พูดคุยกับส้ม อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน ถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในกลุ่มชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม การถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มคนทำลายป่า และความเชื่อในพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ถ้าให้ย้อนกลับไปมองก่อนหน้านี้ ทำไมถึงเลือกมาสมัครโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
” เอาจริง ๆ คำว่า มอส. หรืออาสาสมัครนักสิทธิเป็นเรื่องที่เรารู้สึกใฝ่ฝัน เพราะมีตัวอย่างรุ่นพี่ที่เคยทำ ด้วยที่ว่าสิ่งที่เราทำเรื่องสิทธิ ทั้งการเป็นสตาฟจากค่ายต่าง ๆ แต่เรารู้สึกว่าการที่เราจะยกระดับเกี่ยวกับศักยภาพตัวเองในด้านนี้ มันต้องทำยังไงกันนะ แต่พอเราเห็นรุ่นพี่หลาย ๆ คนที่เขาผ่านการทำโครงการนี้แล้ว เรารู้สึกว่ามันเท่ มันดี แล้วเรารู้สึกว่าได้พบปะเพื่อน ๆ ที่หลากหลาย แล้วมันมีคนที่มีวิสัยทัศน์แนวเดียวกันกับเรา ก็เลยอยากมาสมัครโครงการนี้ “
ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไร
” มันไม่ใช่แค่เรื่องใกล้ตัว แต่มันเกี่ยวกับตัวเราด้วยซ้ำ คือการที่เราเป็นมนุษย์ เรามีสิทธิตั้งแต่เราเกิดมาหายใจในโลกนี้แล้ว แต่ว่าด้วยกรณีของเราที่เกิดมาเป็นชาติพันธ์ุ เรารู้สึกว่าเราเข้าถึงสิทธิยากมาก เราไม่เข้าใจเลยว่า คำว่าสิทธินี่ใช้การได้จริงหรือ แต่เรารู้สึกว่าสิทธิมันเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์และมีพลังมาก แต่เราจะทำยังไงให้คำว่าสิทธิที่มันศักดิ์สิทธิ์สามารถเข้าถึงได้จริง ๆ เรานิยามคำว่าสิทธิเป็นคำที่มีพลัง แม้ว่าคุณจะเกิดมารูปแบบไหน ชาติพันธ์ุหรือสีผิวแบบไหน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน “
บทบาทหน้าที่หรือประเด็นที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง
” เนื่องด้วยตัวตนของส้มเคยเป็นอดีตคนไร้สัญชาติ เราต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของเรามาตลอดเหมือนกัน แต่เราก็ไม่อินกับคำว่า สิทธิ ตอนนั้นเรารู้แค่เป้าหมายของตัวเอง เราก็เลยต่อสู้เรื่องสิทธิของตัวเองมากว่า 20 ปี กว่าจะได้สัญชาติตอนนั้นมารู้ตัวว่า ชุมชนเราไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องสิทธิหรือการไร้สัญชาติอย่างเดียว แต่เรายังถูกละเมิดสิทธิในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การที่จะมีโครงการขนาดใหญ่ เช่นการสร้างเขื่อน หรือว่าการที่เราเป็นชาติพันธ์ุแล้วถูกตราหน้าว่า เราอยู่ป่าแล้วทำร้ายป่า ซึ่งมันไม่ใช่ เรารู้สึกว่าทุกวันนี้การที่เราทำงานกับคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรามองว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนที่มีพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าการที่เราทำงานกับเด็กเยาวชนเราต้องค่อย ๆ เริ่มสร้างเขา ไม่ใช่การบังคับหรือว่าการที่เราจะแพลนให้เขามาทำในจุด ๆ นี้ แต่ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาชอบหรือถนัดให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี หรือเสริมสร้างให้เขามีพลังได้ “
” เป้าหมายอีกอย่างที่อยากทำคือการเปลี่ยนมายเซ็ทค่ะ เราที่เกิดมาเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุ ใช่ เราเป็นชาติพันธุ์ แต่ต้องเข้าใจด้วยเราคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจในการทำอะไรก็ได้ แต่กลายเป็นว่าพื้นที่ที่เราอยู่หรือเกิด กลายเป็นพื้นที่บุกรุก ชาติพันธุ์กลายเป็นกลุ่มทำลายป่า การที่บางทีมีนักวิชาการหรือคนที่มีความรู้ต่าง ๆ มาตัดสินเราโน่นนี่นั่น แต่อยากให้เขารู้แก่นแท้ของสิ่งที่เราทำ Climate change ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คุณมาตัดสินว่าเราเป็นคนทำลายป่า เรื่องนี้มันจริงหรือเปล่า ไร่หมุนเวียนหรือวิถีชีวิตที่เราทำมาตลอด ทำไมป่ายังอยู่ล่ะ พื้นที่ที่เราอยู่ทำไมมันยังเป็นสีเขียวล่ะ หลักฐานมันชัดเจนขนาดนี้ เขามองว่าเราเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจหรือพลังให้กับสังคมหรืออะไรใด ๆ เลย เราในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดี แล้วในสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่ว่าทำเพื่อตัวเราเอง แต่เราทำเราเพื่อสังคมและโลก แต่ทำไมเขาถึงมองเราเป็นคนที่เอาเปรียบสังคม หรือว่ากลายเป็นคนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะเราเข้าใจพ่อแม่รุ่นเก่าของเราก็มีการต่อสู้มาอย่างยาวนานในเรื่องสิทธิของตนเอง เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาแล้ว ในฐานะที่เราเป็นคนรากหญ้าหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ต้องลุกขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างให้มันดีขึ้น “
ถ้าให้สะท้อนในมุมของตัวเองในช่วงระยะเวลาสี่เดือน ปัญหาด้านสิทธิที่เจอมีอะไรบ้าง
” เยอะมาก รู้สึกว่าเรายิ่งทำงานในเรื่องของเด็กเยาวชน เรายิ่งเห็นประเด็นหรือว่าเรื่องสิทธิมันมากขึ้น ถ้ามองใกล้ตัวเรา เรื่องของการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้ามองเด็กชนบทที่เรียนหรือห่างไกลจากตัวเมือง ยังเข้าถึงเครื่องมือสือสารหรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐไม่ได้เลย มันยังมีความไม่เท่าเทียมอะไรหลาย ๆ อย่าง คุณภาพของการเรียนการสอนหรือว่าการใช้ชีวิต ทำไมเลเวลมันไม่เหมือนกัน อันนี้คือความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ยังมีอยู่ แล้วก็สิทธิอย่างหนึ่งของคำว่า ชาติพันธ์ุ อันนี้คือปัญหาที่ทับซ้อนมานาน ด้วยความที่ว่าเราเป็นชาติพันธ์ุปกาเกอะญอก็จะเป็นคนง่าย ๆ ให้ทำอะไรก็ทำหมด คือยอมให้เขาดันเรา แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพี่น้องชาติพันธ์ุที่พร้อมจะลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่มันก็ยังมีการถูกละเมิด ถูกแสวงหาผลประโยชน์ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็ยังมีอยู่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ ๆ ของสังคมที่ยังมีอยู่ค่ะ “
แล้วเคสที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุดคือเคสไหน
” คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ทำหรอก แต่ก็รู้สึกว่าเกี่ยวโยงกันหมดเลย แค่คำว่าสิทธิมันเกี่ยวโยงกับเรื่องการพัฒนา ทั้งด้านรัฐแล้วก็เอกชน ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด เพราะผลประโยชน์ของคนที่ทำมันล้วนเกี่ยวข้องกันหมด การเมืองที่มันเคลื่อนไหวทุกวันนี้มันก็เกี่ยวข้องกันหมด เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องถูกแก้ไขค่ะ มันไม่ถูกต้อง “
ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิในไทยหรือว่าในประเด็นที่เราทำอยู่ คิดว่าตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตด้วย เรามองว่ายังไงบ้าง
” เรารู้สึกว่ามันยังไกลตัวกับเรามาก ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าทุกคนไม่ได้อยู่นิ่ง ทั้งพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนพื้นที่ไหน หรือว่าเด็กเยาวชนหรือผู้ใหญ่ก็ตาม คนทุกคนที่เห็นมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง และสิทธิของตัวเองกำลังถูกละเลย ทุกคนรู้สึกว่าต้องตะโกนขึ้นมาเรียกร้อง ยืนหยัดที่จะต่อสู้ แต่กับคนที่เป็นผู้บุกเบิกหรือผู้ที่กระทำตรงนั้น เขามีผลตอบรับอะไรมาบ้าง เขาแทบไม่มีเลย เราพยายามมองว่าจิตใจของเขาน่าจะมีความรู้ว่ามนุษย์ด้วยกัน น่าจะแคร์กันสักนิดนึงไหม หรือว่า ณ วินาทีนั้นเขาไม่มีความรู้สึกแล้ว แต่เรายังเชื่อนะว่าวันนึง เขาจะก้าวออกมาจากตรงนั้น แล้วมาสัมผัสความจริงว่าพี่น้องประชาชนที่เขาดูแลหรือว่าเขามีหน้าที่ตรงนี้ เขาได้ทำจริง ๆ หรือยัง หรือว่าเขากำลังทำร้ายพี่น้องของตัวเองหรือเปล่า อยากให้เห็นความจริง แต่เรายังยึดติดกับคำว่า ความเชื่อ เพราะเรามีความรู้สึกว่าความเชื่อนั้นมีพลัง วันหนึ่งคนรุ่นใหม่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราเชื่อว่ามันต้องมีซักวันนึงที่จะเป็นของพวกเรา มันจะดีขึ้นในวันนึง “
ถ้าเกิดได้มีโอกาสคุยกับคนที่เค้าไม่รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชน เราอยากพูดอะไรกับเขาบ้าง
” ต้องเปิดโลกทัศน์ให้มันกว้างขึ้น เพราะโลกที่คุณอยู่มันไม่ได้แคบขนาดนั้น มันไม่ได้เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่คุณเห็นแค่นั้น แต่มันยังมีมากกว่านั้น มันยังมีพื้นที่ที่คุณยังไม่เคยก้าวเข้าไป ยังมีคนที่เป็นเหมือนคุณนะ ยังมีคนที่ใช้ชีวิตเหมือนคุณ ต้องการชีวิตที่เสรีภาพเหมือนคุณ อยากให้เขาเข้าใจมากขึ้น เรารู้สึกว่าต้องมีการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะว่าสิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งทำมันไม่ได้ทำเพื่อตัวเราคนเดียว แต่เพื่อตัวเราเอง ในตอนนี้ ปัจจุบัน และอนาคตของลูกหลานเรา การเปิดใจหรือการเปลี่ยนมายเซ็ทเป็นเรื่องที่สําคัญ อย่าไปตัดสินใครบางคนที่ภายนอกหรือจากสิ่งที่เราได้ยินมา โดยเฉพาะการเสพสื่อ เราเข้าใจว่าสื่อเป็นเรื่องที่ไวและมีคุณภาพมาก แต่อยากให้เข้าใจว่าการที่คุณเข้าถึงตรงนี้ ถ้าคุณเอะใจซักหน่อย ลองไปสัมผัสของจริงว่าเป็นอย่างที่เขาพูดไหม เป็นอย่างที่เขาทำไหม แล้วมันจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันในสื่อ หรือมีเพื่อนมาบอกต่อ ๆ กัน หรือคนอื่นพูดมาเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า การที่เราลงพื้นที่หรือไปสัมผัสจริง มันคือสถานการณ์จริง มันไม่ใช่เรื่องเฟค เพราะคุณไปสัมผัสของจริง กับคนจริง ๆ ที่เขาพูดถึง ไม่ใช่การที่เราส่งสารจากคนต่อคน อันนี้คือเรื่องจริงค่ะ “
หลังจากที่จบโครงการนี้แล้วจะทำงานในรูปแบบของตัวเองยังไง
” จริง ๆ ส้มตั้งความหวังก่อนที่จะเรียนจบแล้ว ย้อนไปก่อนหน้านั้นครอบครัวของส้มพยายามตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไปเรียนอย่างอื่น มีเงินเดือนดี ๆ เพราะว่าเราเข้าใจสถานะของครอบครัวเราไม่ค่อยดี เราเกิดในพื้นที่ไกลความเจริญ พ่อแม่ต้องการสวัสดิการที่ดี และก็มีน้องที่ต้องส่งเรียน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันยังมีปัญหา วันนึงจะจบมาเมื่อไรต้องยอมให้ปัญหาเหล่านั้นมันเหยียบจมเราอยู่ มันไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้มั่นคง สุขสบาย แล้วมันจะรู้สึกสบายได้ยังไง มันจะมั่นคงได้ยังไง เพราะชุมชนของคุณจะถูกทำลาย เพราะว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาถูกแย่งสิทธิ ถูกละเมิดสิทธิ แล้วเขาต้องจมอยู่กับปัญหาที่มันไม่ได้ก่อเหรอ เขาจะมีชีวิตที่ต้องทุกข์ทรมานหรือต้องยอมกับคนที่กดขี่ เรารู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผล มันถึงเวลาให้กับคนรุ่นเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยมีอะไร ซัพพอร์ทจากผู้ใหญ่ที่เห็นต่างกับเรา แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์ เราจะยังทำมันต่อไป ไม่ได้บอกว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ไม่ได้บอกว่าเราจะทำตลอดไปมั้ย เมื่อใจเรามีไฟก็ยังทำต่อไปเรื่อย ๆ เราก็ทำให้เต็มที่ ทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดหรอก “
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)