หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ “อำเภอโขงเจียม” จ.อุบลราชธานี จากข่าวพยากรณ์อากาศ ที่มักเอ่ยถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นที่โขงเจียม เนื่องจากที่นี่…คือจุดที่ได้เห็นแสงแรกของพระอาทิตย์ขึ้นที่แรกของประเทศไทย แต่ภายใต้แสงอาทิตย์ที่สาดส่องพื้นที่แห่งนี้…กลับมีด้านมืดของปัญหาความเหลื่อมล้ำมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ อย่างเช่นพื้นที่ ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดนลาวนั้น อยู่ห่างจากอำเภอเมืองของจังหวัดเกือบ 100 กิโลเมตร ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาหลายอย่าง

“มันอยู่ไกลมาก การศึกษาดี ๆ ก็เข้าไม่ถึง คนที่อยู่ตรงนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเกษตรเป็นหลัก แต่ว่ากำหนดราคาอะไรเองไม่ได้ ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง ไม่มีอาชีพหลากหลายให้เลือกเลย คนก็ไม่มีเงิน ไม่มีกิน หาเงินไม่ได้ บางคนก็จะเกิดภาวะความเครียดและก็หาทางออกไม่ได้ บางคนก็จะไปพึ่งปัจจัยเสี่ยง พวกเหล้า ยาเสพติดต่าง ๆ”  ปลา ตัวแทนคนรุ่นใหม่ในชุมชนเล่าให้เราฟัง

ปลา-ปาริฉัตร ดอกแก้ว คนรุ่นใหม่ของชุมชนที่เคยออกไปทำงานเป็นวิศวกร ในบริษัทที่อยู่ในต่างจังหวัดมานานหลายปี ได้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดใน ต.ห้วยไผ่ โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างรายได้ให้ตนเองและชุมชน ผ่านการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนมักขายส่งมะม่วงหิมพานต์ดิบให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะได้ราคาที่ต่ำ ไม่สามารถกำหนดราคาได้ ปลาจึงพยายามรวบรวมแหล่งทุนภายนอก หนึ่งในนั้นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำทุนมาส่งเสริมทักษะการแปรรูปหิมพานต์ให้กับชาวบ้าน โดยการเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูป มาสอนชาวบ้านทุกขั้นตอนตั้งแต่แกะเปลือก ไปจนถึงการอบ และแพ็กขาย ภายใต้แบรนด์ โขงกรีน “Khong Green”

ปลาและทีมงานช่วยกันทำการตลาด จนเพิ่มมูลค่าให้กับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จากที่ชาวบ้านเคยขายแบบดิบได้ประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่มะม่วงหิมพานต์ที่แปรรูปแล้ว สามารถขายได้ถึง 300 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งปลาเชื่อมั่นว่า หากชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน และลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพของชาวบ้านได้

นอกจากการส่งเสริมการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์แล้ว ปลาและทีมงานยังสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ ซึ่งดึงเยาวชน วัยแรงงาน ผู้สูงอายุ รวมไปถึงนักดื่ม มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่กลางในการสานสัมพันธ์ของคนหลากหลายวัยในชุมชน และลดเวลาที่คนในชุมชนจะหันไปพึ่งพาปัจจัยเสี่ยง ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำได้แก่

  1. สร้างสนามเด็กเล่นในสวนผักออร์แกนิก พื้นที่กลางสำหรับคนทุกช่วงวัย เพื่อมาปลูกผักและเล่นกีฬาร่วมกัน โดยดึงนักดื่มในชุมชนมาร่วมสร้างสวนผักด้วยกันด้วย
  2. จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้คุณค่าของชุมชน เช่น กิจกรรมย้อมผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ ที่ดึงปราชญ์ชุมชนเป็นวิทยากรสอนเด็กๆ ย้อมผ้า หรือจัดกิจกรรมกินข้าวป่า ที่ชวนน้องๆ และผู้สูงอายุมานั่งกินข้าวร่วมกัน และผู้สูงอายุเล่าถึงประวัติของชุมชน เป็นต้น

สิ่งที่ปลาและทีมงานกำลังช่วยกันทำนั้น ช่วยเสริมสร้าง “นิเวศชุมชน” และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักดื่มที่เคยดื่มสุราเป็นประจำ ก็ลดเวลาในการดื่มลง เพราะต้องใช้เวลามาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้…พวกเขายังไม่หยุดยั้งและพัฒนาแบรนด์ Khong Green ให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีอุปสรรคมากมายในช่วงเริ่มต้น แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่าการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์นี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านรายได้ของชุมชน และนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงด้าน และสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพได้

“คนเราอยู่ดี กินดี ท้องอิ่ม ก็จะทำให้เราหันมาสนใจด้านสุขภาพมากขึ้น แค่ลำพังหากินให้อิ่มก็ยากแล้ว จะมาดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างไร”

ปลากล่าวทิ้งท้าย

สามารถสนับสนุนเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของแบรนด์ Khong Green ได้ที่นี่ 👇👇

และสามารถรับชมเนื้อหาในรูปแบบวิดิโอได้ลิ้งก์นี้ 👇👇

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai