เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ : เขียน

งานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมคือการหลอมรวมความคิดความเชื่อแต่ละบุคคลในหมู่บ้าน  ชุมชน  ท้องถิ่น  เมือง  ซึ่งยึดโยงอยู่กับโครงสร้างทางสังคม  ประเพณี  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  การเมือง  อำนาจ  อิทธิพล  ผลประโยชน์  จิตสำนึก  อุดมคติ  อุดมการณ์  ระบบกฎหมาย  ระบบความคิดความเชื่อ  ระบบราชการ  ระบบรัฐ  หลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน  การหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวที่ยึดเหนี่ยวแต่ละบุคคลไว้ให้เชื่อมร้อยประสานเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นร่วมกันได้นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง  ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก  ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแต่ละบุคคลมีระบบความคิดความเชื่อที่ยึดโยงอยู่กับสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกันไม่มากก็น้อย  แต่กลับหลอมรวมเข้าด้วยกันได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นเดียวกัน  เช่น  การต่อต้านการสร้างเขื่อน  หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำลายสังคม  สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  การสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์  การสร้างกลุ่มรัฐสวัสดิการ  การเรียกร้องให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง  การสร้างพรรคการเมือง  เป็นต้น

ด้วยบริบทดังกล่าว  งานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องหลอมรวมสามส่วนประสานเข้าด้วยกัน  ประกอบด้วย  ผู้ปฎิบัติงาน  แกนนำและมวลชนในพื้นที่  ด้วยการทำงานร่วมกัน  ถ่ายทอด  ซึมซับรับบทเรียนระหว่างกัน  ส่งผ่านความคิดทางปัญญา  สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ถูก-ผิดจากการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน  เพื่อความก้าวหน้าทางความคิดและการลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน

สภาพความเป็นจริงที่ผู้ปฎิบัติงานต้องประสบพบเจอเมื่อลงไปทำงานกับมวลชน  นั่นคือ  มวลชนจะติดอยู่กับงานในชีวิตประจำวันที่่ต้องหาอยู่หากินตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนมาตอนเช้าจนถึงการเข้าหลับนอนในค่ำคืนเพื่อพักเอาแรงเพื่อที่จะให้มีแรงตื่นขึ้นมาทำงานในชีวิตประจำวันได้ในวันต่อ ๆ ไป  วันแล้ววันเล่า  คืนแล้วคืนเล่า  วนเวียนอยู่อย่างนี้  จนทำให้มวลชนเหล่านั้นไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะคิดอ่านหรือวิเคราะห์สถานการณ์ใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง  แค่เวลาหุงหาอาหาร  ล้างถ้วยล้างชาม  อาบน้ำแต่งตัว  เดินทางไปทำงาน  อยู่ในโรงงานแปดถึงสิบสองชั่วโมงต่อวัน  อยู่ในไร่นาด้วยจำนวนชั่วโมงไล่เลี่ยกัน  ทอผ้า  จักสาน  ทำความสะอาดบ้าน  เลี้ยงดูลูกหลานและพ่อแม่พี่น้องที่เข้าสู่วัยชรา  และกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ก็ทำให้เวลาในชีวิตประจำวันหมดไปแล้ว  นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้ปฎิบัติงานที่มีเวลาว่างจำต้องคิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์  นำสิ่งที่คิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ได้นั้นไปย่อยให้กับมวลชน  เพื่อทำให้มวลชนใช้เวลาว่างที่มีอยู่น้อยนิดคิดอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมไปกับผู้ปฎิบัติงาน

โดยธรรมชาติ,  ทั้งสามส่วนจะมีปฎิกิริยา  การรับรู้  ความเข้าใจและตอบสนองต่อสถานการณ์แตกต่างกัน  แต่เกื้อกูลกัน  ดังนี้  ผู้ปฎิบัติงาน, มักจะเรียนรู้สังคมจากการคิดอ่านหรือจากทฤษฎีก่อนเป็นอันดับแรก  ตรงนี้เองจะแปรเปลี่ยนเป็นรูปการณ์จิตสำนึก  แล้วนำไปทดลองปฎิบัติ  เมื่อปฎิบัติแล้วจึงได้รับประสบการณ์และบทเรียนมากขึ้น  แกนนำ, คือมวลชนที่เสียสละเวลาและรายได้จากการงานในชีวิตประจำวัน  บริหารจัดการเวลาว่างที่มีน้อยนิดในแต่ละวันได้ดีขึ้น  และใช้เวลาว่างนั้นคิดอ่านหรือวิเคราะห์สถานการณ์มากขึ้นจนทำให้เกิดความตื่นตัวสูง  แกนนำจะมีลำดับพัฒนาการทางความคิดและการลงมือทำโดยเรียนรู้สังคมจากประสบการณ์ก่อน  ไม่ได้เรียนรู้จากการคิดอ่าน  เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงก่อเกิดรูปการณ์จิตสำนึก  แล้วจึงลงมือปฎิบัติตามมา  ส่วนมวลชนนั้น, จะเรียนรู้สังคมจากการปฎิบัติหรือลงมือทำก่อน  ต่อจากนั้นก็มีประสบการณ์และบทเรียนมากขึื้น  แล้วจึงก่อเกิดรูปการณ์จิตสำนึกตามมาในภายหลัง

ความแตกต่างของผู้ปฎิบัติงาน  แกนนำและมวลชนก็คือ  ผู้ปฎิบัติงานส่วนใหญ่คือปัญญาชนผู้มีความคิดอ่าน  กำหนดหรือวางบทบาทตัวเองให้มีเวลาเหลือนอกจากการทำงานหาเช้ากินค่ำในชีวิตประจำวัน  เพื่อที่จะใช้เวลาว่างคิดค้นทางปัญญาและปฎิบัติการนำไปสู่ขอบเขตองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

สิ่งเหล่านี้คือการจัดตั้ง  จัดตั้งเพื่อให้เกิดความคิดอ่าน  เปลี่ยนแปลงรูปการณ์จิตสำนึกเพื่อสร้างเชื้อไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง  วางแผน  แบ่งงาน  ลงมือทำ  ปฎิบัติการเคลื่อนไหว  นี่คือการจัดตั้งเพื่อผสาน  สร้างสมดุลและสัมพันธ์สองส่วนระหว่าง “ความคิด” กับ “การกระทำ” ให้ลื่นไหลเข้าหากันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม

แต่การทำงานในพื้นที่ระยะหลังของผู้ปฎิบัติงานหรือปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้ละเลย “งานจัดตั้ง” กับมวลชน  การขาดหายไปของงานส่วนนี้ทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดและการกระทำระหว่างผู้ปฎิบัติงานหรือปัญญาชนกับมวลชนในพื้นที่  จนทำให้พลังประชาชนอ่อนแอลง

ไม่เพียงแต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างปัญญาชนกับมวลชน  ในส่วนของร่างกายและจิตใจของปัญญาชนเองก็เกิดช่องว่างระหว่าง “ความคิด” และ “การกระทำ” ของตัวเองที่นับวันจะถ่างกว้างมากขึ้น  ดังเราจะเห็นปัญญาชนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยของเราใช้เครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลักเพื่อนำเสนอความคิดต่อสังคม  พวกเขาหวังเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้การส่งผ่านความคิดโดยเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระยะไกล  แม้เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกปัจจุบันจะทำให้คนใกล้กันมากขึ้น  แต่การสื่อสารกับมวลชนต้องการบทสนทนาแบบเห็นใบหน้า  ประสานสายตา  เห็นท่วงท่าและบุคลิกระหว่างกัน  สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนึกคิดต่อกัน  รวมทั้งความสัมพันธ์ของการจัดตั้งไม่ใช่ความสัมพันธ์ด้านที่ปัญญาชนส่งผ่าน “ความคิด” สู่มวลชนด้านเดียว  ในส่วนของ “การกระทำ” ต้องใช้ความสัมพันธ์อีกด้านที่ปัญญาชนผู้มีการศึกษาจากภายนอก  อยู่ในถิ่นเจริญ  ห่างไกลจากชนบท  ยึดติดกับความรู้ในโลกสมัยใหม่  จะต้องดัดแปลง  ฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงรูปการณ์จิตสำนึกตนเองด้วยการใช้ชีวิตร่วมกับมวลชน  เพื่อเปิดรับความรู้ความคิดในวิถีชีวิตของมวลชนที่แตกต่างไปจากปัญญาชนด้วย  เพื่อที่จะทำให้การจัดตั้งในส่วนของการกระทำหรือปฎิบัติการสอดคล้องกับความต้องการร่วมกันของปัญญาชนและมวลชน  เป็นการป้องกันการถูกชี้นำจากปัญญาชนฝ่ายเดียว

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องไม่ใช้วิธีควบคุม  สั่งการ  วางแผนและสัมพันธ์จากระยะไกลด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสาร  พึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่าการทำงานความคิดและสร้างปฎิบัติการร่วมกับมวลชนจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับบทสนทนาที่จับต้องได้เป็นพื้นฐาน  ต้องระมัดระวังว่าการสื่อสารแบบพบหน้ากับการสื่อสารทางโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง  อาจกลายเป็นช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาชนกับมวลชนในพื้นที่ได้  ในบางสถานการณ์และบางเวลามันอาจถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นการสั่งการจากข้างบนที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมสูงกว่ามาเกี่ยวข้อง  จึงควรเลือกใช้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์และเวลา

เราจึงมักพบเห็นปัญญาชนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยของเราอุดมไปด้วยความคิดเป็นส่วนใหญ่  ไร้ซึ่งการกระทำหรือปฎิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกับมวลชน  หรืออาจจะมีปฎิบัติการบ้าง  แต่ก็เป็นปฎิบัติการเพื่อตอบสนองความต้องการในความเป็นตัวเองหรือความปัจเจกชน  หรือบางครั้งปฎิบัติการก็ขยายตัวมากไปกว่าความเป็นปัจเจกชน  แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหมู่ปัญญาชนพรรคพวกของตนเท่านั้น

ยิ่งระยะหลัง ๆ การมีเครื่องมือสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้การแสดงบทบาทของปัญญาชนจำนวนหนึ่งในการส่งผ่านหรือถ่ายทอดพลังทาง “ความคิด” และ “การวิพากษ์วิจารณ์” ซึ่งเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่ใช้ชี้นำชี้ทางส่องแสงสว่างทางปัญญาแก่สังคมอ่อนด้อยลงไปมาก  เพราะมันได้บานปลายออกไปจากความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์มากเกินเหตุ  จนกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบเย้ยหยัน  เสียดสี  กระแนะกระแหน  ประชดประชัน  ตำหนิติเตียน  โจมตี  ประจาน  ประณาม  กล่าวหา  ด่าทอ  ต่อว่า  ไล่ล่า  คาดหวังและกดดันคนอื่น  สร้างลัทธิพรรคพวกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อสอดส่องจับผิดกันในหมู่ปัญญาชนบนโลกออนไลน์  เรียกร้อง  กล่าวโทษ  โจมตีและรุมประณามกันเกินกว่าเหตุ  ซึ่งเป็นความคิดและการกระทำที่ไร้คุณค่าต่อการจัดตั้ง

ในงานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม  ปัญญาชนจำนวนหนึ่งมักให้ความสำคัญกับพลังปัจเจกชนของตนมากเสียจนไม่สนใจที่จะเสียเวลาทำงานจัดตั้งร่วมกับมวลชน  พวกเขาอาจจะบอกว่า “ฉันไม่ได้ละเลยมวลชน  ฉันอยากได้มวลชน”  แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือการจัดวางมวลชนเอาไว้เพื่อถ่ายทอดความคิดที่พวกเขาเป็นฝ่ายชี้นำให้  พวกเขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปคือภารกิจของการจัดตั้ง (หรืออาจจะไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับการจัดตั้งก็ได้  เพราะพวกเขาไม่ได้สนใจว่าการจัดตั้งจะเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับงานมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม)  แต่การทำเช่นนี้บ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่สนใจงานส่วนอื่น ๆ ของการจัดตั้งที่ต้องผสาน  สร้างสมดุลและสัมพันธ์สองส่วนระหว่าง “ความคิด” กับ “การกระทำ” ให้ลื่นไหลเข้าหากันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมว่ามีความสำคัญอย่างไรนั้นจะส่งผลให้พวกเขายึดถือความคิดของตัวเองเป็นศูนย์กลางจนเคยชิน  และยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความคิดตัวเองเสียจนไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น  ไม่สำรวจตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง  มีพฤติกรรมคิดเยอะแต่ทำน้อย  หรือวิพากษ์วิจารณ์เยอะแต่ลงมือทำน้อย  เชื่อมต่อตัวเองอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาให้กับพื้นที่หรือสนามซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่มวลชนดำรงชีวิตอยู่  สนุกสนานและอ่อนไหวไปมาอยู่กับความคิดเห็นในโลกออนไลน์กับกลุ่มเพื่อนของตัวเองจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับมวลชนจำนวนมากกว่านอกโลกออนไลน์ที่รอคอยการสนทนากับปัญญาชนแบบเห็นใบหน้า

นี่คือวิถีของปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่ “ความคิด” และ “การกระทำ” ไม่ยึดโยงกับมวลชน  เป็นเรื่องแปลก, แม้เทคโนโลยีการสื่อสารและถนนหนทางไปสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของมวลชนสะดวกสบายขึ้นมากแล้วในยุคสมัยนี้  แต่หมู่บ้าน  ชุมชน  ท้องถิ่น  ไม่เว้นแม้กระทั่งเมือง  ยังเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในงานจัดตั้งของปัญญาชนเสมอ  จนทำให้ปัญญาชนมองเห็นมวลชนเป็น “ชายขอบความคิด” ของตนมาอย่างยาวนาน.

                                                           

ขอบคุณภาพจาก Facebook people go network และ Facebook เหมืองแร่เมืองเลยv2

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish