ทุ่งคำ-ปิดด่านปกป้องชุมชน

โดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

“ข้าพเจ้าถือว่าการเสียชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ คือ การถูกฆาตกรรม โดยที่อาชญากร คือ รัฐกับทุนที่รวมหัวกัน” ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม

ยาวนานกว่าสองทศวรรษ วนเวียนร้องเรียนกับทุกรัฐบาล รัฐมนตรี ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชุมนุม คัดค้าน ฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ไม่สามารถที่จะปกป้องรักษาสุขภาพที่ดี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุขในชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนล่มสลาย แตกแยก ผู้คนทยอยเจ็บป่วยและล้มตาย ถูกละเมิดซ้ำซาก ทั้งยังใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการใส่ร้ายป้ายสี ข่มขู่ คุกคาม ปิดล้อม ทำร้าย และใช้กฎหมายฟ้องคดีแพ่ง-อาญาเรียกค่าเสียหายด้วยจำนวนเงินลิบลิ่ว ซ้ำร้ายปัญหาผลกระทบทั้งหลายที่เกิดขึ้น นอกจากจะไม่ได้ทำให้เกิดบทเรียนจากการพัฒนา ยังดึงดันให้เนื้อร้ายที่ไม่มียารักษานี้แพร่ระบาดขยายพื้นที่และความรุนแรงไปในพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น

การประกาศนโยบายล่าสุดของกระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ที่เตรียมจะ“ให้สัมปทานแร่ทองคำใหม่กับผู้ประกอบการเหมืองทอง 300 แปลง” ภายในปีนี้ช่างตอกย้ำคำพูดของชาวบ้านรอบเหมืองทองที่กล่าวว่า “สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย” ให้สั่นสะเทือนถึงใจไปยังพื้นที่เป้าหมายอีกนับแสนไร่

เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ที่มีแร่ทองคำ? ฉายซ้ำอีกครั้งถึงขบวนการในอำนาจรัฐกับทุนที่ไม่เคยเห็นประชาชนในสายตา

กับเหมืองแร่ทองคำสองแห่งในประเทศ เหมืองทองเลยและเหมืองทองในเขตรอยต่อเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก

เริ่มจากการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ “สิทธิผูกขาด” ในการสำรวจแร่และประทานบัตร ที่ละเมิดกฎหมายที่ดินทุกประเภทให้แก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยช่องทางพิเศษ คือ “อาชญาบัตรพิเศษ”เมื่อต้นปี 2532โดยให้ผู้ประกอบการเสนอผลประโยชน์พิเศษตอบแทนแก่รัฐบาล

รับช่วงต่อจากนั้นในปี 2551 โดยกรมทรัพยากรธรณี ที่ออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 34 แปลง เนื้อที่ 335,672 ไร่ และประทานบัตร 6 แปลง รวมพื้นที่ 1,291 ไร่ แก่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ส่วน บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ริชภูมิไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ-เงิน ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัดพร้อมกันในปี 2549 จำนวน 59 แปลง 507,996 ไร่ เป็นอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ110,000 ไร่ และประทานบัตรรวม14 แปลงรวมพื้นที่ 3,926 ไร่แบ่งตามช่วงเวลา 5 แปลงแรก เรียกว่า เหมืองแร่ทองคำชาตรี และ เฟส 2 อีก 6 แปลง เรียกว่า เหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ภายใต้การเห็นชอบจาก มติ ครม. การยินยอมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การยินยอมของกรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การยกร่างทำให้เป็นกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ, 1 บี พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ ส.ป.ก. โดยให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเช่าบำรุงพื้นที่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอผลประโยชน์พิเศษตอบแทนแก่รัฐบาล

ในปี 2544บริษัทอัคราไมนิ่งฯ เริ่มเปิดทำเหมือง และบริษัททุ่งคำฯเปิดเหมืองในปี 2549 ปัญหาที่ตามมาคือ มีความพยายามต่างๆ นานาที่จะทำให้ชาวบ้านขายที่ดินให้กับเหมืองในราคาถูก คือ ฝุ่นละออง แรงสั่นสะเทือนเศษหินปลิวกระจาย และเสียงดังที่เกิดจากการระเบิดเหมืองตลอดเวลาทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนเนื่องจากเหมืองแร่เปิดทำการอยู่ใกล้กับชุมชน ในระยะใกล้ที่สุดเพียง 500 เมตร ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติถูกทำลายและปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนักหลายชนิดข้าวปลาอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค-น้ำในการเกษตรเหือดแห้งและไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ และเริ่มเจ็บป่วยด้วยอาการแพ้ มีผื่นคันเป็นตุ่มหนองตามผิวหนัง

ทุ่งคำ-เขื่อนเก็บกากแร่แตก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมีการเปิดเหมืองชาวบ้านใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ซึ่งอาศัยอยู่ข้างเหมืองทองของบริษัทอัคราไมนิ่งฯเริ่มร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบหลายปีผ่านไปแม้จะมีกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมโรงงานและสิ่งแวดล้อม หลายชุดลงพื้นที่ตามคำร้องเรียน แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นและไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำหน่วยงานรัฐยังปกปิดข้อมูลข้าวปนเปื้อนโลหะหนักที่ตรวจสอบพบในปีนั้น

วันที่ 10 พ.ย. 2553 ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ 44 ราย ในพื้นที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก ให้ดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ ที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ รมว.อุตสาหกรรม, อธิบดีกพร.,คณะกรรมการเหมืองแร่,อธิบดีกรมป่าไม้ และอบต.เขาเจ็ดลูก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร 5 แปลงแรกของบริษัทฯที่ไม่ได้มีการทำ อีเอชไอเอ และยุติการดำเนินการใดๆ ในเขตประทานบัตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว รวมถึงขอให้เพิกถอนการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าทำเหมืองแร่ โดยกรมป่าไม้และเพิกถอนมติสภา อบต.เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2548 ที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม แม้คดีจะอยู่ในกระบวนการของศาล เหมืองทองชาตรีไม่ได้มีการหยุดประกอบการ อีกทั้งยังขอขยายพื้นที่ทำเหมือง โรงงานทำเหมืองแร่และผลิตโลหกรรมเพิ่มเติมในแปลงประทานบัตร 9 แปลง เรียกว่า โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยได้รับอนุญาตในช่วงที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.อุตสาหกรรม

ท่ามกลางเสียงร้องเรียนที่ดังขึ้นๆ ไปพร้อมๆ กับเสียงระเบิดระรอกใหม่ที่สั่นสะเทือนตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเหตุจำเป็นให้กพร.ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบเหมืองทองชาตรีเหนือในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2553 และนำไปสู่คำสั่งให้บริษัทฯ หยุดการทำงานของเครื่องจักร และให้หยุดทำเหมืองในพื้นที่เฟส 2 จนกว่าจะมีการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงจนกว่าบริษัทฯจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาเสียงดังของการเจาะ ระเบิดและให้บริษัทฯ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองโลหะหนัก บริเวณบ่อประปาบาดาลของชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการทั้งหมด พร้อมทำการตรวจวัดคุณภาพของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ม.ค.2554

แต่คำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงการหาช่องทางให้บริษัทฯ สามารถทำเหมืองต่อไปได้ ด้วยการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยด้วยการติดตั้งเครื่องกรองน้ำในระบบประปาบาดาลตามจุดต่างๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งที่สุดแล้วก็ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของน้ำที่ผ่านระบบมาอยู่ดี ส่วนข้าราชการรอดพ้นจากการถูกฟ้องว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาทุกด้านยังทิ้งให้ชาวบ้านต้องรับเคราะห์อย่างสิ้นหวัง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ภายใต้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ตัวแทนผู้ป่วย และผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง ตลอดจนตัวแทนชาวบ้านที่ถูกบริษัทฟ้องกรณีบุกรุกและเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือให้เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย หลังจากนั้น น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง แกนนำคัดค้านเหมืองทอง ถูกบริษัทอัครา รีซอร์สเซส(ชื่อเดิมอัคราไมนิ่ง) แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท

ด้านการร้องเรียนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ทำให้ประเด็นผลกระทบจากเหมืองทองของบริษัททุ่งคำฯ มีผลการตรวจสอบยืนยันจากภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค อุตสาหกรรมจังหวัด สาธารณสุขเลย กองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กพร. กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ตั้งแต่ปี2549 ที่เริ่มมีการทำเหมืองมาเป็นระยะ

จากการตรวจสอบทุกครั้งล้วนพบว่า แม่น้ำฮวย ห้วยผุก และแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่รอบเหมือง น้ำบาดาล ระบบประปาบาดาล พืชผลธรรมชาติ พืชผลทางการเกษตรและสัตว์น้ำ มีโลหะหนักปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นไซยาไนด์ แมงกานิส สารหนู ปรอท แคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก ฟินอล เกินค่ามาตรฐาน

โดยเฉพาะในปี 2550 สิ่งแวดล้อมภาค 9 อุดรฯ ตรวจสอบพบ แม่นํ้าฮวย ห้วยผุก มีค่าไซยาไนด์ แมงกานีส เกินค่ามาตรฐาน และในบ่อเก็บกากแร่ของบริษัทฯ มีค่าไซยาไนด์สูงถึง 62 ppm. เกินจากค่ามาตรฐานที่อีไอเอระบุไว้เพียง 2 ppm. แต่กพร. อุดรฯ ภาค 2 กพร. เพียงเรียกร้องให้เหมืองปรับปรุงข้อบกพร่อง ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัดเลย มีคำสั่งให้ปรับบริษัททุ่งคำฯ เพียง 2,000 บาท

28 มิ.ย.2550สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม หลังจากมีการเปิดทำเหมืองได้เพียง 1 ปี กพร. มีหนังสือแจ้งให้บริษัททุ่งคำฯ เข้าพบอธิบดี กพร. ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีในเวลานั้น คือ นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก เพื่อบันทึกปากคำรับทราบข้อกล่าวหาอันมีสาเหตุมากจากการที่บริษัทฯ มีเจตนาขนแร่โลหะทองคำมีเงินเจือปน จำนวน 105.5 กิโลกรัม มูลค่า 52 ล้านบาท ออกจากเขตเหมืองแร่ โดยไม่ยื่นคำขอใบอนุญาตขนแร่

กล่าวให้ชัด คือ การขนแร่โดยไม่จ่ายค่าภาคหลวงแร่ ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 108 แห่ง พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 บทลงโทษ คือ ปรับ 1-5 เท่าของมูลค่าแร่ รวมถึงรัฐมนตรียังมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ ในครั้งนั้น บริษัททุ่งคำฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นผ่านไปอีก 1 ปี จะเป็นความตั้งใจหรือไม่ อัยการจังหวัดเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีกับบริษัททุ่งคำด้วยเหตุผลเพราะ “คดีขาดอายุความ”

ในปี 2551 โรงพยาบาลวังสะพุง สุ่มตรวจไซยาไนด์ในเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง 279 คน รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นผู้ทำการตรวจได้แจ้งผลเลือด พบมีไซยาไนด์ในเลือดของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 54 ราย และใน 54 รายนี้ มีไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 20 คน

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2552 บริษัททุ่งคำฯ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพื่อรองรับการขยายพื้นที่ทำเหมือง โดยว่าจ้าง ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยน้ำบาดาล คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2553 สาธารณสุขเลยตรวจเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง พบไซยาไนด์ ปรอท ตะกั่ว ในเลือดทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน

ทุ่งคำ-เวทีรับฟังความคิดเห็น 8 กันยา

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เรียกร้องให้ กพร. ปิดเหมืองทอง ยกเลิกคำขอประทานบัตรทั้ง 106 แปลง และคัดค้านการอนุมัติประทานบัตรเพิ่มเติมของ บริษัททุ่งคำ คือ แปลงที่ 104/2538 ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา เรียกว่า “ภูเหล็ก” ในวันที่ 23 ต.ค. 2553 ส่งผลให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติครม. ในวันที่ 8 ก.พ. 2554 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขอประทานบัตร แปลงภูเหล็ก และแปลงอื่นๆ ของบริษัททุ่งคำฯ ที่ต้องการจะขยายพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่จนกว่าจะได้ข้อสรุปสาเหตุการปนเปื้อนโลหะหนัก และให้ศึกษาเพื่อผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้าน และ ให้ดำเนินการทำ เอชไอเอ

จากนั้นผลกระทบยังปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2554 ประกาศจังหวัดเลย ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบพบว่า บ่อเก็บกากแร่มีสารหนูและไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐาน และสาธารณสุขเลย กับ รพ.วังสะพุง เปิดเผยผลตรวจเลือดชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง 758 ราย ผลเลือดของชาวบ้าน 124 ราย มีปรอท และไซยาไนด์ เกินค่ามาตรฐาน

ทว่า นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับส่งรายงานผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดิน น้ำบาดาล และดินในบริเวณทำเหมืองทองคำและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ ซึ่งอ้างว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้ ครม.มีมติรับทราบ ในวันที่ 22 พ.ย. 2554ทั้งๆ ที่คำสั่งตาม มติ ครม. ในวันที่ 8 ก.พ. 2554 ล่วงมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการปฏิบัติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาของการร้องเรียนดังกล่าว และมีผลตรวจอันเป็นที่ประจักษ์ของการปนเปื้อนสารโลหะหนักทั้งในสิ่งแวดล้อมและในเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองนั้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายชุดหลายคณะ

แต่ในขณะที่สาเหตุของผลกระทบ ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ความเจ็บป่วยของชาวบ้านยังไม่มีข้อสรุป และยังไม่ได้รับการแก้ไข อุตสาหกรรมจังหวัดเลยกลับต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมให้ บริษัททุ่งคำฯ ที่หมดอายุในวันที่ 12 ส.ค. 2555ไปจนถึงวันที่ 12 ส.ค. 2560 ทั้งๆ ที่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอคัดค้านการขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและแร่อื่นๆ ของบริษัททุ่งคำฯ เนื่องจากการทำเหมืองได้ส่งผลกระทบอย่างมากในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้ทราบแม้แต่น้อยว่า บริษัทฯ ต้องทำ อีเอชไอเอก่อนเพื่อประกอบใบขออนุญาตหรือไม่

จนในที่สุดวันที่ 26 ต.ค. 2555 เกิดเหตุการณ์สันเขื่อนเก็บกากแร่ของบริษัทแตก เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องทางวิศวกรรมอย่างใหญ่หลวง แม้กพร. จะมีคำสั่ง ให้ปิดเหมืองชั่วคราว เพื่อให้มีการตรวจสอบปัญหาเขื่อนแตกอย่างเร่งด่วน บริษัทได้แก้ไขสถานการณ์โดยการปูผ้ายางรอบสันเขื่อน อัดดินบนสันเขื่อนให้แข็งแรงขึ้น

แต่ข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหา คือ การเพิ่มความความสูงของสันเขื่อน ซึ่งมีรายงานระบุว่า น้ำในสันเขื่อนใกล้จะเต็มแล้ว ทำให้เขื่อนเก็บกากแร่ที่ตั้งอยู่บนภูทับฟ้าสามารถบรรจุปริมาณน้ำเสียจากโรงงานได้มากขึ้น รองรับการขยายพื้นที่ทำเหมืองได้อีกโดยไม่ต้องทำรายงานอีไอเอเพิ่มเติม

ต่อมาวันที่ 23 ธ.ค. 2555 บริษัททุ่งคำ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อจัดทำรายงานอีเฮชไอเอ ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 บนภูเหล็ก โดยใช้กองกำลังตำรวจ 700 นายปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวที การจัดเวทีดังกล่าวจึงขาดความชอบธรรมเนื่องจากอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาสันเขื่อนแตก และอยู่ระหว่างคำสั่งปิดเหมืองของ กพร. อีกทั้งการดำเนินการยังเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงต่อผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงของชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน

ทว่า ในวันที่ 25 มี.ค. 2556กพร. และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ก็มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัททุ่งคำ เปิดดำเนินการทำเหมืองได้ตามปกติ รวมทั้งยังเดินหน้าว่าจ้างให้ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจการกระจายตัวและแหล่งที่มาการปนเปื้อนโลหะหนัก ในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจาย สาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนัก และประเมินการปนเปื้อนของโลหะหนักในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำ (29 ส.ค. 2556) ผลการสำรวจยังคงพบสารหนู และแมงกานีสที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและน้ำบาดาลเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 ลุ่มน้ำในพื้นที่ ได้แก่ ลุ่มน้ำฮวย ลุ่มน้ำห้วยผุก ลุ่มน้ำห้วยเหล็ก ในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน พบค่าความเข้มข้นเกินมาตรฐานของ สารหนู ไซยาไนด์ และตะกั่ว ส่วนแมงกานีส เกินมาตรฐานในบางสถานี พบสารหนู และไซยาไนด์ ในน้ำผิวดิน ส่วนใหญ่เกินมาตรฐานในพื้นที่เหมือง และบางสถานีนอกพื้นที่ประกอบกิจกรรมเหมือง อีกทั้งในช่วงฤดูฝนจะพบไซยาไนด์ เกินมาตรฐานน้าผิวดินหลายจุดนอกพื้นที่เหมือง ส่วนบ่อบาดาลอื่นๆ ในเหมือง และบ่อกักเก็บตะกอนกากแร่ มีค่าไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส และทองสูงเกินมาตรฐาน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาในครั้งนี้ก็สรุปสาเหตุของการปนเปื้อนว่า “เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของพื้นที่”หลังจากนั้นการศึกษาชิ้นนี้ถูกนำมากล่าวอ้างว่าเป็นการศึกษาตามมติ ครม. วันที่ 8 ก.พ. 2554 และถูกนำมาอ้างผลทุกครั้งเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากชาวบ้าน

วันที่ 3 ส.ค. 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน มีมติประกาศใช้ระเบียบชุมชน ห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตันวิ่งบนถนนของชุมชน และห้ามรถบรรทุกสารเคมีวิ่งผ่านถนนของชุมชน และตัดสินใจก่อกำแพงบริเวณ 4 แยกนาหนองบงคุ้มน้อย เพื่อปกป้องชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน

รุ่งขึ้น (8 ก.ย. 2556) บริษัททุ่งคำจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อจัดทำรายงานอีเฮชไอเอ ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 (นาโป่ง) และเป็นอีกครั้งที่มีการใช้กองกำลังตำรวจ 1,000 นายปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวที

ซ้ำร้ายในเดือนนั้นเป็นต้นมา บริษัทได้ทยอยฟ้องคดีแพ่ง-อาญากับชาวบ้านรวม 33 คน 9 คดี เรียกค่าเสียหายรวมแล้วมากกว่า 270 ล้านบาท พร้อมๆ กับการทำลายกำแพงทั้ง 3 ครั้งที่ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้างขึ้น โดยใช้คำอ้างว่า ชาวบ้านปิดทางเข้าเหมือง ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้

ทั้งๆ ที่เหตุผลสำคัญในประเด็นที่ ใบอนุญาตใช้ที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก แปลงภูทับฟ้า หมดอายุเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 และใบอนุญาตใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน หมดอายุเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นขอต่อใบอนุญาตของบริษัท แต่ติดปัญหาตามเงื่อนไขระเบียบกรมป่าไม้ฯ หมวด 2ข้อ 8(5) การเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่ ซึ่งการทำประชาคมที่ผ่านมาไม่เคยผ่านความเห็นชอบ และมีการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด

ส่วนการขออนุญาตใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. ก็มีคดีความอยู่ในชั้นศาลหลายคดี เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้ชำระค่าใช้ที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. เกือบ 100 ล้านบาท ซึ่ง ส.ป.ก. ยืนยันว่าจะสามารถอนุญาตให้บริษัทฯ เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินได้ก็ต่อเมื่อคดีทุกคดีเป็นที่สิ้นสุด

เหมืองทองของบริษัทฯ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้มาตั้งแต่ใบอนุญาตหมดอายุ

ส่วนการขอใช้พื้นที่ภูเหล็กเพื่อขยายเหมือง มีที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก และทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ป่าหมายเลข 23 และเป็นพื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1 เอ ซึ่งควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ หากจะขอใช้พื้นที่ก็ต้องได้รับอนุญาตโดยผ่านมติ ครม.

คำถาม คือ ในช่วงเวลาเหล่านี้บริษัทฯ สามารถขอขยายพื้นที่ทำเหมืองแปลงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอนมาได้อย่างไร และหลังจากที่ กพร. มีคำ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai