หลังครบวาระอาสาสมัครแล้ว มึดายังคงทำงานที่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน โดยทำงานสองตำแหน่งคู่กันไป คือ เป็นผู้ประสานงาน “โครงการสภาเยาวชนลุ่มน้ำโขง” และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับคนไร้สัญชาติ โดยภารกิจส่วนนี้ เธอได้จัดเวทีฝึกอบรมทางวิชาการเพื่อให้ความรู้กับคนไร้สัญชาติเป็นประจำทุกปี แต่ละปีกลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างกันไป มีทั้งชาวบ้าน  อาสาสมัคร และเด็กๆ จากโรงเรียนในพื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อกลุ่มเป้าหมายมีหลายกลุ่ม เธอต้องปรับประยุกต์เนื้อหาและกระบวนการฝึกอบรมเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายด้วย ในเบื้องต้นเป้าหมายของการทำงานคือ การแนะนำให้พวกเขาเข้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาควรได้รับ รวมถึงการให้คำแนะนำด้านการสมัครงานตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นตัวกลางประสานงานและสื่อสารข้อมูลต่างๆ ระหว่างคนไร้สัญชาติกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ตระหนักถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง  ด้วยหวังว่าการทำงานขององค์กรในระดับที่สูงขึ้นจะบรรลุผล คือประเด็นคนไร้สัญชาติได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นปัญหาสาธารณะ ซึ่งรัฐต้องมีมาตรการหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน 

มึดาเชื่อว่าโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนของ มอส. คือพื้นที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนหนุ่มสาวในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เป็นอย่างดี  หลังจากได้ร่วมกระบวนการนี้ทำให้เธอได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนและเข้มข้นขึ้น  เธอกล่าวว่าหากเธอไม่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมกระบวนการนี้ เธอคงตกอยู่ในภาวะของความสับสนว่าเธอควรจะเดินบนถนนสายนี้ต่อไปหรือควรเปลี่ยนเส้นทางชีวิต  เธอรับรู้ได้ว่าความเข้มแข็งจะไม่มีวันเกิดขึ้นในตัวเธออย่างเช่นปัจจุบัน หากไม่ได้ร่วมโครงการนี้  โครงการของ มอส.เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่มีความชัดเจนในตัวเองว่าจะเลือกทางเดินของชีวิตอย่างไร  โครงการนี้ทำให้เธอตัดสินใจได้ว่า เธอควรเลือกเส้นทางไหนให้กับชีวิตเธอ

เธอมีข้อเสนอต่อ มอส. ว่า ควรมีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป  มอส.ควรเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้จบด้านกฎหมายให้มีพื้นที่เรียนรู้ เพื่อนเธอหลายคนสนใจอยากจะเข้าร่วมกับโครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ แต่พวกเขาไม่ได้จบด้านกฎหมาย เธอเห็นว่า การทำงานแต่ละประเด็นต้องการคนที่มีทักษะแตกต่างกันในการทำงานหนุนเสริม เช่น การสื่อสาร  การต่อรอง และทักษะอื่นๆ นอกเหนือไปจากทักษะด้านกฎหมาย เธอยกตัวอย่างการทำงานต่อรองกับหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านมาว่า การต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐบางครั้งให้ผลในทางลบ เนื่องจากว่าการนำเสนอข้อมูลเฉพาะประเด็นด้านกฎหมายประเด็นเดียวทำให้น้ำหนักในการต่อรองมีน้อย และอาสาสมัครแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ดังนั้น มอส. ควรเป็นองค์กรที่เพิ่มทักษะที่จำเป็นด้านต่างๆ ให้กับอาสาสมัคร โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารและการต่อรองกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าหากพวกเขาสามารถนำความรู้และทักษะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับการทำงานสร้างสรรค์สังคมต่อไป

มึดากล่าวคำคมทิ้งท้ายไว้ว่า “ดาเชื่อมั่นในพลังและความรู้ของคนหนุ่มสาวอย่างพวกเรา  หากพวกเราร่วมมือกัน เราจะสามารถเปลี่ยนอนาคตได้ด้วยมือของพวกเราเอง”

————-

Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai