รู้หรือไม่ว่าวัว 1 ตัว สามารถตัดแต่งเนื้อวัวมาขายได้มากกว่า 15 ส่วน และส่วนที่แพงที่สุดอาจจะราคาสูงมากกว่า 2,000 บาทต่อกิโลกรัม!!

ใครที่เป็นสาวกสเต๊กเนื้อวัว อาจจะคุ้นเคยกับราคาสเต๊กเนื้อวัวที่สูงกว่าสเต๊กหมู สเต๊กไก่ หรือสเต๊กอื่น ๆ สเต๊กไก่อาจจะขายราคาเริ่มต้นที่จานละ 59 บาท ในขณะที่สเต๊กเนื้อวัวอาจจะขายเริ่มต้นที่จานละ 100 กว่าบาทเลยทีเดียว พอลองมองแบบนี้แล้ว เราอาจคิดว่าเกษตรที่เลี้ยงวัวต้องมีรายได้สูงแน่ๆ เพราะพวกเขาคงสามารถขายเนื้อวัวได้ในราคาที่แพง…แต่ความจริงแล้วกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

“พ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ เวลาขายวัว เขาจะมาต่อรอง พ่อค้าจะเตี๊ยมคนเข้ามาซื้อ คนนี้สมมติให้หนึ่งหมื่น คนต่อมาก็ให้แค่เก้าพัน แปดพัน เราไม่มีอำนาจต่อรองราคาเลย ได้เงินมาก็ไม่คุ้ม เพราะว่าต้องซื้ออาหารจากเขามาเลี้ยงวัว เขาก็หักเอาหมด” นี่คือเสียงสะท้อนของคุณเวธิน สุวรรณภักดี รองประธานสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ ตำบลเขวาไร่ จำกัด

ชาวบ้าน ต.เขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ส่วนใหญ่ทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเกษตรพันธสัญญา โดยถูกนายทุนผูกขาดในการให้ซื้อพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ จากบริษัทของนายทุนเจ้าเดียวเท่านั้น และต้องเลี้ยงสัตว์ให้ได้สเปกตามที่นายทุนต้องการ อีกทั้งพวกเขายังขายวัวแบบทั้งตัว โดยที่ไม่มีความรู้ด้านแปรรูป สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เกษตรกรในเขวาไร่หลายคน ต้องเผชิญกับต้นทุนในการเลี้ยงโคสูงมาก ทำให้แทบทุกครัวเรือนมีหนี้สิน ส่งผลต่อความเครียดและนำไปสู่ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้น 

กลุ่มคนรุ่นใหม่ในตำบลเขวาไร่เล็งเห็นปัญหานี้ จึงรวมตัวกัน ร่วมมือกับชาวบ้านและเครือข่ายในชุมชน ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อตำบลเขวาไร่ในแบรนด์ อีสานบีพ  Esan-Beef  ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พวกเขาลงมือปลุกปั้นทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบโลโก้ให้มีความทันสมัย ที่สำคัญคือพวกเขาจัดอบรมการแปรรูปเนื้อโค โดยดึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเดิมและผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมอบรมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ สอนทุกอย่างตั้งแต่การรู้จักส่วนของเนื้อแต่ละส่วน การใช้มีดในการแล่เนื้อ การแพ็กเนื้อ รวมไปถึงการแปรรูปเป็นลูกชิ้น ไส้กรอก หรือเนื้อแผ่น 

มีน-พชร สมคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อตำบลเขวาไร่ เล่าให้พวกเราฟังว่า

“ถ้าเป็นวัวขุนขายเป็นตัวโดยไม่แปรรูปเลย เกษตรกรจะได้ราคาวัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 ถึง 75 บาท แต่ถ้าเรามาเพิ่มมูลค่าโดยการชําแหละเองแล้วก็ตัดแยกชิ้นส่วนเอง บางชิ้นส่วนนั้นมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 900 บาท ถ้าเป็นวัวที่เกษตรกรที่เลี้ยงดีแล้วก็มีไขมันแทรกได้เกรดที่ดี เนื้อมีคุณภาพ บางทีก็อาจจะสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาทครับ” 

“เราเก่งแต่เรื่องเลี้ยงวัว แต่การตลาดเราไม่เก่ง ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสนับสนุน เขาซื้อวัวเราไปแปรรูป ราคาเราก็ขายได้สูงขึ้น ก็เป็นผลดีกับเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ณ ตอนนี้” คุณเวธิน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวกล่าว

แม้ว่าแบรนด์ Esan Beef อาจจะเพิ่งเริ่มก่อตั้งได้เพียงไม่ถึงปี แต่พวกเขาสามารถสร้างพื้นที่โดยดึงเกษตรกรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเรียนรู้ร่วมกัน ตอนนี้พวกเขามีฐานลูกค้าจากร้านสเต๊กที่มักสั่งเนื้อจากพวกเขาประจำ และมีลูกค้าที่สั่งเนื้อวัวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาเชื่อมั่นว่า หากพวกเขามุ่งมั่นและทำสิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ Esan Beef จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจในชุมชนแบบที่เขาฝัน นั่นก็คือ การที่คนในชุมชนมีรายได้เพียงพอ ไม่มีหนี้สิน คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสการทำงานในชุมชนและกลับมาบ้านเกิดเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือการทำให้คนในชุมชนสามารถลดการพึ่งพาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้ง เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด 

“ในเมื่อเราสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เขาในชุมชนได้ เราก็ทําให้เขาลดความเครียดลงมาได้ ถ้าเราทําให้เขามีงานทํา เวลาว่างเขาก็จะลดลง การกลับไปเพิ่งความเสี่ยงในเรื่องของพวกนี้มันก็จะลดลงเช่นกันค่ะ” นุ่น หนึ่งในทีมงานผู้ก่อตั้ง Esan Beef กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสนับสนุนเนื้อวัวตัดแต่ง Esan-Beef ได้ที่นี่ 👇👇

และสามารถรับชมเนื้อหาในรูปแบบวิดิโอได้ที่ลิ้งก์นี้ 👇👇

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish