พูดคุยกับสตางค์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาของการแปลงสัญชาติและการทำงานของรัฐไทยที่ใช้เวลานาน
ถ้าให้ย้อนกลับไปมองก่อนหน้านี้ ทำไมถึงเลือกมาสมัครโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
” เริ่มแรกเลย เมื่อประมาณสองสามปีก่อน มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันเนี่ยเค้าเป็นอาสาสมัครนักสิทธิเนี่ย อยู่ที่พชภ.เหมือนกัน แล้วเราเห็นเค้าได้ไปทำงานกับชาวเขา ผู้เฒ่าชาวเขาอะไรแบบนี้ แล้วเรารู้สึกสนใจ ก็เลยตั้งใจตั้งแต่ตอนนั้นว่า พอเราเรียนจบแล้วเราอยากจะมาหาประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน อยากจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติอะไรแบบนี้ด้วย ตอนแรกรุ่นสิบห้าก็เรียนจบไม่ทัน รุ่นสิบหกเหมือน พชภ. ไม่เปิดรับ แล้วรุ่นที่สิบเจ็ดอ่ะ เราก็สอบทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว ว่างพอดี แล้วพชภ.ก็เปิดรับด้วย เราก็เลยตัดสินใจที่จะสมัคร เพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ แล้วก็มาหาประสบการณ์ว่า เออ เราชอบทำเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติจริง ๆ มั้ย ประมาณนี้ค่ะ “
คิดว่าประเด็นด้านสิทธิหรือประเด็นที่ทำอยู่ มันมีความน่าสนใจยังไงบ้าง
” มีค่ะ อย่างเช่น ที่สำคัญเลย สัญชาติเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง สิทธิทุกอย่าง ถ้าไม่มีสัญชาติเนี่ยแทบจะเข้าถึงสิทธิอะไรได้ยาก ใช้ชีวิตในสังคมลำบากมาก จะเดินทางไปที่ไหนก็มีความกลัวถูกจับ กลัวนู่นนี่นั่น กลัวถูกคนดูถูก อะไรแบบนี้ด้วย แล้วเวลาเจ็บป่วย บางคนก็ไม่กล้าที่จะไปโรงพยาบาล เพราะว่ากลัวเสียเงินเยอะ จะโดนบุคลากรปฏิบัติไม่ดีรึป่าวอะไรแบบนี้ด้วย “
” แล้วจากที่สัมภาษณ์ผู้เฒ่ามา เค้าก็อยากได้บัตร เค้าอยู่ติดแผ่นดินไทยเนี่ยมาสี่สิบห้าสิบปี เค้ารู้สึกมีความผูกพันและรักในผืนแผ่นดินไทย เค้าก็อยากจะเป็นคนไทย อยากภาคภูมิใจ แล้วเวลาไปไหนเค้าก็จะได้ ชั้นมีบัตรประชาชนไทยแล้วนะ ชั้นไปไหนก็ได้ ชั้นใช้ชีวิตมีความสุขเหมือนกับคนอื่นๆแล้ว ประมาณว่ามีตัวตนในสังคมอ่ะ เพราถ้าไม่มีสัญชาติ ทุกคนก็มองข้าม ไม่สามารถมีสิทธิ มีเสียง หรือว่าส่งเสียงเรียกร้องอะไรให้กับตัวเองได้เลย “
ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาเนี่ย ปัญหาด้านสิทธิที่เราเจอมันเป็นเรื่องอะไรบ้างแล้วก็เคสที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุดคือเคสไหน
” โห หลายเคสมากเลย อย่างกรณีเรื่องสัญชาตินี่แหละ ตอนที่ไปปฐมนิเทศปุ๊ป เหมือนช่วงนั้นมีคนติดโควิดเยอะ แล้วเราก็ไม่กล้ากลับบ้านเพราะว่าพ่อแม่ก็อายุเยอะ เลยมาขอพักที่พชภ.ก่อน เพราะว่าพี่กานต์ก็ไปด้วยกัน ก็น่าจะอยู่ด้วยกัน เสี่ยงไปด้วยกัน แล้วเหมือนกลับมาวันที่ 8 วันสุดท้าย แล้วพอวันที่ 12 อ่ะ เค้ามีกิจกรรมพิธีปฏิญาณตนของผู้เฒ่าที่แปลงสัญชาติจากชนกลุ่มน้อยมาเป็นไทย เราก็เลยได้เรียนรู้ ซึ่งผู้เฒ่าตอนนั้นปฏิญาณตนสิบสองราย พอปฏิญาณตนปุ๊ปเสร็จแล้วไม่กี่วันหลังจากนั้น มีผู้เฒ่าคนนึงเสียชีวิต แล้วคือเค้าสู้กันมาเกือบสองปีอ่ะ สุดท้ายเค้ายังไม่ได้ถ่ายบัตรประชาชนเลย แต่เค้าเสียชีวิตไปก่อนด้วยขั้นตอนระยะเวลาที่ยาวนานของรัฐไทย เพราะต้องส่งเรื่องไปหลายขั้นตอน ต้องส่งไปจังหวัด ส่งไปกรม ส่งไปเลขาธิการ ส่งไปสำนักพระราชวัง อะไรต่าง ๆ แล้วก็ส่งกลับไปกลับมา กว่าที่จะได้บัตรอ่ะคือนานมาก อย่างเช่นถ่ายตอนปฏิญาณตน 12 ก.ค. ใช่มั้ย แล้วก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ 19 ต.ค. แล้วหลังราชกิจจามาได้ถ่ายบัตรคือ 14 พ.ย. ทำไมไม่ถ่ายเลย เหมือนประกาศปุ๊ป อีกอาทิตย์นึงถ่ายได้เลยอะไรแบบนี้ แล้วก็มีผู้เฒ่าหลาย ๆ คนที่เค้ายืนเรื่องอยู่อ่ะ แล้วเค้าก็พูดกับเราเสมอว่า ไม่รู้ว่าเค้าจะตายก่อนที่จะได้ถ่ายบัตรประชาชนมั้ย “
” นอกจากผู้เฒ่าแล้วก็จะมีวัยกลางคนเหมือนกัน ที่เป็นเคสเกี่ยวกับการถูกบันทึกสถานที่เกิดผิด คือในแบบพิมพ์ประวัติที่กรมการปกครองลงมาเก็บไปบันทึกว่าเค้าเกิดที่พม่าทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเค้าเกิดที่ประเทศไทย โดยมีหนังสือยืนยันจาก ท.ร.ช.ข. จากกรมประชาสงเคราะห์ชาวเขาก็ได้ลงมาสำรวจว่าเค้าอ่ะเกิดที่ไทย แต่พอบางคนไปยื่นเรื่องหลาย ๆ ครั้ง อำเภอก็ช้าบ้าง ติดนู่นติดนี่ มันล่าช้ากว่าเค้าจะได้อ่ะนานมาก เราก็ได้มาทำ แล้วตอนนี้ก็คือผ่านขั้นจากอำเภอไปแล้วแหละ ไปที่จังหวัด ไปที่กรมอะไรต่ออีก ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน แล้วก็ไม่สามารถที่จะติดตามได้ว่าตอนนี้อยู่ขั้นไหนแล้ว ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจากอำเภอไปจังหวัดเนี่ยกี่วัน จากจังหวัดไปกรมกี่วัน หรืออะไรแบบนี้ด้วย มันก็ค่อนข้างรอแบบสิ้นหวัง ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ “
” แล้วก็จะมีเคสเกี่ยวกับเยาวชน ที่เป็นหนึ่งในทีมหมูป่า แต่ไม่ใช่คนที่ติดถ้ำนะคะ คือเค้าเหมือนถูกบันทึกผิดในรายชื่อของมารดาในใบเกิดว่าเอาชื่อยายมาใส่ ซึ่งมันอาจจะแก้ไขได้ไม่ยากแต่ว่า ด้วยกระบวนการที่มันนานแล้วน้องเป็นนักฟุตบอลที่เก่ง ไปเรียนอยู่ในโรงเรียนที่เค้ามีชื่อเสียงทางด้านกีฬาฟุตบอล แล้วสโมสรของเชียงรายก็อยากได้ตัวเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เค้าไม่มีสัญชาติไทยอะไรแบบนี้ ก็เลยไม่สามารถที่จะเซ็นสัญญากับสังกัดสโมสรได้ สโมสรที่เชียงใหม่ก็จองตัวเหมือนกันแต่ก็ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ เพราะว่าไม่มีสัญชาติไทย แล้วเหมือนมันเป็นกฏของสมาคมฟุตบอล ที่เค้าจะให้มีนักฟุตบอลต่างชาติได้กี่คน ๆ มันก็เหมือนว่าระหว่างนักเตะที่มาจากต่างประเทศเก่ง ๆ อ่ะ กับเด็กของเราที่เก่งในระดับนึง แต่ความสามารถยังไม่เท่ากันแบบเนี้ยแล้วเค้าจะเลือกคนไหน จนน้องบางคนหมดไฟ หมดความฝันที่จะไปต่อในอาชีพนักฟุตบอลที่น้องใฝ่ฝันอะไรแบบนี้ด้วย “
ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิในไทยหรือว่าในประเด็นที่เราทำอยู่ คิดว่าตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตด้วย เรามองว่ายังไงบ้าง
” คือในอดีตอ่ะ คนไทยไม่ค่อยโฟกัสในเรื่องสิทธิมนุษยชนเลยด้วยซ้ำ ปัจจุบันเนี่ยก็คือเริ่มที่จะเรียนรู้ เริ่มที่จะยอมรับในสิทธิมนุษยชน และเห็นคุณค่า เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพยายามก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสังคมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ขนาดนั้น เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีการละเมิดสิทธิ ละเมิดอะไรกันอยู่อีกมากมาย เหมือนเคยเห็นในโพสท์นักข่าว ตอนนั้นที่เขาลงเกี่ยวกับผู้เฒ่าที่ได้สัญชาติ ก็มีคนมาคอมเม้นในโพสท์ว่า ทำไมเป็นผู้เฒ่าอ่ะอายุเยอะแล้ว ไม่ได้ไปไหน ทำไมไม่ทำให้เด็กก่อน เราก็แบบ เห้ย ถึงเค้าจะแก่อ่ะ เค้าก็เป็นคนเหมือนคนอื่น เค้าก็มีสิทธิที่จะได้ แต่ก็มีหลาย ๆ คนที่เขาก็ยินดีด้วยที่ผู้เฒ่าได้เป็นคนไทยแล้ว ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เค้าควรจะได้รับตั้งแต่แรกแล้ว เพราะว่าประเทศไทยก็ได้เซ็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ก็มันก็ยังน้อยอยู่อ่ะในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ปัจจุบันอ่ะมีมากขึ้นก็จริงแต่ว่ายังไม่มากพอ ในอนาคตก็คิดว่าอาจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราเคยเข้าไปอ่านในเว็บกสม. เค้าก็มีสื่อที่ใช้สอนสำหรับเด็ก ๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเนี่ย มีเหมือนกัน ถ้าคิดว่าโรงเรียน หรือคุณครู หรือพ่อแม่ นำมาสอนลูก สอนเยาวชน หรือพูดกับคนในสังคมมากขึ้น มีการเผยแพร่ความรู้มากขึ้นเนี่ย คนเราก็จะเข้าใจในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมองคนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วย “
ถ้าเกิดได้มีโอกาสคุยกับคนที่เค้าไม่รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชน เราอยากพูดอะไรกับเขาบ้าง
” อย่างแรกก็อาจจะยกกรณีมาว่า ถ้าเป็นแบบนี้ มีความคิดเห็นกับกรณีนี้อย่างไร เหมือนสอบถามถึงความเข้าใจพื้นฐานเค้าก่อน ว่าเค้ามีมุมมองในเรื่องนี้แบบไหน แล้วเราก็อาจจะอธิบายไปว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร แล้วอะไรคือการละเมิด แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าการละเมิด เหมือนชวนเค้าคุย ชวนเค้าคิดแล้วก็ให้เค้าได้เข้าใจด้วยตัวเองว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร “
หลังจบจากโครงการนักสิทธินี้ไปแล้ว จะทำงานกับประเด็นด้านสิทธิหรือประเด็นที่สนใจต่อยังไงบ้าง
” ตอนนี้ก็ยังสนใจเพราะว่าอย่างพชภ.ตอนนี้เองก็มีแนวทางที่จะทำ ก็คือมีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายเกี่ยวกับการแปลงสัญชาติ เพราะว่าผู้เฒ่าบางคนที่เค้ามาอยู่ที่ไทยนานมากแล้ว แล้วเค้าไม่มีสัญชาติต้นทาง พอมันไม่มีสัญชาติต้นทางเนี่ย มันก็ไม่รู้จะเอาสัญชาติไหนอ่ะมาแปลงเป็นไทย ซึ่งทางครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ก็ได้ร่วมกับหลาย ๆ ที่เพื่อปรึกษาหารือกันถึงเรื่องนี้ว่า เราจะผลักดันนโยบายและกฏหมายแก้ไขนี้ยังไง ตัวเราก็สนใจเพราะตอนแรกที่มาก็อยากจะช่วยเหมือนกัน เพราะเห็นว่าพชภ.เนี่ยนอกจากจะช่วยให้ผู้เฒ่าหรือเด็กเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะแล้ว ก็ยังมีการผลักดันเชิงนโยบายและกฏหมายด้วย เราก็เลยสนใจที่จะช่วยในการผลักดันกฏหมายนี้ให้สำเร็จแล้วจะทำให้ผู้คน คนเฒ่า หรือเด็ก หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้เข้าถึงการพิสูจน์สถานะได้ง่ายขึ้นขึ้นกว่ากฏหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ “
ตอนนี้สถานการณ์ของกลุ่มคนที่ไร้สัญชาติมันเป็นยังไงบ้าง
” ยังมีคนที่รอแปลงมาเป็นสัญชาติไทยอีกเยอะมาก ตอนนี้ที่มีในระบบก็ประมาณแสนกว่าคนค่ะ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ผ่านมาคือ 175 คน แล้วกี่ปีอ่ะที่หนึ่งแสนเนี่ยมันถึงจะหมด แล้วก็จะต้องมีคนมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ว่าผู้เฒ่าอย่างเดียว ยังมีชาติพันธุ์คนอื่น คนเมือง คนต่างชาติที่แปลงด้วย คือในแต่ละครั้งมันก็จะมีหลายกลุ่มที่แปลงไปพร้อม ๆ กัน เหมือนที่เค้าลงพระปรมาภิไธยอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ค่อนข้างที่จะนาน คนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าเมื่อก่อนกฏหมายเรื่องการแปลงสัญชาติอ่ะ เค้าจะกำหนดกฏเกณฑ์อายุว่าต้องหกสิบห้าปีขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์รายได้สองหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งทางพชภ.และครูแดงก็ได้ผลักดันในการแก้ตรงนี้แล้ว ให้เหลือแค่หกสิบ แล้วก็ไม่ต้องเอารายได้ถึงสองหมื่นขอแค่มีอาชีพปลูกผักปลูกอะไรไปตามวัยของผู้เฒ่า เพราะเจ็ดสิบแปดสิบแล้วก็คงไปทำงานหนักก็คงไม่ได้แล้ว และส่วนมากก็จะเอาพูดภาษาไทย เมื่อก่อนจะมีให้ร้องเพลงชาติอะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็ยากนะถ้าเป็นผู้เฒ่ามาร้อง เหมือนเราอ่ะถ้าให้ไปพูดภาษาชาติพันธุ์ เราก็รู้สึกว่ามันยากอ่ะ แล้วจะให้เค้ามาร้องเพลงไทยเนี่ยมันก็ยากเหมือนกัน “
” แต่ตอนนี้ก็คือ 9 ชาติพันธุ์ที่ถือว่าเป็นคนไทยติดแผ่นดินเนี่ย ตอนนี้เขาก็ลดหย่อนมาให้เหลือแค่สามารถสื่อสารภาษาที่มันเป็นแบบภาษาชาติพันธุ์ที่ติดแผ่นดินไทยได้ก็คือได้สัญชาติไทยแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาก็คือบางคนอ่ะ อายุแปดสิบแล้วพยานที่จะต้องไปยืนยันว่า พบเห็นคนนี้เกิดจริง ๆ อ่ะ มันไม่มี เพราะพยานที่จะใช้ได้คือต้องอายุมากกว่าคน ๆ นี้เจ็ดปีถึงสิบห้าปีก็คือไม่มีแล้ว แต่ถ้าบางกรณีอย่างเช่นผู้เฒ่าบ้านเฮโก เค้ามีพี่น้องที่ได้สัญชาติไทยแล้ว เราอาจจะร่วมกับ DSI ในการขอตรวจดีเอ็นเอ พอผลตรวจออกมาว่าเป็นพี่น้องกันก็สามารถดำเนินการขอสัญชาติไทยตามพี่ได้เลย แต่มันก็ยังมีหลาย ๆ เคสที่มีปัญหา มันจะมีแม่เฒ่าคนนึงที่ไม่มีพี่น้อง ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีลูก ตอนนี้อยู่คนเดียว แล้วเราก็ยังคิดไม่ออกเลยว่าจะไปตรวจดีเอ็นเอกับใคร มันก็คือความหดหู่ใจ แล้วผู้เฒ่าเค้าอายุมากขึ้นทุกวัน เจ็บป่วยไปทุกวัน เราก็พยายามจะช่วยเค้าแล้วแต่มันก็อาจจะติดปัญหาด้วยระยะเวลาของรัฐที่เราไม่สามารถควบคุมได้ด้วย “
ทำไมจำนวนมันถึงตกหล่นไปเยอะขนาดนั้น เมื่อกี้ที่บอกว่ามีจำนวน 175 กับจำนวนจริงที่มีมากกว่าแสนคน กระบวนการของรัฐมันทำงานยังไงให้มันเกิดการตกหล่นได้ขนาดนี้
” ด้วยระบบราชการอ่ะมันจะมีคนที่ทำส่วนนี้น้อย แล้วคนก็พยายามพูดเสมอว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่จะมาทำเรื่องนี้มันน้อย แต่ก็ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ยิ่งระดับกรม คนตรวจก็ยิ่งน้อย คนเช็คเค้าก็ต้องเช็คให้ละเอียดเพื่อป้องกันตัวเค้าในส่วนนึงด้วย แล้วพอมันขึ้นไปเรื่อย ๆ มันก็หายไปเรื่อย ๆ กว่าจะครบเกณฑ์ก็คือเหลือ 175 คน ด้วยความที่กรม มีเจ้าหน้าที่น้อย มันก็ตรวจยากอะไรแบบนี้ บุคลากรนี่จำเป็นมาก บางทีเหมือนเราจะต้องไปเรียนรู้ ไปเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ให้เค้าทำงานไวขึ้น แล้วเคสของเราก็อาจจะได้ไวขึ้นด้วย คือถ้าเป็นระดับอำเภออย่างนี้มันไปได้ ระดับจังหวัดก็ยังโอเค แต่พอไประดับกรมแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเค้าจะไปยังไงต่อ จะตรวจยังไง เท่าที่ทราบมาเหมือนคนทำงานในส่วนนี้มันน้อยด้วย ก็เลยกลายมาเป็นตัวเลขที่น้อยเหมือนกัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเค้าใช้เกณฑ์อะไรคัดเลือก 175 คนนี้ ก็มีเหมือนกันผู้เฒ่าที่เค้ายื่นไปพร้อม ๆ กัน แล้วเค้าก็มีฟีลน้อยใจว่าทำไมเค้าไม่ได้ ก็ส่งชื่อไปพร้อมกัน ทำไมเค้าไม่ได้ แล้วทำไมคนนี้ได้อะไรแบบนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทางกรมเค้าใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกให้คนที่ได้อ่ะได้ แล้วทำไมบางคนถึงต้องรออีกรอบ “
คิดว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่ากับตัวเองหรือสังคมยังไงบ้าง
” มีมากเลย เพราะว่าตอนแรกเราก็เหนื่อย แบบมันจะได้จริง ๆ เหรอ แล้วพอวันนึงที่นายอำเภอเซ็นแล้วเค้าถ่ายรูป วันนั้นไปสอบปค.เด็กอยู่ที่นู่น ไม่ได้ไปอำเภอกับเคสที่ทำ แล้วพี่เค้าส่งมาในไลน์กลุ่มว่า เค้ายิ้ม เค้าดีใจที่นายอำเภอเซ็นแล้ว เราก็แบบตื้นตันใจ เราสามารถที่จะทำให้คน ๆ นึงอ่ะได้เข้าสู่กระบวนการสิทธิแล้ว อีกไม่ไกลแล้วที่เค้าจะได้เป็นคนไทย เค้าจะได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานแบบเต็ม ๆ ซักที เค้าจะได้มีคุณค่าในสังคม จะได้รู้สึกว่าตัวเค้าอ่ะมีคุณค่าและไม่ด้อยไปกว่าคนอื่น อย่างที่ฟังผู้เฒ่าที่เค้าได้ถ่ายบัตรอ่ะ เค้าก็พูดว่า ตอนนี้เค้าได้บัตรแล้ว เค้าดีใจมาก เหมือนมันเป็นความเชื่อของเค้าด้วยที่ว่า ลูกเค้าเป็นคนไทยมีบัตรประชาชนแล้ว แต่เค้ายังไม่มี สมมุติว่าถ้าเค้าตายไป เค้าก็จะไม่ได้เจอกับลูกเค้า แต่วันนี้ได้แล้ว ถ้าเค้าตายไป ถ้าลูกเค้าในอนาคตเสียไป เค้าก็จะได้เจอกันอะไรแบบนี้ด้วย คุยกับแม่เฒ่าตอนนั้น คือเค้าแบบดีใจมากเลย เนี่ยเมื่อคืนฝันว่ามาอำเภอตั้งแต่มื่อคืนแล้ว ตื่นมาอาบน้ำตั้งแต่เช้า ตื่นเต้นมาก ไม่กล้ากินข้าวเลย จะได้เป็นคนไทยแล้วอะไรอย่างงี้ แล้วจากที่ลงพื้นที่เมื่อวานก็คือได้ไปเจอกับผู้เฒ่าบางคนที่เค้ายื่นเรื่องไปแล้วแต่ยังไม่ได้มีอะไรท่ีอัพเดท เค้าก็บอกว่า เค้าขออย่างเดียว เค้าไม่ขออะไรเลย เค้าขอแค่มีบัตรประชาชน เค้าอยากมีสถานะบุคคลที่มันเต็ม ๆ ซักทีเพื่อที่เค้าจะได้ภาคภูมิใจที่มีคุณค่า มีตัวตนในสังคมอะไรแบบนี้ค่ะ “
แล้วถ้าสำหรับตัวเราเองล่ะ
” ตัวเราเองก็รู้สึกดีมากที่เราช่วยให้เค้าเข้าสู่กระบวนการอ่ะ เหมือนเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย สิ่งที่เราตั้งเป้าตอนที่เรามาสมัครมอส.อ่ะ ก็คือเราอยากช่วยเค้าให้เข้าสู่กระบวนการ อันนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราตั้งไว้ คือเข้าสู่กระบวนการในการพิสูจน์สิทธิ แล้วก็ผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฏหมาย ซึ่งในตอนนี้เราก็ได้ทำให้ส่วนหนึ่งได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิแล้ว เหมือนเป้าหมายเราสำเร็จแล้ว ต้องเกริ่นตอนแรกคือเราเรียนจบมาแล้ว แล้วเราก็ไปสอบกพ. ไปสอบอะไรยังไม่ผ่านแล้วเหมือนว่ามันก็เฟลอ่ะ เหมือนทุกครั้งคนก็มาถามว่า ไปทำงานที่ไหน ยังไม่ได้ทำงานเหรออะไรแบบนี้ แล้วพอเรามาสมัครนักสิทธิแล้วมันได้อ่ะ มันก็เหมือนแบบเรามีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น แล้วยิ่งเราได้มาช่วยคนอ่ะ ได้เอาความรู้ของเรามาช่วยคน ทำให้เค้าได้มีความหวังในชีวิตมากขึ้นอย่างงี้ เราก็แบบดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เค้าได้มีคุณค่า ได้รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ประมาณนี้ค่ะ “
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)