เขียน–กิตติพงศ์ พงษ์คะเชนทร์
อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 / เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เมื่อมองในส่วนเนื้อหาของแถลงการณ์จากเครือข่ายต่างๆ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน และในส่วนของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก “นายอุบล อยู่หว้า” ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเป็นตัวแทนขึ้นอ่านแถลงการณ์ซึ่งเน้นเนื้อหาไปที่ประเด็นเรื่องสิทธิเกษตรและสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3 ประเด็นคือ หลักประกันการมีที่ดินทำกินของเกษตรกร สิทธิของเกษตรกรในการจัดการ ปกป้อง และเข้าถึงฐานทรัพยากรของชุมชน และการคุ้มครองให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตและมีตลาดที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร มีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้
1) ที่ดินก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองในการมีที่ดินทำมาหากินอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เนื่องจากการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจทั้งทุนในและนอกประเทศล้วนต้องการปัจจัยที่สำคัญคือที่ดินซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำเกษตรกรรมรายย่อย หลักประกันในการมีที่ดินทำกินและป้องกันไม่ให้ที่ดินตกเป็นทรัพยากรในระบบทุนนิยมมากจนเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ควรมีในรัฐธรรมนูญ จากร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 72 (3) บัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” มีข้อสังเกตคือ มาตรานี้ถูกกำหนดอยู่ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐพึงกระทำ ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในประเด็นนี้จึงควรต้องได้รับการคุ้มครองให้เป็นสิทธิ ไม่ใช่ลักษณะที่รัฐคอยหยิบยื่นให้
2) ชุมชน คือ กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันเป็นหน่วยในทางธรรมชาติ ผ่านการใช้ชีวิตร่วมกัน มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนเอง คนในชุมชนคือคนที่ใช้ชีวิตในท้องถิ่น เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด เห็นประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงของชุมชน จึงย่อมรู้แนวทางการพัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตรวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อม ชุมชนจึงควรมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
3) นอกจากการคุ้มครองให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินแล้ว เกษตรกรควรได้รับการคุ้มครองให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต ควรมีสิทธิในการเลือกประกอบอาชีพ คือ เลือกชนิดพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้โดยอิสระโดยต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งนโยบายรัฐควรสนับสนุนการทำเกษตรทุกประเภท ไม่ใช่แค่สนับสนุนการปลูกพืชบางประเภทในบางช่วงเวลา
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในสัญญา เกษตรกรมีข้อจำกัดในการทำสัญญากับบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรที่เข้มแข็ง ซึ่งเกษตรกรต้องผลิตสินค้าให้ได้ตามปริมาณและคุณภาพที่บริษัทกำหนดและมักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในด้านอำนาจการต่อรอง รัฐจึงควรเข้ามาคุ้มครองเกษตรกรให้พ้นจากการครอบงำของทุนและนักธุรกิจ
สิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนจึงควรจะต้องครอบคลุมในเนื้อหาทั้ง ๓ ด้าน คือต้องมีที่ดินทำกิน มีชุมชนเครือข่ายที่มีสิทธิในการปกป้องตนเองอย่างเต็มที่ มีการช่วยเหลือให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆ และสนับสนุนกระบวนการหลังผลิตให้เข้าถึงตลาด ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแม่แบบที่จะก่อให้เกิดกฎหมายลำดับรองซึ่งอาศัยเนื้อหาแนวทางในรัฐธรรมนูญนี้เพื่อกำหนดรายละเอียดข้อบังคับในเรื่องต่างๆอีกมากมาย แม้จะเป็นส่วนที่สำคัญแต่เนื้อหาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันที สิ่งสำคัญคือผู้ที่ได้รับผลกระทบและคนไทยทุกคนควรต้องทำความเข้าใจ ใส่ใจ ศึกษาและติดตามสถานการณ์อยู่เสมอ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นเพียงบางจุดของประเทศเท่านั้น แต่เชื่อว่าในช่วงก่อนลงประชามตินี้ต้องมีปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ คงต้องรอประเมินต่อไปว่า วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ ผลการลงประชามติครั้งนี้จะออกมาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการลงประชามติก็คือ ผู้ที่จะลงประชามติควรหาช่องทางในการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ละเอียดเสียก่อนการใช้สิทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน และสิทธิเกษตรกร ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถตอบสนองต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งต่อตนเองและประชาชนโดยรวมของประเทศได้อย่างแท้จริงหรือไม่
—————————————————