ประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาหลายยุคหลายสมัยมาก กระทั่งวันสองวันที่ผ่านมานี้ ภาพปรากฏของผู้ที่บอกว่าพวกเขา(ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย)คือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยยังมีให้เห็นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พวกเขากำลังลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ นั่นหมายถึงว่าประเด็นปัญหาในลักษณะนี้มันฝังรากลึกในสังคมบ้านเรามาหลายสิบปีจนถึงตอนนี้ 

ดา-สุชาดา สุมาลี คืออีกคนที่กำลังทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร ทำงานกับชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยไม่ต่างกันกับชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย วันนี้เราชวนดามาเล่า-แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมุมมองบางมุมของคนที่ทำงานประเด็นนี้ให้ฟัง

เรา : เล่าภาพรวมๆของพื้นที่ที่ดาทำงานอยู่ให้ฟังหน่อย
ดา : เราทำงานเป็นอาสาสมัครที่สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) มาราวๆ ครึ่งปีแล้วนะ ก็โอเคดีได้ทำงานที่เราอยากจะทำคืองานที่ทำกับตัวคน-กลุ่มคนที่ประสบปัญหาจริงๆ สกต. เป็นใครหรอ สกต. คือกลุ่มชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย หรือเอาง่ายๆ ก็คือเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่คนที่ไม่มีที่ดินทำกินเลย มีแค่ที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีทั้งที่อยู่อาศัยมีทั้งที่ดินทำกินแต่เพียงพอสำหรับประกอบอาชีพ กลุ่มคนเหล่านี้แหละที่รวมตัวกันและใช้ชื่อ “สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต.” ตั้งแต่ปี 2552 แล้วก็ทำงานรณรงค์และสนับสนุนกลุ่ม-องค์กรที่ขับเคลื่อนงานทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่เราทำงานอยู่ในตอนนี้ภายใต้แนวคิด ที่ดิน สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม”

เรา : มองประเด็นเรื่องนโยบายการบริหารจัดการที่ดินของรัฐยังไงบ้าง
ดา :  ประเด็นนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินทำกินในความคิดของดาคือ อยากให้คนที่อาศัยและทำกินในแต่ละพื้นที่มีสิทธิที่จะบริหารจัดการทรัพยากรด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งจะแตกต่างจากที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจะอยู่ในลักษณะของการสั่งการโดยรัฐ คือนำแบบแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือยุทธศาสตร์ชาติมาปรับใช้กับทุกพื้นที่ในขณะที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในลักษณะทางกายภาพ บริบทพื้นที่ ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ สังคม ครอบครัว ฯลฯ รัฐควรนำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นตัวกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการที่ดินทำกินซึ่งแตกต่างกัน

เรา : สถานการณ์ในพื้นที่ที่ดาทำงานอยู่เป็นไงมั่ง  
ดา : จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงโควิด เราว่ามันไม่ส่งผลกระทบจนหนักหนาสาหัสอะไรกับเราหรือพื้นที่มากนักนะ  สถานที่ทำงานของตัวเราเองหลักๆเราทำงานที่สำนักงาน สกต. ไม่ได้อยู่ประจำในชุมชน แต่จะมีการลงพื้นที่ทำงานในชุมชนเป็นระยะๆ … สถานการณ์การระบาดของโควิด หากเรามองในด้านบวกเราว่าจริงๆ แล้วสถานการณ์มันคือตัวชี้วัดความมั่งคงด้านอาหารของคนที่มีมีที่ดินสำหรับทำการผลิตจริงๆเสียอีก ยกตัวอย่างชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ที่เราทำงานอยู่ด้วยคือ คนในชุมชนนี้นะเขาแทบไม่ต้องซื้อหาอะไรเลยนะ(ยกเว้นสิ่งของบางบางอย่างที่ยังต้องพึ่งพาจากภายนอก) เพราะพวกเขาทำการผลิตเอง เขาเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชผักบริโภคกันเองทุกครอบครัว ดังนั้นจึงคิดว่าโควิดไม่น่าจะส่งกระทบพวกเขามากนัก โดยเฉพาะเรื่องอาหารหรือเรื่องปากท้อง ขนาดเราเองยังพลอยได้รับประโยชน์จากชาวบ้านในพื้นที่ด้วยคือเวลาลงชุมชน คนในชุมชนก็จะแบ่งปันผลผลิตจากแปลงให้เราสำหรับนำกลับไปทำกับข้าวที่บ้านโดยที่เราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเอง เราคิดว่านี่แหละคือตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาของผู้ที่มีที่มีที่ดินสำหรับทำการผลิตเองจริงๆ

เรา : ตะกี้เห็นดาคุยเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ช่วยแชร์ให้เราฟังหน่อยว่าประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ในมุมมองของดาเอง ดามองมันยังไง
ดา : เราไม่อาจจะหาคำมากำหนดความหมายที่ตายตัวของมันได้ เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ความเท่าเทียม ไม่ใช่ความยุติธรรม และก็ไม่ใช่ความชอบธรรม แต่ถ้าหากจะแปลความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชนคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เรามีความเห็นด้วยที่จะใช้คำนี้ แต่อยากให้มองไปลึกลงไปในมิติที่ว่า “เราใช้หลักสิทธิมนุษยชนผ่านความเท่าเทียมทั้งทางปัจจัยอายุ เพศ สภาวะเเวดล้อม ฐานทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่เท่าเทียม ความยุติธรรมที่เกิดจากการตกลงรวมกันอย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้าใช่มันจึงจะนำไปสู่ความชอบธรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

เรา : รู้จักโครงนี้ได้ยังไง
ดา : เรื่องของเรื่องมันเริ่มจากการที่อาจารย์ที่มหาลัยท่านหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วแกก็เป็นอดีตอาสาสมัคร(ซึ่งเราก็จำไม่ได้ว่ารุ่นไหน)ที่ มอส.(มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) แกโพสต์เกี่ยวกับการรับสมัครอาสานักสิทธิ รุ่น  14 ในเพจนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ แต่ตอนนั้นเรายังไม่จบ ป.ตรี นะ เราเลยปรึกษากับอาจารย์ว่าถ้าจะไปฝึกสหกิจที่ มอส. จะได้มั๊ย แต่ช่วงนั้นเราได้ยื่นของฝึกสหกิจไปอีกที่หนึ่งด้วย แล้วเขาก็รับเรา เราก็เลยตัดสินใจฝึกที่นั่นจนจบ ป.ตรี พอเราจบ ป.ตรี ก็เป็นช่วงที่อาจารย์ท่านนี้แหละ แกก็โพสต์ข่าวการรับสมัครอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15 พอดี เราจึงตัดสินใจสมัครเลย และประจวบเหมาะมากเลยที่ช่วงที่เราสมัคร ‘เรารู้สึกว่าเราได้รับการเบิกเนตรใหม่ เราจึงเริ่มตาสว่าง เราเห็นโลกในอีกมุมซึ่งต่างไปจากความจริงอีกชุดที่เราเคยได้รับมาตลอดจนจบ ป.ตรี เราได้เห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองบ้านเรามันเละเทะมาก มันไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่การยึดอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ แต่มันเป็นปัญหามาตั้งแต่การออกรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์และเอื้ออำนาจให้กับคนบางกลุ่มแล้วละทิ้งคนอีกกลุ่ม ดังนั้น คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่ควรเป็นของตนเองไม่ควรที่จะถูกมองว่าเขาเป็นผู้ร้ายทางสังคม  นโยบายทางการเมืองที่ล้มเหลว คือไม่มีการต่อยอดหรือการลงทุนให้ประชาชน แก้ปัญหาเป็นอย่างเดียวคือแจกเงิน และทำเป็นอย่างเดียวคือกู้เงิน และตอนนั้นเราเลยคิดว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เห็นสังคมมันดีขึ้น ทำให้ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราเลย’ 

ชวนติดตามเรื่องราวและให้กำลังใจ สกต. ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/SPFT2008/?ti=as

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai