* บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ถูกสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568*
![](https://thaivolunteer.org/wp-content/uploads/2025/02/1.png)
เปีย อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่น 18 องค์กร ActLab (เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย)
ปัจจุบัน เปีย ทำงานร่วมกับ ActLab ในการรณรงค์การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและการเลือกตั้งสสร. นอกเหนือจากประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เปียสนใจคือประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เธอและเพื่อนๆ นักศึกษาม้ง รวมถึงสภาชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกันผลักดันในประเด็นนี้อยู่
เปีย : ด้วยความที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เปียเป็นคนม้ง เปียเลยได้ร่วมขับเคลื่อนกับพี่น้องชาติพันธุ์สภาชนเผ่าพื้นเมือง ในเรื่องของของกลุ่มเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงตัวเปียเองก็มีกลุ่มที่รวมตัวกับเพื่อนๆ นักศึกษาม้ง ในการขับเคลื่อนกลุ่มนักศึกษาชมรมม้งในประเทศไทยด้วยกัน ให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้จักสิทธิของตัวเราเอง เพื่อที่เราจะสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้รวมถึงครอบครัวของเราด้วย
เปีย : ซึ่งจริงๆ แล้วเปียทำเป็นสองวงย่อย กับน้องๆ ม้งด้วยกัน เราจะโฟกัสไปที่กฏจารีตของคนม้งด้วยกันเองก่อน เพราะเรารู้สึกว่ากฏ, จารีต, ธรรมเนียม หรือประเพณีหลายๆ อย่าง มันยังให้อำนาจกับความเป็นชายและความอาวุโสมากกว่า เราเองในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนม้งก็อยากจะลุกขึ้นมาพูด แล้วก็สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เค้าได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนด้วยกันมากขึ้นในสังคมเราเอง
เปีย : แต่อีกวงนึงที่เป็นวงใหญ่ขึ้นมา ก็ขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องสภาชนเผ่าในการที่จะปกป้องสิทธิของเรา ไม่ให้นโยบายหรือกฏหมายต่างๆ ของรัฐเองมันมาทำให้เราต้องสูญเสียตัวตนหรือว่าสูญเสียพื้นที่ของเราไป
![](https://thaivolunteer.org/wp-content/uploads/2025/02/2.png)
จารีตของคนม้งที่เอื้อต่อผู้ชายมากกว่า
เปีย : เวลามีพิธีกรรมหรือวงคุยที่พูดถึงเรื่องความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ก็จะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปนั่งบนโต๊ะอาหารเหล่านั้นได้ เวลาต้องมีการตัดสินใจก็จะมีแต่กลุ่มอาวุโสที่เป็นผู้ชาย ต่อให้เราจะมีผู้หญิงที่เป็นที่น่านับถือหรืออะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเข้าไปร่วมเจรจาอยู่บนโต๊ะพิธีกรรมอะไรต่างๆ เหล่านั้นได้
เปีย : เค้าจะให้ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งแม่บ้าน ไม่ได้ให้พื้นที่ในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำหรือลุกขึ้นมาพูดอะไรซักอย่าง ในสังคมม้งเองจะมีความเป็นปิตาธิปไตยสูงค่ะ เราก็เลยอยากจะต่อสู้เรื่องนี้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมของเราเองด้วย เพราะถ้าเราไม่เข้มแข็งกันภายใน หากมันมีปัจจัยภายนอกเข้ามาอีกเนี่ย มันยิ่งจะทำให้เราไม่สามารถคงความเป็นม้งของเราไว้ได้ และไม่สามารถอยู่อย่างภาคภูมิใจได้
แม้จะยังอยู่ในช่วงตั้งกลุ่มให้เข้มแข็ง แต่เปียยืนยันว่าการเสริมพลังให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีความกล้าที่จะออกมาพูดเรื่องเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะที่ผ่านมาคนม้งเองไม่ได้มีพื้นที่ให้คนเสียงเล็กๆ อย่างเยาวชนหรือผู้หญิง มาพูดคุยด้วยกัน
เปีย : เราเลยรู้สึกว่าเบื้องต้นเราอาจจะต้องขับเคลื่อนให้กลุ่มเข้มแข็ง แล้วก็สร้างพื้นที่ในการรวมพลังกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ให้มีความกล้าแล้วก็ลุกขึ้นมาต่อสู้หรือว่ามาพูดด้วยตัวเองได้
![](https://thaivolunteer.org/wp-content/uploads/2025/02/3.png)
สภาชนเผ่ากับการรวมตัวกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในไทย
เปีย : สภาชนเผ่าเค้าก็จะทำงานกับกลุ่มเครือข่ายเผ่าต่างๆ เครือข่ายม้ง เครือข่ายปกาเกอะญอ หรือว่าเครือข่ายอาข่าเพื่อวัฒนธรรม เค้าก็จะประสานทำงานกับกลุ่มเหล่านั้นในทุกๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสภาชนเผ่าตอนนี้มีครบทุกภาคของไทยแล้ว กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองนี่ไม่ได้มีแค่ภาคเหนือหรือว่าภาคใต้อย่างเดียว ในภาคกลางเองก็มี ในภาคอีสานเองก็เยอะมาก รวมๆ แล้วก็ 60 กว่าเผ่าในประเทศไทย
แล้วอย่างกิจกรรมวันนี้ก็เกิดจากการประสานงานของสภาชนเผ่าด้วยใช่มั้ย
เปีย : ใช่ค่ะ เป็นกองเลขาของสภาชนเผ่า คือสมาคม IMPECT (สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย) กับ มพน. (มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ) ที่เป็นกองเลขาให้กับสกน.เอง หรือว่า P-Move เอง ก็ร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ที่หน้ารัฐสภา เพราะว่าในวันนี้ เป็นวันที่ร่างพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าสภาวาระที่ 2 ซึ่งที่ผ่านมาเค้าก็พยายามเลื่อนมาตลอด เลื่อนในการที่จะลงมติ แต่ว่าวันนี้เป็นวาระที่เข้าสภาอีกครั้ง ทุกคนก็เลยมาจับตา เพราะว่าก่อนหน้านี้เนี่ยสภาเค้าตีตกคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ไปแล้ว เค้าก็จะบอกว่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีอยู่จริง หรือเค้าก็อ้างว่าเค้ากลัวในเรื่องของความมั่นคงต่างๆ เพราะในพรบ.เนี่ยเราไม่ได้พูดถึงว่าการที่มีชนเผ่าพื้นเมืองแล้วเราจะแบ่งแยกดินแดน หรือว่าเราจะทำลายความมั่นคง คือในพรบ.ไม่เคยพูดถึง เราเพียงต้องการให้มันเป็นพรบ.ที่จะคุ้มครองวิถีชีวิตดั้งเดิมของเรา เพราะว่าปัจจุบันนี้รัฐพยายามเอาความเป็นไทยมาครอบความเป็นดั้งเดิมของเราไป แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาเนี่ย เค้าไม่ได้รู้ซึ้งหรือมีความหวงแหนหรือผูกพันกับตัวตนของเค้าแล้ว เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่พยายามกลืนตัวตนของเค้าไป เราเลยต้องการที่จะคุ้มครองวิถีดั้งเดิมของเราไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตดั้งเดิม
คือในมาตรา 27 ที่วันนี้เค้าพูดถึงกันมากสุดเนี่ย ถ้าพื้นที่คุ้มครองพิเศษตรงนี้ไม่ถูกคุ้มครองไว้ เรารู้สึกว่ามันก็จะมีผลต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์หรือพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในอนาคต ทุกอย่างเลยค่ะที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ แม้แต่ศาสนาความเชื่อของเค้าก็มีสิทธิที่จะหายไป หรือสิ่งที่มันจะหนักที่สุดก็คือตัวคน คนก็จะหายจากชุมชนเหล่านั้นไป เข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าการพยายามทำอย่างนี้เนี่ยมันจะตอบโจทย์ต่อความยั่งยืนของมนุษย์จริงมั้ย การที่ทุกคนมาอยู่ในเมืองหลวงกันหมด มันจะทำให้ความหลากหลายเนี่ยมันยังอยู่จริงมั้ย มันก็เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับมันเหมือนกัน ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต่อต้านพื้นที่คุ้มครอง
![](https://thaivolunteer.org/wp-content/uploads/2025/02/4.png)
เปีย : ทุกวันนี้เนี่ย เด็กเยาวชนมากกว่า 80% ต้องออกจากชุมชนมาอยู่ในเมือง เพราะถ้าเราต้องการที่จะเรียนต่อเราไม่สามารถเรียนในชุมชนได้ หรือเรียนในพื้นที่ใกล้บ้านไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันไม่มีโรงเรียนขนาดใหญ่หรือไม่ได้มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่จะรองรับ
เปีย : ผู้ใหญ่วัยทำงานเองที่เข้ามาทำงานในเมืองก็มีมากขึ้นเช่นกัน พอเศรษฐกิจมันไม่ดีแล้วเราจะทำมาหากินในชุมชนเนี่ยก็ยังมีปัญหา มันก็ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากว่าเราต้องเข้าเมืองใหญ่ แล้วเข้ามาใช้แรงงาน มาเป็นลูกจ้าง เราไม่สามารถใช้ต้นทุนในพื้นที่ชุมชนได้ ซึ่งจริงๆ ในชุมชนเนี่ยมันมีต้นทุนที่ดีมากๆ ในการที่จะต่อยอดเป็นนวัตกรรม ที่จะเป็นทุนให้กับประเทศ หรือจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มันจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ แต่พอไม่ได้ถูกส่งเสริมเนี่ยก็เท่ากับว่ามันไม่มีประโยชน์ มันก็ทำไม่ได้ ประชาชนจะทำเองก็ไม่ได้เพราะพอทำปุ๊ปเดี๋ยวก็ติดปัญหาอีก ถ้าเป็นพื้นที่ชุมชนในเขตป่าก็ติดอุทยานอีก พอทำปุ๊ปเดี๋ยวก็โดนหาว่าเป็นนอมินีอีก ชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเองได้ พอจะพยายามรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เนี่ยก็ไม่ได้มีการสนับสนุนจากภาครัฐมากพอที่จะทำให้พื้นที่ตรงนั้นเนี่ยมันเป็นพื้นที่ที่จะสร้างทุนทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน
![](https://thaivolunteer.org/wp-content/uploads/2025/02/5.png)
แล้วเปียยังมีความหวังอยู่มั้ยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
เปีย : เราก็หวังมาตลอดนะ พี่ๆ เราหวังมาสิบกว่าปีแล้วจนมาถึงวันนี้ จริงๆ ก็อยากให้มีหวังต่อว่าเราทำกันมาขนาดนี้ มันมาถึงขั้นนี้แล้ว ซึ่งเราก็ยืนยันตัวตนของเรามาตลอดว่าเรามีอยู่จริง และเราก็กำลังถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ที่บอกว่ากฏหมายใช้ให้กับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกันเนี่ย แต่ในความเป็นจริง ในเชิงปฏิบัติมันไม่เคยมีอยู่จริง เรายังถูกคุกคาม เรายังถูกต่อต้านในการที่จะใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตของเรา ความเท่าเทียมของเค้าคือการพยายามให้เราเป็นเหมือนเค้ารึเปล่า ซึ่งเราเป็นเรา ทำไมเราจะต้องเป็นเหมือนเค้าถึงจะเรียกว่าเท่าเทียม ทำไมเราถึงเท่าเทียมบนความเป็นชาติพันธุ์ บนความเป็นพี่น้องชนเผ่าไม่ได้ มันเลยเป็นสิ่งที่เราต้องสื่อสารอย่างชัดเจนให้เค้าได้รู้รวมถึงคนทั่วไปด้วย เราไม่ได้ต้องการมาเรียกร้องเพื่อที่จะได้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่ที่ผ่านมาเนี่ยเป็นเพราะว่ากฏหมายที่เค้าบอกว่าเท่าเทียมสำหรับทุกๆ คนเนี่ย มันไม่เคยเป็นจริงสำหรับเรา
_________________________________________________________________________________________
โดยสถานการณ์ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรมีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ พ.ศ. … ในหมวด 5 มาตรา 27 วรรค 2 ว่าด้วยหลักการและเหตุผลการประกาศพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ แต่เห็นด้วยกับแนวทางของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งเน้นว่าการกำหนดพื้นที่คุ้มครองต้องไม่กระทบต่อกฎหมายอื่น
ท้ายที่สุดแล้วความหวังของเปียและพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังต้องต่อสู้และรอกันต่อไป . . .
Our Ethnic Friends บทสนทนาระหว่างเพื่อนกับเพื่อน พูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนอาสาสมัครพร้อมกันกับพวกเรา