ท่านใดอยากร่วมงานกับเราด้วยการเป็นอาสาสมัคร หรือองค์กรใดอยากรับอาสาสมัครเข้าไปร่วมงาน โปรดอ่านบทความนี้
นี่เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่ง (ตอนที่ 2 มีทั้งหมด 5 ตอน) ที่มอส.พยายามรวบรวมองค์ความรู้ในการทำงาน ด้วยหวังมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจอยากอ่านอยากศึกษาและนำบทเรียนดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ด้วยการแบ่งข้อเขียนขนาดยาวนี้ออกเป็น 5 ตอนเพื่อความสะดวกในการอ่าน และเพื่อประสิทธิผลในการรับบทเรียนโปรดติดตามอ่านจนจบ”
โดย กรรณิกา ควรขจร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
บทที่ ๒ การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคี
องค์กรภาคีหลัก หมายถึง องค์กรที่รับอาสาสมัครเข้าไปปฏิบัติงาน ๑ ปี องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง หมายถึงองค์กรอื่นๆที่เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ การทำงานของอาสาสมัคร ได้แก่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หรือ งานพัฒนาสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เป็นต้น
การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคีหลัก คือการประสานสร้างความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการ และสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่ต้องการรับอาสาสมัครไปปฏิบัติงานในองค์กรจนครบวาระ ๑ ปี ได้แก่การเข้ามาร่วมในการคัดเลือกอาสาสมัคร การมอบหมายและจัดการเรียนรู้ให้อาสาสมัครเมื่ออยู่ในองค์กร ตลอดจนร่วมปรึกษาหารือ ร่วมกันจัดการเรียนรู้ ประเมินผลการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร กับเจ้าหน้าที่ของ มอส.
คุณสมบัติขององค์กรที่รับอาสาสมัคร
๑. เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีเป้าหมายร่วมในการทำงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
๒. มีความพร้อมที่จะให้อาสาสมัครทำงานครบ ๑ ปี เช่น มีแผนงาน และงบประมาณเพียงพอ
๓. มีพี่เลี้ยงในการมอบหมายงานและติดตามการทำงานของอาสาสมัคร
๔. มีงบประมาณสมทบในการแบ่งจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้อาสาสมัครประมาณ ๘๐ ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ของค่าตอบแทน หลักเกณฑ์นี้มีความยืดหยุ่นตามความจำเป็นของงาน และความพร้อม ขององค์กร
การพิจารณาองค์กรที่จะรับอาสาสมัคร
๑. วิเคราะห์ภาพรวมความต้องการอาสาสมัคร และความพร้อมของ มอส. ในแต่ละปี มอส.จะวิเคราะห์ว่าในปีนั้นมีประเด็นสิทธิอะไรบ้างที่มีความมีความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา และต้องการกำลังคน รวมถึงการวิเคราะห์องค์กรที่เคยรับอาสาสมัครว่ามีความเหมาะสมในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้หรือไม่ มีองค์กรด้านใดที่ไม่เคยรับอาสาสมัครและควรส่งอาสาสมัครไป เพื่อให้กลุ่มอาสาสมัครในรุ่นนั้นมีความหลากหลายในประเด็นการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ในช่วงวาระของอาสาสมัคร รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับอาสาสมัครด้วย ประเด็นวิเคราะห์ร่วมอีกเรื่องหนึ่งความพร้อมของ มอส.เองได้ด้านงบประมาณว่าในแต่ละปี มอส.จะรับอาสาสมัครได้กี่คน สอคล้องกับกำลังทีมเจ้าหน้าที่ หรือไม่ อย่างไร
๒. แจ้งข่าวสาร สร้างความเข้าใจไปยังองค์กร มอส.จะแจ้งข่าวสารการรับอาสาสมัครไปยังองค์กรต่างๆ โดย การส่งจดหมาย การเข้าพบพูดคุย การประสานทางโทรศัพท์ และสร้างความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการฯและบทบาทขององค์กรในการรับอาสาสมัคร โดยมีทั้งเอกสารแนะนำ และแบบฟอร์มให้ตอบกลับถ้าประสงค์จะรับอาสาสมัคร
๓. องค์กรตอบคำถามในแบบฟอร์ม เนื้อหาแบบฟอร์มนั้นเกี่ยวกับการแนะนำองค์กร และโครงการที่ต้องการอาสาสมัคร วัตถุประสงค์ งานที่จะให้อาสาสมัครทำ พื้นที่การทำงาน คุณสมบัติอาสาสมัครที่ต้องการ ระบบการดูแล และความสามารถในร่วมจ่ายค่ายังชีพให้อาสาสมัคร ข้อมูลเหล่านี้ มอส.จะนำมาทำสรุปสาระสำคัญชี้แจงให้กับผู้สมัครด้วย องค์กรจะต้องส่งแบบฟอร์มตอบกลับภายในระยะเวลาที่กำหนด
๔. การพิจารณาเลือกองค์กรที่จะรับอาสาสมัคร มอส.จะร่วมกันพิจารณาองค์กรที่ต้องการอาสาสมัครทั้งหมดว่าตรงตามคุณสมบัติหรือไม่ โดยเฉพาะองค์กรที่ไม่เคยรับอาสาสมัคร มีความหลากหลายในประเด็นที่วิเคราะห์ไว้เบื้องต้นหรือไม่ สามารถร่วมจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้ อาจจะมีการไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่ไม่ชัด หรือต้องตามไปชี้แจงเป้าหมาย ลักษณะของโครงการกับบางองค์กร หรือการไปเจรจาต่อรองในเรื่องการแบ่งจ่ายค่าตอบแทน หรือต้องไปหาองค์กรเพิ่มเติมเมื่อพบว่าองค์กรที่ขอรับยังน้อยไป ฯลฯ ในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลานาน และทีมต้องมีประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวว่าองค์กรต่างๆที่ขอรับอาสาสมัครมาจะเหมาะสมกับการรับอาสาสมัครไปปฏิบัติงานหรือไม่
๕. การแจ้งผลการพิจารณาไปยังองค์กรต่างๆ มอส.จะแจ้งผลไปยังองค์กร และแจ้งกำหนดการต่างๆ ได้แก่การมาชี้แจงโครงการให้กับผู้สมัคร การสัมภาษณ์ อาสาสมัคร การประชุมร่วมขององค์กรที่รับอาสาสมัครเพื่อสร้างความเข้าใจ ในกระบวนการเรียนรู้ของ มอส. ข้อตกลง และความร่วมมือในการพัฒนาอาสาสมัคร
นอกจากนี้ มอส. จะพิจารณารับ “อาสาสมัครสมทบ” จากองค์กรด้านสิทธิที่ต้องการส่งเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่เป็นคนวัยตามเกณฑ์ของอาสาสมัคร เข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้ ๑ ปีกับอาสาสมัครด้วย รุ่นละไม่เกิน ๕ คน ผู้ที่องค์กรส่งมาต้องมีความตั้งใจ สนใจเรียนรู้ และเขียนใบสมัคร ส่งมาให้ มอส.ด้วย
บทที่ 3 กระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร
การคัดเลือกผู้ที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครนับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสม และมีความพร้อมที่สุด มอส.จึงได้กำหนดคุณสมบัติพื้นฐาน และจัดกระบวนการคัดเลือก ดังนี้
คุณสมบัติของผู้สมัคร
๑. มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้สังคมและฝึกฝนตนเอง
๒. จบปริญญาตรี ด้านกฎหมายหรือสาขาอื่นๆ
๓. อายุ ๒๐-๓๐ ปี
๔. มีความพร้อมในการทำงานเต็มเวลาในระยะเวลา ๑ ปี
กระบวนการคัดเลือก
๑. การประชาสัมพันธ์การประกาศรับอาสาสมัคร
มอส.ใช้เวลาประมาณ ๒-๓ เดือนในการประชาสัมพันธ์ไปยังคนหนุ่มสาวที่สนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัคร โดยการผลิตโปสเตอร์ E-poster ข้อความประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆดังนี้
- สื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ
- สื่อออนไลน์ Social Media
- มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาจารย์ที่เรารู้จัก กลุ่มนักศึกษา ชมรมกิจกรรมทางสังคม
- องค์กรพัฒนาเอกชน, สภาทนายความ, สำนักงานเนติบัณฑิต
นอกจากนี้ยังใช้วิธีเข้าไปประชาสัมพันธ์ในงานปัจฉิมนิเทศ หรือโอกาสสำคัญอื่นๆในมหาวิทยาลัย
ประสานกับอาจารย์เข้าไปสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในห้องเรียน หรือนัดหมายเข้าไปคุยกับนักศึกษาโดยผ่านอดีตอาสาสมัครที่ยังสามารถเชื่อมโยงกับนักศึกษารุ่นน้องได้
การได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยน กับนักศึกษาโดยตรงเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะได้สร้างความเข้าใจ ได้ตอบคำถาม มอส.จะชวนอดีตอาสาสมัครที่เป็นศิษย์เก่าไปร่วมด้วย ให้เล่าประสบการณ์ตรงกับการทำงานในฐานะอาสาสมัคร หรือ การนำภาพยนตร์สั้นที่สะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิ ไปฉายด้วย ก็จะทำให้นักศึกษาได้เห็นภาพปัญหาที่ชัดเจน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อความเป็นธรรมในสังคม
๒. กระบวนการคัดเลือก
ผู้ที่สนใจสมัครจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
๒.๑ การเขียนใบสมัคร
ผู้สมัครดาวน์โหลดใบสมัคร ได้จากเว็บไซด์ของ มอส. หรือจะสอบถามมายัง
มอส.ขอใบสมัครทางอิเมล์ หรือ จะมาเขียนใบสมัครที่ สำนักงาน มอส. เมื่อเขียนแล้วก็สามารถ ส่งมาทาง อิเมล์ ไปรษณีย์ มาส่งด้วยตนเองในระยะเวลาที่กำหนด
เนื้อหาใบสมัคร ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ส่วนแรก เกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์และบทเรียนการทำกิจกรรมทางสังคม บุคลิกภาพ ความสามารถ แรงบันดาลใจในการมาเป็นอาสาสมัครหรือการทำงานเพื่อสังคม ส่วนที่สอง เกี่ยวกับความรู้และทัศนคติ เป็นคำถามที่เกี่ยวกับสังคม สิทธิมนุษยชน หรือความเห็นต่อประเด็น หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง คำถามในแต่ละปีอาจจะมีความแตกต่างไป บางปีอาจจะให้มีการแต่งเรียงความ เช่น เรื่องอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคม ฯลฯ
หลักการสำคัญ ของการออกแบบใบสมัคร คือ การได้รู้จักความมุ่งมั่น ตั้งใจ ผ่านการเรียนรู้ประวัติชีวิต ประสบการณ์ และการสังเคราะห์บทเรียน กับได้รู้จักความรู้ ทัศนะ วิธีคิดในการมองปัญหาของผู้สมัครจากการตอบคำถามที่ตั้งขึ้น ดังนั้นหากต้องการคำตอบในเรื่องอะไร การออกแบบคำถามเป็นเรื่องสำคัญ
การพิจารณาใบสมัคร มอส. จัดกรรมการอ่านใบสมัครเพื่อให้ใบสมัคร ๑ ชุดได้รับการอ่านจากกรรมการอย่างน้อย ๓ คน กรรมการจะประกอบด้วย เจ้าหน้าที่มอส. กรรมการโครงการฯ อดีตอาสาสมัคร หรือบุคคลที่ มอส.เห็นว่าเหมาะสม กรรมการอาจจะมีหลายทีม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครว่ามากน้อยอย่างไร ทีมหนึ่งจะอ่านใบสมัครประมาณ ๑๐-๑๕ ชุด กรรมการแต่ละคนจะให้คะแนนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้และให้ความเห็นลงในแบบประเมิน ใบสมัครที่ผ่านการพิจารณาคือกรรมการ ๒ ใน ๓ ให้คะแนนผ่านตามเกณฑ์ของมอส. ถ้ากรรมการให้คะแนนหรือมีความเห็นต่างกันมาก ภายในทีมนั้นต้องนำมาถกเถียงกันจนได้ข้อยุติ หรืออาจจะต้องให้กรรมการอื่นที่นอกทีมช่วยอ่านด้วย จากนั้นกรรมการทุกคนหรือผู้แทนแต่ละทีมนำใบสมัครที่ผ่านการพิจารณาแล้วมาสรุปร่วมกัน แล้วประกาศผลแก่ผู้สมัครทางเว็บไซด์
เกณฑ์การพิจารณาใบสมัคร มอส.มีเกณฑ์การพิจารณา ๔ เรื่อง คือ ๑) ความมุ่งมั่นตั้งใจ ๒) ความเข้าใจปัญหาสังคมและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ๓) การวิเคราะห์ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ๔) ความสามารถในการสื่อสาร มอส.ให้ความน้ำหนักกับเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจ จะให้คะแนนเรื่องสูง เช่น คะแนนเต็ม 40 จะให้อัตราส่วนใน 4 เรื่อง ดังนี้ 15 10 10 5 ในการให้คะแนนผ่านแต่ละเรื่องต้องมากกว่า ครึ่งหนึ่ง คือ 8 6 6 3 จึงผ่าน อย่างไรก็ดีใบสมัครบางคนที่พบความไม่แน่ใจ ถึงแม้คะแนนบางตัวจะต่ำ ก็สามารถนำมาพิจารณาในที่ประชุมได้ ในบางปีที่พบว่าผู้สมัครไม่มากนัก กรรมการจะเปิดโอกาสให้ผ่านเข้ามาฟังการชี้แจงโครงการได้ แต่ก็ยังต้องอ่านใบสมัครและให้คะแนนตามที่ตั้งเกณฑ์ไว้ด้วย
๒.๒ การเข้ารับฟังการชี้แจงโครงการ
ผู้ที่ผ่านการพิจารณาใบสมัครจะต้องเข้ารับฟังการชี้แจงโครงการต่างๆด้วยตนเองที่เปิดรับอาสาสมัครในปีนั้น (รายละเอียดโครงการต่างๆนั้น มอส.จะให้ข้อมูลเบื้องต้นในเว็บไซด์แล้ว)เนื้อหาของการชี้แจงโครงการนั้น ประกอบด้วย ๒ เรื่อง ๑) ความเป็นมา เป้าหมาย ของ มอส. และโครงการอาสาสมัครในภาพรวม บทบาทของอาสาสมัคร วาระ ค่ายังชีพ ฯลฯ ๒) รายละเอียดของโครงการต่างๆ ที่รับอาสาสมัคร ผู้แทนองค์กรที่รับอาสาสมัครทุกองค์กรจะต้องมาชี้แจงโครงการซึ่งจะใช้การบรรยาย ประกอบสื่อ ตอบข้อซักถาม เพื่อให้ผู้สมัครเข้าใจโครงการอย่างชัดเจนที่สุดทั้งเป้าหมาย โครงการ พื้นที่ทำงาน ลักษณะงานที่จะให้อาสาสมัครทำ ฯลฯ ใช้เวลาโครงการละประมาณ ๔๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง โดยทั่วไปการชี้แจงโครงการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ วัน
เป้าหมายของการชี้แจงโครงการ เพื่อให้ผู้สมัครเข้าใจโครงการอย่างชัดเจนในการตัดสินใจเลือกโครงการที่เหมาะสมกับตัวเอง และเพื่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ของผู้สมัครด้วยกันเอง การสร้างความรู้สึกเป็นเพื่อน ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกแข่งขันกันเอง การชี้แจงโครงการต่างๆ ยังทำให้เห็นภาพรวมของปัญหาสังคม ปัญหาการละเมิดสิทธิ และเห็นบทบาทขององค์กพัฒนาเอกชน เป้าหมายและวิธีการทำงานที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นห้องเรียนด้านสังคม ที่ มอส.จัดให้ผู้สมัครทุกคน แม้ว่าเขาจะได้รับเลือกให้เป็นอาสาสมัครหรือไม่ก็ตาม
การเลือกโครงการเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์
หลังจากที่ผู้สมัครฟังการชี้แจงโครงการ ทั้งหมดแล้ว แต่ละคนต้องตัดสินใจที่จะเลือกโครงการที่ตนเองคิดแล้วว่าเหมาะสมกับตนเอง ๒ โครงการโดยเรียงลำดับ ๑ ๒ เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์กับองค์กรนั้นๆ ทั้ง ๒ องค์กร ในวันถัดไป
๒.๓ การสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นการสัมภาษณ์ร่วมระหว่าง มอส. และ องค์กรที่รับอาสาสมัคร ในบางครั้งอาจจะมีกรรมการที่ มอส.เชิญมาเป็นกรรมการกลาง ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักงานของ มอส. และเกี่ยวข้องในประเด็นสิทธิมนุษยชน มาสัมภาษณ์ด้วย เพื่อช่วยพิจารณาผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร โดยรวมแล้วกรรมการในแต่ละห้องไม่ควรเกิน ๕ คน ผู้สมัครจะเข้ารับการสัมภาษณ์กับองค์กรที่ตนเองเลือกเป็นรายบุคคล ใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๐ นาที
การเตรียมการสัมภาษณ์ ทีม มอส.จะเตรียมใบสมัครของผู้สมัครในโครงการนั้นตามจำนวนของผู้สมัคร ให้กับกรรมการสัมภาษณ์ ได้อ่านก่อน และ มอส.จะมีการประชุมร่วมองค์กร และ กรรมการสัมภาษณ์ทุกคน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเกณฑ์การสัมภาษณ์ แนวทางในการสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม การแบ่งบทบาทการถาม โดย มอส.จะมีใบคะแนนให้กับกรรมการทุกคน
เกณฑ์การพิจารณาในการสัมภาษณ์ มอส.จะมีประเด็นในการพิจารณา ๔ เรื่องคือ ๑) ความมุ่งมั่น ๒) บุคลิกภาพ (วุฒิภาวะ มนุษยสัมพันธ์ ความเป็นผู้นำ) ๓) พื้นฐานความเข้าใจปัญหาสังคม และสิทธิมนุษยชน ๔) ทักษะ (การสื่อสาร ปฏิภาณไหวพริบ ความคิดสร้างสรรค์)
เมื่อสัมภาษณ์เสร็จในแต่ละคน กรรมการจะให้คะแนนของแต่ละคนตามแบบประเมินที่ มอส.จัดไว้ให้ แล้วมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันซึ่งจะทำให้เข้าใจว่ากรรมการแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร กรรมการบางคนให้คะแนนในบางเรื่องน้อย แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนแล้วเห็นคล้อยตาม ก็สามารถปรับคะแนนของตนให้ลดหรือเพิ่มได้ ซึ่งเป็นการปรับฐานการให้คะแนนให้สอดคล้องกันในกลุ่มกรรมการของห้องนั้น การตัดสินใจว่าผู้สมัครคนใดมีความเหมาะสมที่สุดจะพิจารณาหลังจากที่สัมภาษณ์ครบทุกคนแล้ว ทำความเห็นสรุปผู้ที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมดและให้จัดอันดับด้วย ซึ่งตรงนี้จะสอดคล้องกับการเลือกอันดับของผู้สมัคร คือ ถ้าผู้สมัครคนใดเลือกไว้เป็นอันดับ ๑ และ กรรมการก็พิจารณาผู้สมัครคนนั้นผ่านเป็นอันดับ ๑ เช่นกัน องค์กรนั้นก็จะรู้ได้ทันทีว่าได้คนที่เลือกไว้เป็นอันดับ ๑ แต่ถ้าผู้สมัครนั้นเลือกองค์กรอื่นเป็นอันดับแรก และผ่านการสัมภาษณ์เป็นอาสาสมัครขององค์กรที่เขาเลือกแล้ว องค์กรนั้นก็จะได้อาสาสมัครที่ผ่านการพิจารณาเป็นอันดับถัดไปเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอาจจะเห็นว่าไม่มีผู้ใดเหมาะสมกับการเป็นอาสาสมัคร และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไมได้เป็นอาสาสมัครขององค์กรใดเข้ารับการสัมภาษณ์อีก
การสัมภาษณ์ครบทุกองค์กรจะให้เวลาประมาณ ๒ วัน เมื่อสัมภาษณ์ครบแล้ว มอส.ก็จะประกาศผลทางเว็บไซด์ หรือถ้าผู้สมัครยังรออยู่ก็จะแจ้งกับผู้สมัครทันที โดยการประชุมแจ้งพร้อมกัน และให้กำลังใจแก่กันสำหรับผู้ที่พลาดโอกาส รวมทั้งแจ้งว่าองค์กรใดที่ยังไม่ได้อาสาสมัคร และประสงค์ที่จะสัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้สมัครที่พลาดโอกาส หากมีผู้สนใจ การสัมภาษณ์เพิ่มเติมจะเกิดขึ้นในวันถัดไป หรือ อาจจะนัดหมายสัมภาษณ์กับองค์กรนั้นเลย