เพิ่งมีข่าวว่าประเทศไทยจะได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญในอีก 2 วัน (6 เม.ย.) ซึ่งจะนำไปสู่การออกกฎหมายลูกและการเลือกตั้งภายในปี 2561 เราอ่านข่าวของมติชนที่ออกมาเมื่อวานไปประมาณ 5 รอบ พยายามทำความเข้าใจว่าข่าวมันเขียนว่าอะไร ซึ่งข่าวก็แค่อธิบายกำหนดการพิธีการในการพระราชทานรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เราอ่านไปหลายรอบ อ่านซ้ำไปซ้ำมา เพราะไม่เข้าใจว่าตกลงแล้วการที่เราจะมีรัฐธรรมนูญนั้น ใครกันเป็นคนตัดสิน ใครเป็นคนร่าง ใครเป็นคนที่ร่วมกันพิทักษ์กฎหมาย ใครกันที่เป็นคนดูแลให้สังคมเป็นธรรม
.
หลายคนยังคงมุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้ง “เย้ เราจะได้เลือกตั้ง” แต่พอเราได้ยินว่าเราจะได้เลือกตั้งปีหน้า เรากลับยิ่งกังวลเราจะต้องยอมรับกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช่ไหม เราจะต้องเล่นในเกมเขาวงกตที่เขาสร้างขึ้นมาใช่ไหม นี่คือฐานความคิดของคนรอบข้างที่เราจะต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยอีกนานใช่ไหม
.
เรานึกย้อนไปถึงการเคลื่อนไหวที่นักกิจกรรมอย่างไผ่ทำมาโดยตลอด ภาพนักศึกษาที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ท่ามกลางฝนกรณีเหมืองเลย ภาพนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ภาพเหล่านี้ถูกติดแปะไว้ที่ฝาผนังในห้องหนุ่มวัยยี่สิบกว่าๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยออกมาประนาม ม.นอกระบบ อย่างก้าวร้าวอาจหาญ แล้วก็เหตุการณ์ใส่เสื้อไม่เอารัฐประหาร การชูสามนิ้ว ขบวนร้องเพลงหน้าสถานีตำรวจและศาลทหาร นักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน การชุมนุมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นหน้าหอศิลป์ การถือป้ายผ้าไม่เอารัฐทหาร การจัดเวทีเสวนา การแจกเอกสารและสติกเกอร์โหวตโน
.
เราไม่ได้มีร่องรอยร่วมในเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้เลย
.
อาจเป็นความกลัว การที่เราไม่มีประสบการณ์ ที่ทำให้เราไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะออกไปร่วมชุมนุม เราทำได้มากสุดคือไปยืนมองอยู่ห่างๆ คอยติดตามข่าว คอยเล่าเหตุการณ์เหล่านี้ให้คนอื่นฟัง ทั้งไทยและต่างประเทศ เราได้เพียงแต่บอกว่า เรารับรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เราไม่รู้จักนักกิจกรรมเหล่านั้นหรอก
.
มันอาจเป็นจริตของเราเองที่ไม่อยากปะทะหรือโต้เถียงซึ่งหน้า มันอาจเป็นเพราะใจเราไม่แข็งพอที่จะรับมีการเกมจิตวิทยาของคนที่มีกุมอำนาจเหนือกว่าที่เข้าจู่โจมทุกประสาทสัมผัสและทุกความทรงจำ ที่ทำให้เราเลือกที่จะไม่ร่วมทำในสิ่งที่นักกิจกรรมอย่างนายทำ ได้แต่คอยกังวลว่าความรุนแรงจะไม่ทวีคูณไปมากกว่านี้
.
สี่เดือนในคุกเป็นยังไงบ้าง อิสรภาพข้างนอกก็ไม่ได้ดีกว่ากรงขังที่นายอยู่เท่าไหร่ตอนนี้ อย่างน้อยไทยก็ยังไม่ถึงขั้นหดหู่อย่างซีเรีย เราหวังว่าเหตุการณ์ที่ซีเรียจะหยุดเสียที
.
เราเพิ่งกลับมาจากกัมพูชา พอดีได้โอกาสไปสำรวจโตนเลสาบร่วมกับนักข่าว แล้วได้เวลาพบกับคนที่ทำงานร่วมกับนักกิจกรรมกัมพูชา เขาเล่าสถานการณ์ในเรื่องที่ดิน การเผาป่าเพื่อทำนาและทำประมง การทำประมงผิดกฎหมาย นโยบายแปรผืนดินให้เป็นเขตเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง ความรุนแรงและการข่มขู่นักกิจกรรมในกัมพูชาให้ฟัง เขามีข้อมูลเต็มหัวและตอบโต้อย่างชาญฉลาด แต่เขาเลือกที่จะไม่เขียนบันทึกไว้ เพราะเกรงมันจะกระทบต่องานที่เขาทำกับชาวบ้านและความปลอดภัยของนักกิจกรรมคนอื่นๆ แต่ทุกครั้งที่เขาพูดจบประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เขาจะบอกว่า “คุณต้องออกไปอยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้จากชาวบ้าน เข้าใจชาวบ้าน ถ้าคุณอยู่ข้างชาวบ้าน คุณจะรู้ว่าคุณต้องทำอะไร”
.
เราถามเขาก่อนจากกันว่าเราจะทำยังไง ประเทศเรา ประเทศนายไม่ได้ต่างกันเลย และตอนนี้เราก็จะได้เลือกตั้งในปีเดียวกัน
“อยู่เคียงข้างชาวบ้านแล้วคุณจะรู้ว่าคุณต้องทำอะไร” เขาบอกเรา
.
ความรุนแรงทางสังคมนับวันจะยิ่งที่นำไปสู่การพรากชีวิตของคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ตั้งแต่อุบัติเหตุจากความคึกคะนองจนกระทั่งความตั้งใจที่จะสร้างความเป็นธรรมให้ผู้คน นับวัน แดดไออุ่นของความสว่างจะยิ่งลดลง ต้นไม้ต้นใหญ่ที่คอยกำบังปกป้องยิ่งแห้งเหือดสูญเสียสารอาหารและความชุ่มชื้น คนหนุ่มสาวที่เปรียบเสมือนต้นกล้าใต้ร่มไม้ใหญ่จะได้บานสะพรั่งต่อไปอย่างไรกัน คนรุ่นต่อไปจะได้โอกาสเติบโตและเรียนรู้โลกแบบไหนกัน
.
เราสองคนไม่ได้สนิทกัน เจอกันไม่กี่ครั้ง แต่พอได้โอกาสเจอคนที่มีจิตใจมุ่งมั่นแรงกล้าเมื่อไหร่ พลังเหล่านั้นมักจะติดตัวเราตามมาด้วย เหมือนกับว่าเราเป็นฟองน้ำที่ซึมซับอิทธิพลและพลังของคนกล้าไปโดยปริยาย
.
“อยู่เคียงข้างชาวบ้าน” คือสิ่งที่นายทำเสมอมา
หวังว่านายจะได้ออกมายืนเคียงข้างผู้คนเร็ว ๆ นี้
.
เพื่อนนาย
———————
ขอบคุณข้อมูล : เพจ “คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม”

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai