พูดคุยกับกัญญ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ถึงประเด็นสิทธิในที่ดินทำกิน เคสของแสงเดือน ตินยอด หนึ่งในเหยื่อทวงคืนผืนป่า และการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่อยากช่วยให้รากของปัญหาเชิงโครงสร้างหายไปเร็วๆ

ทําไมถึงเลือกที่จะมาสมัครเป็นอาสานักสิทธิ

“เราสนใจประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เริ่มจากช่วงของภาคีเซฟบางกลอย ตั้งแต่ช่วงนั้นก็รู้สึกสนใจในประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์แล้วก็เรารู้สึกว่าทั้งประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์หรือว่าประเด็นอื่นๆ ในด้านประเด็นสิทธิหลายๆ ด้าน มันยังไม่ได้พูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางหรือแพร่หลายมาก อย่างบางประเด็นที่มันเป็นเฉพาะกลุ่ม เช่นประเด็นชาติพันธ์ุ แรงงาน หรือว่าซ้อมทรมานอุ้มหาย ที่เพื่อนๆ ทํา เรารู้สึกว่าสังคมรับรู้ปัญหาประเด็นเหล่านี้น้อยมาก ถ้าเป็นไปได้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบเอาประเด็นปัญหาที่มันเกิดในพื้นที่ที่เกิดกับชาวบ้านจริง เอามาสื่อสาร เผยแพร่กับสังคมสาธารณะ”

“และความคาดหวังส่วนตัวเราคิดว่าโครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ ของ มอส. น่าจะช่วยเปิดมุมมอง ทัศนคติกับประเด็นสิทธิของเราให้มันกว้าง ลึกขึ้น ซึ่งเท่าที่ทํางานมาสี่เดือนเรารู้สึกว่ามันค่อนข้างตอบในความต้องการข้อนี้ เพราะว่าเราเข้ามาสนใจในประเด็นของพี่น้องชาติพันธ์ุอย่างเดียว แต่พอได้มาทํางาน เราเห็นว่าในปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์ มันไม่ได้มีแค่เฉพาะเรื่องประเด็นชาติพันธ์ุ แต่มันยังมีเรื่องที่ดิน ทํากิน ที่อยู่อาศัย เรื่องทรัพยากร มันเปิดมากขึ้น มันมีหลายประเด็น หลายปัญหาที่มันยึดโยงกันอยู่”

ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

“เราคิดว่ามันน่าตั้งคําถามมากกว่า ว่าทําไมสังคมบ้านเราทุกวันนี้มันยังมีปัญหาด้านสิทธิต่างๆ เหล่านี้อยู่ เราก็ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วปัญหาเหล่านี้มันเกิดจากอะไร ทำไมมันถึงแก้ไม่ได้สักที ทำไมมันยังเกิดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวี่ทุกวันแบบไม่จบไม่สิ้น เราว่าความน่าสนใจน่าจะเป็นการตั้งคำถามที่ว่า แล้วสังคมเราตอนนี้มันเป็นสังคมแบบไหน มันเป็นสังคมที่ออกแบบไว้ยังไง ที่ทำให้คนในสังคมที่ตระหนักเรื่องสิทธิ์ ทั้งสิทธิ์ของตัวเองแล้วก็ของคนอื่นมีค่อนข้างน้อย บางทีเราอาจจะเป็นคนไปละเมิดสิทธิคนอื่นโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวหรือว่าอาจจะตั้งใจ แต่ก็คิดว่าไม่ได้เป็นอะไรขนาดนั้น หรือเราอาจจะถูกละเมิด ถูกริดรอนสิทธิของตัวเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่รู้ว่ามันมีสิทธิ์นี้อยู่ เพราะเราไม่รู้ว่าเรามีสิทธิ์นี้”

