ะ “อภิญญา ผดุงโชค” อุ้มจบคณะนิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์และสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มอส. : รู้จักโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร
อุ้ม : รู้จัก “โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน หรือโครงการนักสิทธิฯ” จากอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อนร่วมรุ่น ได้พูดถึงโครงการนี้กันบ่อย เนื่องจากว่าเราได้ศึกษาภาคทฤษฎีมาพอสมควร ประกอบกับการแนะนำจากอาจารย์ประจำวิชาสิทธิมนุษยชนว่า ถ้าเราอยากเรียนรู้ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและรู้ตัวเองว่าเราอินกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากน้อยยังไงให้เราลองสมัครเข้ามาที่โครงการนี้ดู ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้

มอส. : อุ้มมองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไรครับ
อุ้ม : ส่วนตัวเรามองว่า “สิทธิ หรือสิทธิมนุษยชน” คือการที่ให้ความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกันของคนในสังคม การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นและเข้าใจว่ามนุษย์เราทุกคนย่อมมีการคิดต่างหรือมีความสามารถที่แตกต่างกันอยู่เสมอ ฉะนั้นแล้วหากเราเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลักปฏิญญาสากล หรือข้อตกลงใดๆที่มีขึ้นมาทุกคนก็จะเข้าใจและปฏิบัติมันได้ เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่ทุกคนมีเป็นของตัวเองและต่างไม่ต้องไปเดือดร้อนในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น หรือสิทธิในการทำงานทุกคนควรมีสิทธิในการทำงานโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ แต่ควรพิจารณาเรื่องความสามารถในการทำงานนั้นเป็นหลัก

มอส. : มองอย่างไรกับประเด็น “สิทธิความหลากหลายทางเพศ”
อุ้ม :
ประเด็น สิทธิความหลากหลายทางเพศ ยอมรับตามตรงว่าในบางเรื่องเราก็ยังเข้าไม่ถึงหรือยังไม่ก้าวข้าม แต่เรามองว่าเรื่องเพศมันไม่มีกรอบ ทุกคนคือมนุษย์ที่มีความแตกต่างทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือวัฒนธรรม และมนุษย์ต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่ากัน ไม่ควรเอาความแตกต่างนั้นมาแบ่งแยกว่าใครควรได้รับอะไรและไม่ได้รับอะไร ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็แล้วแต่ คุณมีสิทธิที่จะพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดีที่สุด มองข้ามเรื่องเพศให้ความสำคัญกับศักยภาพของบุคคล ถ้าทุกคนเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ถูกบูลลี่ ตีตรา เหยียดเพศ เลือกปฏิบัติ ไปจนถึงใช้ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต (ซึ่งเราเก็บสถิติทุกปี) เราก็จะไม่เห็นภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาเรียกร้อง รณรงค์ หรือออกมาเคมเปนต่างๆมากมาย เพื่อให้สังคมตระหนักรู้และเข้าใจในกลุ่มคนข้ามเพศว่าเขาไม่ได้แตกต่าง เขาไม่ได้ป่วยทางจิตเขาเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีรสนิยมความชอบในแบบของเขาเอง

มอส. : สถานการณ์โควิดระลอกนี้ กระทบกับอุ้มยังไงมั๊ยครับ
อุ้ม : ในปัจจุบัน ส่งผลคือทำงานลำบากมาก เนื่องจากว่าเราต้องลงพื้นที่ในการทำงานประเด็นเรื่อง Gender Recognition ในการประชาสัมพันธ์และตั้งโต๊ะเข้าชื่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ร่วมกับมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาค เมื่อโควิดมาทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแผ่เชื้อ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทน เราจึงต้องงดลงพื้นที่และปรับเปลี่ยนการทำงานโดยการให้ความรู้ผ่านรู้แบบสื่อออนไลน์เป็นหลักและเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่อยู่ตลอดเวลาในช่วงนี้

มอส. : ถามตรงๆเลย TGA คือใครครับ
อุ้ม : TGA  เป็นชื่อเดิมที่เราเรียกกันก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิฯ คือก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อองค์กรว่า “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Transgender Alliance-ThaiTGA ” แล้วเราก็เรียกชื่อองค์กรสั้นๆว่า TGA แล้วก็เรียกๆกันจนติดปาก กระทั่งตอนนี้เราเปลี่ยนเป็น “มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Foundation Transgender Alliance for Human Rights แล้วก็ตาม เราก็ยังเรียกชื่อองค์กรแบบเดิมคือ TGA

TGA เริ่มจากการรวมตัวกันของนักวิชาการและนักกิจกรรมของสาวประเภทสองหรือกะเทย จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ประเด็นสุขภาพ เป็นการทำงานเพื่อเรียกร้อง พิทักษ์สิทธิของคนข้ามเพศ การเข้าถึงสิทธิ ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มคนข้ามเพศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างรอบด้าน ส่วนงานหลักๆที่องค์กรกำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้ก็คือ ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ให้คลอดออกมาเป็นกฎหมายที่ถูกปฏิบัติใช้เพื่อรับรองและคุ้มครองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

