สากีมันเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นกับการทำงานอย่างมาก เขาทำงานต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เขาเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่สมัยที่เขายังเด็ก สถานการณ์ข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักนั้น มีความแตกต่างกันกันอย่างมากกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกดขี่ ถูกปราบปรามและจับกุมดำเนินคดีจากผู้ใช้อำนาจมาอย่างยาวนาน สากีมันกล่าวในฐานะชาวมุสลิมคนหนึ่งว่า “ความเป็นพี่เป็นน้องกันในกลุ่มคนมุสลิมนั้นมีความสำคัญอย่างมาก หากมีพี่น้องมุสลิมคนหนึ่งคนใดถูกทำร้าย คนมุสลิมทั้งหมดก็จะเจ็บปวดไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม”

สากีมันบอกผ่านไปถึงนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทุกคนว่า ถ้าพวกเขาเลือกที่จะทำงานในด้านนี้แล้ว ต้องพึงตระหนักเอาไว้เสมอว่าพวกเขาจะไม่มีวันรวย “มันเป็นความท้าทายและการต่อสู้ดิ้นรนที่พวกเราต้องประสบ” ความรับผิดชอบต่อครอบครัวกับการได้ทำงานเพื่อสังคม เป็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เขาเล่าว่าเขาทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนจากองค์กรมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว “แม้ความตั้งใจของ MAC คือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมตาม แต่เมื่อมองถึงเรื่องทิศทางความยั่งยืนขององค์กร ณ ตอนนี้แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่พูดยากมาก”

ประสบการณ์สำคัญที่เขาได้เรียนรู้จากโครงการ อส.นักสิทธิ์ คือ เรื่องวิธีการทำงานกับเครือข่าย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากว่าเราไม่สามารถทำงานหลายอย่างได้เพียงลำพัง เป็นเรื่องจำเป็นมากที่คนมีความรู้ด้านกฎหมายจะต้องคอยปกป้องช่วยเหลือคนที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เขากล่าวว่า “มุสลิมทุกคนรับรู้ได้ว่า ไม่ว่าสิ่งที่คุณได้กระทำไปนั้น จะเพื่อประโยชน์ของคนอื่น เพื่อประโยชน์ของคนมุสลิมด้วยกัน หรือเพื่อประโยชน์ของตัวเองก็ตาม ทุกการกระทำจะถูกรับรู้โดยองค์อัลเลาะห์”

การจัดการกับความรู้สึกและการสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เขาเล่าว่า “การที่ได้ปกป้องและช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ มันก็คือการสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับตัวเอง”  ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน หากคดีไหนที่ต่อสู้ในชั้นศาลแล้วไม่ชนะคดี เขาใช้เวลาอยู่กับการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยไม่ปิดเครื่อง  แต่ในระยะหลัง เมื่อเขามีประสบการณ์มากขึ้น หากคดีไหนที่เขาได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วแต่ยังแพ้คดีเขาสามารถยอมรับความจริงได้ เขาสามารถวางมันลงได้ สามารถคิดได้ว่าการพิพากษาคดีนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในมือของเขา เขากล่าวเปรียบเทียบงานที่เขาทำอยู่ว่า การทำงานของเรา เหมือนมันอยู่ระหว่างเขาควาย ฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาลและอีกฝ่ายคือฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ ส่วน MAC อยู่ตรงกลาง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของทั้งสองด้วยปากกาและมันสมอง”

คนรุ่นใหม่ที่พึ่งก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่แล้วจะก้าวตามกระแสทุนนิยม มุ่งหวังที่ความร่ำรวย และต้องการเป็นคนที่มีฐานะทางสังคม องค์กรของเขาเองก็เป็นองค์กรที่รับอาสาสมัครเข้ามาทำงาน แต่หลายคนก็ได้ถอยออกไปและเดินเข้าสู่ภาคธุรกิจ “ผมค่อนข้างกังวลกับอนาคตของสังคม กลัวว่าคนจะกลายเป็นหุ่นยนต์ แล้วไหลตามกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยม” ตัวเขาเองคาดหวังให้ มอส.ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ ให้ได้เข้ามาเรียนรู้ความจริงทางสังคมอีกด้าน เขาบอกว่า การเปิดพื้นที่สำหรับอาสาสมัครมีความสำคัญและน่าสนใจมาก เพราะมันเป็นโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวที่ต้องการจะเรียนรู้ความจริงทางสังคม กระบวนการนี้ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ของการรับรู้ ให้เราได้ทำตามความคิด ความฝัน และทำให้เราได้ฝึกปฏิบัติงานเพื่อเป็นฐานสำหรับการก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำที่มีศักยภาพในอนาคต

เขาคาดหวังว่าความตระหนักต่อสาธารณะจะถูกรวมเข้าไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการสร้างความตระหนักนี้ให้แก่นักศึกษา สากีมันกล่าวทิ้งท้ายว่า “การมีจิตสาธารณะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ รวมถึงข้อมูลด้านลบที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นลบไปด้วย เราต้องดึงตัวเองออกมาจากความเจ็บปวดทางจิตเหล่านั้นซะ”

(ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ ของอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนได้ทุกวันจันทร์–ที่นี่)

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai