บทสนทนานี้เป็นเรื่องราวระหว่าง มอส. กับ “เจ็ท-พสธร อ่อนนิ่ม” คุยกันไม่สั้นและไม่ยาวมาก แต่เนื้อหาที่เจ็ทคุยเป็นเรื่องราว มุมมองที่น่าสนใจครับ อยากชวนอ่านให้จบ
เรา : เจ็ทแนะนำตัวหน่อยครับ
เจ็ท : ชื่อเจ็ทครับ “พสธร อ่อนนิ่ม” จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรา : ตอนนี้เจ็ททำอะไร อยู่ไหนครับ
เจ็ท : ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ครับ ผมมาทำงานที่จากจากการเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15 แล้วสมัครเข้ามาที่ศูนย์ทนายฯ แต่พอมาอยู่ที่นี่สถานะของผมคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เรา : เล่าให้ฟังหน่อยครับว่า ศูนย์ทนายฯ คือใคร
เจ็ท : เอาเท่าที่ผมมีข้อมูลละกันเนาะ ศูนย์ทนายฯ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทนายความจำนวนนึงซึ่งได้คาดการณ์ถึงปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลพวงมาจากรัฐประหารปี 2557 พวกเขาจึงฟอร์มทีมกันโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ ค.ส.ช. ซึ่งภายหลังแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้หมดวาระไปเนื่องมาจากมีการจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 จริงๆแล้วถ้าเราลองมองสถานการณ์เรื่องการละเมิดสิทธิ์เราจะเห็นว่า แม้ศูนย์ทนายฯ หรือองค์กรอื่นๆอีกหลายองค์กรเลยนะที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้อยู่ แต่ตอนนี้ประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ลดลงไปเลย
เรา : เจ็ทมองประเด็นสิทธิมนุษยชนยังไง
เจ็ท : ผมเล่าย้อนไปหน่อยนะ คือก่อนที่ผมจะมายืนอยู่ตรงนี้ หลังจากจบมาได้หนึ่งปีก็เห็นประกาศรับสมัครของโครงการนี้ผ่านทางงานประชาสัมพันธ์ของคณะและอาจารย์ที่สอนวิชาสิทธิมนุษยชน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่สนใจประเด็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ ป.ตรี จึงอยากรู้ว่าตัวเราเองจะต่อยอดความรู้ความสามารถจากในห้องเรียนเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้หรือไม่ อีกทั้งจากที่โครงการนี้มีองค์กรที่ผมมีความสนใจเบื้องต้นอยู่แล้ว คือ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโดยเลือก ศูนย์ทนายฯเป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น
ส่วนประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ในมุมของผมหรอ ผมมองว่ามันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่บุคคลทุกคนพึงมีอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ ซึ่งรัฐาธิปัตย์ไม่เพียงต้องไม่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในรัฐของตน แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งเสริมส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสมอกัน
ทีนี้ถ้ามองงานองค์กร ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ศูนย์ทนายฯ กำลังทำหรือกำลังผลักดันอยู่ก็คือ ประเด็นด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการออกไปแสดงความคิดเห็น หรือเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นใดประเด็นหนึ่งแต่กลับถูกทางรัฐใช้กระบวนการทางกฎหมายอำพรางเจตนาที่ต้องการให้คนที่เห็นต่างหรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐนั้นเกิดภาระและไม่กล้าที่จะส่งเสียงร้องเรียนต่อประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในไทย
เรา : ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองในเมียนมาร์อยู่มั๊ยครับ
เจ็ท : ตามอยู่บ้างครับ
เรา : เจ็ทมองประเด็นการเมืองในเมียนมาร์ยังไงครับ
เจ็ท : ผมคิดว่าการรัฐประหารครั้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ครั้งนี้เหมือนการไปทำลายความฝันและความหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิมนะ การชนะเลือกตั้งของรัฐบาลอองซานซูจีในครั้งแรกที่ส่งผลให้ประเทศเมียนมาร์ได้เปิดประเทศติดต่อและรับการลงทุนและการพัฒนาต่างๆเข้ามาในประเทศนั้นทำให้ประชาชนพม่ามีความหวังในชีวิตเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม เสรีภาพในการพูดที่ไม่ถูกปิดกั้นหรือควบคุม โอกาสที่จะได้เรียนรู้จากโลกและสังคมภายนอกที่ต่างไปจากประเทศของตน แต่การที่ประเทศทั้งประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่ได้ทำการรัฐประหารเข้ามาเพื่อคุมอำนาจสูงสุดกลับก่อให้ภาพความฝันที่กำลังก่อตัวในหัวของคนพม่าถูกแทนที่ด้วยความหวาดกลัว การไม่มีเสรีภาพ ความยากจนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอดีตอย่างยาวนานที่กลุ่มคนที่ไม่ได้มีความยึดโยงตามหลักการประชาธิปไตยได้สร้างขึ้นไว้เป็นภาพจำของประชาชนชาวพม่าจนทุกวันนี้
ทีนี้เมื่อความหวังและความฝันมันถูกทำให้พังทลาย ผมคิดว่ามันเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นธรรมดานะ ที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารครั้งนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องลุกขึ้นมาแสดงออก ต้องออกมาต่อต้านไม่ให้ประเทศย้อนกลับไปในอดีตอันมืดมน ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศไม่สามารถทนหรือนิ่งเฉยให้อนาคตของตัวเองถูกทำลายหรือถูกกำหนดโดยคณะรัฐประหารมาถูกควบคุมให้ว่าจะต้องปฏิบัติแบบไหน คิดหรือพูดสิ่งใดได้บ้าง หรือเรียกได้ว่าไม่อยากถูกจำกัดเสรีภาพ เพราะความมีอิสระและความหลากหลายนั้นเป็นส่วนช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะตัดสินใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีมิฉะนั้นแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สร้างเมื่อหุ่นยนต์กลับทำงานที่นอกเหนือที่ถูกโปรแกรมมาก็จะถูกเอาไปเขียนโค้ดโปรแกรมทับความผิดปกติที่เกิดขึ้นให้กลับมาดังใจของผู้สร้าง
เรา : โควิด-19 กระทบกับเรายังไงมั๊ยครับ เจ็ท : เนื่องด้วยการทำงานที่ศูนย์ทนายต้องมีการติดต่อประสานงานกับส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ หรือ ส่วนของเอกชน คือลูกความหรือผู้ถูกดำเนินคดี แม้สถานการณ์โควิดที่มีการระบาดในประเทศไทยก็ไม่ส่งผลกระทบเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวกับการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานในขณะนั้นมากนัก เช่น ไปรับทราบข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ พาผู้ต้องหาไปส่งตัวที่อัยการ พาผู้ต้องหาไปรายงานตัวที่ศาล แต่สิ่งที่กระทบคือในคดีที่มีการนัดสืบพยานหลักฐานติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากทางศาลมีมาตรการให้เลื่อนคดีออกไป ก็ทำให้คดีไม่เริ่มต้นการพิจารณาให้เสร็จสิ้นไปเสียที จำเลยก็มีภาระที่ต้องมารายงานตัวในวันพิจารณา ซึ่งในบางคดีจำเลยนั้นได้ถูกฟ้องเป็นคดีอื่นจากพฤติการณ์การกระทำความผิดลักษณะคล้ายๆกัน เช่น คดีคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งศาลอื่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทำให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในคดีที่ศาลได้เลื่อนออกไปนั้นทำให้จำเลยยังต้องมีภาระการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนโดยใช้เวลาที่ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวที่เห็นได้ชัดคือ การที่คดีถูกเลื่อนนั้นคือการที่ทนายความได้มีโอกาสเตรียมคดีให้กระชับและรัดกุมมากยิ่งขึ้น