มอส. : มุมมองต่อสถานการณ์การแสดงออกของคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์
อุ้ม :
ต้องยอมก่อนว่าประเทศเรายังยึดติดกับกล่องเพศที่เป็นชายหญิงอยู่เห็นได้จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 หรือจะเป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 เรื่องครอบครัว ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ชาย/หญิง” นั้นแสดงว่าถ้าไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นชาย/หญิง เขาก็ใช้ชีวิตลำบากแล้ว ถ้ามีรสนิยมความชอบที่ต่างจากนี้คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะสร้างครอบครัวหรือความมั่นคงให้กับชีวิตคู่ได้ จะเห็นภาพชัดขึ้นถ้าได้ตามข่าวช่วงนี้ กรณีคู่รักหลากหลายทางเพศที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อร้องขอให้ศาลเยาวชนฯ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ม.1448 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรามีโอกาสได้เข้าไปฟังศาลเยาวชนฯ อ่านคำพิพากษาด้วย เรารู้สึกว่าทำไมการใช้ชีวิตคู่กับใครสักคนต้องลำบากขนาดนี้ ซึ่งในบางประเทศเขาไปถึงขั้นให้แต่งงานได้แล้ว คนข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้านามได้แล้ว หรือถือบัตรพลเมือง 2ใบไปแล้ว ซึ่งการที่เขาออกมาเรียกร้องสิทธิ พยายามร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มันไม่แปลกเลย เพราะเขาก็ต้องการหลักประกันในการใช้ชีวิตของเขาในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเหมือนกัน

มอส. : 8 เดือนแล้วเนาะที่อุ้มเข้าร่วมกระบวนการหรือร่วมโครงการฯ มา สิ่งที่อุ้มคิดว่าตัวเองได้รับจากการเข้าร่วมโครงการคืออะไรมั่ง
อุ้ม :
ก่อนหน้านี้เราแค่รู้สึกว่าสนใจกลุ่มความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เราไม่รู้จักมันในเชิงลึกอะไรเลย เรามีแค่คำถามๆๆๆๆๆๆ ว่า “ทำไมเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น” เหมือนว่าที่ผ่านมาเราพยายามที่จะค้นหาคำตอบ แต่มันก็ยังรู้สึกว่าเราเข้าใจกับมันมาก แต่หลังจากที่เรามีโอกาสเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 15

8 เดือนที่ผ่านมา จากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และได้ทำงานกับ TGA เปิดโอกาสและเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดใหม่เยอะมาก เริ่มจากตอนนี้เรามองข้ามความเป็นชายหญิงไปแล้ว (เธอ เขา เรา เท่ากันหมด) หรือแม้แต่การใช้คำนำหน้านาม (นาย, นาง, น.ส.) และมองว่าทุกคนมีรสนิยมความชอบแตกต่างกันออกไป มันเป็นเรื่องแบบนี้เรากำหนดหรือทำกรอบให้ไม่ได้และไม่มีอะไรผิดถูกแต่มันเป็นสิ่งที่เขาจะเลือกเองและมันก็คือสิทธิของเขาคนอื่นจะไปละเมิดไม่ได้

มอส. : พูดอะไรถึงเพื่อนๆที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้บน “พื้นที่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน” หน่อย
อุ้ม :
โครงการอาสาสมัครนักสิทธิเป็นพื้นที่หนึ่งที่ให้เราได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่แค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่มันยังมีอีกหลายประเด็นมากให้เราได้เรียนรู้ อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเรารู้สึกว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนมันเกี่ยวข้องกับเราทุกคน เราก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกแนะนำมาเหมือนกันและอยากจะส่งต่อว่า ถ้าเราอยากรู้ว่าเราอินกับประเด็นสิทธิมนุษยชนขนาดไหนลองสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ดูค่ะ เปิดรับสมัครปีละ 1 รุ่น และรุ่นปัจจุบันคือรุ่น 16 แล้ว ใครพลาดปีนี้ไป ต้องรอปีหน้าค่ะ ส่วนปีนี้อุ้มขอเอาใจเชียร์เพื่อนๆรุ่น 16 ให้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์บน “พื้นที่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน” ให้มากที่สุด ขอให้สนุกกับการทำงานค่ะ สู้ๆนะ

มอส. : วันนี้ถือเป็นวันส่งท้ายของเดือนแห่งการเฉลิมฉลองกลุ่มความหลากหลาย อยากให้อุ้มพูดถึง Pride month หน่อย
อุ้ม :
ก่อนจะพูดถึง Pride month เราอยากพูดถึงวันสำคัญอีกวันหนึ่งของทุกๆปีเช่นกันคือ วัน IDAHOT ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี คือ“วันสากลยุติความรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยุติการกระทำความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศต่อ เลสเบี้ยน เกย์ กะเทย คนข้ามเพศ อินเทอร์เซ็กและบุคคลอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก TGA ถือเป็นว่าองค์กรแรกๆที่นำกิจกรรมนี้เข้ามาจัดในไทยตั้งแต่ปี 2014 และเริ่มมีการจัดตามๆกันมาเรื่อยๆ โดยตีมของปี 2021 นี้ คือ Together : Resisting Supporting Healing”

ทีนี้กลับมาที่ Pride month วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน ซึ่งเดือนนี้ทั้งเดือนเรียกว่า Pride month เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเดือนที่ทุกคนออกมาคัมเอาท์ ออกมาแสดงจุดยืน การมีตัวตน และหนุนเสริมกันและกัน ถ้าถามถึงมุมมองของเราในประเด็นความหลากหลายนะ เราว่าเราไม่ได้มองคนที่ว่าใครเป็นเพศไหน หรือเพศไหนสำคัญหรือเก่งกว่าเพศไหน แต่มองคนที่เขาเป็นคนคนหนึ่ง และไม่ว่าใครจะนิยามตัวตนของตัวเองเป็นแบบไหน อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็คือคนเท่ากัน คือมนุษย์คoหนึ่งที่อยากจะทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองมีความสุข…….อยากบอกว่า เธอ – เขา –  เรา – เท่ากันค่ะ”

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai