แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย ว่าชื่ออะไร ทำงานอยู่องค์กรไหน และทำงานประเด็นอะไร
เตอร์ : ชื่อเตอร์ครับ ทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ หรือ Homenet Thailand ครับ ทำงานในประเด็นแรงงานนอกระบบ ก็จะมีหาบเร่แผงลอย ลูกจ้างทำงานบ้าน วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วก็ผู้ทำการผลิตที่บ้านครับ

อยากให้ช่วยเล่าแรงบันดาลใจในการทำชิ้นงานนี้ รวมถึงทำไมถึงใช้รูปแบบนี้ในการสื่อสารสาธารณะ
เตอร์ : เรารู้สึกว่าเราอยากทำประเด็นที่มันลึกกว่านี้ มากกว่านี้ แต่พอเรามาคิดว่างานนี้เราต้องสื่อสารไปให้คนอื่น พอดูจากคนอื่น ดูจากบริบทความเข้าใจของคนในสังคมเรื่องแรงงานนอกระบบเนี่ย ถ้าให้เราคิดนะ มันแทบจะน้อยมากๆ นะที่จะเข้าใจคำนี้ เลยกลายเป็นว่าถ้าเราไปเล่นลึกอ่ะ แค่เรื่องพื้นฐานคือความเข้าใจในแรงงานนอกระบบในสังคม คนก็ยังไม่ได้เข้าใจมากพอ สารที่สื่อออกไปเค้าอาจจะไม่เชื่อมแล้วก็เข้าใจมันได้ เราก็เลยต้องกลับมาคิดว่า อยากกระจายคำว่าแรงงานนอกระบบให้มันเข้าไปสู่ทุกคนมากขึ้น ให้เค้านึกออกว่า อ๋อ…คือกลุ่มคนอาชีพนี้ ถูกกำหนดด้วยเกณฑ์อะไร ทำไมถึงเรียกว่าอาชีพนี้ โดยไม่ต้องไปเทียบว่าแรงงานในระบบเป็นแบบนี้ ส่วนตรงข้ามมันคือแรงงานนอกระบบ เราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น เราอยากให้เห็นปุ๊ปแล้วสามารถบอกได้เลยว่าเนี่ยคือแรงงานนอกระบบ โดยที่ไม่ต้องไปเทียบกับแรงงานในระบบเลย ก็เลยออกมาเป็นชิ้นงานที่มีการพูดถึงแรงงานนอกระบบว่าเป็นใคร ทำอาชีพอะไร แล้วก็ถูกขีดเส้นด้วยอะไรถึงเรียกว่าแรงงานนอกระบบครับ

มี Feedback จากคนที่มาดูงาน ที่เราประทับใจบ้างมั้ย
เตอร์ : จริงๆ มันประทับใจหลายอย่างกับคนที่เข้ามา ต่อให้เราไม่ได้เข้าไปพูดกับเค้า แต่ด้วยชิ้นงานของเรามันมีการอธิบายด้วยข้อมูลที่เยอะมาก ก็เป็นสิ่งที่เค้าเข้ามาดูแล้วก็ชี้กันเองว่า นี่ไงแรงงานนอกระบบ เหมือนเค้าเล่นกันเอง กลายเป็นว่าสารที่เราพยายามจะส่งไปถึงเค้า เค้าเข้าใจด้วยตัวเองว่าตัวเองคือแรงงานนอกระบบ ซึ่งสิ่งๆ นี้มันถือว่า complete สำหรับเรานะคือเค้าเข้าใจแล้ว ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้าใจคำๆ นี้แล้ว และมันทำให้เราสามารถเริ่มคิดไปยัง step ต่อไปได้แล้วว่า ถ้าเค้าเข้าใจคำๆ นี้แล้ว เราจะเล่นอะไรต่อ ซึ่งมันมีแบบนี้เยอะมาก เค้ามีการรีแอคโต้ตอบคำถามซึ่งส่วนใหญ่เค้าจะไม่พูดคุยในสิ่งที่เรานำเสนอ เค้าจะพูดคุยในสิ่งที่มันเหนือขึ้นไปอีก แล้วเราจะแก้ไขยังไง มันจะเป็นคำถามที่ advance ขึ้นไปอีก ได้พูดคุยกับคนทั่วไปทำให้เค้าเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเราแฮปปี้นะ แฮปปี้มากๆ เลยที่ทำให้เค้าเข้าใจมากขึ้นครับ

แล้วคิดว่าชิ้นงานชิ้นนี้มันจะไปทำงานกับคนที่มาดูหรือสังคมวงกว้างต่อยังไงได้บ้าง
เตอร์ : เราว่ามันน่าจะทำงานในระดับนึงเลยแหละ เพราะอย่างงานของเรามันมีบอกว่า ในสังคมของแรงงานของไทย มีแรงงานในระบบที่มันน้อยกว่าแรงงานนอกระบบ ซึ่งคนทั่วไปที่เข้ามาชมเค้าก็พบเจอว่าตัวเองเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น สิ่งนี้มันอาจจะทำให้เค้าเข้าใจว่า คำๆ นี้ที่เราเรียกร้องอาจจะหมายถึงตัวเค้าด้วย เค้าเข้าใจในจุดๆนี้ว่า อ๋อแรงงานนอกระบบมันก็คือเรานี่หว่า การที่เราร่วมสนับสนุนเรื่องนโยบายหรือกฏหมาย หรือการผลักดันอะไรต่างๆ ที่มันมีประโยชน์กับแรงงานนอกระบบ มันก็เหมือนช่วยแก้ปัญหาของเค้าไปด้วย ไม่ใช่แค่ว่าทำงานเก็บเงินอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้สนใจสังคม มันคือการผลักดันให้สังคม ให้เศรษฐกิจ ให้ประเทศมันพัฒนาด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทุกคน เราเชื่อว่าสิ่งๆ นี้มันจะค่อยๆ แตกหน่อออกไปเรื่อยๆ อันนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มแรก เป็นแสงแรกๆ ที่จะค่อยๆ กระจายออกจากผลงานของเรา


รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !

ติดตามพวกเราได้ที่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai