แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย ว่าชื่ออะไร ทำงานอยู่องค์กรไหน
ผึ้ง : สวัสดีค่ะ ผึ้งค่ะ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมค่ะ ทำมาได้หนึ่งปีแล้วจนจบโครงการนี้ แล้วก็จะทำงานเป็นพนักงานประจำต่อไปด้วยค่ะ
อยากให้ช่วยอธิบายว่าชิ้นงานมีชื่อว่าอะไร แล้วมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร
ผึ้ง : เหมือนจริง ๆ งานนี้มันก็ประกอบมาเรื่อย ๆ ตลอดเส้นทางการเดินทางของเราหนึ่งปี บทบาทของเราที่ได้ทำงานมาก็คือ เป็นผู้ช่วยทนาย พอเป็นผู้ช่วยทนาย เราทำงานกับทีมกฏหมายที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สิ่งที่เราต้องการผลักดันแล้วก็เรียกร้องต่อไปเนี่ย ก็คือการพัฒนากระบวนการยุติธรรมหรือว่าการโปรโมท Social Justice ด้วยความที่ว่าเคสส่วนใหญ่หรือประเด็นที่เราทำ มักจะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในชีวิตหรือความปลอดภัยในชีวิตอะไรแบบนี้ เคสหลาย ๆ อย่างที่เราทำเนี่ยมันก็จะเป็นเคสที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นโดยรัฐหรือในนามของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารู้สึกว่าความรุนแรงต่าง ๆ โดยรัฐเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นแค่กับตัวบุคคล อย่างเช่นกรณีที่เหยื่อโดนตำรวจซ้อมทรมาน หรือว่าการปราบปรามการชุมนุม พอเราวิเคราะห์ออกมาแล้ว เราอาจจะต้องมองให้ลึกลงไปมากกว่าแค่เหตุการณ์รายเหตุการณ์ เราอาจจะต้องมองมันให้เป็นระบบ
เราก็เลยทำวิดิโอเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แล้วก็แลกเปลี่ยนประเด็นเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ อยากให้คนได้เข้าใจถึงสาเหตุที่มันเกิดขึ้นได้ว่า ทำไมเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ มันถึงเกิดขึ้นได้ เราก็เลยวิเคราะห์ว่า ความรุนแรงโดยรัฐมันเป็นมากกว่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์นึง แต่มันเป็นเหมือน Process (กระบวนการ) มันเป็น On going social condition คือเป็นสภาพของสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมันทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเชิงกายภาพที่เราเห็นกัน
แต่ว่าอันนี้อาจจะเป็นภาพจำของเราแค่จุด ๆ นั้น แต่ว่านอกจากเหตุการณ์ความรุนแรง เช่นการฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือการซ้อมทรมานที่เราเห็น ๆ กันเนี่ย นอกจากวันเกิดเหตุที่เกิดทางกายภาพแล้ว หลังจากวันเกิดเหตุมันยังมีความรุนแรงของรัฐได้อีกในหลายมิติมาก อย่างเช่นคดีฤทธิรงค์ ชื่นจิตร กลายเป็นแพะจากการโดนตำรวจจับตัวผิดแล้วก็โดนซ้อมทรมาน หรือการบังคับให้รับสารภาพด้วยการใช้ถุงดำคลุมหัวเนี่ย นอกจากที่เราจะมองเห็นความรุนแรงใน วันเกิดเหตุนั้นแล้ว หลังจากนั้นฤทธิ์รงค์เค้าก็ต้อง Suffer กับโรค PTSD หรือโรคสะเทือนขวัญซึ่งมันไม่มีทางหายขาด คือเค้าก็ยังรักษามาจนถึงปัจจุบัน หรือว่าการที่พ่อของคุณฤทธิรงค์ เค้าต้องเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชายที่โดนซ้อมทรมาน ใช้เวลาเรียกร้องประมาณ 8 ปีกว่าจะได้เป็นคดี ไอ้เวลา 8 ปีที่เค้าเขียนหนังสือหรือยื่นหนังสือไป เวลาที่หายไปนั้นเราก็มองว่าเป็นความรุนแรงจากรัฐเหมือนกัน คือมันไม่ใช่แค่เหตุการณ์วันนั้นนะ แต่ว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นที่เกิดขึ้นตามมาอีกเยอะแยะมากมาย มันเป็นความรุนแรงตามมาทั้งหมด
ทีนี้พอเรามองว่ามันเป็นกระบวนการมากกว่าแล้ว มันจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ แล้วเราจะจัดการกับมันยังไงเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีก ตอนท้ายของวิดิโอเราก็เลยพูดถึงตัวพรบ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย ก็คือเป็นกฏหมายที่ต้องการปฏิรูปในระยะยาว เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือแม้แต่การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมหรือว่าย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คืออาชญกรรมเหล่านี้เค้าเรียกว่าถูก Criminalized ก็คือเป็นอาชญากรรมภายใต้พรบ.นี้ด้วย เราก็หวังว่าพรบ.นี้มันจะสามารถที่จะบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เพื่อที่จะป้องกันเหตุอาชญากรรมทางรัฐต่างๆเหล่านี้ต่อไป แล้วก็หวังว่ามันจะสามารถพัฒนาไปจนถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย เพราะว่าในหลายๆข้อของกฏหมายนี้มันก็สร้างประโยชน์ให้กับกระบวนการยุติธรรมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายๆแง่ได้เหมือนกัน อันนี้ก็จะเป็นคอนเซ็ปงานแล้วก็ที่มาที่ไปค่ะ
สามวันที่ผ่านมา ที่มีคนเข้ามาดูงานของเรา มี Feedback ไหนที่ประทับใจบ้าง
ผึ้ง : คือหลายคนก็สนใจ บางคนก็ไม่รู้จักเคสที่เรายกตัวอย่างมา เราก็ได้เล่าตัวอย่างให้ฟัง แล้วทุกคนก็เห็นด้วย เหมือนเค้าได้เปิดมุมมองมากขึ้น ได้ชวนคิดต่อมากขึ้นแล้วสงสัยต่อเหมือนกัน อย่างเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายภาคใต้อย่างงี้ เชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้ ถ้ายิ่งเป็นรุ่นๆเรา เหมือนว่าตอนเราเด็กๆเราก็ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆแล้วก็ยังคงอยู่ใช่มั้ย แต่ว่าหลายๆคนในสังคมก็อาจจะยังมีความสงสัยว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นแบบนี้ เพราะว่าหลายๆความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตรงนั้นเนี่ยก็เยอะมาก เพราะด้วยกฏหมายพิเศษด้วย มันก็อาจจะเกิดเป็นเคสซ้อมทรมายหรืออุ้มหายได้ มันก็ทำให้เราได้ชวนคุยมากขึ้น คนดูก็ตื่นเต้นด้วยเพราะมันอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วมันใกล้ตัวกว่าที่คิด
แล้วผึ้งคิดว่างานชิ้นนี้มันจะไปทำงานต่อกับคนที่มาดูหรือว่าสังคมของเรายังไงได้บ้าง
ผึ้ง : เวลาที่เราลงไปทำงาน เรารู้สึกว่าเรื่องราวที่เราเจอ, เรื่องราวจากผู้เสียหายหรือจากเหยื่อ มันเยอะมากเลยเนอะ แล้วก็สิ่งที่เราอยากสื่อสารไปมันมีเป็นคลังอ่ะ คือเรามีเยอะมากเลย แบบว่าคนที่ทำงานองค์กรสิทธิ เรื่องราวต่าง ๆ ที่อยากจะสื่อออกไป แต่หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะจัดลำดับความสำคัญของการสื่อสารออกไปได้ดีเท่า การที่เราได้ออกมาจัด Event แบบนี้ ใน Public Space แบบนี้ มันเป็นโอกาสที่ดีมากในการที่จะเอาเรื่องราวจากในคลังหรือในตู้ของเราออกมาสื่อสาร ออกมาบนพื้นผิวให้คนได้เห็น อย่างน้อยแค่เดินเข้ามาดูในงาน ได้เห็นนิด ๆ หน่อย ๆ มันก็รู้สึกว่าได้สร้างอะไรซักอย่างแล้ว
รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)