“อาจจะถามต่อไปว่า งั้นเท่ากับว่าสังคมของเราในทุกๆ ภาคส่วนที่มันเกี่ยวข้อง มันไม่ได้ให้ความสําคัญ หรือว่าไม่ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักที่ถูกต้องให้กับคนในสังคม เพื่อให้เขามีความรู้เรื่องสิทธิทุกอย่างเลยนะ ให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ได้สร้างความเข้าใจว่ามันมีเส้นอยู่ ที่จะบอกว่าเกินกว่านี้คือละเมิด อะไรประมาณนี้”

ช่วยขยายประเด็นที่ทําอยู่ตอนนี้ รวมถึงบทบาทหน้าที่ทําอะไรอยู่ มีอะไรบ้าง

“ประเด็นที่องค์กรเราทําอยู่ มันเป็นงานสองถึงสามส่วนใหญ่ๆ ก็คือเป็นงานลงชุมชน ลงพื้นที่ มันจะเป็นงานจัดตั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชน คือเราไม่ได้เป็นองค์กรที่ไปบอกทุกอย่าง หรือไกด์ว่าคุณต้องทําอย่างนี้นะ แต่เหมือนเราไปซัพพอร์ทเค้ามากกว่า ไปซัพพอร์ทความต้องการของเขา อย่างเช่นชุมชนนี้มีประเด็นปัญหาเรื่องนี้ ตอนนี้เขามีปัญหาอะไรอยู่ในมือ เขาขาดอะไรที่เราต้องเติมให้ หรือว่าถ้าเราเติมสิ่งนี้ไป เขาน่าจะได้รับเครื่องมือหรือกลไกอะไรไปใช้ต่อสู้กับปัญหาหรือภาครัฐได้ เราก็จะซัพพอร์ทเขาในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เรายังยืนยันว่า เราต้องให้ชุมชนขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ เราทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเฉยๆ”

“อีกส่วนหนึ่งจะเป็นงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ก็ต่อมาจากพี่น้องนี่แหละ มาจากความต้องการของชาวบ้านว่าเขามีความต้องการอะไร ทํามาเป็นข้อร้องเรียน ทํามาเป็นหนังสือ หรือว่าทําร่าง พรบ. อย่างช่วงปีก่อน พรบ. คุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองแล้วก็ชาติพันธ์ุ ล่ารายชื่อกัน ส่งเข้าสภา แต่ก็ยังคาไว้อยู่ ก็คือผลักดันแบบองค์กรที่เขาผลักดันมาตลอด”

“ส่วนสุดท้ายจะเป็นงานสื่อสาร รงค์ณรงสื่อสารสาธารณะ คือเอาประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่หลักที่เราทําอยู่ ซึ่งก็มีการลงพื้นที่ด้วย เหมือนกับพี่เขาบอกความต้องการว่า อยากให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารเป็นคนที่ได้ไปเห็นปัญหา ไปเห็นสภาพจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ไปเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง แล้วเราจะเอาอะไรมาสื่อสาร ซึ่งมันก็ค่อนข้างตรงกับความต้องการของเรา เราอยากช่วยสื่อสารสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับสังคม ส่วนใหญ่ก็จะลงพื้นที่ ทําสื่อ PR ลงเพจขององค์กร ถ้าเป็นประเด็นปัญหาร้อน อย่างเช่นชาวบ้านไปยื่นหนังสือ ไปคัดค้าน หรือมีความเคลื่อนไหว เราก็จะเก็บภาพ ถ่ายวิดิโอ แล้วก็มาประมวลเป็นคลิป ซึ่งจะมีพี่คนหนึ่งที่เขียนข่าวแล้วใช้ภาพของเราส่งไปตามแหล่งข่าว ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยสื่อสารประเด็นปัญหาของพี่น้อง นอกจากช่องทางของเพจเรา”

ถ้าให้ลองสะท้อนในมุมของเราตั้งแต่ ช่วงเวลาเริ่มวาระสี่เดือนที่ผ่านมา เราเจอปัญหาด้านสิทธิหรือว่าการละเมิดสิทธิอะไรบ้าง และเคสที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุด

“เป็นสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทํากิน หรือแม้แต่เรามองในมุมของความเป็นมนุษยคนหนึ่ง ในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัย สี่ การที่จะอยู่บ้านของตัวเราเองด้วยความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง ไม่ต้องกังกลว่าวันหนึ่งเรานอนอยู่ในบ้านแล้วจะมีคนมาไล่เรา หรือลากเราออกจากบ้าน ชาวบ้านหรือพี่น้องยังมีความกังวลใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่มันเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐ อย่างพื้นที่ในเขตส่วนใหญ่จะเป็นเขตป่าที่เจอปัญหานี้ ก็คือจะเป็นกับกรมอุทยาน กรมป่าไม้  ป่าสงวน เขตรักษาพันธ์ุ เขตห้ามล่า คือเรารู้สึกว่า ขอบเขตอํานาจของเจ้าหน้าที่มันค่อนข้างไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่”

“คือในพรบ. เขาระบุชัดเจนเลยว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ในการบุกค้น จับกุม หรือนําตัวไปสอบสวน ถ้าเกิดสงสัยว่าคนๆ นี้เป็นผู้ต้องหาหรือผู้ที่กระทําผิด บุกรุกป่า ถางป่า หรือทําลายทรัพยากร เจ้าหน้าที่มีสิทธินั้นทันที ไม่ต้องขอหมายศาล มีสิทธิเท่ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจเลย เรารู้สึกว่าสิ่งที่ชาวบ้านกําลังต่อสู้อยู่ มันเป็นสิ่งพื้นฐานมากๆ ที่เราก็ตั้งคําถามกับตัวเองว่า บ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ทํากิน หรือสิทธิที่เราจะประกอบอาชีพ มันต้องต่อสู้ ดิ้นรน เรียกร้องขนาดนี้เลยเหรอ เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ ถึงแม้ว่าชาวบ้านเขาจะมีหลักฐาน มีข้อมูลว่าเขาอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฏหมายอุทยาน พรบ. ป่าไม้หรืออะไรก็ตาม แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่รัฐจะรับฟังขนาดนั้น เขาไม่ได้สนใจว่าคุณจะอยู่มาก่อนหรือมาอยู่ทีหลัง แต่ว่าตอนนี้มีกฏหมายแล้ว เขาจะบังคับใช้กฏหมาย เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ออกก็เท่ากับว่าคุณบุกรุก เหมือนเขาไม่ได้พยายามที่จะทําความเข้าใจในวิถีชีวิต ในตัวตน ในวัฒนธรรม หรือว่าอะไรก็ตามแต่ที่ชาวบ้านเค้าดํารงอยู่ รัฐไม่ได้พยายามที่จะทําความเข้าใจ”

“อย่างเคสพี่น้องชาติพันธุ์ก็จะมีเรื่องไร่หมุนเวียน สมมุติว่าเขามีพื้นที่เท่านี้ เขาก็จะแบ่งเป็นส่วนๆ ปีนี้ทําตรงนี้ มีขอบเขตนะ หมดฤดูกาลของปีนี้ก็ขยับไปทําอีกที่หนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขต เพื่อให้พื้นที่ที่พึ่งทําไปมันฟื้นฟูด้วยตัวเอง แล้วก็จะขยับไปๆ ยํ้าว่ามีขอบเขตไม่ได้ไปบุกรุกเพิ่ม แต่ว่ารัฐไม่ได้เข้าใจในวิธีการตรงนี้ มันจะมีเงื่อนไขว่า เวลาเจ้าหน้าที่อุทยานเขาจะกำหนดขอบเขตพื้นที่อุทยานของเขา เขาก็จะมาเจรจาหรือมาแจ้งว่าเขาจะเอาเท่าไหร่ ขอบเขตถึงไหน แล้วเขาก็จะมีภาพถ่ายทางดาวเทียมมากางให้ดูว่า ปีนี้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่า ต่อมาพื้นที่ตรงนี้เหมือนป่ามันหายไป สมมุติว่าปีนี้มีป่า ภาพตรงโซนนั้นมันอาจเป็นพื้นที่ที่พี่น้องเขาปล่อยให้มันฟื้นฟูตัวเองจนมันกลายเป็นป่า แล้วอีกปีนึงมันหายไป ก็คือพี่น้องเขามาใช้สอยพื้นที่ตรงนั้นมาทําไร่หมุนเวียน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่รัฐไม่เข้าใจ ถึงแม้เขาใช้เหตุผลว่าไม่ได้เป็นการใช้พื้นที่แบบต่อเนื่อง ถ้าใช้ไม่ต่อเนื่องก็ถือว่าคุณไม่ได้ใช้ แล้ว ถ้าคุณกลับมาใช้ใหม่ ถือว่าคุณไปบุกรุกเพิ่ม คือเขาไม่ได้พยายามทําความเข้าใจ เรามองว่าเขาไม่ควรตั้งตัวเป็นคู่กรณีหรือว่าคู่ขัดแย้งกับประชาชน”

“อย่างเคสของพี่แสงเดือน เป็นเหยื่อของทวงคืนผืนป่า นโยบายของ คสช. ตอนปี 57  คําสั่งที่ 64/2557 ทั้งประเทศมีเหยื่อทวงคืนผืนป่า ทั้งที่แบบเจอตัวเหมือนกับมีผู้กระทําผิด รัฐสามารถชี้ได้ว่าคนนี้ทํา แต่จะเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะพบว่าพื้นที่มีการถูกใช้แต่ไม่เจอว่าใครเป็นคนใช้ เราก็จะเรียกว่าคดีแห้ง ทั้งคดีแห้งแล้วก็คดีที่เจอตัวรวมกว่าสี่หมื่นหกพันคดีตั้งแต่ปี 57 จากคําสั่งนโยบายเดียว”

“เคสของพี่แสงเดือนเป็นหนึ่งในนั้น เขาก็สู้มาตลอด เขาทํากินในพื้นที่ของตัวเองที่ได้รับเป็นมรดก เป็นที่ดินที่ทํากินมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ในเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางผาไทย จังหวัดลําปาง เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยาน มันน่าหดหู่มากตรงที่ว่า ทามไลน์เหตุการณ์ของคดีก็คือเขาทําสวนยางพารา แล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ถ้าจําไม่ผิดอาจเป็นป่าสงวน มาบอกว่าพื้นที่ที่ใช้ทําสวนยางมันเป็นพื้นที่ของเขา เขาบอกให้พี่แสงเดือนตัดต้นยางพาราทิ้ง ทั้งๆ ที่พึ่งจะได้กรีดนํ้ายางเอาไปขาย ถ้าไม่ตัดทิ้งด้วยตัวเองเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะมาตัด แล้วก็จะมาเก็บเงินค่าตัดจากพี่แสงเดือนด้วย พร้อมกับจะดําเนินคดี แล้วพี่แสงเดือนก็จําเป็นต้องตัด เพราะว่าไม่อยากถูกดําเนินคดี ตัดไปร้องไห้ไป เพราะมันคือเงิน มันคือแรงที่ลงไปกว่าจะปลูกต้นยางขี้นมาได้เป็นต้น ความหวังในกําไรและรายได้มันอยู่ตรงนั้น เหมือนเขาต้องตัดทิ้งไปด้วยมือของเขาเอง”

“แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ในการดูแลของหน่วยงานเขา มันเป็นพื้นที่ในเขตอุทยาน เขาก็เหมือนไม่ได้ยอมรับผิดนะว่า มันไม่ใช่ขอบเขตการทํางานของเขา แต่เขาส่งเรื่องต่อมาที่อุทยาน ก็คือให้อุทยานดําเนินการต่อเลยว่า โอเค พื้นที่นี้อยู่ในหน่วยงานของคุณก็ดูแลต่อเลย ส่วนความผิดที่ฉันมาให้ชาวบ้านตัดทรัพย์สินของตัวเองก็ลอยตัวไป แล้วหลังจากนั้นอุทยานก็เข้ามารับเรื่องดําเนินคดีต่อ สู้กันมา ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แล้วก็ให้หน่วยงานกรมป่าไม้ชดใช้ค้าเสียหาย และให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ว่าพี่แสงเดือนมีสิทธิในการทํากินในที่ดินตรงนั้นจริงๆ ไหม”

“ซึ่งย้อนกลับไปน่าจะประมาณปี 2540 เป็นช่วงที่พี่แสงเดือนยังไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ รุ่นบรรพบุรุษใช้พื้นที่ตรงนี้อยู่ ก่อนกรมป่าไม้จะกําหนดขอบเขต พื้นที่ ตอนนั้นเขาก็บอกเราว่า ถ้าเกิดมีคนใช้อยู่กินตรงนี้ก็ให้มายืนยันสิทธิ์ มาบอกเขาว่าใช้ที่ตรงนี้ มาแจ้งที่อําเภอแล้วเขาก็จะจัดการพื้นที่ของคุณออก จะไม่รวมไว้ เราก็อ่านคําตัดสินของศาลไป แล้วก็คิดตามว่า ในยุคนั้นสมัย นั้นการสื่อสารจากหน่วยงานราชการหรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ มันไปถึงชาวบ้านจริงๆ ไหม ชาวบ้านเขารู้ไหมว่า เขาต้องมายืนยันสิทธิ์ ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะถือว่า คุณสละสิทธ์ินั้นไป เท่ากับว่ามันก็ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินของเราแล้ว ถ้าเราไม่ไปยืนยันสิทธิ์ภายใน 90 วัน หรือ 120 วันนี่แหละ”

“ซึ่งเคสพี่แสงเดือนก็เป็นแบบนี้เลย คนใช้ที่ดินก่อนหน้าพี่แสงเดือน เขาไม่ได้ไม่ยืนยันสิทธิ์ตรงนี้ เหมือนสืบไล่ขี้นไป ศาลชั้นต้นก็เลยสรุปว่า ไม่มีสิทธิในที่ทํากิน แต่ว่าก็ต้องชดเชยค่าเสียหาย และทางอุทยานก็อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ก็กลับคําตัดสินให้ลงอาญา ถ้าจําไม่ผิด แล้วเราก็สู้มาถึงศาลฎีกา โอกาสมันห้าสิบห้าสิบมาก แล้วก็ประเมินว่าคําตัดสินจะเป็นยังไง เพราะว่าศาลชั้นต้นก็ยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์มันกลับคำตัดสิน แล้วเราพยายามทําทุกอย่างที่จะให้กรณีของพี่แสงเดือนมันไปถึงสังคมจริงๆ เพราะว่าเคสของพี่แสงเดือน มันเป็นหนึ่งในเหยื่อของทวงคืนผืนป่า ถ้าคําตัดสินของศาลฎีกามันออกมาในรูปแบบไหน มันจะเป็นมาตรฐานที่ศาลจะใช้กับคดีของเหยื่อทวงคืนผืนป่าคนอื่นๆ ได้ เราลุ้น เราประเมินกันหนักมาก แล้วก็ไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาที่กรุงเทพ ขอเลื่อนการอ่านคําพิพากษาออกไปได้ไหม หรือว่าให้พิจารณาใหม่ได้ไหม คือเราไม่รู้เลยว่าจะออกมาเป็นยังไง เราก็ทําทุกอย่างเท่าที่จะทําได้ จัดเวทีเสวนา เอานักวิชาการ เชิญพรรคการเมือง หรือองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกันในเคสนี้ ว่าจริงๆ แล้วมันควรจะเป็นยังไง ซึ่งมันก็ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า มันไม่เป็นธรรมกับเหยื่อ”

“เหมือนเคยได้ยินพี่แสงเดือนพูดว่า เค้าก็รู้ว่าสิ่งที่เค้าเจอมันไม่ยุติธรรมกับเค้า แต่เค้าก็บอกว่ามันต้องยอมรับในความไม่ยุติธรรมนั้น เพราะเราไม่ได้มีอํานาจเท่ากับคนที่ใช้กฎหมาย มันจุกมาก แต่เค้าก็สู้เต็มที่ ทําทุกอย่างจริงๆ จนมาถึงวันอ่านคําพิพากษาศาลว่ามันจะเป็นยังไง อย่างน้อยที่สุดก็รอลงอาญา เพราะว่าถ้าลงอาญา ศาลอ่านเสร็จแล้ว เค้าก็ต้องเข้าเรือนจําเลย เพราะมันเป็นศาลฎีกาแล้ว อย่างน้อยสุดรอลงอาญา แต่อย่างดีก็ยกฟ้องไปเลย แต่เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะยกฟ้องหรอก”

หมายถึงว่าในกระบวนการทั้งหมดมันยังไม่เสร็จสิ้น แล้วพี่เค้าก็ยังต้องอยู่ในกระบวนการนี้ต่อใช่ไหม

“ปัจจุบัน อ่านคําพิพากษาตอนเดือนกันยายน เป็นศาลฎีกาศาลสุดท้ายแล้วที่ไปเจรจา ไปยื่นหนังสือให้ประธานศาลฎีกา ที่กรุงเทพ ขอให้เลื่อน เค้าก็บอกว่าปัดคําตัดสินมันออกไปแล้วลงคําตัดสินไปที่ศาลลําปางแล้ว มันไม่เกี่ยวกับเขาแล้ว  ถ้าจะมาเรียกร้องก็ต้องไปที่ศาลลําปาง ซึ่งเค้าก็ไม่เลื่อน เค้าก็ยืนยันว่าจะอ่านวันเดิม เราก็ทําอะไรไม่ได้  เพราะว่าเราทําทุกอย่างแล้วจริงๆ “

“คือเหมือนองค์กรเรา เค้าดูแลเคสของพี่แสงเดือนตั้งแต่แรกเลย พี่ทนายแย้ก็เป็นทนายที่ดูแลคดีของพี่แสงเดือน ผลมันก็ออกมาในรูปแบบรอลงอาญา แต่เราไม่ได้มองว่าการที่พี่แสงเดือนไม่ต้องเข้าเรือนจําทันทีจะเป็นชัยชนะ หรือความสําเร็จของคดีนี้ เพราะสุดท้ายแล้วเค้าก็ไม่ได้มีสิทธิในที่ดินทํากินของตัวเอง แล้วเค้าก็ไม่ได้รับการชดใช้จากหน่วยงานรัฐ จากทรัพย์สินพืชผลทางการเกษตรที่เสียไป เค้าต้องทํากิจกรรรมสาธารณะประโยชน์ ต้องมารายงานตัว รอลงอาญาประมาณปีถึงสองปี มันสะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่าง”

ถ้าเกิดให้ลองมองสถาณการณ์ด้านสิทธิ ตั้งแต่ที่เราทํางานมา ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เราคิดว่ามันขยับจะไปยังไงได้บ้าง

“เราว่ามันจะขยับต่อไป แต่เราไม่รู้ว่ามันจะต้องใช้เวลาขนาดไหนที่มันจะขยับไปถึงจุดที่คนในสังคมมีความเข้าใจตระหนัก แล้วก็เคารพความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิ์ของตัวเอง แล้วก็สิทธิ์ของคนอื่นได้ ไม่รู้ว่ามันจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เราไม่รู้เลย แต่ทุกวันนี้อย่างที่บอกไปว่ามันยังไม่ได้มีสแตนดาร์ดเดียวกัน อย่างเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้มีสแตนดาร์ดร่วมกันชัดเจน ที่จริงมันอาจจะมี แต่เราไม่รู้ว่ามันมีระดับไหนถึงจะเรียกว่าเท่านี้ละเมิด เท่านี้ไม่ละเมิด แล้วทำแบบนี้เราละเมิดไหม เขาทำแบบนี้เขาละเมิดเราหรือเปล่า เราว่ามีมันมีเส้นที่กำหนดไว้อยู่ว่ามันได้เท่าไหร่ เท่าไหร่คือไม่ได้ แต่เส้นนี้มันไม่ได้ถูกส่งต่อเป็นความรู้ ความเข้าใจให้กับคนในสังคม เราว่ามันมีอยู่ในทุกส่วนของสังคม เกี่ยวกับปัญหาสิทธิ ทุกคนสามารถเป็นทั้งเหยื่อที่ถูกละเมิดก็ได้ หรืออาจจะเป็นผู้ละเมิดก็ได้ จากประชาชนด้วยกันเอง จากคนในสังคมด้วยกันเอง”

“แม้แต่สถาบันครอบครัว พ่อแม่ละเมิดสิทธิ์ลูก โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังละเมิดสิทธิ์ของลูกอยู่ ถ่ายรูปลูก ต่อให้ถามเด็กแล้วว่าแม่ขอถ่ายได้ไหม พ่อขอถ่ายได้ไหม เด็กมันก็ตอบว่าได้หมดแหละ เพราะเป็นพ่อเป็นแม่ ด้วยความที่เด็กไม่ได้ไม่รู้เรื่อง แต่ก็มันก็มีเด็กที่ไม่โอเค เราอาจจะคิดว่าเป็นพ่อแม่ เราอาจจะปฏิบัติกับลูกแบบนี้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงข้างในของเด็กว่าเขาต้องการหรือไม่ หรือแม้แต่สถาบันการศึกษา ครูถ่ายนักเรียนเป็นคอนเทนต์รายวันเลย ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลากรทางการศึกษาน่าจะเป็นคนที่เข้าใจ แล้วก็ตระหนักได้ว่า นักเรียนไม่ใช่สิ่งที่เขาจะเอามาใช้ในการสร้างความบรรเทิงแบบนี้ได้ แต่ก็มันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เค้าอาจขํา แต่เด็กไม่ได้ขํา”

“แล้วก็ในสถาบันสังคมใหญ่ อย่างที่เราบอก ทุกคนถูกละเมิดทั้งที่ไม่รู้ตัวหรืออาจรู้ตัว แล้วถ้าเราถูกละเมิดเราจะทํายังไงต่อ ไปแจ้งความไหม แล้วมันจะยังไงต่อ ตํารวจจะรับเรื่องไหม ตํารวจจะพิจารณาแค่ไหนบ้าง หรือตํารวจจะเจรจาไกล่เกลี่ยว่าแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ยอมๆ กันไป อย่าให้เป็นเรื่องราวต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเลย กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ซัพพอร์ทขนาดนั้น มันเกี่ยว มันเกี่ยวไปหมดเลย หรือแม้แต่รัฐเอง รัฐหรือหน่วยงานรัฐเองหลายครั้งก็เป็นคนที่ละเมิด ใช้อำนาจที่ตัวเองมีในมืออย่างกฎหมาย ละเมิดประชาชนเองด้วยซ้ำ ถ้าเกิดเรามีความเข้าใจร่วมกันว่าเท่านี้แหละละเมิด เราถูกละเมิดแล้วเราจะทำยังไงต่อ แล้วถ้าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไปร้องเรียน ไปแจ้งความ บางทีเราว่าจุดนี้หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าถ้าเราเจอสถานการณ์ที่ถูกละเมิดแล้วเราจะทำยังไงต่อ บางทีอย่างเช่นที่รัฐเป็นผู้ละเมิดเอง แม้มันจะมีกฏหมายว่าเจ้าหน้าที่ใช้อํานาจเกินขอบเขตมันผิด ถึงจะมีระบุไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติมันก็ไม่ได้เห็นผลจริงๆ “

“แต่เราว่ามันต้องไม่หยุดพูด ไม่หยุดตั้งคําถาม ลองทําดูถ้าอันนี้ไม่เวิร์คก็หาวิธีใหม่ เพราะมันมีคนในสังคมจำนวนมากที่เห็นปัญหานี้เหมือนกัน เห็นว่ามันต้องแก้ ต้องขับเคลื่อนต่อ อาจลองมองหาเครือข่ายหรือคนที่มีจุดร่วมเหมือนกัน เราจะได้มีแรงทําต่อ จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เราว่ามันจะดีขึ้น เรายังหวังว่าสักวันในวันที่เราโตขึ้นกว่านี้ อายุมากว่านี้ เราก็ยังฝันที่จะเห็นภาพตัวเองอยู่ในสังคมบ้านเราที่เคารพซึ่งกันและกันมากกว่านี้  มองเห็นความเป็นมนุษย์มากกว่านี้”

ถ้าเกิดหลังจากจบโครงการนี้ เราจะทํางานประเด็นด้านสิทธิยังไงต่อในรูปแบบของตัวเอง

“ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าเราจะยังทํากับองค์กรอยู่ไหม สมมุติว่าสุดท้าย 1 ปีแล้ว เราอาจจะยังไม่เหมาะกับงานที่เป็นนักพัฒนาแบบนี้ หรือว่าเป็นนักสิทธิฯสักเท่าไร ก็อาจจะกลับไปอีกสายงานหนึ่งที่เรายังชอบอยู่ก็คือสายการศึกษา เรารู้สึกว่าไม่ว่าเราจะทํางานอยู่ตรงไหนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน เรารู้สึกว่า ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ เราเห็นปัญหาแล้ว มันมีทางให้เราเคลื่อนต่อได้เสมอ เราจะยังเป็นฟันเฟืองอยู่ในสังคมต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรไหน ภาคส่วนไหนของสังคม ถ้าเราเห็นแล้วเรารู้สึกว่ามันต้องแก้ มันต้องเคลื่อนต่อ มันก็ต้องทําต่อ แต่ถ้าเห็นแล้ว คิดว่ามันแก้ไม่ได้ คิดว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เป็นไร ชั่งมัน มันก็ทําอะไรต่อไม่ได้ ในกับความคิดเรานะ ถ้าเรามีความคิดว่าทํามา 1 ปีแล้วไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนไป พี่น้องก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น หรือว่าไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้รับอยู่ดีก็ชั่งมันเถอะ ถ้าเรามีความคิดแบบนั้นเราก็คงกลับเข้าสู่แรงงานในระบบทุนนิยม”

“แต่ ณ ตอนนี้ที่ทํามาก็รู้สึกว่ามันต้องใช้เวลา เราเข้าใจว่ากําลังต่อสู้กับอะไร มันเป็นโครงสร้างที่รากมันหยั่งลึกมากๆ มันไม่สามารถใช้เวลาแค่ปีสองปีถึงจะดึงรากมันขึ้นมาได้ มันต้องใช้เวลา เราเข้าใจในเงื่อนไขนี้ แต่มันต้องทําต่อ ถ้าเรารอเวลา สักวันต้นไม้ต้นนี้หรือโครงสร้างนี้ที่มันเป็นปัญหามันก็อาจล่มด้วยตัวมันเองก็ได้ แต่ถ้าเราแค่รอเวลาให้มันตายไปเอง เราว่ามันช้า แต่ถ้าเราที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ในโครงสร้างนี้ ทําอะไรสักอย่างไปเรื่อยๆ  ช่วยให้มันตายเร็วขึ้น มันก็จะตายเร็วขึ้นซักปีสองปีก็ยังดี ดีกว่าปล่อยให้มันตายไปเอง”

ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai