แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย ว่าชื่ออะไร ทำงานที่ไหน แล้วก็ทำประเด็นอะไรอยู่
จา : สวัสดีครับ ผมชื่อ จา ทำงานอยู่ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส ประเด็นที่ทำในองค์กรตอนนี้ก็คือ ขับเคลื่อนเยาวชน สร้างแกน สร้างเครือข่ายให้กับองค์กรครับ
อยากให้ช่วยอธิบายว่าชิ้นงานมีชื่อว่าอะไร แล้วมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร
จา : จากงานที่ผ่านมา ที่จาทำในหัวข้อก็คือ สิทธิชุมชนในปัตตานี ในรูปแบบชิ้นงานของรูปภาพและวิดิโอ ที่เลือกวิธีนี้ก็คือ รูปภาพ มันสะท้อนได้หลาย ๆ มิติ อยู่ที่ว่าคนที่เค้าเข้ามาดูงานเนี่ย เค้ามองรูปภาพนั้นเป็นแบบไหน มันไปได้หลายมิติ เพราะรูปที่เราทำเนี่ยเราไม่ได้เจาะจงแค่บางสิ่งบางอย่าง แต่เราแค่ทำให้มันเป็นคอนเซ็ปท์ เราจะสื่อถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ถ้าสมมุติมีคนที่เข้ามาดูงาน 3 คน เราก็จะได้หลากหลายมุมมอง หลากหลายมิติ ส่วนวิดิโอ จารู้สึกว่า การที่เราสื่อสารแบบวิดิโอมันจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะมันแค่ดูแล้วก็ฟังแล้วก็เข้าใจเลย แรงบันดาลใจที่จาทำชิ้นงานนี้ก็คือ จาได้มองช่วงที่รัฐจัดเวทีฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แล้วก็ชาวบ้านส่วนน้อยมากที่จะออกมาคัดค้าน ส่งเสียง ออกมาพูดว่าเค้าไม่ต้องการ เค้าไม่อยากได้ เพราะเวทีนั้นเค้าสร้างขึ้นมาแค่บอกความดี และวาระของการจัดเวทีคือวาระสุดท้ายแล้ว แล้วชาวบ้านที่อยู่ภายใต้กฏหมายพิเศษหรือกฏอัยการศึกเนี่ย เค้าก็มีความกลัวที่จะบอกบางสิ่งบางอย่าง หรือคัดค้านกับโครงการนั้น จาเลยคิดว่า ต้องเล่นประเด็นนี้ จาต้องหาช่องทางการเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า สิ่งที่เค้ากลัวนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฏหมาย แต่เป็นหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยู่ในชุมชนนั้น
สามวันที่ผ่านมา ที่มีคนเข้ามาดูงานของเรา มี Feedback ไหนที่ประทับใจบ้าง
จา : เกี่ยวกับงานนี้ จาไม่ได้ตั้งเป้าสูงมาก จาแค่จะสื่อให้คนนอกได้รับรู้ แล้วก็มีคนนึงที่เข้ามาในงานและดูงานจาเนี่ย เค้าไม่รู้ว่าภาคใต้เกิดเหตุการณ์นี้ มันมีจริงเหรอ เค้าได้เปิดตาด้วยชิ้นงานของเรา เราเลยรู้สึกว่าเราทำถึงเป้าแล้วแหละ ให้คนมองชิ้นงานเราแล้วก็เปิดตา เปิดใจกับชิ้นงานของเรา
แล้วจาคิดว่างานชิ้นนี้มันจะไปทำงานต่อกับคนที่มาดูหรือว่าสังคมของเรายังไงได้บ้าง
จา : ในมุมมองส่วนตัวของจา เรารู้สึกว่าได้ เพราะวิดิโอที่จาทำเนี่ยแม้กระทั่งจาเองที่ดูเนี่ย จาก็รู้สึกซึ้งจากวิดิโอที่จาทำ แล้วก็หลาย ๆ คนที่เข้ามาดูเค้าก็รู้สึกซึ้งไปด้วยกัน ด้วยความซึ้งอันนี้แหละที่จะเป็นหนึ่งช่องทางที่มีคนมาช่วย ที่มีคนมาสนใจมากขึ้น และเป็นแรงต่อสู้กับกลุ่มนายทุนมากยิ่งขึ้น จาคิดว่าอันนี้แหละที่จะทำได้อีก
Q : ตอนนี้คิดว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดมันเป็นยังไงบ้าง
จา : สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ ถ้ามองภาพรวมก็คือมันไม่ได้เหมือนกับเมื่อก่อน แต่มันไม่ได้ลดลงแบบเยอะ แต่อยู่กลาง ๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลใหม่ ถ้าจะตีเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 50 – 50 เพราะการที่มีกฏหมายพิเศษอยู่นี่ จริงอยู่ที่ถ้ามองด้านความมั่นคงมันก็จะลดลงนิดนึง แต่มันไปเพิ่มปัญหาตรงประเด็นทรัพยากร ประเด็นการศึกษา ก็มีหลาย ๆ อัน ณ ตอนนี้ ประเด็นทรัพยากรตอนนี้ที่จะทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เนี่ย มันมีประมาณสิบจุด แล้วก็ประเด็นทางวัฒนธรรมที่รัฐพยายามเล่น พยายามให้คนในพื้นที่ไม่ตระหนัก ไม่รู้สึกว่าอันนี้เป็นวัฒนธรรมของเค้า เป็นเอกลักษณ์ของเค้า รัฐพยายามทำให้สิ่งนี้สูญหายไป เพราะรัฐมองว่าสิ่งนี้แหละที่จะทำให้คนในพื้นที่มีแรงจูงใจและมีแรงต่อสู้ขึ้นมาได้ แต่ที่จริงแล้วจาก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันปกติ มันไม่เกี่ยวกับความรู้สึก มันไม่เกี่ยวกับการทำให้มีกำลังในการต่อสู้ เรารู้สึกว่าทุกชาติพันธุ์มันก็มีวัฒนธรรมอันใดอันหนึ่งเป็นของเค้า เช่นกะเหรี่ยงก็มีวัฒนธรรมของเค้า จีนก็มีของเค้า ภาคเหนือก็มีของเค้า ภาคใต้ก็มีของภาคใต้ แต่มันไม่เกี่ยวกับจิตวิญญาณอะไรทั้งนั้น แค่วัฒนธรรมอย่างเดียว
รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !
ติดตามพวกเราได้ที่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)