ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลหรือ International Women’s Day ในเดือนมีนาคมนี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมชวนอ่านเรื่องราวของอาสาสมัครจากโครงการอาสาคืนถิ่น ที่ได้รับบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชนหญิงคนแรกของโครงการอย่าง อัง ปรารถนา ชัยรัตน์ อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 และยังทำงานขับเคลื่อนชุมชนต่อร่วมกับโครงการคนรุ่นใหม่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอีกด้วย เส้นทางการเป็นแม่หลวงของเธอต้องพบกับอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ที่นี่

ช่วยแนะนำตัวเองให้รู้จักหน่อยว่าชื่ออะไร ตอนนี้ทำอะไรอยู่ ?

ชื่อ ปรารถนา ชัยรัตน์ ชื่อเล่น อัง อยู่จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ก่อนหน้านี้เป็นอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 แล้วก็กลับมาอยู่ในชุมชนค่ะ ตอนนี้ก็ได้เริ่มทำโครงการลดปัจจัยเสี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของบ้านสันโป่งค่ะ

จุดเริ่มต้นในการทำงานชุมชนของอัง ?

ตอนนั้นมันตรงกับช่วงโควิดพอดีค่ะ เราประสบปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจแล้วเรามองเห็นโอกาสที่จะไปต่อในการใช้ชีวิต มองเห็นว่าเรายังมีต้นทุนชุมชน ยังมีบ้านที่สามารถกลับมาเป็นที่ฟื้นฟูจิตใจ เป็นฐานใจแล้วก็ฐานกายให้เราได้ เราจึงกลับมาอยู่บ้าน ตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่าเราต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ จากนั้นก็ได้เข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นรุ่น 5 ได้เข้ากระบวนการกับมอส. จนปัจจุบันได้ทำงานชุมชนแล้วก็ขับเคลื่อนหลายด้าน โดยเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ แล้วทีนี้ค่อย ๆ ขยับมาเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชน สร้างพื้นที่ให้กับพวกเค้า แล้วก็สร้างพื้นที่กลางให้กับชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ลดช่องว่างระหว่างวัย ให้เด็ก, ผู้ใหญ่และคนทุกวัยได้มีพื้นที่พูดคุยกัน ตอนนี้พยายามสร้างให้ชุมชนมีการแลกเปลี่ยนในที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแล้วก็สร้างความเท่าเทียมกันในชุมชน

อังตอนเข้าร่วมกระบวนการอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5

แล้วเส้นทางสู่การเป็น ‘แม่หลวง’ ของอัง เริ่มขึ้นได้อย่างไร ?

ต้องอธิบายก่อนว่า คนเหนือเค้าจะเรียกผู้ใหญ่บ้านว่า พ่อหลวง แม่หลวง ภาษาเหนือคำว่า ‘หลวง’ มันแปลว่า เป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน ไม่ได้เปรียบเปรยเหมือนในหลวงนะ มันคนละความหมายกัน พ่อหลวงก็คือผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชาย แม่หลวงก็คือผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิงค่ะ

ในตอนแรก เรามีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก่อนเป็นเวลาสองปีค่ะ หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านเดิมท่านเกษียณอายุไปทีนี้เรามองเห็นว่างานขับเคลื่อนของเรายังต้องไปต่อ เราชอบเป็นผู้เล่นเองมากกว่าเป็นคนบังคับ เพราะมันได้ลงมือทำจริง ได้แอ็คชั่นจริง เราเลยมีความตั้งใจที่อยากจะลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน เปิดโอกาสให้ตัวเองพร้อมบอกว่าศักยภาพของเรานั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย

ใจจริงที่อยากลงสมัครก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบ เรารักในงานนี้อยู่แล้ว เราได้อยู่บ้าน ได้ดูแลครอบครัว รวมถึงการได้อยู่กับญาติพี่น้อง แล้วก็อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนให้มันดีขึ้น ถึงแม้ว่าชุมชนมันจะเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองก็จริง แต่คุณภาพชีวิตมันยังเหมือนเดิมอยู่เลย มันยังเหมือน 10 ปี 20 ปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ออกไปถนนใหญ่มันมีเซเว่น มันมีขนส่งเอกชน มันมีอะไรหลายอย่างที่มันเจริญไปแล้ว แต่คุณภาพชีวิต คุณภาพพื้นฐานของชุมชนมันยังเหมือนเดิม เราเลยคิดว่า เราต้องลองสู้กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อที่เราอยากสร้างให้มันเป็นไปตามที่เราวางไว้ค่ะ เลยมาสมัครตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

‘ภาพจำของการเป็นผู้นำชุมชนรวมถึงผู้นำประเทศ เค้ามักจะมีภาพจำว่าต้องเป็นผู้ชายนะ’

แต่มันก็มีประเด็นที่ว่าเราเป็น ‘ผู้หญิง’ เป็นผู้หญิงไม่พออีกอย่างนึงคือเรามีลูกด้วย ลูกก็ยังเล็กอยู่ แต่ช่วงที่เราเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราก็ยังทำงานได้ปกตินะ เวลาไปประชุมที่ต่างจังหวัด เราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอมาถึงช่วงเลือกตั้ง มันเกิดประเด็นว่า ‘ภาพจำของการเป็นผู้นำชุมชนรวมถึงผู้นำประเทศ เค้ามักจะมีภาพจำว่าต้องเป็นผู้ชายนะ’ อันนี้ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนแหละ เพราะจริง ๆ แล้วที่ผ่านมาเราก็ทำได้ดีประมาณนึง เรามองว่าการเป็นผู้นำชุมชนสมัยนี้ มันไม่ได้ใช้กำลังในการขับเคลื่อนแล้วก็พัฒนาชุมชน คือการขับเคลื่อนแล้วก็การพัฒนาชุมชน เราใช้กระบวนการ เราใช้แนวคิด สำคัญเลยถ้าเรามีใจมุ่งมั่น มีความรักในชุมชน เราก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ เราก็เลยมองผ่านจุดนั้นมาได้ จุดนี้เราก็มองว่ามันก็เป็นสิทธิของเค้าที่จะวิพากย์วิจารณ์เรา แต่มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกลัวหรือทำให้เราเสียกำลังใจอะไรนะ

พอเป็นผู้สมัครผู้หญิงคนเดียวแล้วมันเกิดเหตุการณ์อะไรตามมาบ้าง ?

ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง มันมีเวลาแค่อาทิตย์เดียวเอง เราก็ถูกสั่งว่าห้ามหาเสียงก่อน ห้ามติดป้าย ถ้ายังไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นผู้สมัคร คือคนอื่นทำได้นะแต่เราทำไม่ได้ แค่เราคนเดียวมันก็แปลกเหมือนกันนะ แต่ทำไม่ได้เราก็ไม่ทำ ระหว่างนี้เราก็วางแผนว่าจะทำยังไงดี เราจะหากลยุทธ์อะไร ก็มองว่าใช้กลยุทธ์ขายของเป็นการหาเสียง เราจะทำยังไงให้เค้าจำเราได้ภายใน 7 วัน เราจะทำยังไงให้เค้าเห็นเราครั้งแรกแล้วประทับใจ เราเลยไปดูว่าคุณชัชชาติเค้าทำยังไง ก็เลยทำป้ายเหมือนคุณชัชชาติเลย ไม่ต้องคิดไรมากทำเหมือนคนที่เค้าประสบความสำเร็จ ดูว่าเค้าจัดวางยังไง ใส่ตัวหนังสือขนาดไหน ใส่กรอบ ใส่ข้อความยังไง แล้วเราก็ลองทำตามค่ะ

” ราศีเกิดเราต้องสีอะไรถึงจะปัง เสื้อสีอะไร ตัวหนังสือต้องสีอะไร คือมันมีความหมายหมดเลยนะเพราะมันเป็นความเชื่อของเรา “

ทีนี้พอเค้าเริ่มหาเสียง ติดป้ายกันแล้ว เราก็เอาป้ายตัวเองมาติดบ้าง มันเด่น สวยมาก หลังจากนั้นผู้สมัครคนอื่น ๆ เค้าก็แห่รถหาเสียงกัน แต่เราเลือกที่จะไม่หาเสียงในชุมชนก่อน เราไปปั่นจักรยานหาเสียงในบ้านจัดสรร แล้วก็เคาะประตูเรียกทุกบ้านเลยที่เค้ามีสิทธิ์เลือกเรา ไปเรียกเค้าออกมาฟังว่า “เราจะลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน ถ้ามีเวลาก็ไปเลือกให้หน่อยค่ะ” เหมือนเซลล์ขายของนั่นแหละ แล้วก็แจกใบปลิวให้เค้าหนึ่งแผ่น ทำอย่างนั้นอยู่สามวันค่ะ

ต้องท้าวความไปก่อนหน้านี้ช่วงที่เราพึ่งกลับมาอยู่บ้าน 3-4ปีก่อน มันมีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เป็น สธ. องค์การบริหารส่วนตำบลค่ะ เราก็ลงสมัครเป็นผู้เลือกตั้งอิสระ มันเลยทำให้เรามีประสบการณ์ในการหาเสียง การเข้ากับคน แต่คู่แข่งที่เค้ามาลงสมัครด้วย เค้าไม่เคยลงสมัครมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่าเค้ารู้สึกยังไง แต่ว่าเราสบาย ๆ เราใช้เวลาไม่เยอะแต่เราเต็มที่ค่ะ ก็ปั่นจักรยานหาเสียง คนที่รักเราบางคนเค้าก็เอ็นดู สงสาร เห็นเราปั่นจักรยานน่าเอ็นดู อันนี้เราก็ใช้จุดอ่อนที่เราเป็นผู้หญิงมาใช้

@angangrich

ออกเสียงด้วยลมปาก เสียงบะดัง ปั่นรถถีบถึงช้า แต่ก็ถึงเน้อ คิด วิเคราะห์ จุดเด่น สีมงคล รูปภาพที่ประทับใจ #โอเคนัมเบอร์วัน #แข่งกับใจและความบ้าของตัวเอง #เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน #หาเสียงเลือกตั้ง #คนรุ่นใหม่ #สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้

♬ Life Goes On – Sound Fyp
บรรยากาศในช่วงการหาเสียงของอัง

ในช่วงหาเสียงมันมีเหตุการณ์แปลก ๆ บ้างมั้ย ?

มีคนไปปล่อยข่าวว่า คนในชุมชนไม่ชอบผู้หญิงในการเป็นผู้ใหญ่บ้านประมาณนี้ ไม่อยากได้เป็นผู้นำ เกลียดผู้หญิง แล้วเราก็มองว่า อ้าว เกลียดผู้หญิงได้ไง เพราะที่ผ่านมาเราเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราทำทุกอย่าง เค้าก็รักเรานะ แล้วมีลุงคนนึงในชุมชน เค้าก็พูดว่า “เปลี่ยนบ้างสิ บ้านอื่นเค้ายังเป็นผู้หญิง เค้ายังดีขึ้นเลย ผู้ชายเป็นผู้นำมากี่ปีแล้วก็ยังเป็นแบบเดิม” อันนี้ก็เป็นกำลังใจให้เรา

แล้วพออังได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว มันมีความท้าทายยังไงบ้าง ?

พอได้ตำแหน่งปุ๊ป เราก็ทำงานต่อเนื่องแบบปกติเลย ไม่ได้มีการกินเลี้ยง ไม่ได้มีการอวดโอ้ ทำตัวปกติ อย่างเราเป็นผู้ใหญ่บ้านอายุน้อยเนอะ บางคนเค้าก็มาทักว่า ขอโทษนะที่เรียกน้องอัง ไม่ได้เรียกว่าแม่หลวง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เอาที่สะดวกใจ เพราะว่าผู้ใหญ่บ้านมันก็เป็นแค่ตำแหน่ง สุดท้ายแล้วเราก็อยู่กันเหมือนลูกเหมือนหลาน มันสะดวกใจดี สำหรับเราการมีตำแหน่งหน้าที่ เราอยากเป็นเพื่อชุมชน คือไม่ใช่การเป็นเพื่อสร้างอำนาจ บารมี เป็นหน้าเป็นตาอะไรขนาดนั้น บางคนถามว่าดีใจมั้ยที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เราตอบตรง ๆ เลยว่า รู้สึกโล่งใจที่เราจะได้ไปต่อนะ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็น เรากลัวว่างานพัฒนาชุมชนจะไม่ได้ไปต่อ คนที่ขับเคลื่อนด้วยกับเราหรือกลุ่มผู้เข้าร่วมจะไม่ได้ไปต่อ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็น เราก็จะไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ได้มีใครมาเห็นด้วย เราจะถูกปิดกั้นแล้วก็ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาเราถูกปิดกั้นอะไรหลายอย่างที่มันน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่มันถูกชะงักไว้

ส่วนความท้าทายก็คือ เราจะทำยังไงให้ฝั่งที่เค้าแพ้การเลือกตั้งหันหน้ามาคุยกัน แล้วก็ร่วมกันจับมือพัฒนาหมู่บ้านให้ยั่งยืนได้ยังไง เหมือนว่าบางคนเค้าไม่ชินกับการเมืองเนอะ เค้ายังอินอยู่ เพราะเค้าอาจจะเดิมพันด้วยชีวิต หรือเดิมพันอะไรหลาย ๆ อย่าง หรือเพราะเค้าไม่ได้เผื่อใจเลยทำให้เค้าไม่สามารถออกจากความรู้สึกว่า “ชั้นยังรับผลการเลือกตั้งของชาวบ้านไม่ได้”

การทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ในชุมชน

แล้วอยากจะผลักดันชุมชนให้ขยับไปทางไหน ?

ตอนนี้เราพอเราได้เป็นผู้ใหญ่บ้านเต็มตัวแล้ว อย่างแรกก็คือการบำบัดทุกข์บำรุงสุข จริง ๆ แล้วมันแค่ดูแลคนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข มีความสุขไม่ทะเลาะวิวาท แล้วก็ในเรื่องของการอยู่แบบมีกินมีใช้ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน อีกอย่างก็คือการจะสร้างชุมชน เราไม่สามารถสร้างด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราพยายามดึงเด็กและเยาวชน คนวัยเดียวกันให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เพราะเราบอกทุกคนว่า บ้านสันโป่งไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นของทุกคน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น สามารถช่วยกันสร้าง สามารถช่วยกันติชมแล้วก็แก้ไขร่วมกันได้ แล้วเราก็พยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมการให้เด็กมีที่ยืนในชุมชน เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก การที่เด็กจะแสดงความคิดเห็นใด ๆ ก็มักจะถูกปิดกั้น มันทำให้เวลามีอะไร มันจบลงที่ชั้นคิดเอง ตัดสินใจเอง นำเสนอเองหมดเลย มันเลยอยู่ที่เดิม แต่เราต้องการให้พวกเค้าพูดมาเลย เดี๋ยวรับฟังและจะนำไปแก้ไขเพื่อไปต่อด้วยกัน อยากทำให้เด็กไม่เกิดความกลัว อยากให้เด็กเป็นฐานกำลังและจิตใจให้กับหมู่บ้านค่ะ

เดือนนี้มันมีวันสตรีสากล อังอยากจะฝากอะไรถึงคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้มั้ย

เรามองว่าการเป็นผู้หญิงเป็นอะไรที่มหัศจรรย์นะ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความมหัศจรรย์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งมีความอดทนในเรื่องของความเจ็บปวด ความอ่อนโยน และความเป็นนักสู้ในคน ๆ เดียวกัน เราว่าผู้หญิงทุกคนมีประสิทธิภาพหรือความสามารถในแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้โอกาสตัวเอง การให้โอกาสตัวเองในสิ่งที่เราอยากทำโดยไม่ต้องคิดว่า ทำไปแล้วจะมีผลยังไง เดี๋ยวเราค่อยแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นไป

ง่าย ๆ คือการเป็นผู้หญิงมันไม่ได้ด้อยกว่าการเป็นผู้ชายเลย ผู้หญิงก็ดูแลครอบครัวได้ เลี้ยงลูกได้ เป็นผู้นำชุมชนได้ เพียงแค่เราให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสตัวเองในการลงมือทำแล้วก็ตั้งใจทำมันให้ที่สุดค่ะ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai