อยากให้เล่า Inspiration งานนี้ให้ฟังหน่อยว่าที่มาที่ไปคืออะไร
แจ๊ค : Inspiration เริ่มแรกเลยออกแบบมาเป็นแนว pixel ก็ทำให้มันเป็นเหมือนเกม Mario ซึ่งบอร์ดเกมนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการแสดงออกสิทธิ เสรีภาพทางการชุมนุมครับ ก็จะสอดแทรกเนื้อหาเป็นกฏหมายพรบ.ชุมนุม เพราะเนื่องจากตอนนี้ พรก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกไปแล้ว กลายเป็นพรบ.ชุมนุมเข้ามาแทนที่ เลยอยากเสริมสร้างศักยภาพหรือว่าให้คนที่เล่นได้รู้ว่า พรบ.ชุมนุมมันมีอะไรบ้าง มันใช้ยังไง แล้วมันมีองค์ประกอบอะไรที่ควรจะรู้ จริง ๆ แล้วสิทธิของเราถูกละเมิดรึเปล่า หรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าที่พรบ.ได้กำหนดไว้มั้ย
แล้ววิธีการเล่นเบื้องต้นเป็นยังไง
แจ๊ค : การเล่นก็จะถูกแบ่งเป็นฝั่งนักกิจกรรมที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 4 คน ทนายความ 1 คน แล้วก็ตำรวจ 1 คน วิธีการเล่นก็คือฝั่งนักกิจกรรมจะต้องสำเร็จภารกิจรวมกันให้ได้ 6 ภารกิจถึงจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าทำภารกิจไม่สำเร็จหรือถูกจับกุมทั้งหมดก็เป็นฝ่ายแพ้ ตำรวจก็จะเป็นฝ่ายชนะ มีแค่ 2 ฝั่ง ส่วนทนายความก็เหมือนมาซัพพอร์ทนักกิจกรรมแล้วก็ทำเรื่องประกันตัวเหมือนในชีวิตจริง เอามาจำลองเป็นบอร์ดว่าพอเป็นเหตุชุมนุมแล้วอาจจะมีการต่อสู้อะไรกัน ก็มีการ์ดที่เป็นคำสั่ง แล้วก็มีการ์ดที่เป็นความรู้ การ์ดภารกิจ และเป็นการ์ดทรัพยากรก็ตามปัจจัยพื้นฐานเนอะ เช่นสมมุติมีการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาก็จะต้องใช้น้ำเกลือ นี่จะเป็นโทเค่นที่จำลองว่าเป็นน้ำเกลือที่สามารถช่วยรักษาได้ หรืออย่างร่มตรงนี้ ถ้าเราเห็นตามภาพเหตุการสลายการชุมนุมที่ประชาชนใช้ร่มบัง อาจจะมีภารกิจที่ให้รวบรวมร่มแล้วก็ไปยังจุดที่ชุมนุมแบบนี้ครับ
แจ๊ค : ฝั่งตำรวจก็จะมีหน้าที่คอยขัดขวาง อย่างตรงนี้ผมก็จำลองเป็นตู้คอนเทนเนอร์ สมมุติว่าวางไว้ที่จุดนี้ ประชาชนจะไม่สามารถสัญจรไปมาระหว่างเขตตรงนี้ได้ ก็คือการขัดขวางในการแสดงออกสิทธิและเสรีภาพทางการชุมนุม ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเกมที่ออกแบบมาอย่างนี้ครับ แล้วก็จะมีสิ่งที่เกมต้องการเพิ่มความสนุก ก็คือสิ่งที่ไม่สามารถที่จะประเมินล่วงหน้าได้ เป็นเหตุสุดวิสัย ก็คือเป็นการ์ดเนื้อเรื่องหรือเป็นการ์ดที่ดำเนินความเป็นไปของบอร์ด เช่นวันนี้มีฝนตก ไม่สามารถที่จะเดินทางได้ หรือว่ามีเหตุอะไรก็แล้วแต่ เช่นรถติดไปไม่ได้ ติดโควิด หรือว่าน้ำท่วม ซึ่งแต่ละเทิร์นก็จะดำเนินเรื่องของบอร์ดไปโดยการ์ดใบนี้
แล้วเราพยายามจะสื่อความหมายอะไร ผ่านชื่องาน ‘A Peaceful Protest’ ด้วยมั้ย
แจ๊ค : ใช่ คือหลาย ๆ คนเค้าเรียกการชุมนุมว่า ‘ม็อบ’ เนอะ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเกิดจะบอกว่าชุมนุมโดยสงบหรือว่าชุมนุมที่แท้จริงก็จะใช้คำที่ว่า A Peaceful Protest ซึ่งมันจะตรงตัวหรือว่าชัดเจนกว่า ก็เลยใส่คำนี้ไปตรง ๆ เลย เกี่ยวกับการชุมนุม เพราะบอร์ดเกมนี้ก็คือบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับสิทธิการแสดงออกทางการชุมนุมอยู่แล้ว ก็เลยใช้ชื่อนี้ครับ
แล้วแจ๊คคิดว่าถ้าเกิดมีคนมาเล่นบอร์ดเกมนี้ สิ่งที่เค้าจะได้กลับไปคืออะไรบ้าง
แจ๊ค : ไม่มากก็น้อยน่าจะเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับพรบ.ชุมนุม เพราะว่าในการ์ดต่าง ๆ เนี่ยจะมีการอธิบายความรู้ พูดง่าย ๆ คือหลักของแต่ละมาตราว่าองค์ประกอบของมาตรานี้ได้ระบุไว้ว่าอะไรบ้าง เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พรบ.ชุมนุมได้ใส่เข้ามาว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะไม่นับ เช่นการจับกุมซึ่งหน้าหรือว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเนี่ย จะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องขอศาลแพ่ง ซึ่งตำรวจไม่สามารถที่จะสลายการชุมนุมได้เลยทันที หรือการจับกุมซึ่งหน้า ซึ่งตำรวจอ้างว่าเรามาชุมนุม เรากระทำความผิดเลยจับกุมซึ่งหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเรามาเข้าร่วมชุมนุมแล้วไม่ได้ทำความผิดตำรวจไม่สามารถอ้างเหตุว่าเราทำความผิดซึ่งหน้าได้แล้วก็จับกุมเรา เว้นแต่เราทำความผิดอื่นในคดีอาญาเช่นทำให้เสียทรัพย์ ทำลายข้าวของ ชุมนุมไม่ชอบด้วยกฏหมายเช่นทำร้ายร่างกาย ตำรวจก็จะมีเหตุให้จับกุมได้ ความรู้พวกนี้ก็จะสอดแทรกไปในการ์ดต่าง ๆ
แจ๊ค : แล้วก็จะมีเหตุชุมนุมที่คิดว่าเป็น highlight ซึ่งจริง ๆ มีเยอะกว่านี้แต่ว่าทางผู้ผลิตงานเค้าแจ้งมาว่าผลิตไม่ทัน เราก็เลยตัดทอนหลาย ๆ ส่วนออก เช่นการชุมนุม APEC เราก็ไม่ได้ใส่มา แต่ว่าอันนี้ก็จะเป็นเหตุการชุมนุมตั้งแต่ เหตุสลายการชุมนุมเยาวชนครั้งแรก เหตุการณ์วันที่ 16 ที่สยามพารากอน ม็อบที่น่ารักอย่างม็อบวิ่งแฮมทาโร่ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกียกกาย หรือว่าเหตุปักหมุดคณะราษฎร์ ทวงคืนสนามหลวงที่วันนั้นคนไปกันเยอะ ๆ ก็จะมีหลายเหตุหรือที่จ๊าบ ๆ เลยก็เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ ก็จะใส่รายละเอียดเนื้อหาไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยว่าเหตุการชุมนุมวันนี้มีอะไรน่าสนใจ ก็ใส่เข้ามาแล้วก็เติมภารกิจไปให้เค้า ก็อาจจะได้ความรู้ตรงนี้แล้วทำให้คนตระหนักรู้ว่าช่วงเวลาที่เป็นกระแสหลักของสังคมที่ชุมนุมกันถี่ ๆ เนี่ย มีเหตุการณ์อะไร มีข้อเรียกร้องอะไรที่อยากจะสื่อ เนื้อหาตรงนี้ก็จะถูกใส่เข้าไปด้วยบางส่วน
หลังจากที่จบจากโครงการอาสาสมัครนักสิทธิไป แจ๊คจะทำอะไรต่อ
แจ๊ค : ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯเต็มตัวแล้ว ได้ทำงานต่อที่เดิมครับ แล้วก็ดำเนินความฝันของตัวเองในการเป็นทนายสิทธิต่อไป ก็คือยังอยู่ในการต่อสู้แบบเดิม ๆ อะไรเดิม ๆ คาดหวังการเรียนรู้ที่สูงขึ้น พัฒนาศักยภาพตัวเองให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนได้มากขึ้น จากความสามารถของเราที่เราได้เรียนรู้ตรงนี้แหละ มันก็อยากพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ครับ
รับชมบรรยากาศงาน แสง – สร้าง – สิทธิ (Light of Rights) เพิ่มเติมได้ที่นี่ !
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)