แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย ว่าชื่ออะไร ทำงานอยู่องค์กรไหน
กัญญ์ : ชื่อ กัญญ์ ทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ประเด็นป่าไม้ที่ดิน ทั้งในเขตป่า นอกเขตป่า แล้วก็สิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์
อยากให้ช่วยอธิบายว่าชิ้นงานมีชื่อว่าอะไร แล้วมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร
กัญญ์ : มันเริ่มมาจากที่เรารู้สึกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องที่เราทำงานด้วยหรือว่าประเด็นที่เราทำงานด้วย มันไม่ค่อยถูกนำเสนอ แล้วก็เราอยากรวบรวมสิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นให้มันอยู่ในรูปแบบใดซักแบบนึง ตอนนั้นก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน จนวันนึงเดิน ๆ ไปแล้วก็เจอหนังสือพิมพ์ ก็เลยคิดเล่น ๆ ว่า “หรือเราจะทำเป็นหนังสือพิมพ์ภาคประชาชนดี เป็น Hard Copy ที่สามารถหยิบจับได้ แล้วก็เป็นข้อมูลสถานการณ์จากประชาชนเท่านั้น” ซึ่งในงานเราก็จะเป็นข้อมูลที่มาจากพี่น้อง ทำไปทำมาแล้วมันก็มาจบที่หนังสือเป็นเล่ม ในหนังสือมันก็จะมีทั้งข้อมูลที่ได้มาจากองค์กร ข้างในนั้นเราก็อยากจะพาย้อนกลับไปดูถึงสาเหตุที่พี่น้องต้องเผชิญ คือการถูกผลักให้เป็นต้นตอ เป็นแพะของปัญหาป่าไม้ที่ดิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้านเรา พี่น้องถูกพูดถึงว่า “คนที่อยู่ในป่านั่นแหละตัดไม้ทำลายป่า คนที่อยู่ในป่านั่นแหละเป็นคนเผาป่า ทำให้เกิด PM2.5” เราก็สงสัยว่า จริง ๆ แล้ว ปัญหาพวกนี้มันเกิดจากอะไรกันแน่ เราก็อยากหาคำตอบเพื่อมาตอบสิ่งที่เราสงสัยเหมือนกันว่า มันเกิดขึ้นเพราะพี่น้องที่เราทำงานอยู่ด้วยจริง ๆ เหรอ มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ตั้งแต่เมื่อไหร่
เราก็เลยย้อนไปเท่าที่เราจะหาข้อมูลได้ ตั้งแต่ยุคสัมปทานป่า เป็นยุคที่รัฐมองทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นสินค้า เป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ มันก็มีการสัมปทานป่า มันก็มีทั้งรัฐไทยกับบริษัทที่ทำสัมปทานจากต่างประเทศ จนมันเกิดมาเป็นกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ที่เกิดขึ้นได้ก็เกิดมาจากการจัดสัมปทานป่าให้เป็นกิจลักษณะ แล้วรายได้ก็จะเข้ารัฐอย่างเดียว จะไม่มีการทำกับบริษัทไม้ต่างประเทศแล้ว ก็คือตั้งกรมป่าไม้มาเพื่อเริ่มจากการสัมปทานป่านี่แหละ แล้วป่าไม้ทางภาคเหนือมันเคยอุดมสมบูรณ์มาก ระหว่างที่เราเจอข้อมูลพวกนี้ เราก็พยายามหาตัวบุคคลที่เราทำงานด้วย สืบไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะคุยด้วยได้ ก็ไปเจอคุณลุงอายุ 70 กว่า ๆ เค้าก็บอกว่าที่บ้านเค้าก็มีนะสัมปทานป่า ตอนนั้นเค้ายังเด็ก ๆ อยู่เลย จะเป็นช่วงปลาย ๆ ปี พ.