คัดจากจากรายงานหัวเรื่อง “ปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” ในเวทีสรุปบทเรียนการปฏิบัติงาน 1 ปี ของนายโสภณ หนูรัตน์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 7 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ก่อนที่จะเข้ามาทำงานที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผมขาดประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคพอสมควร เพราะหลังจบปริญญาตรีก็ยังไม่ได้เริ่มทำงานอะไรจริงจัง และเรียนต่อเนติบัณฑิต ทำให้ขาดความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน ไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำงานเป็นทีม ซึ่งมีความสำคัญมากในการหาข้อมูลและติดตามข่าวสาร ยอมรับว่าในการทำงานเดือนแรกยังตามเรื่องราวที่ทางมูลนิธิฯทำอยู่ไม่ทัน และต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอ กฎหมายหลายๆ ตัวก็ไม่คุ้นเคย แม้กระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ต้องกลับมาเริ่มศึกษาใหม่หมด
เมื่อเข้ามาทำงานที่มูลนิธิฯ ผมได้รู้จักกับพี่ๆ ทุกคนใจดีและพูดคุยเป็นกันเองมาก ทำให้ผมไม่รู้สึกเกร็ง เวลามีปัญหาในการทำงานหรือยังไม่เข้าใจบางอย่าง พอได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ ในมูลนิธิ ก็ได้รับคำแนะนำและความเห็นที่ดีอยู่เสมอ
หลังจากทำงานได้ประมาณ 1 เดือน มีโอกาสได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัด ที่อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ได้มีโอกาสรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่เกิดขึ้น ได้ฟังความเห็นของเจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฯกับเครือข่าย ทำให้ผมเกิดความเข้าใจในการทำงานมากขึ้น ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน ได้ฝึกงานด้านการสอบข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในการทำงาน ได้ใช้ความรู้ทางกฎหมายที่เรียนมา ประกอบการให้ความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผมเข้าใจปัญหามากขึ้น
เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ข้อมูลที่เรามีในช่วงแรก เป็นข้อมูลทางเอกสาร ก่อนจะมาลงพื้นที่ เรามีข้อมูลที่จำกัด เอกสารก็ให้ข้อมูลเราไม่มากพอ ที่จะมองเห็นปัญหาทั้งหมด การได้พูดคุยกับผู้เสียหายหรือเจ้าของเรื่อง ช่วยทำให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงของปัญหามากขึ้น และเราต้องกล้าที่จะถาม กล้าที่จะคุยกับเขา เขาก็ยินดีที่จะให้ข้อมูล
หลังจากการลงพื้นที่ครั้งนั้น ผมก็กลับมาทบทวนตัวเอง เปรียบเทียบตัวเองในสมัยก่อนที่จะมาทำงานที่มูลนิธิฯ ตัวผมเองเป็นคนที่ชอบเก็บตัว ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่มีความเป็นผู้นำ และชอบเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเงียบๆ หลีกเลี่ยงงานกิจกรรมที่ต้องไปแสดงต่อหน้าคนจำนวนมาก ไม่กล้าบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองคิด ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ ปิดตัวเอง และไม่ค่อยสนใจคนอื่น
แต่เมื่อมาทำงาน ทำให้ตัวเองต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มีหน้าที่ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ รู้ว่าตอนนี้ใจเราต้องการอะไร เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากมีประสบการณ์ ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต อยากทำงานที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะทำ ได้ทำแล้วรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีค่า มีความหมายที่จะทำ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะตัวเองก็เชื่อว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราแสดงออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะได้แบ่งปันสิ่งที่ดีๆ ให้ผู้อื่น
เปิดโลกการเรียนรู้ ท่ามกลางการปฏิบัติ
งานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ผมได้ทำ เป็นงานด้านคดีความ และให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย เป็นงานที่ได้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ ได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำให้เขารู้สิทธิและปกป้องตนเองได้มากขึ้น หากมีคดีขึ้นสู่ศาล การที่ฝ่ายผู้บริโภคชนะคดี คำพิพากษาของศาลก็จะเป็นบรรทัดฐานแก่สังคม ผมคิดว่าการที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ผมเปิดใจมากขึ้น พยายามเข้าใจคนอื่น ทำให้ได้รู้จักคนที่มีลักษณะแตกต่างกัน ได้พูดคุยกับคนในหลายระดับ ได้เห็นปัญหาของผู้มีอันจะกินไปจนถึงชาวบ้านผู้ทุกข์ยากมีหนี้สินมากมาย ทำให้ผมได้รู้ว่าความทุกข์ของคนเรามีไม่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น มีบริษัทแห่งหนึ่ง ได้โฆษณาอันเป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และใช้บริการตามที่โฆษณานั้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกหมดความเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทีมีฐานะจะมองเห็นว่าไม่เป็นธรรมและต้องการเรียกร้องสิทธิ แต่สำหรับชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ เห็นว่าเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญกว่า แม้จะทราบว่ามีการโฆษณาอันเป็นเท็จ หลอกลวงตนเอง แต่ก็จะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เป็นต้น
จากการได้ทำงานมาหลายเดือน ได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้รู้จักคนอื่นมากขึ้น โดยมีงานเป็นจุดร่วม ได้เรียนรู้อุปนิสัยของคนอื่น ได้เห็นทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี ซึ่งก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของทุกสังคมที่จะต้องมีทั้งคนที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป บางทีหากเราไม่ได้เจอคนที่ไม่ดีมาก่อน เราอาจจะไม่ได้รู้จักคนที่ดี ซึ่งการที่เราจะอยู่ร่วมกับคนหมู่มากได้ เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ในการทำงานเราต้องรับฟังความเห็นของผู้อื่น ยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีอัตลักษณ์ของตนเองด้วย
ในเรื่องของการใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย ในช่วงที่ทำงานระยะแรกยังคงยึดติดกับตัวบทกฎหมายตามประมวลกฎหมาย เชื่อว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ก็ควรต้องปฏิบัติไปตามนั้น แต่เมื่อได้ทำงาน ได้เห็นมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภค การตีความกฎหมายก็ต้องตีความเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคด้วย ดังนั้น กฎหมายที่รัฐสร้างขึ้น อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเสมอไป แต่อาจสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้ภาระตกแก่ผู้บริโภค ลดอำนาจต่อรองของผู้บริโภคลง
อีกทั้ง แม้กฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น การที่กฎหมายกำหนดให้คดีผู้บริโภคซึ่งผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง สามารถดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยทนายความ แต่ในทางปฏิบัติศาลก็ยังใช้วิธีดำเนินคดีแบบแพ่งสามัญ และเรียกให้ผู้บริโภคหาทนายความมาว่าคดีให้อยู่ เป็นต้น
สัปดาห์หน้า..โปรดติดตามตอนจบ