แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย ว่าชื่ออะไร ทำงานอยู่องค์กรไหน
เม็ดทราย : สวัสดีค่ะ ชื่อเม็ดทรายค่ะ ทำงานอยู่ที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานค่ะ
อยากให้ช่วยอธิบายว่าชิ้นงานมีชื่อว่าอะไร แล้วมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร
เม็ดทราย : ผลงานของทรายมีชื่อว่า ความอยุติธรรมบีบคั้นให้ทิ้งถิ่นค่ะ มาจากเหตุการณ์ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิค่ะ ที่เราได้ทำงานกับสามชุมชน มีชุมชนซอกตะเคียน ชุมชนหนองผักแว่น ชุมชนหินรูค่ะ ประวัติไทม์ไลน์ของชุมชนนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบีบคั้นให้ชาวบ้านทิ้งบ้านเกิดตัวเองที่เค้าเคยอยู่ เคยจับจองมาก่อน แต่ว่ารัฐเนี่ยมีโครงการคจก. ลงไปในปีพ.ศ.2534 เพื่อที่จะไล่ต้อนให้คนลงมาจากป่าแล้วก็ไปอยู่ในพื้นที่ที่เค้าจัดสรรไว้ให้ แต่ว่าพื้นที่ที่เค้าจัดสรรไว้ให้เนี่ยมันไม่ใช่พื้นที่สำหรับเค้าค่ะมันมีเจ้าของอยู่แล้ว มันก็เลยทำให้เค้าตัดสินใจต่อสู้ กลับมาที่บ้านเกิดตัวเองดีกว่า แล้วในปี 2535 เนี่ยก็มีประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทองเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่มีการเข้าไปบังคับหรือการหลอกล่อให้ชาวบ้านยอมออกจากพื้นที่ตัวเองในผืนป่านั้นนะคะ จนมาถึงปีพ.ศ.2557 ที่คสช.เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็มีคำสั่งคสช.ที่64/57 ทำให้ชาวบ้านเนี่ยโดนคดีหลายคนเลยนะคะ ไม่ใช่แค่พื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ทำให้ชาวบ้านต้องเรียกร้องต่อสู้เพื่อที่จะอยู่บ้านเกิดของตัวเองแล้วก็โดนคดีกัน จนได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ทีนี้ก็มีคำสั่งคสช.ที่66/57 ที่มีเงื่อนไขเข้ามาว่า ผู้ที่มีฐานะยากจน ยากไร้ถึงจะได้อยู่ในที่ทำกินต่อ มันมีเงื่อนไขขึ้นมาเป็นข้อยกเว้น ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นี้ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดแยกแล้วก็ตรวจสอบว่า พวกคุณอยู่ในพื้นที่นี้จริงมั้ยแล้วก็มีฐานะที่ยากจนมั้ย เราก็เลยรู้สึกว่าทำไมเค้าถึงบีบคั้นเรา ทั้ง ๆ ที่มันคือบ้านของเรา แล้วทำไมรัฐถึงสร้างวาทกรรมว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ เราก็เลยสนใจในประเด็นนี้ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านทั้งสามชุมชนเองก็อยู่ทำกินได้ แต่ว่าก็ตามมาด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วก็สาธารณูปโภคที่ยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนนหนทางที่ดี ไฟฟ้า น้ำ สัญญาณโทรศัพท์ เป็นสิ่งที่พวกเค้ายังขาดแคลน แล้วพอเราไปลองอยู่มาแค่คืนนึง มันไม่เชิงรู้สึกแย่เท่าไหร่แต่มันทำให้ทรายเองเข้าใจมากขึ้นและอยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามแล้วก็สนใจในประเด็นนี้ด้วยกันค่ะ
ทำไมถึงใช้รูปแบบ Performance Art ในการสื่อสาร
เม็ดทราย : ทำไมถึงใช้ Performance Art เพราะว่าทรายเริ่มสนใจงานศิลปะแล้วก็ Performance Art มาตั้งแต่ปี 2561 แล้วก็มันเป็นสิ่งที่ทรายยังไม่เคยทำแล้วก็อยากทำ รู้สึกมันท้าทายตัวเอง เรามีเพื่อน ๆ ที่ดีคอยซัพพอร์ทหลายคนมากเหมือนกัน เราก็เลยคุยกับเพื่อน ปรึกษากับเพื่อน แล้วก็ให้เพื่อนช่วยซัพพอร์ทเราเหมือนกันค่ะ จนได้ออกมาเป็นชิ้นนี้ แล้วทีนี้ทรายก็มีบทความที่ทำเป็นลิ้งค์ไว้ให้อ่านประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์ หรือว่าการตีความต่าง ๆ อาจจะเป็นในเวย์ที่ทรายวางไว้ค่ะ แต่ว่าการแสดงนี้เราไม่จำกัดอยู่แล้วเนอะ มันสามารถตีความได้เข้ากับหลากหลายสถานการณ์ หลากหลายพื้นที่อยู่แล้ว พวกคุณที่เข้ามาชมผลงานก็อาจจะมีเหตุการณ์ที่มันเข้ากับสถานการณ์ที่ Performance กำลังส่งถึงอยู่ก็ได้ค่ะ
สองวันที่ผ่านมา ที่มีคนเข้ามาดูงานของเรา มี Feedback ไหนที่ประทับใจบ้าง
เม็ดทราย : เราประทับใจในเรื่องที่เค้าเข้าใจ บางคนที่เค้าเข้าใจและขอคำอธิบายเพิ่มว่าเหตุการณ์มันอยู่ที่ไหนที่เรากำลังนำเสนอ แล้วตอนนี้เค้าเป็นยังไงบ้าง ถามไถ่สถานการณ์ คือเค้าอยากเข้าใจเรามากขึ้น เค้าอยากเข้าใจคนในพื้นที่ นั่นคือที่ทรายชอบ แล้วก็อีกอันนึงคือขอบคุณที่ชื่นชมผลงาน ทั้งการแสดงและการตัดต่อ เทคนิคต่าง ๆ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
แล้วเม็ดทรายคิดว่าการที่เราเอาประเด็นมาสื่อสารสาธารณะในพื้นที่ตรงนี้มันจะสร้างประโยชน์ให้กับใคร หรือว่าสิ่งที่เม็ดทรายจะได้รับหรือว่าสิ่งที่สังคมจะได้รับมันคืออะไร
เม็ดทราย : สิ่งที่สังคมจะได้รับ เราอยากสื่อสารถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รัฐไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น ท้องที่ ต่าง ๆ นา ๆ ที่มีอำนาจ มีศักยภาพที่จะมอบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนี้ให้กับชุมชนที่ขาดแคลน ให้กับชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึง ชุมชนที่มีปัญหาแต่ละจุด เราก็อยากให้เค้าตระหนักถึงอำนาจหน้าที่นี้ของเค้าว่าไม่ควรที่จะให้ชาวบ้านมัวแต่รอ แล้วก็…ไม่รู้ว่ามันจะเป็นข้ออ้างเสมอไปรึป่าวนะที่เค้าบอกว่า งบประมาณยังไม่มี งบประมาณยังไม่ถึง ไฟฟ้าจะไปลงตรงนี้ได้มั้ยก็ไม่คุ้ม บ้านมีกี่หลัง เสาไฟจะต้องตั้งกี่เสา อะไรอย่างนี้ มันต้องมีงบประมาณที่คุ้มพอที่จะลงไปในพื้นที่ มีบ้านกี่หลังคาเรือน มากพอที่จะคุ้มกับงบประมาณที่เค้าจะเอาไฟฟ้าไปถึง เราก็อยากให้เค้าตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ด้วยค่ะ
* สำหรับใครที่อยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและรับชมวิดิโอ Performance Art สามารถเข้าไปชมได้ที่ Link ด้านล่างนี้ *
รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !
ติดตามพวกเราได้ที่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)