ศ. 249X เป็นช่วงที่เค้าเจอ แล้วป่ามันก็เสื่อมโทรมไปเลย ป่ามันก็เริ่มเสื่อมโทรมมาก ๆ หลังจากการสัมปทานป่านี่แหละ แล้วเค้าก็มาโบ้ยว่า ชาวบ้านนั่นแหละ เป็นคนตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ภูเขาหัวโล้น อะไรแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วเราอยากพาไปดูจุดเริ่มต้นว่ามันเริ่มจากตรงนี้ ซึ่งมันอาจจะมีสาเหตุอื่น แต่โซนที่เราทำงานมันเริ่มมาจากการสัมปทานป่าในภาคเหนือ เราก็พาดูเรื่อย ๆ ในงานที่เราทำนะ ว่าหลังจากสัมปทานป่าแล้วมันมีอะไรอีก โดยจะเล่าเป็น Timeline เหตุการณ์ทางการเมืองควบคู่ไปกับสถานการณ์ป่าไม้ที่ดิน เทียบให้เห็นว่าการบังคับใช้กฏหมายหรือนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคมันเป็นยังไง อย่างยุคที่เป็นรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการรัฐประหาร มันจะมีกลไกหรือว่าวิธีการที่รัฐใช้ในการปฏิบัติกับชาวบ้านยังไง ส่วนอีกพาร์ทนึงก็จะเป็นบทสัมภาษณ์จากชาวบ้านที่เราทำงานด้วย
ตอนแรกมันก็มีชิ้นงานอยู่ชิ้นเดียว แต่ตอนไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเราก็ไปอัดเสียงไว้แล้วมาถอดเทปเอา ตอนที่ถอดเทปอยู่เราก็รู้สึกว่า เราไม่อยากได้ยินเสียงที่เค้าเล่าให้เราฟังแค่คนเดียว เราอยากให้คนอื่นได้ยินเสียงนี้ด้วย เรารู้สึกว่ามันทำงานกับเรามาก ๆ เลย เสียงที่เค้าพูดออกมามันมีอารมณ์ มันมีความรู้สึกของเค้าอยู่ในนั้นจริง ๆ เราก็เลยเอาเสียงสัมภาษณ์ที่อัดไว้แบบไม่ได้ตั้งใจมาตัดแล้วก็เรียบเรียง เพราะเรารู้สึกว่าเส้นเรื่องหลักของพี่น้อง ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละจังหวัด คนละหมู่บ้าน คนละพื้นที่ แต่ว่า Background มันคือเส้นเรื่องเดียวกัน เราก็ตัดให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน ความยาวประมาณ 7 – 8 นาทีนี่แหละ ก็เลยได้ออกมาเป็นเทปเสียงเป็นงานอีกชิ้นนึง
ส่วนชื่องานเรามันก็มาแบบแว้บ ๆ นี่แหละ เราตั้งชื่องานว่า Side B stories ซึ่งก็ได้แนวคิดมาจากเทป Casette นี่แหละที่มันจะมีหน้า A กับหน้า B เทปหน้า A มันก็จะเป็นเพลงแมส ๆ เพลงดัง ๆ พอหมดเทปหน้า A ปุ๊ปมันถึงจะฟังเทปหน้า B ได้ ซึ่งหน้า B คนไม่ค่อยฟังหรอก มันก็จะเป็นเพลงที่ไม่ค่อยดัง คนไม่ค่อยรู้จัก เรารู้สึกว่าเรื่องของพี่น้องที่เราทำงานด้วย มันเหมือนเรื่องที่มันถูกอัดให้ไปอยู่ในเทปหน้า B เลย ตอนอัดเทปเราก็เลยอัดลงเทปหน้า B ถ้าจะเปิดฟังก็ต้องเปิดฟังที่เทปหน้านี้เท่านั้น แล้วเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐพยายามสื่อสาร การทำให้สังคมพยายามรับรู้เข้าใจมันเหมือนสิ่งที่อยู่ในเทปหน้า A ประมาณนั้น
วารสารภาคประชาชนสามวันที่ผ่านมา ที่มีคนเข้ามาดูงานของเรา มี Feedback ไหนที่ประทับใจบ้าง
กัญญ์ : น่าจะตอนทำโพลแล้วคนมาดูชิ้นงานเรานี่แหละ คือโพลสำรวจความเห็นของเรามันจะมีช่องนึงที่เกี่ยวกับเรื่องคาร์บอน เครดิต การฟอกเขียว ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วคนดูเค้าก็ไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบกับชาวบ้านยังไง นายทุนได้ประโยชน์ยังไง คือนอกจากที่ตัวงานเรามันได้ทำงานแล้ว ตัวเราเองก็ได้สื่อสารกับคนดูเหมือนกัน แต่เราก็ไม่ได้พยายามเข้าชาร์จทุกคนนะ แค่พูดว่า มีอะไรที่สงสัยก็สอบถามได้ ปล่อยให้เค้าได้ดูไป แล้วก็เหมือนจะมีคนนึงที่เค้าเป็นวิศวกรที่บริษัทเค้าทำเกี่ยวกับคาร์บอน เครดิตนี่แหละ เราก็ยืนคุยกันเกือบชั่วโมงเลย คือเค้าก็เปิดนะแล้วเค้าก็ขอให้เราเล่าให้เค้าฟังหน่อยว่า ในอีกมุมนึงที่บริษัทบอกพนักงานว่าเดี๋ยวเราจะเข้าโครงการคาร์บอน เครดิตกันนะ มันจะดีกับเรายังไงบ้าง แต่เค้าไม่รู้เลยว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทเค้าเนี่ย มันมีคนได้รับผลกระทบอยู่ภายใต้โครงการหรือว่าเงื่อนไขเหล่านี้ แล้วเค้าก็ตั้งใจฟังจริง ๆ พอก่อนจะแยกย้ายเค้าก็บอกว่า ขอบคุณมาก มันเป็น 50 กว่านาทีที่มีค่ามาก เค้าไม่เคยรู้เลยว่ามันมีปัญหาเหล่านี้อยู่
ขนาดม๊อบของพี่น้องบางกลอย ภาคีเซฟบางกลอยที่เรารู้สึกว่าก็อยู่ในข่าวกระแสหลักช่วงนึงเลยนะ ที่เค้ามาหน้าทำเนียบ เราก็ถามเค้าไปว่ารู้จักมั้ย เราก็พยายามโยน ๆ สถานการณ์ที่คิดว่าเค้าน่าจะรู้จักประกอบไปกับการอธิบาย แต่เค้าก็บอกว่าไม่รู้จักเลย ไม่ใช่แค่คนนี้นะ แต่อีกหลาย ๆ คนก็เหมือนกัน ซึ่งมันทำงานกับเราด้วยแหละ เราเข้าใจว่าสมัยนี้ คนก็มีความเข้าใจ คนเริ่มมีความเข้าใจในประเด็นพี่น้องชาติพันธุ์มากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นไร่เลื่อนลอย แต่เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจถูกแล้วว่ามันเป็นไร่หมุนเวียน เข้าใจรูปแบบและวิธีการของมัน แต่เหมือนเราจะเข้าใจไปเอง เข้าใจจากบริบทสภาพแวดล้อมที่เราทำงานด้วย เหมือนคนรอบ ๆ ตัวที่ไม่ได้ทำงานประเด็นเรา แต่เค้าก็เข้าใจแล้วก็ไม่ได้มีอคติต่อพี่น้องชาติพันธุ์แบบนั้นแล้ว แต่พอเอางานมาวางในที่สาธารณะ แล้วก็เป็นคนที่ไม่เคยโคจรเข้ามาในเรื่องพวกนี้เลย มันก็ทำให้เราเข้าใจว่า มันต้องทำงานสื่อสารกันอีกหนักเลย เราคิดว่ามันดีขึ้นแล้วนิดนึงแต่ว่ามันยังหนักอยู่ สุดท้ายเราก็พยายามบอกเค้าตลอดว่า สิ่งที่เราพยายามสื่อสารไม่ได้จะเรียกร้องให้สังคมหรือว่าคนที่ไม่ใช่เจ้าของปัญหาต้องมาม๊อบกับชาวบ้านนะ หรือต้องเข้าใจปัญหาทุกอย่างแบบละเอียด เราแค่อยากจะฉายให้เห็นภาพว่า สิ่งที่กำลังกดทับชาวบ้านหรือสิ่งที่ชาวบ้านกำลังต่อสู้อยู่นั้นมันก็เป็นสิ่งที่พวกเราก็เจอเหมือนกันในประเด็นอื่น ๆ แต่ว่ามันคือสิ่งเดียวกัน
แล้วกัญญ์คิดว่างานชิ้นนี้มันจะไปทำงานต่อกับคนที่มาดูหรือว่าสังคมของเรายังไงได้บ้าง
กัญญ์ : เรารู้สึกว่างานเรามันยังทำงานของมันเองได้ไม่ 100% หรอก ถ้ามันไม่มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาประเด็นงาน มาอธิบายให้คนดูฟัง คือมันเป็นงานชิ้นแรกด้วยที่ได้ลองทำเอง ก็รู้สึกว่ามันน่าจะไปต่อยอดเป็นฐานข้อมูล แล้วก็ทำงานสื่อสาร ต้องขยับต่ออีก ก็เลยไม่แน่ใจว่ามันจะทำงานกับสังคมหรือว่าคนดูชิ้นงานเรามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้านับแค่คนที่มาดูงานเราที่งานปล่อยแสง เรารู้สึกว่ามันก็แอบประสบความสำเร็จนิดนึงที่เค้าเปิดรับข้อมูลที่เราเล่าให้ฟัง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเป็นเพราะอะไรนะ แต่เวลาที่เราถามเค้าว่า อยากให้เล่าฟังเพิ่มเติมมั้ย อธิบายเพิ่มมั้ย เค้าก็บอกว่าเล่าให้ฟังหน่อย มันเป็นยังไงต่อ บางคนถึงกับถามว่า แล้วเค้าทำอะไรได้บ้าง เค้าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัญหา เป็นคนธรรมดาจะทำยังไงได้บ้างให้ปัญหานี้มันจบ มีคำถามแบบนี้เหมือนกัน ถือว่ามันทำงานกับเค้ามั้ย ก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าเค้ารับรู้แล้วก็เข้าใจปัญหานี้ เราก็รู้สึกว่าเค้าจะไม่ผลักไสเวลาที่เรามาเรียกร้องหรือเวลาที่พี่น้องมาม๊อบที่กรุงเทพก็อย่าผลักไสกันก็พอ
รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !