โดย กิตติพงศ์ พงษ์คะเชนทร์
อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 / เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
“… เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่
ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า
ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า …”
เป็นบางส่วนของข้อความในศิลาจารึกที่เด็กไทยส่วนใหญ่ต้องเคยเรียนกันมา ข้อความนี้กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีข้อห้ามเรื่องการทำมาค้าขายไม่ว่าจะเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย หรือทรัพย์สินเครื่องประดับ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรีกันภายในสุโขทัยในเลยก็ว่าได้ เพราะไม่มีการเก็บภาษี ไม่เอาจกอบ คนทำเกษตรกรรมสมัยนั้นก็มีอิสระ ถ้าใครปลูกพืชผักชนิดไหนขึ้นมาได้แล้วต้องการจะขาย ก็สามารถนำไปขายได้เลยโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะขายผล ขายดอก หรือมีพืชพันธุ์ผักแปลกๆมาขาย ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนว่าจะผลิตออกมาได้มากน้อยแค่ไหน พืชผักที่ปลูกก็จะเป็นพืชผักที่ปลูกกันในแบบธรรมชาติล้วนๆไม่มีตัวช่วย ไม่มีปุ๋ยเร่งรากเร่งผล นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต
วันเวลาผ่านไป สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมามากมายในโลก หากตอนนี้จะกล่าวเช่นเดิมว่า “… ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า … หรือใคร่จะค้าสิ่งอื่นใด” ก็คงทำได้ยากมากขึ้น หรืออาจถึงขึ้นที่ไม่สามารถทำได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์อีกต่อไป แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกฎเกณฑ์บังคับเรื่องอะไร
ราวๆ 700 ปี นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีประโยค “ใครใคร่จักค้าพืชผัก ค้า” จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ความอิสระด้านการค้าการเกษตรเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ในพระราชกิจจานุเบกษาเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ “การค้าเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป” เนื่องจากเนื้อหาภายในของพระราชบัญญัติได้กำหนดให้การประกอบธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์หรือการทำวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์พืชที่กำหนด ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐก่อน หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด อาจมีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับได้
หากพิจารณาตามเนื้อความใน พ.ร.บ.นี้แล้วจะพบว่า การค้าขายเมล็ดพันธุ์ตามความหมายของพระราชบัญญัติฯ ไม่ได้หมายถึงเพียงเฉพาะการขายเมล็ดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการขายหรือแจกจ่าย เมล็ดพันธุ์ กิ่ง หน่อ หรืออะไรก็ตามที่ปกติแล้วใช้ขยายพันธุ์แล้วแต่ชนิดของพืช เช่น การขยายพันธุ์ถั่วต้องใช้เมล็ดปลูก การขยายพันธุ์กล้วยต้องใช้หน่อ การขยายพันธุ์มะนาวโดยเอากิ่งมาเสียบ เป็นต้น ทั้งนี้จะครอบคลุมการขยายพันธุ์ทุกรูปแบบที่เคยใช้กันมา
นอกจากนี้แล้ว ในเนื้อความ พ.ร.บ.ยังระบุเรื่องการค้าขายเมล็ดพันธุ์ว่า ต้องขออนุญาตเฉพาะการค้าขายพืช ซึ่งไม่ได้หมายถึงพืชทุกชนิด แต่เป็นพืชที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ส่วนพืชที่ไม่ได้อยู่ในรายการของประกาศกระทรวงฯข้างต้น คือพืชที่สามารถค้าขายเมล็ดพันธุ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตทำการค้า ซึ่งพืชที่กฎหมายบังคับว่าต้องขออนุญาตอยู่ในรายการของ “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2556 เรื่อง กำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม” โดยกำหนดครอบคลุมทุกพันธุ์ของพืชชนิดนั้นๆคือ 1) กระเจี๊ยบเขียว 2) กระเทียมใบ 3) กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า บรอคโคลี 4) ข้าวเปลือก
5) ข้าวโพด 6) ข้าวโพดหวาน 7) ข้าวฟ่าง 8) แคนตาลูป แตงเทศ เมล่อน 9) แตงกวา แตงร้าน 10) แตงโม 11) ถั่วฝักยาว 12) ถั่วลันเตา 13) ถั่วเขียว 14) ถั่วเขียวผิวดำ 15) ถั่วเหลือง 16) ทานตะวัน 17) บวบเหลี่ยม 18) ปาล์มน้ำมัน 19) ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาว 20) ผักกาดเขียว 21) ผักกาดหอม 22) ผักกาดหัว 23) ผักชี 24) ผักบุ้งจีน 25) ฝ้าย 26) พริก 27) ฟักทอง 28) ฟัก แฟง 29) มะระจีน มะระขี้นก 30) มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเปราะ 31) มะเขือเทศ 32) หอมหัวใหญ่ 33) มะละกอ…
(ติดตามตอนจบ จันทร์หน้า)
—————————————————
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง