“กิตติพันธ์ กอแก้ว” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนอาสาปกาเกอะญอ
ปัจจุบันพะฉุกลับไปบริหารต้นทุนในพื้นที่ตนเองที่มี จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพของผู้คนในชุมชน และกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชน ร่วมถึงโมเดลการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ ให้สามารถเป็นชุมชนที่ยืนด้วยตัวเองได้
“พะฉุ” กลับมาอยู่ที่ชุมชนบ้านห้วยตองก๊อมาเป็นเวลากว่า 3-4 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2558 หลังจากเรียนจบปริญญามาในสายการศึกษา
วิถีชีวิตของพี่น้องที่นี่เป็นแบบไหนทั้งในชุมชนหรือว่าสังคมยังไงบ้าง?
พะฉุ : ชุมชนห้วยตองก๊อเป็นชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยงสะกอ” หรือว่า “ปกาเกอะญอ” มีการดํารงชีวิตโดยการเอื้ออาศัยกันไม่ว่าจะเป็น เรื่องป่า เรื่องน้ำต่าง ๆ ปกาเกอะญออาศัยธรรมชาติในการหล่อเลี้ยงชีวิต ดังนั้นวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างการทําไร่หมุนเวียน การทําหน้าขั้นบันได มันก็เป็นส่วนดีของเขาในเรื่องของระบบนิเวศ เรื่องสารเคมีที่นี่เขาไม่ได้ใช้เลย เรื่องสุขภาพต่างๆ เรื่องอาหารต่างๆ ที่เขาบริโภค ผมมองว่าสิ่งนี้มันดีต่อตัวชุมชน ส่วน “แล้วดีต่อสังคมยังไง?” วิถีชีวิตตรงนี้ ผมมองว่าดีต่อสังคมเรื่องของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ในเรื่องของการมีที่แตกต่างจากสังคมข้างนอก จะเห็นว่าวิถีชีวิตของปกาเกอะญอมีความสวยงามอยู่ สิ่งนี้อาจจะกระตุ้นเรื่องท่องเที่ยวอะไรเหล่านี้ได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ปกาเกอะญอเป็นคนที่อยู่กับป่า ต้องดูแลป่า คือเขาจะมีคำบอกว่า “ที่ไหนมีป่าที่นั่นมีปกาเกอะญอ ที่ไหนมีปกาเกอะญอที่นั่นมีป่า” แต่ทุกวันนี้ในปัจจุบนมันก็ไม่ใช่แบบนั้นแล้วในบางพื้นที่ ปกาเกอะญอบางที่เปลี่ยนอาชีพตัวเองกลายเป็นนายทุนใหญ่ปลูกข้าวโพด ลงกะหล่ำ เพื่อที่จะหาเงิน มองว่าถ้ายังดํารงชีวิตวิถีเดิมก็จะดีต่อสังคมมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่เรากําลังแก้ไขหรือพัฒนาอยู่ตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง?
พะฉุ : สิ่งที่กำลังแก้ไขในตอนนี้มีเรื่องของอาชีพ คืออาชีพในที่นี่เราไม่ได้มองว่าเราต้องสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นกลางให้สามารถหารายได้แบบมากมายขนาดเดือนละ 10,000 – 20,000 อะไรแบบนี้ แต่ว่าในการมองอาชีพคือเรามองถึงอาชีพที่สามารถรองรับคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้าน ว่าเราสามารถหางานอะไรที่คนรุ่นใหม่สามารถกลับมาปุ๊บทําปั๊บได้ มีค่าตอบแทนมีรายได้เป็นกําลังใจให้เขาอยากอยู่บ้านต่อ อยากพัฒนาสิ่งที่อยู่ในชุมชน
ประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินทํากินหรือว่าประเด็นเรื่องของการสื่อสารเกี่ยวกับการทําไร่หมุนเวียนเราคิดว่ามันเป็นปัญหาไหม?
พะฉุ : เรื่องสิทธิคือเป็นเรื่องที่ผมพูดคุยไม่ไหวแล้ว ก็เลยมามองว่าถ้าอย่างงั้นเราก็มาพัฒนาเรื่ององค์ความรู้ของคนในชุมชน เรื่องการอยู่กับป่าว่าเราจะทํายังไงให้เกิดเป็นสถิติเป็นตัวเลขเป็นรูปเป็นร่างให้แบบมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าป่าที่เราใช้ในปีนี้ ประมาณนี้ เท่านี้ พื้นที่ที่เราใช้มันก็มีพื้นที่ที่เราแบ่งไว้เรียบร้อยแล้วว่ามันมีพื้นที่อะไรบ้าง พื้นที่ที่เราอนุรักษ์เราก็อนุรักษ์ไว้ สิทธิที่เราทํากินก็เป็นสิทธิที่เราทํากินมานานแล้วตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า
“ มองว่าเรื่องการต่อสู้ด้วยสิทธิชุมชนต้องลุกขึ้นมาเองไม่ใช่ลุกขึ้นมตาแล้วก็เรียกร้อง แต่ว่าลุกขึ้นมาแล้วทําอะไรสักอย่างหนึ่งให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ชุมชนหรือว่าห้วยตองก๊อมีอยู่ มีเป็นตัวเลขว่าฉันอยู่มาเป็นร้อยๆปีฉันไม่เคยทําลายป่า ”
ต้องบอกว่าองค์ความรู้ของปกาเกอะญอเขามีอยู่แล้ว แต่ว่าในเชิงของวิทยาศาสตร์เขามาอธิบายไม่ได้ ว่าทําไมฉันถึงปลูกดอกไม้ที่หลากสี ทําไมฉันถึงปลูกพืชพันธุ์ที่หลากหลาย เพราะอะไร? เราก็ต้องอาศัยคนที่เป็นพฤกษศาสตร์มาช่วย อาจารย์ที่อื่นเขามาช่วยในเรื่องของการตรวจมวลดิน ตัวชุมชนต้องทําร่วมกันส่งตัวมวลดิน ถ้าเขาเข้าแล็ปแล้วตรวจ เรื่องการวัดตัวการดูดซึมคาร์บอนของต้นไม้ชุมชนก็ต้องทํา เราก็ต้องลุกขึ้นในสิ่งที่เราสามารถทําได้ก่อน แล้วก็meเป็นลายลักษณ์อักษรแม้ประเทศไทยยังให้ความสำคัญแต่ทั่วโลกรู้ ผมก็ไม่ได้แคร์อะไรเพราะประเทศไทยก็ไม่ได้สนใจคนแบบบนเขาบนดอยอยู่แล้ว หน่วยงานต่างๆ ผมก็เลยมองว่าเราก็ข้ามไปนานาชาติเลยไหม?
เราเป็นผู้นําที่พูดเรื่ององค์ความรู้ของปกาเกอะญอคนแรกในชุมชนนี้ด้วยไหม?
พะฉุ : เรื่ององค์ความรู้ถามว่าเขาก็พูดกันมานานแล้วเรื่ององค์ความรู้ แต่คนที่จะกลับมาทําจริงๆ มันไม่มี เพราะว่า การดํารงชีวิต วิถีชีวิตเขาทําไร่ทํานาเป็นอาชีพหลัก คนที่จะกลับมาทําเรื่องนี้ได้ก็ต้องเป็นคนที่อยากทําจริง แล้วเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อกับองค์กรที่อยู่ในเมือง ที่เขามีความสนใจในเรื่องไร่หมุนเวียน แล้วก็ตัวเขาเองก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียนด้วย
วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง ‘รำดาบ’ พัฒนาชุมชนได้ไงบ้าง?
พะฉุ : สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ผมรำดาบตั้งแต่อายุ 10 กว่าปีแล้ว มันเป็นกิจกรรมที่อยู่ในชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ซึมซับเราเข้าไปอยู่ในกรอบงานพัฒนาของกลุ่มของชุมชนอย่างเช่น การสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น พอเวลามีนักท่องเที่ยวเข้ามามีใครเข้ามาเราก็ต้องมีงานโชว์ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่แบบเราพยายามสืบทอด แล้วก็พยายามพัฒนากิจกรรมฟ้อนดาบรำดาบให้คงอยู่
เรารู้สึกว่ามันก็เริ่มซึมซับเข้ามาในตัวเราด้วยความเป็นปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตเป็นคนอนุรักษ์ ผมก็เป็นคนที่ชอบธรรมชาติ ชอบความสวยงามของวิถีชีวิต ความสวยงามของป่า มันก็ซึมซับเข้ามา เราก็กลัวว่าวันนึงมันจะหาย ประมาณสักปีสองปีนี้ หลังจากเข้าร่วมกับอาสาคืนถิ่นผมก็มองว่าเราจะต้องทําจริงจังซะแล้ว เพราะว่ารุ่นผมอาจจะทําได้อยู่ในอีกสัก 5-6 ปีข้างหน้า แต่ว่ารุ่นวัยกลางคนอย่าง “พัตติ” อย่าง “คุณลุง” “คุณป้า” เขาไม่มีกําลังที่จะซัพพอร์ตเราแล้ว เราก็ควรที่จะเริ่มทําให้เร็วกว่านี้ เพื่อที่เขายังมีกําลังที่มาซัพพอร์ตในบางส่วนที่ที่เราทําไม่ได้ในเรื่องของการพัฒนาตัวชุมชน
สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนในชุมชนเพื่อทํางานพัฒนายังไงบ้าง?
พะฉุ : ผมมองว่าการมีส่วนร่วมก็คือเราพยายามที่จะสร้างกิจกรรม แล้วก็ทางชุมชนพยายามทํางาน อย่างเรื่องการประชุมคือประชุมกลุ่มทุกเดือน จะทํางานเรื่องขับเคลื่อนชุมชนยังไง เราก็ต้องมาดูว่าเราจะทํากันตรงไหน กิจกรรมให้แบบทุกคนได้มามีส่วนร่วม พบปะ
เรากําลังสร้างกิจกรรมเรื่องผ้า เรื่องกาแฟ เรื่องท่องเที่ยว เราพยายามให้มันมีเพื่อที่จะให้ตัวชุมชนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันแล้วก็พยายามพัฒนาตัวเองด้วย ถามว่าในเรื่องของการพัฒนา ‘ผมผลักคุณให้ตายขนาดไหนถ้าคุณไม่คิดที่จะผลักตัวเองขึ้นคุณก็ไปไม่รอด’ ดังนั้นเราต้องทําให้ชุมชนตื่นเอง ประมาณว่าฉันควรที่จะต้องพัฒนาตัวเองนะเพื่อที่จะให้ตัวชุมชนพัฒนาตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่า เห็นมูลค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในตัวชุมชน
หน่วยงานรัฐเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาชุมชนบ้างแล้วหรือยัง?
พะฉุ : แต่ก่อนไม่! ผมต้องบอกว่าเรื่องงานพัฒนาพวกนี้มันเกี่ยวด้วยเรื่องขั้วของการเมืองด้วย ถ้าสมมุติว่าในปีนั้นคุณไม่ชอบมันเลยแล้วเขาก็คิดว่าทํางานกับคุณไม่ได้ เพราะว่าตองก๊อมีข้อดีของชุมชนก็คือเป้าหมายก็ต้องตามที่ชุมชนต้องการ ถ้าเป็นเป้าหมายที่หน่วยงานต้องการคุณออกไปเลยผมไม่เอาหรอก! แต่ล่าสุดก็เปลี่ยนผ่านแล้วรู้สึกว่าเราคุยกันง่ายขึ้น มีทิศทางเดียวกันแล้วมองเห็นว่าปัญหาไม่ได้มีแค่ตองก๊อ แต่เป็นปัญหาของทั้งตําบล แต่ก่อนหน้านี้ชุมชนต้องเดินเอง ผมเดินเอง เราทําเท่าที่เราทําได้ เพราะกิจกรรมบางอย่างมันต้องใช้เงิน เราก็หาทำกิจกรรมที่ไม่ใช้เงิน แต่ว่ากิจกรรมที่มีส่วนร่วมด้วยกันซัพพอร์ตกันเรื่องค่าอาหารพวกนี้คือการออม เหมือนกับว่าเป็นการมาออมกัน การมารวมกัน
เรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเช่น ถนนหนทาง, การเดินทาง, ระบบน้ำ, ไฟสัญญาณ ?
พะฉุ : ถ้าสวัสดิการรัฐมันมีแล้ว 300 บาท ไปรูดปุ๊บคุณได้อะไรมาผมก็ไม่รู้ส่วนใหญ่ก็น่าจะของนายทุน อย่าง กาแฟ น้ำมัน อะไรต่างๆเราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันเป็นระบบผูกขาดไปแล้ว แต่เรื่องไฟเรามีไฟฟ้าเป็น พลังงานน้ำ กับ พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เราคิดว่าชุมชนได้มาก แต่ว่าปัญหาของ 2 ตัวนี้ก็คือ พลังน้ำมันมาปีละเดือนสองเดือนเอง ส่วนเสาไฟฟ้าที่ติดตั้งก็ไม่ถูกตามที่ควรอีก คือโอกาสที่จะดูดชาวบ้านตายก็สูง มันเป็นสายเปลือยแล้วอย่างไฟฟ้าโซล่าเซลล์ที่คุณเห็น มันก็ต่างกับทั่วไปเพราะว่าอะไร? เพราะว่าความต่างระดับของพื้นที่ มันไม่ใช่พื้นที่ราบมันเป็นพื้นที่เนิน คุณวางเสาที่แบบ 12 เมตร 12 เมตร เหมือนกัน คุณคิดว่าระดับมันจะเท่ากันเหรอ? อันนี้ก็คือเป็นสวัสดิการที่เข้ามาด้วยปัญหา คือไม่ได้มีแค่แบบสวัสดิการที่ดีแต่เป็นปัญหาในตัวชุมชนด้วย
ส่วนสวัสดิการอย่างอื่นในชุมชนแทบจะไม่มีอะไรเลย สวัสดิการที่เขาเพิ่งได้มาก็มีสวัสดิการ 30 บาทรักษาโรคอีกตัวหนึ่งที่เวลาเขาไปหาหมอเขาก็ใช้ตัวนี้ ที่ผมรู้ๆ มีอยู่แค่นี้ ผู้สูงอายุพิการนี่ก็ไม่ครอบคลุม เพราะว่ามีไม่กี่คนที่มีสวัสดิการเรื่องผู้สูงอายุ เรื่องคนพิการผมก็มองว่ามันยังไม่พอถ้าถามในเรื่องของการสวัสดิการที่คุณจะให้ชุมชนจริงๆ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ตองก๊อ ผมมองว่าทั้งประเทศควรที่จะสะดวกมากกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการด้านการรักษา สวัสดิการด้านการศึกษานี่ก็คือหลักๆที่ทุกคนควรได้ ไม่อยากพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำเพราะมันก็เหลื่อมล้ำ
หลังจากเข้ามาเป็นอาสาคืนถิ่นแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนยังไงบ้าง?
พะฉุ : หลังจากที่ไปอยู่กับอาสาคืนถิ่นประมาณ 10 เดือน สิ่งที่ทําให้เราเปลี่ยนมุมมองคือ เราเจอเพื่อนอาสาคืนถิ่นรุ่นเดียวกัน เราแลกเปลี่ยนเราพูดคุยกัน ทุกคนมี Passion ที่ต่างกัน มีทุน มีทรัพยากรที่ต่างกัน และผมมองว่าผมเป็นคนนึงที่ผมมีทรัพยากรเหมือนกัน คือผมไม่ได้มีแค่ทรัพยากรที่เป็นเรื่องป่าไม้ เรื่องท่องเที่ยว ผมมีทรัพยากรคนที่ความรู้ มีปราชญ์ที่มีปัญญา ที่สามารถช่วยเราผลักชุมชนให้ไปได้ไกลกว่านี้ ให้คนเห็นว่าชุมชนบ้านห้วยตองก๊อที่เป็นปกาเกอะญอที่เก๋แล้วก็เท่นะ และไม่อยากให้ใครมองว่าชุมชนปกาเกอะญอหรือว่าชุมชนที่อยู่บนดอยบนเขาเป็นชุมชนที่น่าสงสาร ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือตลอด
คือมุมมองแบบนั้นมันควรที่จะถูกเปลี่ยนไปนานแล้ว เพราะว่าเราต้องหาความเจ๋งในชุมชนว่ามันมีอะไรเจ๋งบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนวิถีชีวิต วัฒนธรรมอะไรต่างๆ คือถามว่ามันดีไหม? มันก็ดีในส่วนของคนอยากทําบุญ คนอยากทําทาน แต่ว่าในมุมมองของผม ผมมองว่าทําแบบนั้นบางครั้งมันทําให้ คนที่เป็นปกาเกอะญอหรือว่าคนที่อยู่ตามอาศัยที่ชนบทไม่อยากทําอะไร ผมขออย่างเดียวได้ไหม? ผมรู้สึกว่าปีนี้ผมได้อันโน้นอันนี้ทุกอย่าง ทุกคนพยายามแบมือแทนที่จะลุกขึ้นมาทํางานเองแทนที่จะให้เขาบ้าง คือต้องมองว่าคนกรุงเทพเป็นคนไม่มีที่อยู่เป็นแบบคนอยู่ในสลัมมากกว่านั้นเขาลําบากกว่าคนบนดอยอีกในมุมมองผม คนบนดอยมีอาหารมีอะไรเยอะมาก
“ อีก 5 ปี ตองก๊อต้องเป็นความหวังต้องเป็นชุมชนที่ยืนเองได้ มีกฎระเบียบที่ชัดเจนไม่ว่าจะทำงานอะไร มีสวัสดิการในกลุ่มในสมาชิกที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา เรื่องค่ารักษา เรื่องการเดินทาง เรื่องการกู้ฉุกเฉินตองก๊อต้องมี อีก 5 ปีข้างหน้า คนรุ่นใหม่ต้องกลับมาออกแบบชุมชนในตองก๊อให้สามารถอยู่กับครอบครัว อยู่กับวิถีชีวิตที่เป็นความปกาเกอะญอ อาจจะไม่ใช่ปลูกข้าวปลูกไร่ทำไร่ทำนาแต่เป็นวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาป่า รักษาน้ำ รักษาเมล็ดพันธุ์ พืชพันธุ์ไว้ ให้คนรุ่นต่อๆไปได้เห็นได้ชิมได้สัมผัส ”
–
ติดตามพะฉุได้ที่เพจ การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านห้วยตองก๊อ / CBT Huay Tong Kor
–
ฝากติดตามกิจกรรมมันส์ๆอย่าง #ReturnHopelandTrip Visit and talk to #OurEthnicFriends
ฝากพวกเราและเพื่อนอาสาทุกคนด้วย …
#TVS #ReturnHomeland | #มอส #อาสาคืนถิ่น