พูดคุยกับจา อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดใต้ จากคนที่ไม่สนใจในด้านสิทธิ สู่การต่อสู้เพื่อคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทำไมถึงเลือกสมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน

” ที่เข้ามาสมัครก็เพราะว่าในสังคมสามจังหวัด มีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิค่อนข้างเยอะ แล้วคนที่จะมาปกป้องหรือเป็นกระบอกเสียงมันไม่มีเลย ส่วนตัวของผมเลยคิดว่าต้องมาสมัครนักสิทธิ เพื่อหาความรู้ในด้านสิทธิร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ครับ “

ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไร

” แรก ๆ ผมก็ไม่ได้ให้ความสนใจในด้านสิทธิเลย ในระยะหนึ่งผมได้มีโอกาสไปศึกษาและทำความเข้าใจด้านสิทธิ เพราะสิ่งที่ผมได้เรียนรู้นั้น มันไม่มีเลยในพื้นที่บ้านผม ดังนั้นผมจึงได้ศึกษาต่อมาจนถึงทุกวันนี้ “

ขยายประเด็นที่ได้ทำอยู่ตอนนี้และบทบาทหน้าที่มีอะไรบ้าง

” ส่วนของจาที่ทำกับ MAC ตอนนี้มีประเด็นที่ช่วยอยู่ก็คือ คนที่ถูกละเมิดสิทธิและคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเช่นเด็ก ๆ ที่ถูกเก็บ DNA ซึ่งมันไม่มีในตราฉบับข้อใดในกฎหมายที่จะสามารถเก็บ DNA จากเด็กได้ “

” อย่างที่สองคือประเด็นวัฒนธรรม ก็คือพยายามสื่อถึงเอกลักษณ์ ความเป็นมลายู การแต่งกายของคนมลายู การกินของคนมลายู คำพูดของคนมลายู ถ้ารวม ๆ นั้นก็คือด้านวัฒนธรรม “

ถ้าให้ลองสะท้อนในมุมมองของเราตั้งแต่เริ่มทำงานด้านสิทธิ เจอกับปัญหาอะไรบ้าง

” ตอนทำงานอยู่ที่ MAC บางวันก็ต้องเจอกับเคสโดนจับตัวไปที่ค่าย แล้วที่ผมได้พบกับตัวจริง ๆ คือเคสผู้หญิง ซึ่งเป็นเคสที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน เธอมีลูกอยู่ 2 คน และสามีที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้เพราะเขาถูกใส่คดี ต้องไปอยู่ฝั่งมาเลย์ แล้วทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวเธอไปไว้ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งเธอต้องดูแลลูกเพราะลูกไม่สบาย เราเกิดคำถามว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เราพยายามเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังติดคดีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านของเธอจะไปเอา DNA ของลูกของเธอ ซึ่งอายุแค่ 5 ขวบ 7 ขวบ แล้วมีสิทธิอะไรที่จะไปเอา ทั้ง ๆ ที่เธอก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แล้วผลก็ออกมาว่าเธอเป็นคนทำระเบิด เพราะมี DNA อยู่ที่พลาสเตอร์ในวัถตุระเบิด เราก็เลยงงว่าผู้หญิงจะไปทำระเบิดได้ยังไง เหมือนเจ้าหน้าที่ใส่คดีได้ตามใจชอบเลย “

สถานการณ์ใน 3 จังหวัด ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมันจะเป็นยังไงกันต่อ

” ในมุมมองของจาคือ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมันก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่นในอดีต ประชาชนและเยาวชนไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือพูดออกมาได้สักคำ แต่ปัจจุบัน ประชาชนมีพลังและแรงผลักดันที่จะต่อสู้ ไม่กลัวกับรัฐ ไม่กลัวกับเจ้าหน้าที่ เพราะที่เขาทำอยู่ตอนนี้ เขาไม่ได้ทำผิดอะไร เขาแค่ชูความเป็นเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่านั้นเอง ส่วนในวันข้างหน้า จาหวังว่าด้านสิทธิเนี่ยมันจะมีการยกระดับเพิ่มขึ้นอีก “

ถ้าเกิดมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่เขาไม่รู้เลยว่า ในพื้นที่สามจังหวัดมันมีประเด็นอะไร อยากจะบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง

” ถ้าเราจะสื่อให้กับคนที่ไม่รู้เรื่องเหตุการณ์ภาคใต้ สิ่งแรกที่เราจะบอกก็คือเรื่องสิทธิ เพราะถ้าพูดเรื่องประเด็น มันก็มีทุกประเด็นที่ภาคใต้ เช่น ประเด็นทรัพยากร ประเด็นวัฒนธรรม ประเด็นความมั่นคง มันมีทุกประเด็นครับ แต่ถ้าเราจะสื่อปัญหาให้คนที่ไม่เคยสัมผัสภาคใต้ได้ฟัง เราจะสื่อถึงด้านสิทธิในมุมที่ว่า ไม่มีความเป็นมนุษย์ ไม่มีคำว่าสิทธิอยู่ในตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ “

ถ้าจบจากโครงการนี้ไปแล้ว คิดว่าจะทำงานประเด็นด้านสิทธิต่อในรูปแบบ ของตัวเองยังไงบ้าง

” หลังจากที่ได้มา มอส. เราได้รู้บางอย่างที่เกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับด้านสิทธิและประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น เราอยากกลับไปรณรงค์เยาวชนในด้านวัฒนธรรม ด้านสิทธิ ให้เขามีความมั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ผิด มันถูกต้องแล้ว มันสมควรแล้วที่เขาต้องทำ สมควรแล้วที่เขาต้องพูด “

ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai