“ชาติชาย กุศลมณีเลิศ” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดตาก ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

หลังจากเรียนจบมาในสายการศึกษา และค้นพบว่าการเป็นครูต้องมีจิตวิญญาน พาโกจึงกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับครอบครัว เขามีโอกาสได้สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนใกล้หมู่บ้าน และทำงานพัฒนาชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว  

“พาโก” หลังหยุดบทบาทหน้าที่ครูแล้วกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ทำให้เขามีเวลาให้กับครอบครัว ปลูกกาแฟ ทำผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการทำงานพัฒนาชุมชนมากยิ่งขึ้น ผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกอบต.ตําบล และเป็นหนึ่งคนในกลุ่มเยาวชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในพื้นที่

บรรยากาศในพื้นที่ไร่ในชุมชนที่พาโกอยู่

พอมาอยู่บ้าน เราเจออะไรบ้างที่ชุมชนของเรา? 

พาโก : เจอปัญหาหลายอย่างคือตอนที่เราไม่ได้กลับบ้านจริง ๆ เราก็รู้เลยว่าปัญหาของเรามันมีทั้งเรื่อง อุทยาน ป่าไม้กฎหมาย พอเรากลับมาอยู่จริงแล้ว นอกจากเรื่องข้างนอกแล้วข้างในมันยังมีอีกด้วย อย่างการจัดการชุมชน ก็หนักขึ้น พอเราอยู่ข้างนอกเรากับเพื่อนเชื่อมกับกฎหมาย เราก็ไปร่วมฟัง คิด พอกลับมาพูดให้ชาวบ้านฟังบ้าง มันก็ทํางานอยู่ฝั่งนั้นมันไม่เหนื่อยเหมือนกับเรามาเห็นปัญหา ปัญหาของชุมชนมันก็มีอีกมาก เรารู้สึกว่ามันเหนื่อยมากขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทําอะไรเลย แค่คิด แค่เห็นแล้วว่า เฮ้ย! ทําไมมันบ้านเรามันมีปัญหากันแบบนี้

แต่ทุกคนในชุมชนเขาเข้าใจกัน ความสามัคคีมันมีบ้างไม่มีบ้าง บางช่วงเราต้องการมันไม่มีอยู่ แล้วถามว่ามัน มันไม่สามัคคีเลยก็ไม่ใช่ เวลางาน ทํางาน ถ้าสัก 2-3 เดือน คนจะเยอะแล้วแต่ถ้างานมันต่อเนื่องกัน อันนี้คือเข้าใจแต่มันก็จะค่อยๆลดลง การจัดการเรื่องพืชเชิงเดียวที่เข้ามา ก็มีหลายความคิดเห็น ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนกับฝ่ายหนึ่งไม่เอา มันก็เลยรู้สึกว่าคุยยังไงดี ให้คนกลุ่มนี้ได้ทํางานด้วยกัน ผมไม่อยากให้เขาแบ่งแยก เราจะทํายังไงให้เราทํางานร่วมกับคนกลุ่มนี้ได้ แบบนี้

ตอนนี้พาโกทำอะไรอยู่?

พาโก : สิ่งแรกที่ผมกลับมาทำงานชุมชนตอนที่ยังเรียนอยู่คือทําไร่หมุนเวียน เรื่องสิทธิก็เรียกร้องด้วย เพราะผมคิดว่า ‘ถ้าคนปกาเกอะญอมีไร่หมุนเวียนจะไม่อดตาย’ เพราะว่าไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งอาหารที่สําคัญ แล้วก็มันไม่ได้ทําลายระบบอะไร 

หยอดข้าวไร่
พาโก พาไปชมสวนกาแฟ

‘ส่วนตอนนี้ผมทํากาแฟ’ เพราะว่ากาแฟเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถเห็นได้ในชุมชน แล้วก็สามารถเห็นได้จากข้างนอกหมดเลย เพราะด้วยกระแสกาแฟมันก็มา พื้นที่ของเรามันเหมาะกับการปลูกกาแฟ ผมเลย เอ๊ะ! ทําไมกาแฟข้างนอกมันมีราคา บ้านเรามันยังแห้งอยู่บนต้นไม้เต็มเลย เราจะทํายังไงเพื่อให้สิ่งเหล่านี้มันมีคุณค่า ที่ผมได้บอกไว้ก่อนหน้านี้คือ กาแฟที่นี่มันพร้อมที่จะถูกตัดเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเรามองว่า เฮ้ย! มันมีคุณค่านะ แต่เราจะบอกพี่น้องว่าทําไมไม่ดูแลมันก็ไม่ได้ เพราะเราก็ไม่มีตลาดให้เขา เราจะทํายังไงให้กาแฟมีคุณค่า ให้คนที่มีอยู่แล้วกลับไปดูแล ส่วนคนที่ไม่มีก็อาจจะเพิ่ม แล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มาทดแทนการทำพืชเชิงเดี่ยว เพราะว่าหลายคนที่ไม่อยากทำ ถ้ากาแฟมันสามารถขายได้ ต้นกาแฟก็ร่มเย็นดี เก็บใต้ร่ม คิดว่าน่าจะเป็นอีกทางเลือกอีกอาชีพหนึ่งของคนในชุมชนได้ 

กาแฟของพาโก
ปลูกเอง คั่วเอง กินเอง อร่อยยยย

เพราะว่าอยากมีอันนี้เราบอก “ไม่ปลูกพืชเชิงเดียวได้ไหม?” แล้วให้ทําอะไร? แล้วก็ไม่มีคําตอบให้เขา เราพยายามกัน หรือไม่มีช่องทางอื่นให้เขา สุดท้ายมันก็ไม่ได้เพราะว่าด้วยค่าใช้จ่ายเช่น เรื่องลูก เรื่องต้องออกไปข้างนอก ทุกวันนี้คือค่าใช้จ่ายมันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่มันง่ายที่สุดก็คือปีต่อปีมันขายได้เลย ด้วยกาแฟมันก็นานอย่าง 3-4 ปี เราจะทํายังไงให้มันพอไปได้แบบนี้ พอได้เห็นช่องว่าคนในชุมชนเองก็ไปได้ ‘ผมก็เลยเริ่มที่ตัวเองก่อนถ้าผมได้รับประโยชน์จากกาแฟ ชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากกาแฟ’

อีกบทบาทของตัวเอง คือ เป็นสมาชิก อบต.ตําบล เป็นตัวแทนให้กับชาวบ้านเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน ในการไปพูดคุย อย่างที่บอกคือก่อนหน้านี้เราก็เป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้านในการเรียกร้องสิทธิแล้ว แต่การที่มันไม่มีบทบาทหน้าที่อะไรตรงนั้นเสียงมันก็จะยังไม่ค่อยดังพอ 

เราก็เลยคุยกับเพื่อนด้วยว่ากลุ่มพวกเราทํางานมาจุดนี้มันนานพอสมควรแล้ว แต่ไม่มีคนไปอยู่ตรงนั้น ‘เราอยากให้โครงสร้างท้องถิ่นมีพวกเราด้วยก็เลยหากันว่าใครดี หวยมันก็ออกที่ผม’ จริงๆ เราให้พี่อีกคนหนึ่งได้ แต่พี่เขาอยู่ในช่วงที่รักษาตัวอยู่ยังไม่หายดีช่วงนั้น เพื่อนๆ ทุกคนก็อายุไม่ถึงบางคนก็ไม่ได้เลือก ส.ส. ทุกคนก็ชี้มาที่ผม

กลุ่มเพื่อนที่ช่วยกับขับเคลื่อนคือกลุ่มอะไร ทําอะไร มีบทบาทยังไงบ้าง? 

พาโก : เริ่มจากกลุ่มในหมู่บ้านก่อนแล้วมันก็ขยายกับกลุ่มนอกหมู่บ้าน เราจะมี 2 ตําบล ส่วนใหญ่เราจะติดตามเรื่องปัญหาที่ดิน เรื่องป่าไม้อุทยาน ถามว่าบทบาทในระดับไหน บทบาทก็ไประดับประเทศเป็นตัวแทนของจังหวัด เป็นคณะกรรมการทีม บทบาทของพวกเราก็ระดับประเทศเหมือนกัน ส่วนใหญ่เราขับเคลื่อนในนามชุมชน ในนามกลุ่ม กลุ่มมันยังไม่ค่อยเห็นภาพ มันจะเห็นเป็นชุมชนแต่ทุกครั้งเราก็เรียกตัวเองไว้ “กลุ่มนี้นะ กลุ่มนี้นะ”  ถึงแม้เราไม่ได้ไปในนามกลุ่มเราก็จะยกกลุ่มมาก่อน 

พาโกเล่าเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิและที่ดินทำกันให้พวกเราฟัง

ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องอะไรบ้าง? 

พาโก : หลังๆพื้นที่ทํากินอุทยานพวกนั้นไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ ถ้าระดับประเทศก็คือพวกนโยบายไปขับเคลื่อนกับ P-MOVE (พีมูฟ) 

ถ้าเป็นระดับพื้นที่ที่เห็นได้ชัดก็คือการเจรจากับเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ ยื่นหนังสือบ่อยมากช่วงนั้นต้องไปยื่นหนังสือที่อําเภอ ที่จังหวัด ที่อุทยาน พอเจ้าหน้าที่มาก็ไปพูดไปเจราจาเอาแผ่นที่มากางเชิญเจ้าหน้าที่มาประชุมกับชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นทั่วไปหมดเลยแต่เราทําไปในชื่อกลุ่มในการพูดคุยกันแล้วดึงเพื่อนๆทุกคนไปในนามหมู่บ้านแต่คือ เราใช้ชื่อกลุ่มทําในนามหมู่บ้านจากการเชิญหนังสืออาจจะไม่ได้มาจากกลุ่มเป็นคนทําหนังสือเล่มแรก อย่างเช่นสมมุติว่าถ้าเราจะเชิญเจ้าหน้าที่มา “ปางทอง” ต้องทําในนามปางทองแล้วดึงเพื่อนๆทุกกลุ่มมาในวันนี้เรามีประชุมด้วยเรื่องนี้ 

อยากเห็นชุมชนของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไหน

พาโก : อยากให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ อยากให้ชุมชนป้องกันตัวเองได้ ดูแลจัดการตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องมารับจากข้างบนอย่างเดียว อยากให้ชุมชนมีศักยภาพในการส่งเสียง ได้จัดการตัวเองสามารถอยู่ได้ ไม่ไปยอมรับจากข้างบนมาสนับสนุน

กลุ่มของเยาวชนที่รวมตัวกันทําไมถึงมีการพูดคุยเรื่องสิทธิกันอย่างจริงจัง เพราะอะไรรู้สึกยังไง? 

พาโก : เริ่มจากเรื่องที่เราโดนกดทับมานาน สิ่งที่มันเห็นได้ตอนนั้นก็คือ “เตรียมประกาศอุทยาน” พอเรารู้ว่าพื้นที่เราจะ ถูกประกาศเป็นอุทยานก่อนหน้านั้นมันเคยมีข่าวออกมาเยอะมาก ทั้ง “บางกลอย” ทั้ง “ตากับยายเก็บเห็ด” หรือว่า “โดนยิง” ซึ่งเราได้ติดตามบ้างแล้วเรื่องนี้มันเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานหมดเลย เรามองว่าถ้าพื้นที่เรามันถูกประกาศ ชะตากรรมมันจะต่างอะไรจากพวกเขา พอเราไปสนใจเรื่องอุทยานมันไม่ได้เข้าไปมันก็รวมไปทุกอย่าง ตอนนั้นคือเราก็เห็นทุกอย่างเรื่องสิทธิ เราไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนกับคนข้างนอกมานานแล้ว ทั้งการศึกษา ทั้งสาธารณูปโภค และการบริโภค 

ทั้งที่เราก็อยู่ในจังหวัดที่มีเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดทําไมเราไม่มีไฟฟ้าใช้? เริ่มตั้งคําถามกับพวกนี้ทําไมถนนมันเข้าไม่ถึงสักทีทั้งๆที่คนทุกคนก็รักชีวิตของตัวเอง อยากรักษาที่โรงพยาบาลดีๆเวลาป่วยเราก็อยากไปถึงโรงบาลให้เร็วที่สุด แต่คือเราไม่มีตรงนั้นมันเลยมาเริ่มจากเรื่องลิดรอนสิทธิ เรื่องพื้นที่ทำกิน มันมาเรื่อยๆจนเรารู้สึกว่าผมมองว่าคนรุ่นใหม่เขารู้ตัวแล้ว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่คือยอมได้ก็ยอมไป เขาถูกกดทับมานานจนเขายอมจํานนแต่พวกเราไม่!

พาโกตื่นนอนตอนเช้ามาตักบาตร

มีเรื่องอะไรที่ขับเคลื่อนสำเร็จแล้วบ้าง? 

พาโก : เรื่องพื้นที่ออกจากเขตอุทยาน เพราะเราคิดว่ามันได้ในระดับหนึ่งในระดับพื้นที่ แต่พอหัวหน้าอุทยานคนใหม่มา เราก็ยังไม่สามารถปล่อยได้ต้องติดตามเรื่อยๆ ในระดับพื้นที่หมู่บ้านเราก็ถูกออกจากอุทยานแล้ว ต้องฟังข้างบนจะทําตามในสิ่งที่เราเคยทํากับเมื่อ 2 ปี 3 ปีที่แล้วหรือเปล่า พอมันไม่มีตัวกฎหมายอะไรรองรับว่าชัดเจนแล้วแบบนี้ อันนี้คือเสียงสะท้อนจากชุมชน คือหลังจากที่พวกเรากลับมาทําเรื่องนี้พวกเจ้าหน้าที่เข้ามาวุ่นวายเข้ามานู่นนั่นนี่ก็ไม่ค่อยมีแล้ว 

เมื่อก่อนเวลาจะสร้างบ้านเจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาแล้ว “แลกกับไก่สักตัวไหม?” พอมันมีคนโดนคนนึงเวลาจะทำบ้านก็ต้องไปขออนุญาตก่อน เรื่องอะไรที่เราจะต้องไปขออนุญาต “ถ้าเราไม่สามารถเรา จะยอมนอนอยู่บนพื้นที่ไหม?” ผมพยายามคุยกับชาวบ้านแบบนี้จนทุกวันนี้คือเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาวุ่นวายในเรื่องการสร้างบ้านกันพื้นที่ทํากิน แต่เหมือนกับว่าตอนนี้เขาก็กําลังจ้องเราอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าเราพลาดเมื่อไหร่ก็เสร็จเขาเหมือนกัน 

ถ้าได้ออกไปพูดในพื้นที่สาธารณะ หรือ พูดให้ทุกคนฟัง อยากพูดเรื่องอะไร? 

พาโก : น่าจะเป็นเรื่องสิทธิ เรื่องความเท่าเทียม รู้สึกอินกับความเท่าเทียมมาก อินกับทุกคนด้วย เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้อินขนาดนี้ เมื่อก่อนยอมจำนนว่าเวลาเกิดมาแค่นี้ก็ดีแล้ว แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้วเราควรได้กินสามมื้อไม่ใช่กินมื้อเดียว ทุกคนก็ต้องกินสามมื้อแต่ตอนนี้อาจจะไม่ถึงมื้อด้วยซ้ำ

พาโกฝากกาแฟที่เขาทำเองทุกขั้นตอนไว้ให้พวกเราก่อนกลับ

การทำความเข้าใจกับปัญหาเชิงโครงสร้างในชุมชนสิ่งนี้มันสําคัญยังไง?

พาโก : ผมอยากบอกกับคนในชุมชนคือมันดีแล้วที่คนรุ่นใหม่พวกนี้กลับมาบ้าน อย่างน้อยเขาได้ไปเห็นหลายๆ อย่าง ผมเชื่อหลายคนที่กลับมาอยู่บ้าน คืออยากทําให้หมู่บ้านตัวเองดีขึ้น มันไม่มีใครที่อยู่บ้านแบบไม่ได้คิดอะไรเลย หรือว่าไปเห็นอะไรบางอย่างจากข้างนอก ที่ในชุมชนตัวเองไม่มี ทั้งๆที่มันควรจะมีพอคนกลุ่มนี้มันได้รับการสนับสนุน หรือว่าได้กําลังใจอย่างดีจากในชุมชน ผมว่ามันสามารถไปได้ไกลมากแต่คือปัญหาของคนรุ่นใหม่กลับบ้านคือ ‘จบตั้งสูงกลับมาบ้านทําไม?’ ‘คนนี้เรียนจบจริงไหม?’ ทําไม ที่บ้านอุตส่าห์ ส่งเสีย ส่งเรียน เสียเวลา เสียเงิน 

ทํายังไงดีบางทีคนกลับมาอยู่บ้านมันก็ไม่มีกําลังใจมากพอ ถ้าพูดถึงบทบาทคือคนในกลุ่มอย่างที่ผมได้ไปเห็นเพื่อนๆบางคนนั้นเรียนวิศวะฯ เรียนอะไรเยอะแยะมากมาย สมมุติถ้าคนกลุ่มนี้กลับไปอยู่บ้านหลายๆคน หมู่บ้านของเราเขาเรียกว่าอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือว่ามันจะพัฒนาขนาดไหน คือบางทีในหลายชุมชนก็ยังไม่ให้พื้นที่และไม่ให้โอกาสคนเหล่านี้ 

บรรยากาศของพื้นที่ที่เคยทำไร่หมุนเวียน (ที่พักไว้)

สุดท้ายสําหรับผม อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 ผมก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย ผมไปคุยกับเพื่อนได้ทุกคนหมดเลย ซึ่งเมื่อก่อนพื้นที่แบบนี้ผมหาไม่เจอมันไม่มี จะคุยกับใครมันต้องกังวล “คุยได้หรือเปล่า พอเราไปเจอคนมันมีพื้นที่แบบนี้จริงเหรอ?” ดีมากที่ได้เข้ามาเป็นอาสาคืนถิ่น

ติดตามพาโกได้ที่เพจ  ปอเชอโพ

ฝากติดตามกิจกรรมมันส์ๆอย่าง

Visit and talk to #OurEthnicFriends 

ฝากพวกเราและเพื่อนอาสาทุกคนด้วย … 

#TVS #ReturnHomeland | #มอส #อาสาคืนถิ่น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai