คัดจากจากรายงานหัวเรื่อง “ปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” ในเวทีสรุปบทเรียนการปฏิบัติงาน 1 ปี ของนายโสภณ หนูรัตน์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 7 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

IMG_3368

ก่อนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่น 7 สมัยเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้มีความสนใจในการทำกิจกรรม ไม่เคยไปออกค่ายหรือติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากนัก ไม่ได้รู้เลยว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร NGO คืออะไร ทำงานกันอย่างไร สนใจแค่เพียงความรู้ทางกฎหมาย สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็เพียงที่เห็นจากในหนังสือ

เวลาดูข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้าน ที่มีการไปเดินรณรงค์ ไปชุมนุมตามสถานที่ราชการต่างๆ ก็ไม่ได้เข้าใจว่าเขาทำเพื่ออะไร และผลจากการไปชุมนุมหรือเดินรณรงค์ หรือแม้แต่คดีของ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ก็ทราบจากข่าวเพียงว่ามีคนกลุ่มหนึ่งปีนสภาผู้แทนฯ เข้าไป แต่ก็ไม่เคยใส่ใจว่าเขาทำไปเพื่ออะไร และผลจากการปีนรั้วสภาฯเป็นอย่างไร

ขยายวงความรู้ และทดลองวิชาเรียน

ผมชอบอยู่คนเดียวอย่างสงบๆ ไม่ชอบไปวุ่นวายกับใคร ไม่ชอบการแสดงออก ไม่ค่อยพูดกับใครก่อน เป็นคนชอบคิดมาก กลุ่มเพื่อนที่สนิทกันก็มีไม่มากนัก เรื่องที่พูดคุยกับเพื่อนก็จะเป็นเรื่องทั่วไป เช่น กีฬา ข่าวบันเทิง เพลง และกฎหมาย ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกับใครในเรื่องของปัญหาทางสังคม

ในบางครั้งที่ดูข่าวสารซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ เช่น ตำรวจค้ายาบ้า และฆ่าคนปิดปาก การค้ามนุษย์ การหลอกลวงของมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ตอนแรกก็มีความคิดแค่ว่าคนในสังคมขาดคุณธรรม คนที่ทำผิดเหล่านี้ต้องถูกกฎหมายลงโทษอย่างแน่นอน บ้านเมืองมีกฎหมาย แต่ทำไมคนเรายังกล้าทำผิด ทำไมพวกเขาถึงไม่ประกอบอาชีพอย่างสุจริต การทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้องมันยากมากหรือ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องไปเบียดเบียนคนอื่น

แต่หลังจากได้ติดตามข่าวสารเหล่านี้มากขึ้น ได้เรียนรู้กฎหมาย ได้อ่านคำพิพากษาฎีกา จึงมองเห็นว่า ชีวิตของคนเราต้องยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายทุกวัน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรตามกฎหมาย อะไรที่ทำได้ และไม่ควรทำ และคิดว่าหากทุกคนรู้กฎหมาย รู้สิทธิตัวเอง เขาก็จะปกป้องสิทธิของตัวเองได้ และยากที่จะถูกผู้อื่นเอาเปรียบ

แต่ก็คิดอีกมุมหนึ่งว่า การที่มีคดีความขึ้นสู่ศาลมาก มีข่าวอาชญากรรมทุกวัน มีข่าวการคอรัปชั่นของนักการเมืองเกิดขึ้นเสมอๆ มันแสดงให้เห็นว่า มีคนจำนวนมากในประเทศนี้ที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือเพราะกฎหมายบ้านเมืองเรามันไม่ศักดิ์สิทธิ์ โทษตามกฎหมายมันเบาจนถึงขนาดที่คนเราจะไม่รู้สึกกลัว หรือต้องทำตามเลยหรือ? แล้วจะทำยังไงให้คนที่อยู่ในสังคม อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข

IMG_3174

ผมเชื่อว่าทุกคนนับถือศาสนา มีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทุกศาสนาสอนให้คนทำความดี ละเว้นความชั่ว แต่ทำไมถึงยังกล้าทำสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ดี ไม่ถูกต้อง ซึ่งในตอนนั้นยังเรียนหนังสือ ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากนัก จึงยังหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ อีกทั้งในเรื่องมุมมองเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งในช่วงที่เรียนกฎหมายระดับมหาวิทยาลัย เชื่อว่าศาลต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนได้ และคำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนควรปฏิบัติตาม

แต่เมื่อได้ศึกษากฎหมายมากขึ้น เข้าใจกฎหมายมากขึ้น ทำให้เข้าใจได้ว่าแม้แต่ศาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินคดีความ ก็ยังตีความกฎหมายแตกต่างกัน ผลของคำพิพากษาก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีความแน่นอนในบางเรื่อง ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้พิพากษาแต่ละคน ซึ่งเมื่อตัดสินออกมาแล้ว ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ และเห็นว่าคำพิพากษาของศาลสามารถสร้างบรรทัดฐานของสังคมได้

ดังนั้น ตัวเราเองในฐานะผู้ศึกษากฎหมาย ก็อยากมีโอกาสได้นำกฎหมายที่เรียนมา นำมาใช้จริง นำความรู้ที่ได้ศึกษามาช่วยเหลือสังคม และมีความต้องการอยากพัฒนาตัวเอง อยากมีความรู้ อยากมีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ อยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเอง ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น จึงเข้าสมัครโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่น 7 เพื่อจะได้พิสูจน์ตัวเองว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น จะใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยแค่ไหน และมีความสนใจในเรื่องการทำคดีสิทธิมนุษยชน ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในชีวิต เพราะในสมัยที่เรียนมหาลัย ไม่ได้มีโอกาสศึกษาในเรื่องเหล่านี้เลย และคิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่นักกฎหมายควรเข้าใจ

โปรดติดตามตอนต่อไป…

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai